เตือนภัย 'ฮีทสโตรก' กรณี 'เอ๋ ชนม์สวัสดิ์' ภัยร้ายเสี่ยงตายหน้าร้อน

เตือนภัย 'ฮีทสโตรก' กรณี 'เอ๋ ชนม์สวัสดิ์' ภัยร้ายเสี่ยงตายหน้าร้อน

จากข่าวกรณี 'เอ๋ ชนม์สวัสดิ์' ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล จากอาการ 'ฮีทสโตรก' และเสียชีวิตในเวลาต่อมา กรุงเทพธุรกิจ ได้รวบรววมความรู้เกี่ยวกับโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก รวมถึงอาการ การป้องกัน และโรคอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ในสภาวะที่อากาศร้อนจัดในช่วงนี้

Key Point :

  • 'โรคลมแดด' หรือ 'ฮีทสโตรก' เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ  
  • ที่ผ่านมาพบอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้นในฤดูร้อน โดยกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง คือ คนทำงานกลางแจ้ง ผู้ที่มีโรคประจำตัว เด็กและผู้สุงวัย  ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ดังนั้น เมื่อพบเห็นผู้มีอาการควรนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว

 

จากกรณี นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม ( เอ๋ ) นักธุรกิจ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสมุทรปราการ ถูกนำตัวส่ง โรงพยาบาลบุรีรัมย์อย่างเร่งด่วน หลังมีอาการฮีทสโตรก ขณะซ้อมแข่งรถยนต์ที่สนามช้างอินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต จ.บุรีรัมย์ และล่าสุด นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา ผู้ประกาศคนดังเผยผ่านรายการเรื่องเล่าเช้านี้ช่อง 3 ว่า นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เสียชีวิตแล้ว

 

ฮีทสโตรก คืออะไร 

 

ในช่วงนี้ประเทศไทยเข้าสู่หน้าร้อน และมีอากาศร้อนจัด บางพื้นที่อุณหภูมิสูงสุดอาจสูงถึง 40 องศาเซลเซียส เมื่อเร็วๆ นี้ กรมการแพทย์ ได้ออกมาเตือน ประชาชนถึงความเสี่ยง 'โรคลมแดด' หรือ 'ฮีทสโตรก' (Heat Stroke) ได้โดยเฉพาะคนทำงานกลางแจ้ง กลุ่มเสี่ยง  และผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

 

ทั้งนี้ โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถปรับตัวหรือควบคุมระดับความร้อนภายในร่างกายได้ ทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นเรื่อยๆ เมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นจากการเผชิญกับสภาพอากาศที่มีความร้อนสูง เช่น การออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมท่ามกลางอากาศร้อนจัดเป็นเวลานาน ซึ่งพบว่ามีอุบัติการณ์เพิ่มมากขึ้นในฤดูร้อน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

6 กลุ่ม ความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป

สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าคนทั่วไป มี 6 กลุ่ม ได้แก่

1. ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น ออกกำลังกาย

2. เด็กเล็กและผู้สูงอายุ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ดีเท่าคนหนุ่มสาว

3. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง

4. ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก

5. ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ โดยร่างกายของคนอ้วนและผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอจะตอบสนองต่อความร้อนที่ได้รับช้ากว่าปกติ

6. ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้เส้นเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัวได้มากขึ้น ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่สูงกว่าคนที่ไม่ได้ดื่ม ซึ่งแอลกอฮอล์จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดได้รวดเร็ว ไปออกฤทธิ์กระตุ้นหัวใจให้สูบฉีดเลือดเร็วและแรงขึ้น ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น ส่งผลให้หัวใจทำงานหนักเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย อาจทำให้ช็อกและเสียชีวิต

 

อาการ 'ฮีทสโตรก'

  • อาการจะเริ่มจากอุณหภูมิร่างกายค่อยๆ สูงขึ้น
  • เมื่อเกิน 40 องศาเซลเซียส ร่างกายจะไม่สามารถควบคุมได้
  • ทำให้รู้สึกผิดปกติ ปวดศีรษะ หน้ามืด กระสับกระส่าย ซึม สับสน ชัก ไม่รู้สึกตัว
  • ร่วมกับมีอาการคลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว หายใจหอบ ตัวแดง
  • ถ้าปล่อยทิ้งไว้ให้มีอาการอาจส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อระบบสมอง หัวใจ ไต และกล้ามเนื้อ
  • หากไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนและทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
  • เมื่อพบผู้ที่มีอาการจากโรคลมแดด ควรรีบนำส่งโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยเร็ว


 

การป้องกัน ฮีทสโตรก 

สำหรับการป้องกัน สามารถทำได้ ดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมในสภาพอากาศที่ร้อนจัดหรือกลางแจ้งเป็นเวลานานๆ
  • หากสามารถเลี่ยงได้ ควรเลือกเวลา ที่ต้องการทำกิจกรรม เช่น ช่วงเช้ามืด หรือระหว่างพระอาทิตย์ตกดิน
  • ผู้ที่ชอบออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุณหภูมิร้อนจัด ควรดื่มน้ำให้มากเพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่ทำให้เกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ เช่น เครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน กาแฟ เหล้า เบียร์ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้เสียน้ำทางปัสสาวะในปริมาณสูง
  • หากไม่สามารถชดเชยน้ำได้มากพอ จะเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคลมแดดได้
  • หากจำเป็นต้องออกไปกลางแจ้งควรปกป้องตนเองจากแสงแดด โดยอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น สวมใส่เสื้อผ้าที่มีคุณสมบัติระบายอากาศได้ดี หมวก ร่ม ถือเป็นหนึ่งอุปกรณ์ที่ควรพกติดตัวเมื่อต้องเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด

 

นอกจากนี้ การอยู่ในรถที่ติดเครื่องยนต์กลางแจ้ง ซึ่งมีอันตรายมาก นอกจากต้องพบกับอากาศร้อนแล้ว ยังเพิ่มความเสี่ยงของการได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซพิษ ที่มีผลต่อระบบประสาทจึงควรหลีกเลี่ยงเช่นกัน

 

พบผู้ที่มีอาการลมแดด ต้องทำอย่างไร

 

นายแพทย์เกรียงไกร  นามไธสง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี แนะว่า ส่วนการป้องกันโรคลมแดด ขอให้พยายามหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัด  ดื่มน้ำ 1-2 แก้วก่อนออกจากบ้าน และพยายามดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร สวมเสื้อผ้าที่โปร่งสบาย สีอ่อน ระบายอากาศได้ดี ไม่รัดรูป สวมแว่นกันแดด กางร่ม ทาโลชั่นกันแดด เลือกออกกำลังกายการช่วงเช้าหรือเย็น หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

 

"หากพบเห็นผู้เป็นลมแดดให้รีบนำเข้าที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก ให้นอนราบยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูง ถอดเสื้อผ้าให้เหลือน้อยชิ้น ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นน้ำแข็งประคบตามซอกคอ หน้าผาก รักแร้ ขาหนีบร่วมกับใช้พัดลมเป่าเพื่อระบายความร้อนและลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลงอย่างรวดเร็วที่สุด หากไม่หมดสติให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ และนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว"

 

อาการอื่นๆ ที่เกิดจากความร้อน 

โรคจากความร้อนมีอาการหลายอย่างตามลำดับขั้นของอุณหภูมิที่สูงขึ้น  เช่น

  • การมีผื่นขึ้นตามตัว
  • ตัวบวม
  • อาการอ่อนเพลีย หรือที่เรียกว่าเพลียแดด
  • เป็นตะคริว
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส  
  • ปวดศีรษะ
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • หัวใจเต้นเร็ว
  • ชัก มึนงง หน้ามืด  
  • หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีอาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ 

 

 

เตือนภัย \'ฮีทสโตรก\' กรณี \'เอ๋ ชนม์สวัสดิ์\' ภัยร้ายเสี่ยงตายหน้าร้อน