3 ข้อ ดูแล 'กระดูกและข้อ'ให้เสื่อมช้าที่สุด ป้องกันโรคทางออร์โธปิดิกส์

3 ข้อ ดูแล 'กระดูกและข้อ'ให้เสื่อมช้าที่สุด ป้องกันโรคทางออร์โธปิดิกส์

สังคมผู้สูงอายุและพฤติกรรม เป็น 2 ปัจจัยหลัก ที่จะทำให้ในอีกราว 5 ปีข้างหน้า ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคทางออร์โธปิดิกส์เพิ่มขึ้นมาก ผู้สูงอายุราว 50 %จะเจอ 'โรคกระดูกและข้อ' จำเป็นต้องดูแลทะนุถนอมตั้งแต่นี้เป็นต้นไป เพราะ 'กระดูกและข้อเมื่อหายไป จะไม่กลับมาแล้ว'

        “หากไม่ได้ออกกำลังกายโดยการลงน้ำหนัก แต่นั่งนอนนานๆ ทำให้กระดูกหายไป ซึ่งกระดูกจะแข็งแรงต่อเมื่อมีการทำงาน มีการใช้งาน”ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช นายกสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย

      “กรุงเทพธุรกิจ”มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ นายกสมาคมออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยคนใหม่และกรรมการแพทยสภา “ศ.นพ.กีรติ เจริญชลวานิช” เริ่มต้นด้วยการอธิบายถึง ออร์โธปิดิกส์ เป็นภาษาละติน ที่มาจากคำว่า ออร์โธแปลว่าตรง และ ปิดิกส์ แปลว่าเด็ก ซึ่งสมัยก่อนเด็กมีความผิดรูป เช่น เท้า ขาเอียง แพทย์เหล่านี้จะทำหน้าที่ให้มันตรง
       จึงเรียกว่า “แพทย์ออร์โธปิดิกส์” โดยทำหน้าที่ดูแลกระดูก ข้อต่อ กล้ามเนื้อและเส้นประสาท เป็นระบบโครงสร้างการทำงานของรยางค์ทั้งหลาย รวมถึงกระดูสันหลัง และทุกส่วนที่มีโครงสร้างของกระดูกมาร่วมสัมผัสหรือทำงานร่วม

สัดส่วนเพียงพอ แต่กระจายไม่สมดุล

         ประเทศไทยมีการผลิตแพทย์เฉพาะทางออร์โธปิดิกส์ปีละราว 140 คน อัตราส่วนมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั่วประเทศ ราว 2,900 คน โดย 50 % ทำงานในหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) อีก 25 % สังกัดมหาวิทยาลัย กระทรวงกลาโหม หรือภาครัฐอื่นๆ และ 25 % ทำงานในภาคเอกชน
          ถือเป็นสัดส่วนที่เพียงพอต่อการดูแลคนไทยหรือไม่ ศ.นพ.กีรติ บอกว่า ขึ้นกับเทียบกับประเทศอะไร หากเป็นประเทศอังกฤษหรือยุโรป ก็ใกล้เคียงกับประเทศไทย สัดส่วนแพทย์ออร์โธปิดิกส์ต่อประชากร อยู่ที่ประมาณ 1 ต่อ 2,000 คน ถ้าเทียบกับประเทศสิงคโปร์ มากกว่าไทย 3เท่าตัว แต่หากเทียบกับอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมาก มีแพทย์ด้านนี้หลัก 100 คน ไทยดีกว่าเกือบ 10 เท่าตัว

3 ข้อ ดูแล \'กระดูกและข้อ\'ให้เสื่อมช้าที่สุด ป้องกันโรคทางออร์โธปิดิกส์

      ฉะนั้น ระบบบริการสาธารณสุขของแต่ละประเทศต่างหากที่จะเป็นตัวบอกว่าแพทย์ออร์โธปิดิกส์เพียงพอหรือไม่ ซึ่งการทำงานในระบบสาธารณสุขไทยที่มีอยู่ปัจจุบันค่อนข้างจะเพียงพอในระดับหนึ่ง แต่หากพิจารณาละเอียดบางพื้นที่ เช่น กทม.เกือบ 1 ใน 4 ของแพทย์จะอยู่พื้นที่นี้

      “แสดงว่าสัดส่วนแพทย์ต่อประชากรในกทม.จะสูง เมื่อเทียบกับเขตสุขภาพอื่นๆของประเทศ เป็นเรื่องการกระจายที่ไม่สมดุล ณ ปัจจุบันคิดว่าเพียงพอ ในระดับจังหวัดมีแพทย์เฉพาะทางด้านนี้ แต่ระดับอำเภอไม่มีเพียงพอ แต่จังหวัดเดียวกันสามารถส่งต่อได้ ทำให้การเข้าหาและเข้าถึงแพทย์ออร์โธปิดิกส์ของประชาชนไม่ได้ลำบาก”ศ.นพ.กีรติกล่าว

อีก 5 ปีผู้ป่วยกระดูกและข้อพุ่ง

       ทั้งนี้ แพทย์ออร์โธปิดิกส์ดูแลผู้ป่วย 2 ส่วน คือ 1.โรคและ2.อุบัติเหตุ  ซึ่งเมื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว จะมีโรคทางกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อแน่นอน เช่น กระดูสันหลังยุบ บาง เคลื่อน ทับเส้นประสาท ข้อเข่า ข้อสะโพกเสื่อม ประสาทมือเสื่อม คอเสื่อม ทำให้ปริมาณผู้ป่วยที่ต้องพบแพทย์ด้านนี้มากขึ้นเรื่อยๆ
        รวมถึง อายุเฉลี่ยของประชากรไทยยืนยาวมากขึ้น และความต้องการมีคุณภาพชีวิติที่ดีสามารถออกไปทำกิจวัตรประจำวันต่างๆได้ สำหรับอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งจากจราจรหรือการทำงาน มักจะกระทบเข้าถึงกระดูก กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ประสาทแทบทั้งสิ้น และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในยุคนี้รุนแรงมากกว่ายุคก่อนมาก

       “เมื่อดูจากปัจจัยต่างๆเหล่านี้ แพทย์ออร์โธปิดิกส์ที่เหมือนเพียงพอในปัจจุบัน  อีก 5 ปีข้างหน้าก็อาจจะไม่เพียงพอ เพราะปริมาณการดูแลโรคทางกระดูกและข้อสูงมากขึ้น”ศ.นพ.กีรติกล่าว 

         นอกจากนี้ วัยทำงาน สังคมที่ปรับเปลี่ยนสู่การใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ทำให้คนออกไปบริหารตัวเอง ดูแลตัวเองในOutdoor กิจกรรมที่ควรใช้กล้ามเนื้อพัฒนาความแข็งแรงน้อยลง ก็ทำให้เสี่ยงต่ออาการหรือโรคต่างๆ
โรคกระดูกและข้อที่พบบ่อย

      โรคที่พบบ่อยในคนไทย เช่น โรคกระดูกสันหลังเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม กระดูกคอเสื่อม กระดูกพรุน กระดูกบาง ข้อไหล่ติด ข้อสะโพกเสื่อมทรุด พังผืดทับเส้นประสาทบริเวณนิ้วหรือข้อมือจากการใช้โทรศัพท์มือถือมากขึ้นหรือการทำงาน หรือการใช้สรีระ ท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เป็นต้น
       โดยเฉพาะในผู้สูงอายุมากกว่า 50 %จะเจอภาวะข้อเข่า ข้อสะโพกเสื่อม กระดูกสันหลังแน่นอน เพียงแต่ความรุนแรงอาจจะแตกต่างกัน ประมาณการอยู่ที่ราว 10-20 % อาจจะต้องรักษาด้วยการผ่าตัด

     สำหรับการรักษามีนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการแพทย์มาใช้มากมาย เช่น AI ใช้เอกซเรย์เพื่อวินิจฉัยซึ่งจะช่วยให้แพทย์ทั่วไปดูได้ ช่วยให้การวินิจฉัยถูกต้องแม่นยำ การใช้หุ่นยนต์ช่วยในการผ่าตัด การใช้เทคโนโลยีขึ้นรูป 3 มิติไทเทเนียม การผ่าตัดแบบส่องกล้องที่ทำให้มีแผลขนาดเล็กไม่ยาวเป็นศอกเหมือนอดีต ฟื้นตัวเร็วขึ้น และการใช้เทเลเมดิซีนในการให้คำปรึกษาแบบเรียบไทม์ เป็นต้น

3 ข้อ ดูแล \'กระดูกและข้อ\'ให้เสื่อมช้าที่สุด ป้องกันโรคทางออร์โธปิดิกส์
สมดุล3ส่วนดูแลกระดูกและข้อ

      ท้ายที่สุด ศ.นพ.กีรติ บอกว่า คุณภาพกระดูกจะเป็นตัวบ่งชี้ของความยืนยาวของอายุและคุณภาพของการใช้ชีวิต เนื่องจากกระดูกเป็นแกนหลักสำคัญของการขยับ ขับเคลื่อนทุกๆสรรพสิ่งของร่างกาย และเป็นแหล่งผลิตเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวที่จะหล่อเลี้ยง ทำให้เกิดความไหลเวียน อวัยวะอื่นๆทำงานได้ปกติ 
        แต่มีเงื่อนไข คือ กระดูกและข้อเมื่อหายไปแล้ว จะไม่กลับมาแล้ว ซึ่งกระดูกและข้อเริ่มหายไปในช่วงอายุที่เป็นความพีคของหนุ่มสาว จากนั้นจะมีแต่ลดลง ใครที่สามารถทำให้ลดลงช้าที่สุด ก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ยืนยาวและมีคุณภาพได้ 
          ดังนั้น หากต้องการมีสุขภาพที่แข็งแรง คุณภาพชีวิตที่ดีเมื่อสูงอายุ ต้องรู้จักดูแล ทะนุถนอม บำรุง รักษาตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป การจะรักษาให้กระดูกและข้อ กล้ามเนื้อแข็งแรง ต้องใส่องค์ประกอบสมดุลของ 3 ส่วนในการดูแลสุขภาพทั่วไป คือ

  • อาหารที่จะดูแลกระดูกและข้อ แคลเซียมให้เพียงพอ
  •  ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ น้ำหนักไม่มากไม่น้อยไปเพื่อให้กระดูก ข้อต่อไม่เสื่อมเร็ว
  • และพักผ่อน เพื่อฟื้นฟูและซ่อมแซมสภาวะกระดูกแต่ละวันแต่ละช่วง
  • 3 ข้อ ดูแล \'กระดูกและข้อ\'ให้เสื่อมช้าที่สุด ป้องกันโรคทางออร์โธปิดิกส์

 11 กลุ่มโรคที่พบบ่อย  

      ในฐานะที่เข้ามารับตำแหน่งนายกสมาคมฯคนใหม่ ศ.นพ.กีรติ บอกว่า สมาคมฯมีแผนดำเนินงานเพื่อดูแลประชาชน ใน  4 เรื่องหลัก ได้แก่ 1. การมุ่งเน้นไปที่การเผยแพร่องค์ความรู้สู่ประชาชนในแต่ละพื้นที่ตามภูมิภาคต่าง ๆ นำร่องด้วยการจัดประชุมวิชาการใน 3 จังหวัด เริ่มจากโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช สระแก้ว, โรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลศูนย์ลำปาง
      2. การจัดทำสื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องในการป้องกันโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระดูก ข้อ กล้ามเนื้อ และเส้นประสาท พร้อมกับหาช่องทางเผยแพร่เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงได้มากที่สุด สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

       3. การเร่งสร้างสังคมผู้ป่วยที่อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ออร์โธปิดิกส์ทั่วประเทศ ในกลุ่มโรคเดียวกันขึ้นเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นโรคที่พบได้บ่อย 11 กลุ่มโรค ได้แก่

  • กลุ่มโรคข้อไหล่ในผู้สูงอายุ 
  • กลุ่มโรคเส้นเอ็นขาดและหมอนรองข้อเข่าแตกจากกีฬา
  • กลุ่มโรคข้อสะโพกเสื่อม
  • กลุ่มโรคข้อเข่าเสื่อม
  • กลุ่มโรคกระดูกพรุนและกระดูกหักในผู้สูงอายุ 
  • กลุ่มโรคปวดหลัง ขาชา
  • กลุ่มโรคมือขยัน นิ้วล็อค มือชา
  • กลุ่มโรคปวดส้นเท้า เอ็นร้อยหวาย
  • กลุ่มโรคเนื้องอกกระดูกและกล้ามเนื้อ
  • กลุ่มโรคปวดคอ ร้าวลงแขน
  • และกลุ่มโรคเท้าปุก

    และ4.การเข้าสู่สังคมในการดูแลและป้องกันโรคกระดูกพรุน โดยร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ให้องค์ความรู้ที่ถูกต้องและให้ชุมชนมีตัวแทนในการดูแล ป้องกัน รักษาโรค เพื่อป้องกันโรคกระดูกพรุนและกระดูกหักซ้ำ
3 ข้อ ดูแล \'กระดูกและข้อ\'ให้เสื่อมช้าที่สุด ป้องกันโรคทางออร์โธปิดิกส์

“เมดิคัลฮับ”กระดูกและข้อ

        ทิศทางของรพ.เฉพาะทางกระดูกและข้อ  ศ.นพ.กีรติ มองว่า  เกิดขึ้นแน่นอน เนื่องจากประเทศไทยนำสมัยและเป็นเลิศของการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขด้านนี้มากที่สุด เมื่อเทียบกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนระดับเอเชียแปซิฟิกอยู่ในระดับ ท็อป 3 ท็อป 5 ทำให้เริ่มลงลึกถึงในเฉพาะบางภูมิภาค เช่น กรุงเทพมหานคร รพ. ทั่วไปเริ่มมีความไม่สะดวกในองค์รวม ดังนั้น รพ.เฉพาะทางกระดูกและข้อ เส้นประสาท ก็จะเกิดขึ้นตามปริมาณความต้องการของประชากร ที่ต้องการเข้าหา เข้าถึงได้สะดวก รวดเร็วมากขึ้น ซึ่งปัจจุบนเริ่มเปิดแล้วน่าจะมีราว 1-2 แห่ง และแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น

        นอกจากนี้ ประเทศไทยมีศักยภาพที่จะสนับสนุนให้เป็นเมดิคัลฮับ หรือศูนย์กลางของต่างชาติที่เข้ามารับการดูแลรักษาด้านกระดูกและข้อ เพราะด้านนี้มีความเข้มแข็งและก้าวหน้ามาก ควรพัฒนาให้รองรับจากที่โควิด-19ดีขึ้น ให้ต่างชาติที่ยังต้องการความเป็นเลิศการดูแลรักษาจากแพทย์ในประเทศไทย 

     “เป็นโอกาสของประเทศไทย ซึ่งทั้งภาครัฐและเอกชนมีศักยภาพเพียงพอที่จะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ ซึ่งด้านออร์โธปิดิกส์ในภาคเอกชน ไทยถือเป็น Top 3 ของโลกที่ผู้ป่วยเข้าหา ทุกรพ.เอกชนมีศูนย์กระดูและข้อ ถ้าโฟกัสที่เอกชน เพราะรองรับต่างชาติได้มากกว่าภาครัฐ เอกชนจึงสามารถขยายและเติบโคได้ ทั้งชาวตะวันออกกลาง อาเซียน เอเชียใต้ เข้ามารักษาที่ไทยมากขึ้น ซึ่งไทยมีศักยภาพมากพอที่จะรองรับ”ศ.นพ.กีรติกล่าว