หลับเต็มที่แต่ตื่นมาไม่สดชื่น อาจเข้าข่าย ‘ภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง’
นอนหลับเต็มที่แต่ตื่นมาแล้วยังไม่สดชื่น ระหว่างวันมีอาการอ่อนเพลียอยู่ตลอดเวลา ไม่เกี่ยวกับความขี้เกียจ แต่ความจริงแล้วมีผลเสียมากกว่าที่คิด
Key Points:
- ภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง ไม่ได้เกิดขึ้นจากพฤติกรรมเท่านั้นแต่เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ตั้งแต่ร่างกายติดเชื้อไปจนถึงปัญหาสุขภาพจิต
- ผู้ที่เกิดภาวะอ่อนเพลียเรื้อรังนอกจากจะอ่อนเพลียโดยไม่มีสาเหตุแล้วยังมีอาการเจ็บป่วยทางกายโดยไม่มีสาเหตุอีกด้วย
- การรักษาภาวะอ่อนเพลียเรื้อรังเบื้องต้นสามารถเริ่มจากปรับพฤติกรรมได้ แต่การเข้ารับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสำคัญที่สุด
เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย หมดเรี่ยวแรง ไม่สบายตัว หลับไม่สนิท ไม่มีสมาธิ ความจำไม่ดี ไปจนถึงมีอาการเจ็บป่วยตามร่างกายโดยที่หาสาเหตุไม่ได้ หากเกิดขึ้นติดต่อกันนานผิดปกติคุณอาจกำลังเข้าข่ายตกอยู่ใน “ภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง” ซึ่งภาวะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากพฤติกรรมโดยเฉพาะความขี้เกียจหรือความเหนื่อยล้าสะสมจากการทำงานหนักอย่างที่ใครหลายคนเข้าใจเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยตั้งแต่ การติดเชื้อไวรัส ปัญหาระบบภูมิคุ้มกัน ปัญหาเรื่องฮอร์โมน ไปจนถึงเรื่องของสุขภาพจิต
สำหรับภาวะอ่อนเพลียเรื้อรังนั้นมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “Chronic Fatigue Syndrome” หรือ CFS เป็นกลุ่มอาการ หรือภาวะความผิดปกติในระบบร่างกาย ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวัน รวมทั้งทางด้านจิตใจ ผู้ที่ประสบกับภาวะนี้จะมีอาการเหนื่อยล้าอย่างรุนแรงและคงอยู่เป็นระยะเวลานานในแต่ละวันโดยที่ไม่สามารถหาคำอธิบายอาการเหล่านั้นได้ แม้จะพักผ่อนแล้วก็ยังไม่หาย ทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
- สัญญาณบ่งบอกว่ากำลังเข้าสู่ “ภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง”
สำหรับผู้ที่มีอาการดังต่อไปนี้ติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน โดยที่ไม่สามารถหาสาเหตุของความเจ็บป่วยได้นั้นอาจกำลังเป็นจุดเริ่มต้นของภาวะอ่อนเพลียเรื้อรังซึ่งจะมีอาการดังต่อไปนี้
- มีความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย
- เริ่มมีการสูญเสียความทรงจำเล็กน้อย รวมไปถึงไม่ค่อยมีสมาธิ
- เจ็บคอ
- ต่อมน้ำเหลือง บริเวณคอหรือใต้รักแร้โต
- มีอาการปวดกล้ามเนื้อ โดยไม่มีสาเหตุ
- มีความเจ็บปวดย้ายจากข้อบริเวณหนึ่ง ไปยังข้ออีกบริเวณหนึ่ง แต่ไม่มีอาการบวมหรือแดง
- ปวดศีรษะ
- นอนหลับไม่เต็มอิ่ม แม้จะนอนหลับได้หลายชั่วโมง
- อ่อนเพลียแบบรุนแรงเป็นเวลามากกว่า 24 ชั่วโมง หลังจากออกกำลังกายหรือใช้สมอง
- ภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง แท้จริงแล้วเกิดจากหลายปัจจัย
ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า “ภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง” นั้นไม่ได้เกิดขึ้นจากปัญหาด้านพฤติกรรมเพียงอย่างเดียวแต่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุแม้จะยังไม่เป็นที่แน่ชัดก็ตาม ได้แก่
1. การติดเชื้อไวรัส จากการวินิจฉัยของแพทย์ในช่วงที่ผ่านมาผู้ป่วยบางคนมีการแสดงอาการของกลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรังหลังจากติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสเอ็ปสไตน์ บาร์ (Epstein-Barr virus) ไวรัสฮิวแมนเฮอร์ปีส์ชนิดที่ 6 (human herpes virus 6) ไวรัสมะเร็งเม็ดเลือดขาวในหนู (mouse leukemia viruses) ซึ่งอาจเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายเกิดความผิดปกติ
2. ปัญหาจากระบบภูมิคุ้มกัน เป็นข้อสันนิษฐานจากนักวิจัยที่ระบุว่าความบกพร่องเล็กน้อยในระบบภูมิคุ้มกันอาจส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลียเรื้อรังได้
3. ความไม่สมดุลของฮอร์โมน จากการวินิจฉัยพบผู้ป่วยบางคนมีระดับฮอร์โมนในเลือดที่ผิดปกติ เช่น ฮอร์โมนที่ผลิตจากไฮโปทาลามัส ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต
4. ปัญหาด้านการนอน หากการนอนถูกรบกวนด้วยโรคหรือภาวะสุขภาพเกี่ยวกับการนอน เช่น โรคหยุดหายใจขณะหลับ หรือ โรคนอนไม่หลับ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดอาการอ่อนเพลียสะสมและนำไปสู่ภาวะอ่อนเพลียเรื้อรังในที่สุด
5. ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต อาการอ่อนเพลียที่เกิดขึ้นอาจเกิดขึ้นจากโรคทางจิตเวชหรือเป็นสัญญาเริ่มต้นของปัญหาสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล โรคไบโพลาร์ โรคจิตเภท (Schizophrenia)
- ปรับการใช้ชีวิต ลดปัจจัยเสี่ยงภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง
การรักษาภาวะอ่อนเพลียเรื้อรังด้วยแพทย์แผนปัจจุบันนั้นถือเป็นหนึ่งในทางเลือกสำหรับผู้ที่มีอาการค่อนข้างหนักและป่วยมาเป็นเวลานาน โดยทั่วไปจะใช้วิธีให้ยาตามอาการ เช่น ยาต้านเศร้า หรือ ยานอนหลับ ไปจนถึงวิธีการบำบัดในรูปแบบต่างๆ ตามความเหมาะสมของอาการ แต่สำหรับใครที่อยากเริ่มต้นด้วยการดูแลตัวเองนั้นก็สามารถทำได้ง่ายๆ ดังนี้
1. มีจังหวะในการใช้ชีวิต โดยการพยายามควบคุมให้กิจกรรมอยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ควรหักโหมทำกิจกรรมต่างๆ มากเกินไป ในวันที่รู้สึกว่าร่างกาย หรือจิตใจไม่พร้อม เรียกง่ายๆ ว่า การจัดตารางและลำดับความสำคัญในการใช้ชีวิตนั่นเอง
2. ลดความเครียด ด้วยการพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่จะก่อให้เกิดความเครียด นอกจากนี้ยังไม่ควรออกกำลังกายมากเกินไป เพราะส่งผลให้เครียดได้เช่นกัน ซึ่งอาจเปลี่ยนไปทำกิจกรรมที่ผ่อนคลายมากขึ้นแทน
3. พยายามฝึกวินัยในการนอน โดยการเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลาในทุกวัน พยายามลดการงีบหลับระหว่างวัน รวมถึงหลีกเลี่ยงคาเฟอีน แอลกอฮอล์ และนิโคติน
แม้ว่าปัจจุบัน “ภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง” อาจจะยังไม่สามารถวิเคราะห์หาสาเหตุได้อย่างเฉพาะเจาะจง แต่ก็เกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะเรื่องของพฤติกรรมและภาวะด้านสุขภาพจิต ดังนั้นหากใครที่พบว่าตัวเองเข้าข่ายภาวะดังกล่าวแล้วนอกจากการปรับปรุงพฤติกรรมของตัวเองแล้วการเข้ารับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็ถือเป็นทางเลือกที่สำคัญไม่แพ้กัน
อ้างอิงข้อมูล : Hello คุณหมอ, BDMS สถานีสุขภาพ และ รพ.ศิครินทร์