ยิ่ง ‘โลกร้อน’ ขึ้น ยิ่งทำให้ผู้ป่วย ‘โรคหอบหืด’ อาการกำเริบง่ายกว่าเดิม
เปิดผลวิจัยล่าสุด เผย "PM 2.5" ภาวะโลกร้อน และโรคร่วม ทำผู้ป่วย "โรคหืด" มีอาการหอบกำเริบ โดยพบยอดผู้ป่วยเด็กเข้าโรงพยาบาลพุ่งสูงขึ้น 15% ส่วนผู้ป่วยผู้ใหญ่ก็อาจมีอาการกำเริบได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
Key Points:
- สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ประเทศไทยพบผู้ป่วยเสียชีวิตจาก "โรคหืด" จำนวน 4,182 รายต่อปี คิดเป็นวันละ 11-12 ราย หรืออัตรา 3.93 ต่อประชากร 1 แสนคน
- สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะ “โลกร้อน” ที่ส่งผลให้ “ละอองเกสร” และ “เชื้อรา” มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
- รวมไปถึงปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ก็กระตุ้นให้อาการกำเริบเช่นกัน โดยการเพิ่มขึ้นของค่า PM 2.5 ในทุกๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะส่งผลให้อาการหอบกำเริบเพิ่มขึ้น 0.2 ครั้ง
ไม่กี่วันที่ผ่านมา สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ถึงสถานการณ์ของกลุ่มผู้ป่วย “โรคหืด” ในไทยที่พบว่า ช่วงหลังๆ มานี้ ผู้ป่วยมีอาการหอบกำเริบรุนแรงขึ้น โดยสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “โลกร้อน”
เนื่องจากเมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น จะส่งผลให้ “ละอองเกสร” และ “เชื้อรา” มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา เมื่อผู้ป่วยสูดเอาอากาศที่มีละอองเกสรและเชื้อราปะปนอยู่ในปริมาณที่สูงขึ้น ก็ส่งผลให้อาการหอบหืดกำเริบได้ง่ายกว่าเดิม
ล่าสุด มีรายงานพบว่าผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี มีอาการหอบเร็วขึ้นและนอนโรงพยาบาลพุ่งขึ้นถึง 15% อีกทั้งยังพบว่า หากค่า PM 2.5 เพิ่มขึ้นทุกๆ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร จะส่งผลให้อาการหอบกำเริบเพิ่มขึ้น 0.2 ครั้ง ส่วนผู้ป่วยผู้ใหญ่บางรายก็อาจมีอาการกำเริบได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
- ยิ่งโลกร้อน สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ผู้ป่วยหอบหืดต้องดูแลตัวเองมากขึ้น
ศ.ดร.พญ.อรพรรณ โพชนุกูล นายกสมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลล่าสุดในปี 2020 ประเทศไทยพบผู้ป่วยเสียชีวิตจากอาการของโรคหืด 4,182 รายต่อปี คิดเป็นวันละ 11-12 รายหรืออัตรา 3.93 ต่อประชากร 1 แสนคน
โดยสาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่มาจากการไม่ได้พ่นยาควบคุมการรักษาอย่างต่อเนื่อง และเวลามีอาการกำเริบก็จะพ่นยาไม่ทันหรือไม่ถูกวิธี ดังนั้น ช่วงไม่กี่ปีให้หลังมานี้ ที่คนเราต้องเผชิญกับสภาวะโลกร้อนและปัญหาฝุ่น PM 2.5 รุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคหืดมีอาการหอบกำเริบง่ายขึ้น ผู้ป่วยจึงควรดูแลตนเองให้มากขึ้น ดังนี้
- “พ่นยาโรคหืด” อย่างสม่ำเสมอ
- “ตรวจวัดดัชนีคุณภาพอากาศ” ทุกวันก่อนออกจากบ้าน สำคัญอย่างยิ่ง!
นอกจากนั้น ปีนี้ทางสมาคมฯ ได้ร่วมมือกับ ทีมผู้ดูแลโรคระบบทางเดินหายใจ กลุ่มการบริการปฐมภูมิ ภายใต้ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ตามแนวทางการรักษาโรคหืดสำหรับผู้ใหญ่ เพื่อรับมือกับสถานการณ์โรคหืดที่รุนแรงขึ้นในประเทศไทย
- วิจัยล่าสุด พบผู้ป่วยหอบหืดมี "โรคภูมิแพ้จมูกอักเสบ" ร่วมด้วย
ขณะที่ อ.นพ.ธิติวัฒน์ ศรีประสาธน์ ประธานวิจัยฯ สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย ผู้ร่วมทำวิจัยนานาชาติชิ้นล่าสุด จากความร่วมมือระหว่าง 7 สถาบันทางการแพทย์ พบข้อมูลใหม่ว่า มีผู้ป่วยโรคหืดจำนวน 458 ราย จากกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยทั้งหมด 600 ราย (คิดเป็น 80%) มีอาการของ "โรคภูมิแพ้จมูกอักเสบ" และผู้ป่วยส่วนหนึ่งไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคดังกล่าวร่วมด้วย
โดย “โรคภูมิแพ้จมูกอักเสบ” ถือเป็นสาเหตุที่สำคัญต่อการไม่สามารถควบคุมโรคหืดได้ และยังมีภาวะโรคร่วมอื่นๆ ที่สามารถพบบ่อยในผู้ป่วยโรคหืดอีกด้วย ได้แก่ โรคภาวะกรดไหลย้อน, ภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ, ภาวะซึมเศร้า
สำหรับข้อมูลใหม่ที่ได้จากงานวิจัยดังกล่าว ทางสมาคมฯ กำลังเตรียมนำเสนอผลงานวิจัยที่งานประชุมนานาชาติ American Thoracic Society ณ เมือง Washington DC ประเทศสหรัฐอเมริกา ในเดือนพฤษภาคม 2566 นี้
อย่างไรก็ตาม ในประเทศไทยมีการจัดตั้งเครือข่ายคลินิกโรคหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง มานานกว่า 14 ปีแล้ว ซึ่งเครื่อข่ายตรงนี้ สามารถช่วยลดจำนวนผู้ป่วยต้องมา admit ที่ รพ. ให้น้อยลงได้กว่า 17,585 ครั้ง (คิดเป็น 25.9%) แต่ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคหอบหืดที่เข้าถึงการรักษาได้ ยังมีจำนวนน้อยเพียง 30%
ในอนาคตยังคงต้องพัฒนาเครื่อข่ายนี้ให้ขยายวงกว้างมากขึ้น เพื่อทำให้ผู้ป่วยอีก 70% เข้าถึงการรักษาให้ได้ เพื่อควบคุมและรับมือกับสถานการณ์โรคหืดที่รุนแรงขึ้นในประเทศไทย ท่ามกลางภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (โลกร้อน) และมลภาวะ PM 2.5 ในปัจจุบัน
------------------------------------
อ้างอิง : สมาคมสภาองค์กรโรคหืดแห่งประเทศไทย (ข้อมูลจากงานแถลงข่าว ณ 24 มี.ค. 66)