มุมมองที่แตกต่าง
นับตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา มุมมองของเศรษฐกิจการลงทุนโลกดูเหมือนจะแตกต่างจากที่นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนเคยมองไว้ประมาณ 5 ประเด็น กล่าวคือ
(1) มุมมองที่แตกต่างระหว่างตลาดและธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) เริ่มชัดเจนขึ้น ทำให้เกิดกระแส Bad news is bad news และเริ่มส่งผลกระทบต่อการลงทุนในสหรัฐชัดเจนขึ้น
(2) ภาพเศรษฐกิจยุโรปที่แม้ว่ายังจะแย่อยู่ (วัดจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ) แต่แนวโน้มอาจดีกว่าหลายฝ่ายคาด
3) ความเสี่ยงเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่มากขึ้น หลังธนาคารกลาง (BoJ) ทำนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้นในทางพฤตินัย จนเกิดกระแสเก็งกำไรค่าเงินและอัตราดอกเบี้ย
(4) โอกาสเศรษฐกิจจีนที่จะฟื้นตัวชัดเจนขึ้น หลังการเปิดประเทศแบบรวดเร็วรุนแรง และ
(5) ภาพเศรษฐกิจและการลงทุนที่แตกต่างระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่
โดยในประเด็นแรก จะเห็นได้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มมีทิศทางชะลอตัวรุนแรงขึ้น โดยล่าสุดยอดค้าปลีกสหรัฐติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง ขณะที่สัญญาณเงินเฟ้อก็ชะลอลงชัดเจนขึ้น ทั้งจากตัวเลขเงินเฟ้อผู้ผลิตและผู้บริโภค และตัวเลขความคาดหวังเงินเฟ้อ (Inflation expectation) นอกจากนั้น ในรายงานเศรษฐกิจรายภูมิภาคของ Fed สาขาต่าง ๆ หรือที่เรียกกันว่า Beige book พบว่าผู้ประกอบการยังบ่งชี้ชัดเจนว่าแรงกดดันด้านราคาชะลอลงแล้ว ขณะที่ยอดขายน่าจะเติบโตต่ำมากในระยะต่อไป
Co อย่างไรก็ตาม การที่ Fed ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องแม้ตัวเลขเศรษฐกิจจริงขัดแย้ง โดยล่าสุด รองประธาน Fed นาง Lael Bernard ได้ส่งสัญญาณว่าดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับสูงยาวนานจนกว่าเงินเฟ้อจะลดลงชัดเจน ซึ่งเป็นสัญญาณเดียวกับที่ประธาน Fed สาขาต่าง ๆ ส่งสัญญาณ
ทำให้ความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอยมีมากขึ้น จึงเกิดกระแส Bad news is bad news หรือการที่สัญญาณเศรษฐกิจที่ชะลอลง เป็นผลลบต่อการลงทุนในสินทรัพย์ (ต่างจากช่วงก่อนหน้า ที่ตัวเลขเศรษฐกิจที่ชะลอลงเป็นผลบวกต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ Bad news is good news เนื่องจากตลาดเชื่อว่าจะทำให้ Fed ชะลอการขึ้นดอกเบี้ย)
ในประเด็นที่สอง ในภาพเศรษฐกิจยุโรป เรามองว่าสาเหตุที่มีสัญญาณดีขึ้น ทั้งจากตัวเลข GDP เยอรมนี รวมถึงการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ไม่หดตัวแรงตามคาด และจากเงินเฟ้อที่ชะลอลง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอุณหภูมิในฤดูหนาวที่อุ่นกว่าปกติ ทำให้ปัญหาการขาดแคลนพลังงานลดลง ขณะที่การเปิดประเทศของจีนก็มีส่วนทำให้แนวโน้มเศรษฐกิจยุโรปที่มีจีนเป็นคู่ค้าหลักดูดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม เรายังมีมุมมองค่อนข้างระมัดระวังในยุโรป เนื่องจากการเปิดประเทศของจีนอาจทำให้ราคาโภคภัณฑ์สูงขึ้น กดดันทำให้เงินเฟ้อยุโรปลงยากขึ้น และอาจทำให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต้องขึ้นดอกเบี้ยสูงในระยะต่อไป
ในประเด็นที่สาม ได้แก่การเปลี่ยนแปลงนโยบายควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve Control: YCC) ของ BOJ โดยเพิ่มเป้าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีจาก 0.25% เป็น 0.5% ในการประชุมช่วงปลายปี 2022 โดยแม้ว่าผู้ว่าฯ BOJ จะระบุว่าการขยายมาตรการดังกล่าว เป็นความพยายามที่จะให้การเคลื่อนไหวของผลตอบแทนพันธบัตรเป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น หลังจากที่ BOJ ควบคุมให้ผลตอบแทนอยู่ในระดับต่ำที่ ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา
แต่หลายฝ่ายมองว่าเป็นสัญญาณที่ BOJ เตรียมจะยกเลิกนโยบายดังกล่าว (หรือที่เรียกว่าเป็นการทำให้นโยบายการเงินกลับมาเป็นปกติหรือ Normalization) ดังนั้น BOJ จึงถูกตลาดทดสอบมากขึ้นเรื่อยๆ โดยทำการ Short หรือขายพันธบัตรรัฐบาลในตลาดล่วงหน้า และทำให้ BOJ ถูกบังคับให้ซื้อพันธบัตรจำนวนมหาศาลเพื่อพยายามลดอัตราผลตอบแทน โดยในวันที่ 12 และ 13 ม.ค. BOJ ต้องซื้อถึง 9.5 ล้านล้านเยน (7.2 หมื่นล้านดอลลาร์) อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 18 ม.ค. BOJ ยังคงส่งสัญญาณทำนโยบายการเงินผ่อนคลายต่อไป ทำให้นักลงทุนที่ทำการ Short Sale ขาดทุนมหาศาล
ในมุมมองของเรา เรามองว่าในระยะต่อไป ความผันผวนด้านการเงินจะรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากกระแสการเก็งกำไรในพันธบัตรญี่ปุ่น ค่าเงินเยน รวมถึงค่าเงินเอเชียจะมีมากขึ้น และหาก BOJ ยกเลิกมาตรการ YCC จริง จะทำให้ภาระดอกเบี้ยของภาครัฐและเอกชนญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมาก และกระทบต่อผลประกอบการของธุรกิจและรัฐบาลญี่ปุ่น
ในประเด็นที่สี่ ได้แก่การกลับมาเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ของจีน (China’s re-globalization) ผ่านการยกเลิกนโยบาย Zero Covid ของจีนอย่างกระทันหัน ซึ่งจะทำให้ผู้คนเดินทางสะดวกขึ้น การคมนาคมขนส่ง และท่องเที่ยวจะปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ภาคส่วนอื่น ๆ ของเศรษฐกิจคาดว่าจะฟื้นตัวดีขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการใช้จ่ายในประเทศและภาคอสังหาฯ อย่างไรก็ตาม จุดเสี่ยงของเศรษฐกิจจีนในระยะต่อไปได้แก่การส่งออก ซึ่งมีแนวโน้มที่จะแย่ลงตามเศรษฐกิจโลก
เรามองว่า การส่งออกจีนในปี 2023 อาจไม่ขยายตัว (โต 0%) จากที่ขยายตัวประมาณ 7% ในปี 2022 อันเป็นผลจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวและเสี่ยงถดถอย อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่าเศรษฐกิจจีนจะถูกขับเคลื่อนด้วยการบริโภคภายในประเทศ โดยเราคาดว่ายอดค้าปลีกอาจขยายตัวในระดับ 7% ขณะที่การลงทุนอาจขยายตัวประมาณ 5% ทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวประมาณ 5% ในปี 2023 แต่มีโอกาสที่จะขยายตัวได้ 6-6.5% หากการขยายตัวของเศรษฐกิจในประเทศดีเกินคาด
นอกจากนั้น ยังทำให้ความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์ดีขึ้นเช่นกัน เนื่องจากจีนเป็นผู้ซื้อน้ำมันถึงหนึ่งในห้าของโลก และเป็นผู้ซื้อหลักในสินค้าโภคภัณฑ์หนักต่าง ๆ เช่น กว่า 50% ในตลาดทองแดง นิกเกิล และสังกะสี และมากกว่า 60% ในตลาดสินแร่เหล็ก การฟื้นขึ้นของจีนอาจทำให้ความต้องการโภคภัณฑ์เหล่านี้เพิ่มขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อในระยะต่อไป
ในประเด็นสุดท้าย เรามองว่า ภาพการเติบโตที่แตกต่างมากขึ้นระหว่างประเทศพัฒนาแล้วและประเทศตลาดเกิดใหม่มีมากขึ้น โดยเฉพาะการเปิดประเทศของจีนและการฟื้นตัวขึ้นบ้างของราคาโภคภัณฑ์ จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของประเทศตลาดเกิดใหม่ที่มีความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจกับจีนมากขึ้น ทั้งผ่านด้านการค้า การท่องเที่ยว และการลงทุน นอกจากนั้น พื้นฐานเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ที่ดีกว่าประเทศพัฒนาแล้วทำให้น่าจะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องท่ามกลางความผันผวนในปีนี้
กล่าวโดยสรุป นับจากต้นปี ดูเหมือนว่าภาพเศรษฐกิจการลงทุนในจีน ยุโรป และตลาดเกิดใหม่ จะดูดีขึ้น แต่สหรัฐและญี่ปุ่นดูจะเสี่ยงมากขึ้น แต่ความผันผวนโดยรวมก็จะมีมากขึ้นเช่นกัน นักลงทุนจึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด