รู้จัก!เซลล์บำบัดมะเร็ง CAR-T cell โอกาสของผู้ป่วยมะเร็ง
Chimeric Antigen Receptor T cell (CAR-T cell ) หรือ กลุ่มวิจัยภูมิคุ้มกันด้านเซลล์บำบัดมะเร็ง เป็นการรักษาด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาว ซึ่งวิธีการนี้ เป็นการรักษาเฉพาะบุคคล เนื่องจากใช้เม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยเอง
Keypoint:
- CAR-T cell ดัดแปลงเซลล์เม็ดเลือดขาว เป็นการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษาผู้ป่วยมะเร็ง
- ข้อจำกัดของการผลิตCAR-T cell คือค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงถึง 15-20 ล้านบาทต่อการรักษา
- ศูนย์การผลิตเซลล์และยีนบำบัด โรงพยาบาลจุฬาฯ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ สามารถผลิตCAR-T cell ได้ในประเทศไทยในราคาต้นทุนที่ต่ำ
'เม็ดเลือดขาว' ทำหน้าที่ในการกำจัดเซลล์มะเร็งมีประสิทธิภาพลดลง เราจะนำเซลล์เม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยมะเร็งออกมาปรับแต่งให้ประสิทธิภาพดีขึ้น จากนั้น ทำการเพาะเลี้ยงให้ปริมาณเซลล์เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ก่อนจะฉีดกลับเข้าไปในตัวผู้ป่วย เพื่อให้เซลล์เม็ดเลือดขาวไปทำหน้าที่โจมตีเซลล์มะเร็งในร่างกาย
โดยปัจจุบัน การรักษาวิธีนี้ ใช้ได้กับมะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง โดยผู้ป่วยมีโอกาสหายได้ถึง 90% เพียงแค่ทำครั้งเดียวเท่านั้น จากนั้น ก็จะต้องคอยติดตามอาการเรื่อย ๆ อีกระยะหนึ่ง
CAR-T cell เป็นการดัดแปลงเซลล์เม็ดเลือดขาวโดยการดัดแปลงพันธุกรรมให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น วิธีนี้เป็นการรักษาแบบภูมิคุ้มกันบำบัดที่มีประสิทธิภาพสูงที่สุดและเป็นการรักษาโดยเซลล์บำบัดเพียงชนิดเดียวที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ชื่อของเซลล์นี้คือ CAR-T cell (Chimeric antigen receptor T cells)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
วิธีรักษา"มะเร็ง"ที่หลากหลาย : ทางเลือกเนื่องในวันมะเร็งโลก
"วันมะเร็งโลก" กับนวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็ง
ไม่อยากเสี่ยง 'โรคมะเร็ง' ลดอาหารกลุ่มเสี่ยง ช่วยได้ 30-40 %
CAR-T cell รักษาผู้ป่วยมะเร็งได้ดีกว่าเคมีบำบัด
หลักการของการผลิต CAR-T cell คือเป็นการดัดแปลงทีเซลล์ในห้องปฏิบัติการ โดยนำบางส่วนของแอนติบอดี (แบบเดียวกับที่กล่าวไว้ในแอนติบอดีเพื่อการรักษา) มาตัดต่อลงบนทีเซลล์ โดยใช้ประโยชน์ของความจำเพาะของแอนติบอดีที่มีต่อเซลล์มะเร็ง และเมื่อแอนติบอดีที่ถูกนำมาแปะตรวจพบเซลล์มะเร็งก็จะสามารถกระตุ้นทีเซลล์ให้เริ่มการทำลายได้อย่างรวดเร็ว CAR-T cell อาจถูกเรียกว่าซุปเปอร์ทีเซลล์ก็ได้เพราะมันมีความสามารถในการทำลายเซลล์มะเร็งได้สูงกว่าทีเซลล์ทั่วๆไปด้วย
ในปัจจุบันการรักษาด้วยวิธีนี้ได้ผลดีมากเฉพาะผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวแบบเฉียบพลันชนิด lymphoid หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดบีเซลล์ พบว่าได้ผลดีมากอย่างน่าอัศจรรย์ในผู้ป่วยจำนวน 85 – 90% ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานนั่นคือการใช้เคมีบำบัดหรือการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดแล้ว
ขณะนี้การรักษาด้วย CAR-T cell จึงเป็นที่สนใจมากและมีการพัฒนาเพื่อรักษามะเร็งชนิดอื่นๆต่อด้วย ในปัจจุบันในสหรัฐอเมริกามี CAR-T cell ที่ได้รับการอนุมัติให้จำหน่ายได้ 2 ชนิด คือ Kymriah จาก Novatis และ Yescarta จาก Kite Pharma โดยมีราคาตั้งสูงถึง 16 ล้านบาท
ขณะนี้คณะผู้วิจัยในทีมทุกคนร่วมมือกันเพื่อพัฒนา CAR-T cell เพื่อให้มีการรักษาที่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือมะเร็งต่อมน้ำเหลืองในประเทศไทย ในราคาที่สมเหตุสมผลโดยเร็ว นอกจากนี้ยังมีการพัฒนา CAR-T cell ต่อมะเร็งชนิดอื่นๆด้วย
CAR-T cell โดยไม่ใช้ไวรัส ลดต้นทุนการผลิต
นพ.กรมิษฐ์ ศุภพิพัฒน์ หัวหน้าหน่วยวิจัยเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัด ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า เป็นเวลากว่า 3ปี ในการพัฒนานวัตกรรมเซลล์บำบัดมะเร็ง CAR-T cell เป็นวิธีการรักษามะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัดรูปแบบหนึ่ง โดยการนำเอาเม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ของผู้ป่วยมาดัดแปลงพันธุกรรมให้จำเพาะกับเซลล์มะเร็ง และเพิ่มจำนวนให้มากพอภายนอกร่างกาย ซึ่งจะทำในห้องปฏิบัติการปลอดเชื้อพิเศษ จากนั้นจะฉีดกลับเข้าสู่ร่างกายของผู้ป่วย ซึ่งนวัตกรรม CAR-T cell นี้มีประสิทธิภาพสูงถึง 50 - 80% ซึ่งเป็นการรักษาใหม่ที่ให้ผลและได้รับการยอมรับจากทั่วโลก
สำหรับการรักษามะเร็งทางระบบเลือด ในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาใด ๆ แล้ว ทำให้นวัตกรรมนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นวิธีการรักษามาตรฐานสำหรับโรคมะเร็งทางระบบเลือดแล้วทั้งในอเมริกาและยุโรป
อย่างไรก็ดี การรักษาด้วยวิธีนี้มีข้อจำกัดในเรื่องของการรักษา เพราะค่าใช้จ่ายเชิงพาณิชย์สูงถึง 15 – 20 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อในการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วย
ผลิตได้ในประเทศไทย คาดใช้รักษาได้จริงปี 2024
ทางกลุ่มวิจัยจึงมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนานวัตกรรมนี้ให้เกิดขึ้นจริงในไทย เริ่มจากจัดตั้งศูนย์การผลิตเซลล์และยีนบำบัดที่ทันสมัยขึ้น ซึ่งนับเป็นสถานที่ผลิตเซลล์ภายในสถานพยาบาลแห่งแรกที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจาก ผศ.ภญ.ดร สุพรรณิการ์ ถวิลหวัง คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการดัดแปลงพันธุกรรมของทีเซลล์ รวมถึงผู้เชี่ยวชาญจาก อย. และศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ในการพัฒนาระบบคุณภาพสำหรับควบคุมการผลิต เพื่อการผลิต CAR-T cell ที่มีคุณสมบัติตามมาตรฐานสากลขึ้นได้เองในไทย
"ถ้าจะพัฒนาการรักษาให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เราต้องสามารถผลิต CAR-T cell จากเม็ดเลือดของคนไข้ โดยอาศัยพาหะไวรัส (viral vector) ในการดัดแปลงพันธุกรรมเพื่อใช้ในมนุษย์ เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ CAR-T cell มีต้นทุนสูงมาก ทางกลุ่มวิจัยจึงได้ร่วมมือกับคณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น ที่กำลังศึกษาวิจัยการผลิต CAR-T cell โดยไม่ใช้ไวรัส เพื่อลดต้นทุนการผลิตที่สูงเกินไป จนในที่สุดทางกลุ่มวิจัยประสบผลสำเร็จ ในการปรับปรุงกระบวนการและทดสอบการผลิต CAR-T cell แบบที่ไม่ใช้ไวรัส จากเลือดของผู้ป่วยอาสาสมัครชาวไทย โดยมีต้นทุนการผลิตลดลงถึง 10 เท่า จึงนำไปสู่ความร่วมมือในการวิจัยทางคลินิกต่อไป" นพ.กรมิษฐ์ กล่าว
ปัจจุบันศูนย์การผลิตเซลล์และยีนบำบัด โรงพยาบาลจุฬาฯ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ สามารถผลิตCAR-T cell ภายในโรงพยาบาล และภายในประเทศไทยได้แล้ว ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐาน เป็นการผลิตสำหรับการวิจัยทางคลินิกและการดูแลรักษาคนไข้ในโรงพยาบาล โดยตั้งเป้าไว้ว่าสามารถผลิตCAR-T cell และใช้ได้รักษาผู้ป่วยได้จริง อย่างแพร่หลายในปี 2024
พัฒนาวิธีการผลิต CAR-T cell
Prof. Yoshiyuki Takahashi, MD, PhD หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า ทีมวิจัยของนาโกย่าได้พัฒนาวิธีการผลิต CAR-T cell โดยไม่ใช้ไวรัสเป็นพาหะในการดัดแปลงพันธุกรรม โดยเทคโนโลยี piggyBac transposon เป็นพาหะ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายกว่า และมีต้นทุนต่ำกว่าการใช้ไวรัสมาก
เมื่อปี 2561 มหาวิทยาลัยนาโกย่า ได้ทำข้อตกลงร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อสนับสนุนการวิจัยและรักษามะเร็งด้วย CAR-T cell ให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย โดยการสนับสนุน piggyBac Transposon สำหรับการผลิต CAR T cell เพื่อดำเนินการทำวิจัยทางคลินิกในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ซึ่งในขณะนี้การวิจัยทางคลินิกในไทยยังคงเดินหน้าต่อไป และมีความปลอดภัยในการใช้รักษาผู้ป่วย
ทางประเทศญี่ปุ่นเองก็ได้เริ่มดำเนินการวิจัยทางคลินิกด้วยนวัตกรรม CAR-T cell ในผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดบีเซลล์ในเบื้องต้นได้ผลดีมากและกำลังจะเริ่มงานวิจัยทางคลินิกในมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่มีการกลับมาเป็นซ้ำหรือดื้อต่อการรักษา นำโดยมหาวิทยาลัยนาโกย่าร่วมกับโรงพยาบาลชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยฮอกไกโด โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยเกียวโต โรงพยาบาลมหาวิทยาลัยคิวชู โรงพยาบาลศูนย์โรคมะเร็งแห่งชาติภาคตะวันออก
นอกจากนี้ ยังมีความมุ่งมั่นที่จะให้การสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม CAR-T cell ให้เกิดขึ้นในประเทศอื่น ๆ เพิ่มเติม โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้มีผู้ป่วยเข้าถึงนวัตกรรมนี้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ครั้งแรกในไทยรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ บุญวรเศรษฐ์ หัวหน้าสาขาวิชาโลหิตวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า การวิจัยและรักษาผู้ป่วยด้วยนวัตกรรม CAR-T cell มีขั้นตอนที่ซับซ้อน เริ่มตั้งแต่การคัดกรองผู้ป่วยที่เหมาะสม การแยกเก็บเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วย การผลิต CAR-T cell จากเม็ดเลือดขาวของผู้ป่วย การให้ยากดภูมิคุ้มกันก่อนการให้เซลล์ การให้ CAR-T cell แก่ผู้ป่วย และการตรวจติดตามประสิทธิภาพและผลข้างเคียงในผู้ป่วยหลังได้รับเซลล์
ทำให้มีการจัดตั้งทีมสหสาขาวิชาขึ้น ประกอบไปด้วย ทีมแพทย์และเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญในการผลิตและควบคุมคุณภาพ CAR-T cell ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านธนาคารเลือด ทีมแพทย์และพยาบาลผู้เชี่ยวชาญด้านโรคเลือดและการปลูกถ่ายเซลล์ รวมถึงทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ระบบประสาท เวชบำบัดวิกฤติ และรังสีแพทย์ สำหรับรองรับการวิจัยและรักษามะเร็งด้วย CAR-T cell เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับความปลอดภัยและประโยชน์สูงสุดจากนวัตกรรมนี้
"ทีมวิจัยได้เริ่มการวิจัยทางคลินิกในระยะที่ 1 ในช่วงปลายปี 2563 เพื่อศึกษาความปลอดภัยและประสิทธิภาพเบื้องต้นของ CAR-T cell ในการใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดบีเซลล์ ที่มีโรคกลับเป็นซ้ำและดื้อต่อการรักษาด้วยวิธีมาตรฐาน อื่น ๆ แล้ว จำนวน 5 ราย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยนวัตกรรม CAR-T cell ได้"ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว
โดยหลังจากที่ผู้ป่วยมะเร็งได้รับ CAR-T cell เข้าไปแล้วนั้น ผู้ป่วยมีการตอบสนองเบื้องต้นอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจและมีผลข้างเคียงอยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ ใกล้เคียงกับการรักษาด้วยผลิตภัณฑ์ CAR-T cell ที่ใช้กันอยู่ในต่างประเทศ
ตั้งเป้าวิจัยทางคลินิกในผู้ป่วยครบ 12 ราย
นอกจากนี้ ในผู้ป่วยอาสาสมัครรายหนึ่งที่มีก้อนขนาดใหญ่ถึง 10 เซนติเมตร และดื้อต่อการรักษาทุกชนิดที่มีอยู่ เมื่อเข้าร่วมโครงการวิจัยนี้พบว่าเราสามารถควบคุมโรคไว้ได้ และทำให้ผู้ป่วยปราศจากโรคมาแล้วถึง 1 ปี หลังจากที่ได้รับ CAR-T cell เพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งนับเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างยิ่ง
"หลังจากนี้ทีมวิจัยได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะดำเนินการวิจัยทางคลินิกในผู้ป่วยเพิ่มอีก 7 ราย รวมเป็น 12 ราย ให้แล้วเสร็จภายในปี 2566 หากผลเป็นที่น่าพอใจ เป้าหมายต่อไปคือการเปิดให้บริการการรักษาด้วย CAR-T cell ที่สามารถผลิตขึ้นเองได้ภายในสถานที่ผลิตในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยนาโกย่า ประเทศญี่ปุ่น"ผศ.นพ.อุดมศักดิ์ กล่าว
ความร่วมมือทางวิชาการของทั้ง 2 มหาวิทยาลัย ทำให้เกิดผลสำเร็จในการพัฒนาการรักษาด้วยนวัตกรรมเซลล์บำบัดมะเร็งให้เกิดขึ้นได้จริงแล้วในประเทศไทย ในอนาคตทางกลุ่มวิจัยมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนานวัตกรรมดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น มีต้นทุนลดลง และสามารถใช้รักษามะเร็งชนิดอื่น ๆ ได้เพิ่มขึ้น
ทางกลุ่มวิจัยต้องขอขอบพระคุณทุกการสนับสนุนที่ทำให้การพัฒนานวัตกรรม CAR-T cell เป็นไปอย่างก้าวกระโดด ทั้งความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยนาโกย่า ผู้ป่วยอาสาสมัคร การสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐบาล (วช, สวรส, TCELS, สภาพัฒน์ฯ) ร่วมกับหน่วยงานภาคเอกชน (TISCO, MK, SCG)
รวมถึงการสนับสนุนจากภาคประชาชนผ่านกองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง จุฬาฯ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราก้าวเดินต่อไปได้อย่างมั่นคงสำหรับการพัฒนาการรักษาด้วยเทคโนโลยีเซลล์และยีนบำบัดชนิดใหม่เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูงได้อย่างเท่าเทียมและยั่งยืน
ทั้งนี้ ขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันงานวิจัยรักษามะเร็ง ด้วยการเลือกบริจาคให้กองทุนภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งจุฬาฯ (ลดหย่อนภาษีได้ 2 เท่า) ผ่านระบบ CU Giving ดังลิงก์ที่แนบมานี้ https://www.chula.ac.th/about/giving/giving-application-form/
หรือบริจาคด้วยตนเองได้ที่ ศาลาทินทัต หรือตึกวชิรญาณวงศ์ ชั้นล่าง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยระบุว่าบริจาคโดยตรงเข้ากองทุน “เงินบริจาคเพื่อศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง (รหัสทุน 25010117)”
หรือบริจาคผ่าน E-donation ข้อมูลการบริจาคของท่านจะส่งตรงไปยังกรมสรรพากรทันที โดยไม่ต้องขอรับใบเสร็จ เพียงใช้แอปพลิเคชันของธนาคารสแกน QR-Code และกดยินยอมให้ธนาคารเปิดเผยข้อมูลแก่กรมสรรพากร โดยผู้ที่ยื่นภาษีออนไลน์สามารถตรวจสอบสถานะการบริจาคได้ภายใน 5 - 7 วัน หลังทำรายการที่เว็บไซต์ของกรมสรรพากร ดังลิงก์ที่แนบมานี้ https://epayapp.rd.go.th/rd-edonation/portal/for-donor