ได้‘สัมผัส’...อคติก็น้อยลง | วรากรณ์ สามโกเศศ
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มีข้อมูลว่าในกองร้อยที่ทหารอเมริกันผิวขาวและดำอยู่ปนกันนั้น ทหารผิวขาวมีความรู้สึกอคติ อันสังเกตได้จากแสดงออกทางคำพูดต่อทหารผิวดำน้อยกว่ากองร้อยอื่นที่แยกผิวขาวผิวดำถึง 9 เท่า
นอกจากนี้ ในช่วงปี 2545-2561 งานวิจัยพบว่าคนอังกฤษมีความรู้สึกดีขึ้นในเรื่องอคติที่มีต่อผู้อพยพต่างชาติ และมีการยอมรับกลุ่ม LGBTQ มากขึ้น โดยสาธารณชนในประเทศต่างๆ จนกระทั่งปัจจุบันมีถึง 32 ประเทศที่ยอมรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน
ปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้เชื่อว่ามีสาเหตุร่วมกัน อันได้แก่ การได้มีโอกาส “สัมผัส” กับคนส่วนน้อยต่างลักษณะเหล่านั้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านเทคโนโลยีสารสนเทศ
“สัมผัส” หมายถึงการได้รู้จักกัน ได้พูดคุยกัน ได้รับฟังความเห็นของแต่ละฝ่าย ได้มีประสบการณ์ในการทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ว่าการใช้ชีวิตร่วมกันในบางเรื่อง (เช่น การรบ หรือการมีงานอดิเรกเดียวกัน) หรือการทำงานร่วมกันจนเกิดความเข้าใจกันและกัน จนนำไปสู่การลดลงของอคติและความขัดแย้งที่เคยมี
การเห็นข้อมูลของทหารอเมริกันในสงครามโลกครั้งที่สองดังกล่าว ทำให้นักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกัน ชื่อ Gordon Allport เขียนหนังสือชื่อ The Nature of Prejudice ในปี 2497 ชี้ว่าภายใต้เงื่อนไขอันเหมาะสม
การ "สัมผัส" ระหว่างกลุ่มเป็นหนทางที่มีประสิทธิภาพในการลดอคติระหว่างคนส่วนใหญ่และคนส่วนน้อยได้ ข้อสันนิษฐานนี้มีชื่อเรียกว่า The Contact Hypothesis หรือ The Contact Theory
ในทศวรรษ 1940 และ 1950 อันเป็นช่วงเวลาแห่งความขัดแย้งของสงครามโลกครั้งที่สอง มีงานศึกษาหลายชิ้นเกี่ยวกับเรื่องอคติและความขัดแย้งที่ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า การ “สัมผัส” ระหว่างกลุ่มคนนั้นจะนำไปสู่อคติที่น้อยลง
แต่หนังสือและข้อสันนิษฐานของ Allport ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และอ้างอิงมาจนถึงยุคปัจจุบันที่โลกมีการแตกแยกแบ่งขั้วความคิด (polarization) มากที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ จึงสมควรนำแนวคิดนี้มาเผยแพร่อีกครั้งเพื่อช่วยลดปัญหา
ในปี 2566 Edelman Trust Barometer วัดดีกรีของ polarization ของประเทศต่างๆ จากการสอบถาม 32,000 คน จาก 28 ประเทศ โดยพิจารณาใน 4 เรื่องดังนี้ (ก) ความวิตกกังวลด้านเศรษฐกิจ (ข) ความไม่สมดุลของสถาบัน (ค) การแบ่งชนชั้น (ง) สงครามเพื่อความจริง
ผลการศึกษาแบ่งประเทศออกได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
(1) กลุ่มที่มี polarization น้อย (ไม่กังวลด้านเศรษฐกิจมากนัก มีความเชื่อสูงในสถาบันในการแก้ไขข้อขัดแย้ง) ได้แก่ จีน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ยูเออี ซาอุดีอาระเบีย มาเลเซีย อินเดีย
(2) กลุ่มที่มี polarization ปานกลาง (ค่อนไปทางต่ำ) ได้แก่ ไทย ไนจีเรีย เคนยา ไอร์แลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย
(3) กลุ่มที่มี polarization ปานกลาง (ค่อนไปทางสูง) ได้แก่ บราซิล เกาหลีใต้ เม็กซิโก ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ อิตาลี เยอรมนี อังกฤษ และ
(4) กลุ่มที่มี polarization สูงอย่างยิ่ง (กลุ่มนี้แตกแยกทางความคิดอย่างมาก และมีความสงสัยมากว่าจะแก้ไขข้อแตกต่างเหล่านั้นได้อย่างไร) ได้แก่ โคลอมเบีย สหรัฐ แอฟริกาใต้ สเปน และสวีเดน
Allport ได้เสนอว่าการ “สัมผัส” มีโอกาสอย่างมากที่จะช่วยลดอคติถ้าหากมี 4 ประการดังต่อไปนี้ประกอบ
(1) สมาชิกของทั้งกลุ่มใหญ่ที่มีอคติและกลุ่มน้อย (ที่มักถูกอคติเล่นงาน) มีสถานะเท่าเทียมกัน แต่ถ้าสมาชิกในกลุ่มใดถูกกระทำเสมือนมีสถานะต่ำต้อยกว่าแล้ว นอกจากจะไม่ลดอคติลงแล้ว อาจทำให้มีอคติเพิ่มมากขึ้นด้วยซ้ำ
(2) สมาชิกของทั้งสองกลุ่มมีเป้าหมายร่วมกัน
(3) สมาชิกของทั้งสองกลุ่มร่วมมือกันแก้ปัญหาและ
(4) ได้รับการสนับสนุนจากสถาบัน เช่น จากผู้นำกลุ่ม หรือจากผู้ที่มีอำนาจทางการให้มีการ “สัมผัส” ระหว่างกลุ่ม
คำอธิบายของ 4 เงื่อนไขข้างต้นก็คือ ต้องมีการเท่าเทียมกันของสองกลุ่มในการ “สัมผัส” โดยมีเป้าหมายร่วมกัน เช่น ลดอคติ และมีการร่วมมือกันทำงานภายใต้การสนับสนุนของผู้มีอำนาจทางการ หากไม่มีเงื่อนไขครบทั้ง 4 ข้อแล้ว ยากที่การ “สัมผัส” จะเกิดประโยชน์ในการลดอคติ
นับตั้งแต่ Allport เสนอแนะไอเดียในกลางทศวรรษ 1950 ก็มีการทดสอบกันอย่างกว้างขวางเพื่อหาหลักฐานเชิงประจักษ์ (empirical evidences) ว่า การสัมผัสระหว่างกลุ่มช่วยลดอคติจริงหรือไม่ และอย่างไร
Thomas Pettigrew และ Linda Tropa ได้ตีพิมพ์บทความในปี 2549 ที่มาจากการศึกษาการทดสอบดังกล่าวกว่า 500 ชิ้น และพบว่าข้อสันนิษฐานดังกล่าวถูกต้อง
และพบอีกว่าผลที่เกิดขึ้นมิได้มาจากการเลือกของคนมีอคติน้อยที่ต้องการจะ “สัมผัส” และผู้มีอคติมากเลือกที่จะไม่ “สัมผัส” ด้วย
หากการ “สัมผัส” เป็นผลดีต่อการลดอคติเสมอไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม
ทั้งสองพบอีกว่าทฤษฎีนี้ใช้ได้ผลกับเรื่องอคติที่มีต่อเชื้อชาติ เพศ และผู้มีความพิการ อีกทั้งการ “สัมผัส” ช่วยให้อคติที่มีต่อกลุ่มอื่นๆ ลดลงด้วยมิใช่เฉพาะกลุ่มที่ “สัมผัส” ด้วยในการศึกษาเท่านั้น (เช่น มีอคติน้อยลงต่อกลุ่มเกย์ที่ศึกษาตลอดจนกลุ่มเกย์อื่นๆ ด้วย มิใช่เพียงกลุ่มที่มีการ “สัมผัส” ด้วยเพียงกลุ่มเดียว)
นอกจากนี้ก็พบอีกว่าเงื่อนไขทั้ง 4 ข้อมิใช่เงื่อนไขที่จำเป็นอย่างยิ่ง ในบางกรณีเงื่อนไขบางข้อก็เพียงพอต่อการลดอคติ
คำถามที่สำคัญก็คือเหตุใดการ “สัมผัส” จึงช่วยลดอคติ?
คำตอบก็คือความคุ้นเคยทำให้ช่วยลดความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นจากการไม่รู้จักกัน เมื่อได้รับฟังรับทราบความเห็นและความต้องการของอีกฝ่ายหนึ่งแล้ว อาการวิตกก็จะลดลง เกิดความเข้าใจความรู้สึกของการอยู่ในสถานะของอีกฝ่ายหนึ่ง
อีกทั้งทำให้ “การแบ่งประเภทคน” อย่างตรงกับความเชื่อแบบเดิมที่มีอยู่ในใจลดลง การไม่ “แบ่งประเภทคนในใจ” จะทำให้ไม่เห็นคนที่ “สัมผัส” อยู่ด้วยว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มคนที่มีข้อขัดแย้งอยู่
กล่าวโดยสรุป อคติอันนำไปสู่ความขัดแย้งในชีวิตของเรานั้น ลดลงได้ด้วยการสร้างโอกาสในการ “สัมผัส” กัน เช่นในเรื่องของการมีอคติระหว่างคนต่างวัย ต่างรุ่น ต่างถิ่น คนในครอบครัวที่เห็นไม่ตรงกัน
คนที่มีรสนิยมทางการเมืองที่ไม่เหมือนกัน คนที่ไม่ชอบกันเพราะการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน คนที่มีความคิดความเห็นที่ต่างกัน ฯลฯ จนสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขในสังคมเดียวกัน และข้ามสังคมอย่างมีสันติภาพในโลกอีกด้วย
มีสิ่งที่น่ากลัวอยู่อย่างหนึ่งสำหรับบางคนก็คือการเกลือกกลั้ว “สัมผัส” กับคนที่ไม่ดีและเกิดเห็นว่า สิ่งที่เขาทำนั้นเป็นสิ่งที่ยอมรับและอภัยได้แล้วตนเองก็จะพลอยตกอยู่ในบ่วงกรรมนั้นไปด้วย เพราะไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่าการเห็นความชั่วเป็นเรื่องธรรมดา.