“หุ่นยนต์ผ่าตัด” ข้อเข่าเทียม ตัวช่วยแพทย์ แม่นยำ ลดภาวะแทรกซ้อน
การรักษา "ข้อเข่าเสื่อม" ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ ตั้งแต่การรักษาด้วยวิธีอนุรักษ์นิยม โดยใช้ยาไปจนถึงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า และปัจจุบัน มีการนำหุ่นยนต์อัจฉริยะ เข้ามาเป็นตัวช่วยแพทย์ในการผ่าตัดข้อเข่า เพื่อประสิทธิภาพประสิทธิผลที่ตรงจุดและปลอดภัย
อาการปวดข้อสร้างความทุกข์ทรมาน และเป็นอุปสรรคในการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะข้อเข่า เนื่องจากต้องรองรับน้ำหนักของร่างกายเป็นหลัก มักพบในคนที่มีอายุเฉลี่ยตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากอายุที่มากขึ้นทำให้ร่างกายเริ่มถดถอย และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เนื่องจากปัจจัยด้านฮอร์โมน
ขณะเดียวกัน ข้อเข่าเสื่อม ยังสามารถพบโรคข้อเข่าเสื่อมในผู้ที่มีอายุน้อย สาเหตุจากน้ำหนักตัวที่มากเกินไป และการใช้งานเข่า การทำกิจกรรม หรือกิจวัตรประจำวันที่มีแรงกดต่อข้อเข่ามาก เช่น การเดินขึ้น -ลงบันได รวมทั้งในผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุจากการกระแทกอย่างรุนแรงของข้อเข่า ทำให้มีการฉีกขาดของกระดูกอ่อน หรือเส้นเอ็นภายในข้อเข่า
ที่ผ่านมา การรักษาข้อเข่าเสื่อม ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ ตั้งแต่การรักษาด้วยวิธีอนุรักษ์นิยม โดยใช้ยาไปจนถึงการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า อีกทั้ง เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้รับการพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาทางการแพทย์ ทำให้สามารถรับมือกับโรคภัยต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เห็นว่าหลายโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน มีการนำหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดเข้ามาอำนวยความสะดวก โดยเล็งผลในด้านประสิทธิภาพประสิทธิผลที่ตรงจุดและปลอดภัย
7.35% ประชากรโลกเป็นโรคออร์โธปิดิกส์
“นพ.พิชญา นาควัชระ” ผู้อำนวยการศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลธนบุรีบำรุงเมือง กล่าวในงานแถลงข่าว การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมด้วยหุ่นยนต์อัจฉริยะ ณ โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง โดยอธิบายว่า ในบรรดา โรคกระดูกและข้อ (ออร์โธปิดิกส์) “ข้อเข่าเสื่อม” เป็นโรคที่แพทย์วินิจฉัยมากที่สุด โดยในปี 2563 WHO รายงานว่า
- ประชากรโลก 7,753 ล้านคน
- 7.35% เป็นโรคกระดูกและข้อ
ในจำนวนนี้
- ข้อเข่าเสื่อม 37%
- โรคข้อเข่า 23%
เมื่อรวมทั้งสองภาวะนี้จะอยู่ที่ราว 60% ของผู้ป่วย
คนไทย ราว 9% เป็นโรคโรคกระดูกและข้อ
ขณะเดียวกัน ในประเทศไทย ปี 2553 มีรายงานผู้ป่วย โรคกระดูกและข้อ ไม่น้อยกว่า 6 ล้านคน จากประชากร 67.2 ล้านคน หากคำนวณคร่าวๆ ในปี 2563 มีประชากร 66.18 ล้านคน เป็นโรคกระดูกและข้อราว 9% หรือราว 5.95 ล้านคน ในจำนวนนี้อย่างน้อย 3.57 ล้านคนเป็นโรคข้อเข่าและข้อเข่าเสื่อม แบ่งเป็น
- โรคข้อเข่า 1.37 ล้านคน
- โรคข้อเข่าเสื่อม 2.2 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม จากประชากรอายุ 55 ปีขึ้นไปในปี 2563 ซึ่งอยู่ที่ 12.34 ล้านคน และปี 2564 จำนวน 16.9 ล้านคน คาดว่าจะมีผู้ป่วย โรคกระดูกและข้อ มากกว่าที่คาดการณ์
"สำหรับ คนทั่วไปการดูแลข้อเข่า คือ หลีกเลี่ยงอิริยาบถที่ผิด นั่งงอเข่านานๆ นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ ลดน้ำหนัก บริหารกล้ามเนื้อข้อเข่าให้แข็งแรงทั้งด้านหน้าและหลัง และเมื่อมีอาการ ควรพบแพทย์" นพ.พิชญา กล่าว
รู้เท่าทัน ข้อเข่าเสื่อม
“รศ.นพ.สาธิต เที่ยงวิทยาพร” ประธานอนุสาขาข้อสะโพกข้อเข่าราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม หัวหน้าทีมแพทย์การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าข้อสะโพก และแพทย์ที่ปรึกษาของศูนย์กระดูกและข้อ โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง อธิบายว่า สาเหตุของกระดูกเสื่อม ข้อเข่าเสื่อม คือ
- เมื่ออายุมากขึ้น ผ่านการใช้งาน มีโรคหลายโรคที่ทำให้ตัวผิวข้อเสื่อม
- เกิดการอักเสบบ่อยๆ
- คนไข้มีอาการปวด
- รูปร่างเข่าผิดรูป
- เข่าโก่ง บิด
- นอกจากข้อเข่าที่เสื่อม กล้ามเนื้อจะลีบ
- ทำให้กำลังการเดินน้อยลง สาเหตุทั้งหมด เกิดจากภาวะข้อเข่าเสื่อม
การวินิจฉัย จะดูอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก การปวด เดินลำบาก มีอาการผิดรูป ลุกจากที่นั่งปวด หรือเดินได้ไม่ไกล เป็นต้น โดยระยะของโรค แบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่
- ระยะที่ 1-2 อาการไม่รุนแรงมาก เจ็บปวด เป็นๆ หายๆ
- ระยะ 3-4 หากเอกซเรย์จะเห็นการโก่ง บิดของเข่า ผิวเข่าเริ่มสึกหลอ
หุ่นยนต์ผ่าตัด ตัวช่วยแพทย์
สำหรับการรักษาข้อเข่าเสื่อม ได้แก่ การรักษาในแบบประคับประคอง เหมาะในระยะ 1-2 และ การผ่าตัด เหมาะกับผู้ป่วย ระยะ 3-4 โดยปัจจุบัน มีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ในการผ่าตัดเพิ่มมากขึ้น อย่าง การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมด้วย “หุ่นยนต์อัจฉริยะแบบแผลเล็ก” (Robotic Assisted Total Knee Arthroplasty)
ทำให้การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเป็นไปได้อย่างถูกต้อง ตรงจุด ไม่ต้องส่งผู้ป่วยตรวจ CT Scan และช่วยศัลยแพทย์ผ่าตัดในการคำนณการปรับความตึงของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อโดยรอบข้อเข่าให้เป็นไปอย่างเหมาะสม แผลเล็ก ลดอาการบาดเจ็บเนื้อเยื่อข้างเคียงรอบๆ ข้อเข่า และลดการบาดเจ็บต่อกระดูก ผู้ป่วยสามารถฟื้นสภาพข้อเข่าได้เร็ว และสามารถเดินลงน้ำหนักและกลับไปประกอบกิจวัตรประจำวันได้อย่างปกติ
เทคโนโลยีการแพทย์ ความนิยมเพิ่ม
ทั้งนี้ ในสหรัฐอเมริกา การผ่าตัดโดยหุ่นยนต์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก ข้อมูลเมื่อ 4 ปีก่อน พบว่ามีเกินกว่า 1 หมื่นยูนิต และคาดการณ์ว่าการผ่าตัดโดยใช้หุ่นยนต์ทั่วโลกทุกสาขา จากนี้ไปอีก 5 ปีข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นเท่าตัว
“นพ.พิชิต กังวลกิจ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง เผยว่า สำหรับการผ่าตัดโดยหุ่นยนต์การรับรู้ประโยชน์ในไทยแม้จะยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่มีใช้ในหลากหลายสาขาทางการแพทย์ ที่เห็นได้บ่อย คือ การผ่าตัดต่อมลูกหมากซึ่งอยู่ลึก การใช้หุ่นยนต์ช่วยให้มองเห็น เข้าถึงการผ่าตัดได้อย่างปลอดภัย หลีกเลี่ยงการโดนเส้นประสาท รวมถึงการผ่าตัด สูตินรีเวช ศัลยแพทย์ทรวงอก หูคอจมูก และ ออร์โธปิดิกส์ แนวโน้มการใช้หุ่นยนต์ช่วยการผ่าตัดเพื่อผลการรักษาเจะได้รับความนิยมมากขึ้น
นอกจากการใช้หุ่นยนต์รักษาพยาบาลโดยตรง ยังมีการนำมาใช้ในเรื่องของการบริการผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยแขนขาอ่อนแรง บาดเจ็บกระดูกสันหลัง ปัจจุบันมีหุ่นยนต์ช่วยพยุง กระดูก กล้ามเนื้อ เพื่อฟื้นฟูร่างกาย ฝึกเดิน รวมถึงการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย แม้กระทั้งในช่วงโควิด-19 ก็ใช้หุ่ยนต์ขนส่งยา อาหาร ให้กับผู้ป่วยโควิด ช่วยเพิ่มความปลอดภัย บุคลากร
"ขณะเดียวกัน ประเทศไทยมีนโยบายในการส่งเสริมหุ่นยนต์ในพื้นที่อีอีซี มีความก้าวหน้าในการพัฒนาไมโครโรบอท สำหรับรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ดังนั้น ในอนาคต การใช้หุ่นยนต์ในทางการแพทย์จะมีการใช้มากขึ้น" นพ.พิชิต กล่าวทิ้งท้าย
หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ยกระดับการรักษา
ปัจจุบัน พบว่าหลาย โรงพยาบาบทั้งรัฐและเอกชน ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการผ่าตัดข้อเข่าเพื่อให้ผลการรักษาดีขึ้น โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีความร่วมมือระหว่าง 3 โรงพยาบาล ได้แก่
“โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ ศูนย์การแพทย์กาญจนาภิเษก” ในการขับเคลื่อนศูนย์ความเป็นเลิศการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเทียมศิริราช ด้วยหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดโดยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางกระดูกและข้อ
โดยนำเทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่ ยกระดับการรักษาผู้ป่วยโรคข้อเข่าและสะโพก เพื่อให้ประชาชนทุกสิทธิ์สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตามมาตรฐานสากล สามารถให้บริการผู้ป่วยทุกระดับเข้าถึงการรักษาที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
“ศูนย์ผ่าตัดเปลี่ยนข้อธรรมศาสตร์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ" ต่อยอดความเชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าข้อสะโพกเทียม ใช้เทคโนโลยีแขนหุ่นยนต์ช่วยผ่าตัดและนวัตกรรมระงับปวดทุกระยะของการผ่าตัด ภายใต้การดูแลโดยทีมอาจารย์แพทย์เฉพาะทางและบุคลากรทางการแพทย์ ในอัตราค่าบริการที่เข้าถึงได้ รวมถึงโรงพยาบาลเอกชนอีกหลายแห่งก็ได้นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ดังกล่าวมาใช้ในการรักษาเช่นกัน