เช็กสิ่งที่ควรทำ - หลีกเลี่ยงในช่วงหน้าร้อน เรื่องที่ทุกคนควรรู้
'13 เมษายน 2566 วันสงกรานต์ ซัมเมอร์นี้' ร้อนแรงกว่าปีไหนๆ ยิ่งอากาศที่ร้อนมากขึ้น อารมณ์ สุขภาพร่างกายก็มักจะมีปัญหาตามมา โดยเฉพาะโรคลมแดดหรือโรคฮีทสโตรก ที่อาจจะถามหาได้
Keypoint:
- อากาศร้อนรุนแรง ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายของทุกช่วงวัย ควรระวังอันตรายที่มากับหน้าร้อน ไม่ว่าจะเป็น ฮีทสโตรก อาการเพลียแดด ผดร้อน ผิวหนังเกรียมไหม้
- ฤดูร้อนที่มีการสูญเสียน้ำจากการที่ร่างกายมีเหงื่อออกมาก ควรดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอวันละ 2 ลิตรขึ้นไป เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไป
- หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็นจัด ไม่ควรนอนให้ลมหรือความเย็นโกรก งดดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เล่นกีฬากลางแจ้ง ต้องดูแลสุขภาพ
ยิ่งสภาพอากาศที่ร้อนจัดทำให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เบื้องต้นอาจแสดงอาการเมื่อยล้าอ่อนเพลีย หน้ามืด ปวดศีรษะ เป็นลม บางรายอาจมีอาการทางสมอง เช่น หมดสติ พูดจาสับสน ชัก บางรายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
แต่ก่อนที่จะไปรู้จักวิธีดูแลตัวเอง ปรับตัวให้เข้ากับอุณหภูมิร้อนจัดในหน้าร้อนนี้ สิ่งไหนควรทำและสิ่งไหนควรหลีกเลี่ยง ต้องมารู้ถึงอันตรายที่มาพร้อมกับอากาศร้อน และส่งผลต่อสุขภาพของทุกคน เพราะต่อให้อากาศร้อนอบอ้าว ไม่ใช่เรื่องใหม่ของคนไทย
ทว่าในปีนี้ด้วยอุณหภูมิที่ร้อนจน ผสมกับภาวะค่าฝุ่นPM2.5 ที่พุ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง การไปเล่นน้ำวันสงกรานต์ หรือทำกิจกรรมกลางแดด โดยไม่ป้องกันตัวเอง ไม่คำนึงถึงอันตรายใดๆ ก็คงไม่ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เตรียมตัวให้พร้อม 'เที่ยวสงกรานต์' ฉบับคลายร้อน สนุก ปลอดภัย
หน้าร้อนระวัง ‘ฮีทสโตรก' ยาไทยคลายร้อนผู้สูงอายุ
ไอเดีย'ของขวัญ-ของฝาก'ดีต่อใจให้ผู้สูงอายุ ญาติผู้ใหญ่ในช่วงสงกรานต์
อันตรายหน้าร้อนที่ทุกคนควรรู้
- โรคลมแดด หรือ Heat Stroke
โรคลมแดด หรือที่คุ้นหูกันว่า ฮีทสโตรก (Heat Stroke) คือภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากการเผชิญกับอากาศร้อนจัด ซึ่งร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ตามปกติ ไม่สามารถขับเหงื่อออกทางผิวหนังได้ ทำให้ผิวหนังแดงและแห้งจัด หัวใจเต้นเร็ว บางคนอาจมีอาการทางสมองร่วมด้วย เช่น สับสน หงุดหงิด เพ้อ หรือเห็นภาพหลอน ฮีทสโตรกยังอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน อย่างตับและไตวาย กล้ามเนื้อสลายตัว มีลิ่มเลือดอุดตันในกระแสเลือด และร้ายแรงที่สุดคืออาการช็อกหมดสติ
- อาการเพลียแดด
อาการเพลียแดดมักเกิดกับผู้ที่เผชิญกับอากาศร้อนประมาณ 40-54 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานๆ รวมไปถึงผู้ที่ทำงานหรือออกกำลังกายอย่างหนักจนร่างกายสูญเสียเหงื่อปริมาณมาก ส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดแย่ลง เลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง เกิดอาการวิงเวียน เมื่อยล้า มีอาการปวดบีบที่กล้ามเนื้อ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นเร็ว ผิวซีด และเหงื่อออกมากผิดปกติก่อให้เกิดอันตรายได้เช่นกัน
- ผดร้อน
อากาศร้อนชื้นอย่างอากาศในประเทศไทย สามารถทำให้ต่อมเหงื่อใต้ผิวหนังอุดตัน จนร่างกายไม่สามารถขับเหงื่อออกมาได้ตามปกติ เกิดเป็นผื่นคันลักษณะบวมแดง เรียกว่า ผดร้อน มักเกิดในบริเวณข้อพับและขาหนีบ รวมถึงผิวหนังที่ได้รับการเสียดสีหรืออยู่ใต้ร่มผ้า ผดร้อนอาจรุนแรงถึงขั้นอักเสบ มีอาการแสบ มีหนอง ต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณรักแร้ คอ หรือขาหนีบ บางคนอาจมีอาการไข้ร่วมด้วย และอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่รุนแรงตามมาได้
- ผิวหนังเกรียมแดด
อีกหนึ่งอันตรายที่แม้จะไม่ได้เกิดจากอากาศร้อนโดยตรง แต่แสงแดดจัดๆ ในช่วงหน้าร้อนนี้สามารถทำให้ผิวหนังไหม้เกรียมได้ นอกจากนั้น แม้แสงแดดจะมีวิตามิน E ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ถ้าผิวหนังของเราต้องรับแสงแดดจัดๆ เป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนัง
สิ่งที่ควรทำในช่วงหน้าร้อน
พญ.ม.ล. ธัญญ์นภัส เทวกุล จากโรงพยาบาลสมิติเวช กล่าวว่าในช่วงอากาศร้อนนี้ การดูแลสุขภาพ มีทั้งสิ่งที่ควรทำ และไม่ควรทำ โดยสิ่งที่ควรทำ ดังนี้
1. ดื่มน้ำเปล่าอยู่เสมอ
น้ำเปล่าที่สะอาด คือ น้ำที่ดีที่สุดตลอดกาล ไม่ว่าจะดื่มในฤดูใดก็ตาม โดยเฉพาะในฤดูร้อนที่มีการสูญเสียน้ำจากการที่ร่างกายมีเหงื่อออกมาก ควรดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอวันละ 2 ลิตรขึ้นไป เพื่อทดแทนน้ำที่สูญเสียไป และช่วยป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำซึ่งอาจทำให้เกิดอาการหน้ามืดเป็นลมได้
2. การป้องกันความร้อน
ในฤดูร้อน ควรเลือกสวมเสื้อผ้าหลวมๆ เนื้อผ้าที่มีการระบายอากาศได้ดี ใส่แล้วเย็นสบาย ในทางตรงกันข้าม การใส่เสื้อผ้าเนื้อหนาหรือผ้าที่ไม่ซับเหงื่อ จะปิดกั้นไม่ให้อากาศถ่ายเท ผู้สวมใส่จะยิ่งรู้สึกร้อนและหงุดหงิด เหนียวตัวจากอากาศที่ร้อนมากยิ่งขึ้น เนื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ใส่แล้วเย็นสบาย ยังสามารถป้องกันผดผื่นคันที่มักเกิดภายในร่มผ้าที่อับชื้นได้
นอกจากนั้นแล้ว หากต้องออกจากบ้าน ควรสวมแว่นกันแดด ใส่หมวก และทาครีมกันแดด เพื่อปกป้องร่างกายจากแสงแดด ที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งผิวหนัง
3.พักผ่อนให้เพียงพอ
หากไม่มีเครื่องปรับอากาศช่วยคลายร้อน การเข้านอนท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวคือฝันร้ายดีๆ นี่เอง เพราะอาจเป็นสาเหตุทำให้นอนหลับพักผ่อนได้ไม่เพียงพอ รวมถึงในฤดูร้อนจะมีช่วงกลางวันยาวนานกว่ากลางคืน พระอาทิตย์ขึ้นเร็ว ทำให้ต้องตื่นเช้า
การได้งีบหลับในช่วงกลางวันประมาณ 10-15 นาที จะช่วยให้ร่างกายสดชื่นขึ้น หากต้องการพักผ่อนในที่ทำงานอาจทำได้ด้วยการนั่งหลับตาพิงพนักเก้าอี้หลังรับประทานอาหารกลางวันสัก 5-10 นาที จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานช่วงบ่ายได้ดีขึ้น
4.รับประทานอาหารที่สะอาดและย่อยง่าย
ปกติผู้สูงอายุมักรับประทานอาหารได้น้อยอยู่แล้ว ยิ่งในภาวะอากาศร้อนอบอ้าวยิ่งทำให้รับประทานอาหารได้ลดลง ควรเลือกปรุงอาหารที่ถูกปาก มีไขมันน้อย รับประทานอาหารรสอ่อนๆ จะช่วยให้รู้สึกสบายท้อง รวมถึงอาหารเบาๆ ย่อยง่าย เช่น ผัก ผลไม้
โดยเฉพาะในผักและผลไม้ที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบเยอะ เช่น แตงโม แตงกวา มะเขือเทศ และสับปะรด เป็นต้น ที่นอกจากจะช่วยให้ความสดชื่นและเพิ่มกากใยแล้ว ยังช่วยป้องกันปัญหาท้องผูกได้อีกด้วย นอกจากนี้ อาหารปรุงสุกที่สะอาดจะช่วยป้องกันโรคท้องเสีย หรืออาหารเป็นพิษที่มักมาพร้อมกับหน้าร้อนได้อีกเช่นกัน
5.จัดสถานที่ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
ลองหามูลี่หรือผ้าม่านสีอ่อนๆ สำหรับบังแดดมาติดที่บริเวณหน้าต่าง หรือถ้าพอมีพื้นที่รอบบ้าน อาจปลูกต้นไม้เพื่อให้ร่มเงาก็ได้เช่นกัน และถ้าไม่อยากให้อากาศภายในบ้านอบอ้าว พยายามอย่าตั้งเฟอร์นิเจอร์ที่ขวางทิศทางลม และเปิดหน้าต่างให้มีอากาศถ่ายเทบ้างก็ช่วยให้อากาศในบ้านสดชื่นขึ้นได้ ช่วยป้องกันโรคที่เกิดจากอากาศร้อน และความอับชื้น
6.ออกกำลังกายเบาๆ
ผู้สูงอายุสามารถออกกำลังกายยิ่งหน้าร้อนเหงื่อออกง่าย การเดินแกว่งแขนภายในบริเวณบ้าน หรือทำงานบ้านเบา ๆ ก็ถือเป็นการออกกำลังกายแบบง่าย ๆ ที่ประหยัดเวลาและการเดินทาง สถานที่ออกกำลังกายควรมีความปลอดภัย ป้องกันการชน หกล้ม และอันตรายจากอุบัติเหตุต่าง ๆด้วย
7.หาผลไม้กินแก้ร้อน
กินผลไม้ที่มีคุณสมบัติเย็น ขับร้อน และเพิ่มน้ำในร่างกาย เช่น แตงโม ส้ม สับปะรด เป็นต้น เพราะผลไม้เหล่านี้ช่วยดับกระหายและทำให้สดชื่นได้ แถมยังมีส่วนช่วยต้านอนุมูลอิสระ แต่แนะนำว่าผลไม้ไม่ควรแช่เย็นจัด หรือกินในตอนกลางคืน รวมถึงกินในขณะที่ท้องว่างและเวลาหิวจัด
8.เลือกใส่เสื้อผ้าที่ดูดซับเหงื่อและระบายความร้อนได้ดี
ช่วงหน้าร้อนจะต้องใส่เสื้อผ้าให้เหมาะสมตามสภาพอากาศ ดังนั้นควรเลือกเสื้อผ้าที่สามารถดูดซับเหงื่อและระบายความร้อนได้ดีมาใส่ แต่ในผู้หญิงตั้งครรภ์การสวมใส่เสื้อผ้าจะต้องมิดชิด และเพื่อป้องกันการกระทบความเย็น จึงควรหลีกเลี่ยงการเปิดพัดลมใส่โดยตรง ขณะเดียวกันต้องป้องกันความร้อนอบอ้าวด้วย การระบายอากาศในห้องจึงต้องดี
9.แม้อากาศร้อนจัด ก็ไม่ควรอยู่แต่ในห้องแอร์
ในวันที่อากาศร้อน อะไรจะดีไปกว่าการอยู่ในห้องแอร์ฉ่ำๆ จริงมั้ยคะ แต่การหมกตัวอยู่ในห้องแอร์ทั้งวัน ก็อาจทำให้ป่วยได้ เพราะห้องแอร์ที่ปิดตลอดเวลาและไม่มีอากาศหมุนเวียน จะเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค
เราแนะนำว่าให้คุณลองปิดแอร์ แล้วเปิดหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ ให้ห้องหรือบ้านของคุณมีอากาศถ่ายเท พัดพาเอาเชื้อโรคออกไป แล้วเปิดแอร์เฉพาะตอนกลางคืน กลางวันก็เปลี่ยนมาใช้พัดลมบรรเทาความร้อน แต่ถ้ากลัวว่าพัดลมธรรมดาจะไม่เย็นสะใจ
สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในหน้าร้อน
1. ไม่ควรกินน้ำแข็ง หลีกเลี่ยงการดื่มน้ำเย็นจัด หวานจัด
อากาศร้อนอบอ้าว พาลทำให้หลายๆ คนคิดถึงน้ำอัดลมหวานๆ เย็นๆ น้ำแข็งไสราดด้วยนมข้น ผลไม้หวานจัดแช่เย็น แต่การดื่มน้ำหวานและเย็นมากเกินไปนั้น อาจส่งผลกระทบต่อระบบการย่อยอาหาร รวมถึงอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนในน้ำแข็ง เป็นสาเหตุให้เกิดอาการท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษได้
2.หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬากลางแจ้งในช่วงหน้าร้อน
กีฬาหลายชนิดทำให้ผู้เล่นรู้สึกสนุกสนานเพลิดเพลินจนลืมอุณหภูมิร้อนๆ ไปเลย แต่หารู้ไม่ว่า การตากแดดขณะออกกำลังกายและมีการสูญเสียเหงื่อปริมาณมาก อาจส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำหรือเป็นลมแดด เนื่องจากร่างกายไม่สามารถรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คงที่ได้ ส่งผลให้อุณหภูมิในร่างกายสูงกว่าปกติ จนเกิดอาการต่างๆ หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธีหรือช้าเกินไป ก็อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้เช่นกัน
3. ไม่เล่นน้ำช่วงแดดจัด
ฤดูร้อนกับทะเลเป็นของคู่กัน แต่การลงเล่นน้ำในช่วงแดดจัดจะทำให้เกิดอาการแสบร้อน และมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งผิวหนัง โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น บุคคลในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งผิวหนัง ดังนั้น หากอยากลงเล่นน้ำทะเล หรือเล่นกีฬาทางน้ำ ควรรอให้แดดอ่อนลงในช่วงบ่าย และไม่ควรลืมสวมแว่นกันแดด และทาครีมกันแดดอยู่เสมอ
4.งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
การดื่มแอลกอฮอล์ในฤดูร้อนจะทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้รู้สึกอ่อนเพลียได้ง่าย โดยเฉพาะหากดื่มในเวลากลางวันช่วงที่มีอุณหภูมิสูง จะก่อให้เกิดความเสี่ยงให้เกิดอาการช็อกได้ ทั้งนี้แอลกอฮอล์ยังทำให้หลอดเลือดที่ผิวหนังขยายตัว เกิดการขับน้ำออกจากร่างกายเร็วขึ้น ร่างกายจึงขับเหงื่อและปัสสาวะออกเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำโดยไม่รู้ตัว ยิ่งเมื่อมีอาการมึนเมาจนเผลอหลับไป อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
5.ไม่ควรนอนให้ลมหรือความเย็นโกรก
ความร้อนจากแดดทำให้เสียเหงื่อ เสียพลัง เมื่อนอนหลับตากลมในขณะเหงื่อออก จะทำให้อุณหภูมิร่างกายลดต่ำลง ถ้าอุณหภูมิภายนอกยังสูงอยู่ แล้วเหงื่อไม่สามารถระบายออกมาได้ จะมีความร้อนสะสมอยู่ข้างใน ทำให้เวียนหัว รู้สึกหนักหัว ไม่สดชื่นแจ่มใส หรืออาจทำให้เป็นหวัดได้
6.หลีกเลี่ยงการออกแดดจัด และทาครีมกันแดดป้องกันผิว
อีกหนึ่งสิ่งที่ต้องระวังในช่วงฤดูร้อนก็คือรังสียูวี เพราะความเข้มข้นของรังสียูวีในประเทศไทย ช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม นับว่าร้อนมาก ฉะนั้นควรงดทำงานหนักกลางแจ้ง และเลี่ยงที่ต้องเจอกับแดดจัด เพราะอากาศร้อนจะทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น อาจมีผลทำให้เป็นลมแดดและถึงขั้นเสียชีวิตได้เลยทีเดียว นอกจากนี้ก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง ควรทาครีมกันแดดเพื่อปกป้องผิวจากรังสียูวีด้วย
นอกจากนั้น ควรดูแลสุขภาพของเด็ก ๆ โดยเฉพาะเรื่องเสื้อผ้า อาหาร ที่อยู่อาศัย และการดำเนินชีวิต เช่นเดียวกันหญิงตั้งครรภ์ สิ่งที่ควรปฏิบัติในหน้าร้อน คือ ต้องสวมเสื้อผ้าที่มิดชิด เพื่อป้องกันการกระทบกับความเย็น อาหารที่กินต้องสะอาด ไม่ควรนอนบนสื่อที่เย็น อาหารที่กินต้องสะอาด ไม่ควรนอนบนสื่อที่เย็น และห่มผ้าคลุมกายเสมอ ระวังอย่าให้เป็นไข้หวัด ห้ามอาบน้ำร้อนจัด หรือเย็นจัด
อย่างไรก็ตาม บุคคล 3 ประเภทที่ต้องระวังให้มาก คือ คนสูงอายุ ผู้ที่มีระบบย่อยอาหารที่ไม่ดี คนที่มีม้ามพร่องผู้ที่มีลักษณะสามอย่าง ที่กล่าวมานั้น เมื่อได้รับความร้อนจากแสงแดด หรือถ้าดื่มน้ำเย็นมากเกินไป และเกิดความชื่นสะสมในร่างกาย อาจทำให้เกิดอาการ ท้องเสีย ติดเชื้อราง่าย ขี้หนาว ปวดตัว ตัวร้อน เป็นต้น