วูบหมดสติ หัวใจหยุดเต้น : ทักษะCPR และเครื่อง AED ช่วยชีวิตได้อย่างไร
ทักษะ CPR จำเป็นที่คนไทยต้องเรียนรู้ ส่วนเครื่องกระตุ้นหัวใจ AED จำเป็นต้องมีในพื้นที่สาธารณะและการแข่งกีฬา สองเรื่องที่ต้องวางรากฐานให้ระบบความปลอดภัยทางการแพทย์ฉุกเฉิน
ตามสถิติในประเทศไทยพบว่า มีผู้เสียชีวิตระหว่างการแข่งขันกีฬาด้วยอาการวูบหมดสติ และหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) ประมาณ 1 ต่อ 200,000 คน เนื่องจากเลือดไม่สามารถสูบฉีดนำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายและสมองตามปกติได้ ทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงสูงที่จะเสียชีวิต หากได้รับความช่วยเหลือล่าช้า ดังนั้นการปฐมพยาบาลเบื้องต้น CPR จึงจำเป็น และเครื่องกระตุ้นหัวใจหรือ AED ควรมีไว้ตามพื้นที่สาธารณะทุกแห่ง เพื่อช่วยชีวิตประชาชนในยามฉุกเฉิน
ที่สำคัญที่สุด คือ ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศวัย แม้แต่ผู้มีสุขภาพแข็งแรงโดยปราศจากสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการ สสส. และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ กล่าวว่า ได้สร้างต้นแบบการวางระบบความปลอดภัยทางการแพทย์ฉุกเฉินในการจัดกีฬามวลชนไทยในงาน “Thai Health Day Run 2022 วิ่งสู่วิถีชีวิตใหม่” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้
“การจัดงานกีฬามวลชนทุกประเภทและทุกระดับ ควรมีมาตรฐานความปลอดภัยทางการแพทย์ โดยทีมแพทย์พยาบาลผู้เชี่ยวชาญการกู้ชีพ มีเครื่องไม้เครื่องมือที่พร้อมโดยเฉพาะเครื่องกระตุ้นหัวใจหรือ AED"
CPR จำเป็นต้องเรียนรู้
คนไทยทุกคน จึงจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อฟื้นคืนชีพแก่ผู้หยุดหายใจ หรือหัวใจหยุดเต้น ให้กลับมามีชีพจรดังเดิม (Cardio Pulmonary Resuscitation : CPR) ซึ่งสสส.และภาคีเครือข่ายได้เร่งสนับสนุนการจัดอบรมให้ความรู้แก่ประชาชนทั่วไปอย่างต่อเนื่อง
นพ.ภัทรภณ อติเมธิน แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ผู้เชียวชาญด้านการวิ่งและอาการบาดเจ็บจากการวิ่ง สมาคมการค้าผู้จัดงานกีฬามวลชนไทย (TMPSA)ให้คำแนะนำว่า เมื่อพบเห็นผู้มีอาการวูบหมดสติ หรือล้มลงโดยไม่มีสาเหตุให้รีบเข้าไปช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการทำ CPR และใช้เครื่อง AED ทันที
การปฐมพยาบาลขั้นต้นหรือ CPR
"สำคัญที่สุด เพื่อเฝ้าระวังและประเมินโอกาสที่นักกีฬาจะได้รับการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตหากเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งจำเป็นจะต้องให้การช่วยเหลืออย่างทันท่วงที ดังนั้นการเตรียมพร้อมไว้ก่อนก็เท่ากับการลดโอกาสการสูญเสียชีวิตได้”
นพ.ภัทรภณ กล่าวว่า เมื่อเผชิญกับผู้ที่หมดสติหัวใจหยุดเต้น อยากให้คำนึงเสมอว่าถ้าไม่แน่ใจกับอาการให้รีบปั๊มหัวใจไว้ก่อน
"ถ้าไม่ทำอะไรเลย ผู้ป่วยก็ไม่ฟื้นขึ้นมา ก็เท่ากับไม่รอด แต่ถ้าลงมือช่วยโอกาสในการฟื้นก็เพิ่มมากขึ้น"
แนวทางการปฏิบัติ CPR มีดังนี้
- 1. ตั้งสติ และทำการตรวจสอบสภาพแวดล้อมโดยรอบว่า มีความปลอดภัยเพียงพอและไม่มีอันตราย ทั้งต่อตัวผู้ที่เข้าไปช่วยเหลือ และผู้ป่วย
- 2. สำรวจอาการผู้ป่วย ว่ามีชีพจรและหายใจหรือไม่ โดยพิจารณาจากการขยับขึ้นลงของหน้าอก
- 3. เริ่มต้นปลุกด้วยเสียงพร้อมๆ กับการสัมผัสโดยการตบบ่าทั้ง 2 ข้างของผู้มีป่วย หากไม่รู้สึกตัวและไม่หายใจ ให้เข้าสู่กระบวนการทำ CPR ทันที เพราะการปล่อยให้ล่าช้านานเท่าไหร่โอกาสการรอดชีวิตก็จะลดลง
โดยเริ่มจากการนั่งคุกเข่ายกก้นขึ้น วางส้นมือข้างที่ถนัดบนบริเวณกึ่งกลางของหน้าอกในตำแหน่งของหัวใจแล้วใช้อีกมือประกอบเหยียดแขนตรง จากนั้นใช้แรงกดจากหัวไหล่และลำตัวกดตรงลงไปให้ลึกประมาณ 5-6 ซ.ม ด้วยความเร็ว 100-120 ครั้งต่อนาที
- 4. ขอความช่วยเหลือจากผู้คนรอบข้าง หรือหากอยู่คนเดียวให้เปิดลำโพงโทรศัพท์ ติดต่อขอความช่วยเหลือหมายเลข 1669 โดยให้ระบุรายละเอียดของอาการ โดยเฉพาะอาการหมดสติ ไม่หายใจและหัวใจหยุดเต้น
- 5. ระหว่างการทำ CPR ให้ผู้คนที่อยู่บริเวณนั้นนำเครื่อง AED โดยปฏิบัติตามขั้นตอนการใช้เครื่องและกดปุ่มช็อกหัวใจจนกว่าหน่วยกู้ชีพ 1669 จะมาถึงที่เกิดเหตุ
ดังนั้นการเรียนรู้ขั้นตอนการทำ CPR จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ทุกคนควรรู้และปฏิบัติได้ และแนะนำให้โหลดแอพพลิเคชั่น EMS 1669 หรือระบบรับแจ้งเหตุฉุกเฉินซึ่งจะสามารถเรียกรถพยาบาลและส่งตำแหน่งที่เกิดเหตุ