“ดื่มน้ำ” มากไปก็ป่วยได้! แขนขาชา หนาวสั่น อาเจียน แล้วดื่มแค่ไหนถึงพอดี?

“ดื่มน้ำ” มากไปก็ป่วยได้! แขนขาชา หนาวสั่น อาเจียน แล้วดื่มแค่ไหนถึงพอดี?

มีอยู่จริง! “ดื่มน้ำ” มากเกินไปจนป่วย จากกรณี “เจนิส-เจณิสตา พรหมผดุงชีพ” ป่วยด้วยอาการแขนขาชา หนาวสั่น อาเจียน ร่างกายขาดแร่ธาตุเกือบขั้นวิกฤติ ฯลฯ ดังนั้นความเชื่อที่ว่า “ยิ่งกินน้ำมากยิ่งดีต่อสุขภาพ” อาจไม่จริงเสมอไป

แปลกแต่จริง! กับกรณีนักแสดงสาว “เจนิส-เจณิสตา พรหมผดุงชีพ”  มีอาการป่วยจนต้องเข้าแอดมิดในโรงพยาบาล โดยแพทย์วินิจฉัยพบว่ามีสาเหตุมาจากพักผ่อนน้อย และการ “ดื่มน้ำมากเกินไป” ซึ่งทำให้ชุดความเชื่อเดิมๆ ที่ว่า "ยิ่งดื่มน้ำมากๆ ก็ยิ่งดีต่อสุขภาพ" ถูกหักล้าง เพราะไม่เป็นความจริงเสมอไป

ทั้งนี้ ดาราสาวคนดังกล่าวได้เข้าพบแพทย์ด้วยอาการ แขนขาชา หนาวสั่น อาเจียน ประสาทสัมผัสแย่ลง ความรู้สึกช้า เหนื่อย อ่อนเพลีย หลังจากที่หมอตรวจวินิจฉัยก็พบว่า ร่างกายขาดแร่ธาตุเกือบขั้นวิกฤติ และติดเชื้อไวรัสอีกด้วย

 

  • มีอยู่จริง! ดื่มน้ำมากเกินไปจนร่างกายผิดปกติ

รู้หรือไม่?​ อาการเหล่านี้สามารถเกิดขึ้นได้จริง หากผู้ป่วยดื่มน้ำในปริมาณที่มากเกินพอดี มีข้อมูลทางการแพทย์จากเว็บไซต์ Pobpad ระบุว่า การดื่มน้ำในปริมาณมาก แม้ไม่พบอาการผิดปกติในช่วงแรก แต่หากยังดื่มน้ำปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ไตไม่สามารถขับน้ำออกไปได้หมด และอาจเกิดอาการผิดปกติ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน รวมถึงทำให้ไตทำงานหนักขึ้น ส่งผลให้ร่างกายเกิดความเครียดและมีอาการอ่อนเพลียตามมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

 

อีกทั้งการ "ดื่มน้ำมากเกินไป" อาจส่งผลให้เซลล์ในร่างกายมีน้ำไปสะสมอยู่จนเกิดอาการบวม ซึ่งภาวะดังกล่าวอาจนำไปสู่อาการผิดปกติบางอย่างได้ เช่น อาการมึนงง สับสน ปวดศีรษะ และง่วงซึม จากการที่เซลล์ในสมองบวมจนเนื้อสมองได้รับแรงกดทับ นอกจากนี้ยังส่งผลให้ระดับแร่ธาตุในร่างกายลดลงผิดปกติ โดยเฉพาะ “โซเดียม” อาจทำให้เกิดตะคริวได้

แต่ถ้าในกรณีร้ายแรง (พบในผู้ป่วยบางเคสเท่านั้น แต่ในคนปกติพบได้น้อยมาก) หากดื่มน้ำในปริมาณที่มากเกินไปมากๆ และไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที อาจนำไปสู่ “ภาวะ Hyponatremia” หรือภาวะโซเดียมในเลือดต่ำ เสี่ยงเกิดอาการชัก สูญเสียการรับรู้ โคม่า ไปจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

“ดื่มน้ำ” มากไปก็ป่วยได้! แขนขาชา หนาวสั่น อาเจียน แล้วดื่มแค่ไหนถึงพอดี?

 

  • ต้องดื่มน้ำแค่ไหนถึงเรียกว่าพอดี และร่างกายไม่ขาดน้ำ?

จริงๆ แล้ว ไม่มีสูตรตายตัวในการกำหนดปริมาณน้ำที่คุณควรดื่มต่อวัน โดยทั่วไปร่างกายของผู้หญิงและผู้ชาย ต้องการน้ำในแต่ละวันแตกต่างกันเล็กน้อย คือ ผู้หญิงวัยทำงาน ควรดื่มน้ำประมาณ 2-2.7 ลิตรต่อวัน ส่วน ผู้ชายวัยทำงาน ควรดื่มน้ำประมาณ 3-3.7 ลิตรต่อวัน หรืออาจลองคำนวณปริมาณการดื่มน้ำที่เหมาะสมสำหรับร่างกายแต่ละคน คือ ให้นำ “น้ำหนักตัว” (หน่วยเป็นกิโลกรัม) หารด้วย 30

เท่านี้ก็จะได้ปริมาณน้ำหน่วยเป็นลิตรที่ร่างกายต้องการในหนึ่งวัน ตัวอย่างเช่น หากน้ำหนักตัว 50 กิโลกรัม ก็ควรจะดื่มน้ำให้ได้ประมาณวันละ 1.66 ลิตรต่อวัน หรือวิธีง่ายๆ คือ “ดื่มน้ำวันละ 7-8 แก้วต่อวัน” ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะดื่มน้ำให้เพียงพอ โดยไม่ทำให้เกิด “ภาวะขาดนำ้”

ขณะที่ “สำนักโภชนาการ กรมอนามัย” แนะนำว่าคนเราไม่ควรดื่มน้ำมากถึง 6-7 ลิตรต่อวัน เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับน้ำปริมาณมากเกินไปในเวลารวดเร็ว จนเกิดภาวะน้ำเกินหรือน้ำเป็นพิษ (Water Intoxication) ส่งผลให้ปวดศีรษะ ตะคริว ชัก หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง คลื่นไส้ อาเจียน บวม ส่งผลกระทบต่อเซลล์สมอง ทำให้ความเข้มข้นของแร่ธาตุโซเดียมลดลง (Hyponatremia) ซึ่งอาจอันตายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

  • ตรวจเช็ก "สีปัสสาวะ" ช่วยป้องกันการดื่มน้ำมากเกินไป

นอกจากนี้ก็ควรสังเกต “สีปัสสาวะ” ของตนเองให้มากขึ้น เพื่อระวังไม่ให้เผลอดื่มน้ำมากเกินไป โดยสีปัสสาวะปกติจะมีตั้งแต่ “สีเหลืองซีด” ไปจนถึง “สีชา” ซึ่งสามารถบ่งชี้ถึงระดับน้ำในร่างกายได้ ดังนี้

- หากปัสสาวะมีสีใส และเข้าห้องน้ำบ่อยๆ มากกว่า 8-10 ครั้งขึ้นไปต่อวัน หมายถึง ดื่มน้ำมากเกินไปในช่วงเวลาสั้นๆ

- หากปัสสาวะสีเหลืองอ่อน เข้าห้องน้ำไม่เกิน 6-8 ครั้งต่อวัน หมายถึง ร่างกายปกติ ระดับน้ำเหมาะสม

- หากปัสสาวะสีเข้ม เข้าห้องน้ำไม่บ่อย ปากแห้ง หมายถึง ร่างกายขาดน้ำ และต้องดื่มน้ำเพิ่มขึ้นระหว่างวัน

-------------------------------------------

อ้างอิง : PobpadWebmedMayoclinicสำนักโภชนาการ กรมอนามัย