สิ่งที่เข้าใจผิด เรื่องดูแลรักษา 'กระดูกและข้อ'
คนไทยยังมีความเข้าใจผิดในการดูแลรักษากระดูกและข้ออยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะการส่งต่อผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่างเช่น 3 เรื่องนี้ ขณะที่อีก 5 ปี คนไทยป่วยโรคทางกระดูกและข้อมากขึ้น 11 กลุ่มโรคที่พบบ่อย
ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช กรรมการแพทยสภา และนายกสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว อายุเฉลี่ยของประชากรไทยยืนยาวมากขึ้น ความต้องการมีคุณภาพชีวิติที่ดีสามารถออกไปทำกิจวัตรประจำวันต่างๆได้ รวมถึง สังคมที่ปรับเปลี่ยนสู่การใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น
พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ทำให้คนออกไปบริหารตัวเอง ดูแลตัวเองในOutdoor กิจกรรมที่ควรใช้กล้ามเนื้อพัฒนาความแข็งแรงน้อยลง ทำให้เสี่ยงต่ออาการหรือโรคต่างๆทางกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อแน่นอน เมื่อดูจากปัจจัยต่างๆเหล่านี้ อีก 5 ปีข้างหน้า ปริมาณการดูแลโรคทางกระดูกและข้อสูงมากขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- 3 ข้อ ดูแล 'กระดูกและข้อ'ให้เสื่อมช้าที่สุด ป้องกันโรคทางออร์โธปิดิกส์
- แพทย์จุฬาฯ คิดค้น "ข้อสะโพกเทียม" หวังลดการนำเข้าวัสดุทางการแพทย์
- รพ.ภูมิพลฯ ผ่าตัด "ข้อเข่าเทียม" ชูทีมสหวิชาชีพ ประเมิน แนะนำ ผ่าตัด ฟื้นฟู
11 กลุ่มโรคกระดูกและข้อพบบ่อย
ในผู้สูงอายุมากกว่า 50 %จะเจอภาวะข้อเข่า ข้อสะโพกเสื่อม กระดูกสันหลังแน่นอน เพียงแต่ความรุนแรงอาจจะแตกต่างกัน ประมาณการอยู่ที่ราว 10-20 % อาจจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
โรคกระดูกและข้อที่พบบ่อยในคนไทย 11 กลุ่มโรค ได้แก่
- กลุ่มโรคข้อไหล่ในผู้สูงอายุ
- กลุ่มโรคเส้นเอ็นขาดและหมอนรองข้อเข่าแตกจากกีฬา
- กลุ่มโรคข้อสะโพกเสื่อม
- กลุ่มโรคข้อเข่าเสื่อม
- กลุ่มโรคกระดูกพรุนและกระดูกหักในผู้สูงอายุ
- กลุ่มโรคปวดหลัง ขาชา
- กลุ่มโรคมือขยัน :นิ้วล็อค มือชา
- กลุ่มโรคปวดส้นเท้า เอ็นร้อยหวาย
- กลุ่มโรคเนื้องอกกระดูกและกล้ามเนื้อ
- กลุ่มโรคปวดคอ ร้าวลงแขน
- กลุ่มโรคเท้าปุก
ดูแลรักษากระดูกและข้อที่เข้าใจผิด
ศ.นพ.กีรติ กล่าวด้วยว่า หนึ่งในแผนการดำเนินงานของสมาคมฯเพื่อดูแลประชาชน คือการจัดทำสื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องในการป้องกันโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระดูก ข้อ กล้ามเนื้อ และเส้นประสาท พร้อมกับหาช่องทางเผยแพร่เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้มากที่สุด สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง เนื่องจากปัจจุบันมีการแผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องผ่านช่องทางโซเชีบลต่างๆมากมาย เช่น
- การฉีดสเต็มเซลล์ในการรักษาข้อเสื่อมได้เลย
ยังไม่ถึงขั้นที่รับรองการฉีดดูแลรักษาข้อเสื่อมได้เลย ยังอยู่ในขั้นวิจัยเท่านั้น แต่ถูกนำไปโปรโมทการใช้ในทางที่ผิด
- การใช้สมุนไพรบางชนิด
ทำให้หายจากกระดูกสันหลังเสื่อมไม่ต้องผ่าตัดหรือรักษาป้องกันกระดูกพรุนได้
- การเข้าใจว่ากระดูกหักข้อสะโพกไม่ต้องรักษา แต่สามารถติดเองได้
เป็นความรู้ความเข้าใจที่ผิด ทำให้สูญเสียผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกหักและข้อสะโพกไปมาก เพราะเข้าใจผิดหรือเกรงเรื่องของการผ่าตัด
วิธีดูแลกระดูกและข้อ
ศ.นพ.กีรติ บอกว่า หากไม่ได้ออกกำลังกายโดยการลงน้ำหนัก แต่นั่ง หรือนอนนานๆ ทำให้กระดูกหายไป ซึ่งกระดูกจะแข็งแรงต่อเมื่อมีการทำงาน มีการใช้งาน และเมื่อกระดูกและข้อหายไปแล้ว จะไม่กลับมาแล้ว โดยกระดูกและข้อเริ่มหายไปในช่วงอายุที่เป็นความพีคของหนุ่มสาว จากนั้นจะมีแต่ลดลง ใครที่สามารถทำให้ลดลงช้าที่สุด ก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพได้
หากต้องการมีสุขภาพที่แข็งแรง คุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อสูงอายุ ต้องรู้จักดูแล ทะนุถนอม บำรุง รักษาตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป การจะรักษาให้กระดูกและข้อ กล้ามเนื้อแข็งแรง ต้องใส่องค์ประกอบสมดุลของ 3 ส่วนในการดูแลสุขภาพทั่วไป คือ
1.อาหารที่จะดูแลกระดูกและข้อ แคลเซียมให้เพียงพอ
2. ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ น้ำหนักไม่มากไม่น้อยไปเพื่อให้กระดูก ข้อต่อไม่เสื่อมเร็ว
3.พักผ่อน เพื่อฟื้นฟูและซ่อมแซมสภาวะกระดูกแต่ละวันแต่ละช่วง