'ธุรกิจผู้สูงอายุ' สะพัดแสนล้าน ยกระดับเนอร์สซิ่งโฮม รับสังคมสูงวัย

'ธุรกิจผู้สูงอายุ' สะพัดแสนล้าน ยกระดับเนอร์สซิ่งโฮม รับสังคมสูงวัย

ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด มีผู้สูงอายุมากกว่า 30% ในปี 2578 นับเป็นทั้งความท้าทาย ในการวางระบบสาธารณสุข ทั้งยังเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจที่เกี่ยวกับสูงวัย ซึ่งประมาณการณ์ว่ามูลค่ากว่าแสนล้านบาท

Key Point :

  • สำนักงานสถิติแห่งชาติ คาดว่า ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด (Super Aged Society) มีประชากรสูงอายุมากกว่า 30% ในปี ในปี 2578 มีการประมาณการณ์ภาพรวมธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ มีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท
  • นับเป็นความท้าทายและโอกาสในการสร้างระบบการดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงรองรับผู้สูงอายุต่างชาติที่มีเป้าหมายในการมาอยู่อาศัยที่ไทยระยะยาว
  • ที่่ผ่านมา กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ยกระดับมาตรฐานกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 มกราคม 2564 นอกจากนี้ กิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแล รักษาบำบัด และฟื้นฟูผู้สูงอายุ ยังได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพื่อเสริมความเข็มแข็งภาคเอกชนอีกด้วย

 

 

สมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ และผู้สูงอายุ ประมาณการณ์ภาพรวมธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุทั้งหมดมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท เฉพาะ “ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ” ซึ่งมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องปีละกว่า 1.5 เท่าทุกปี คาดว่ามีมูลค่าตลาดราว 1 หมื่นล้านบาท

 

ในปี 2578 สำนักงานสถิติแห่งชาติ มองว่า ไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสูงสุด (Super Aged Society) มีประชากรสูงอายุมากกว่า 30% นับเป็นทั้งปัญหา ความท้าทาย และโอกาสของไทยในการสร้างระบบบริการรองรับผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นการแพทย์ การดูแลที่บ้าน เนอร์สซิงโฮม โรงพยาบาลผู้สูงอายุ บุคลากรที่ชำนาญการในการดูแลคนไข้ที่มีความซับซ้อน รวมถึงรองรับผู้สูงอายุต่างชาติที่มีเป้าหมายในการมาอยู่อาศัยที่ไทยระยะยาว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ข้อมูลจาก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เผยว่า ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ กล่าวคือ มีจำนวนผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป มากกว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี โดยประชากรผู้สูงอายุในปี 2565 มีมากถึง 12,116,199 คน คิดเป็น 18.3% ของประชากรทั้งหมด ทำให้ภาครัฐมีความจำเป็นเข้ามาดูแลประชาชนในกลุ่มดังกล่าวมากยิ่งขึ้น และในจำนวนผู้สูงอายุมากกว่าสิบล้านคน เป็นอัลไซเมอร์ราว 7 แสนคน ซึ่งต้องใช้ผู้ดูแล 3 คนต่อผู้ป่วยอัลไซเมอร์ 1 คน

 

ยกระดับมาตรฐานเนิร์สซิงโฮม

 

ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกกฎกระทรวงกิจการการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง ที่ออกตามพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 มาตรา 3 (3) ผู้ประกอบกิจการรายใหม่ทุกราย ต้องขออนุญาตก่อนเปิดกิจการ ส่วนผู้ดำเนินการต้องผ่านการอบรม ผ่านการสอบ และมีใบอนุญาตจาก กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)

 

ผู้ให้บริการ หรือพนักงานทุกรายที่ทำหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุต้องผ่านการอบรม จบจากหลักสูตรที่กรม สบส. รับรอง และขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการก่อนปฏิบัติงาน ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 มกราคม 2564 เมื่อดูข้อมูล กิจการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิง พบว่า กิจการที่ได้รับการออกใบอนุญาต ได้แก่

  • ประเภท Day Care จำนวน 2 แห่ง
  • ประเภท Residential Care จำนวน 13 แห่ง
  • ประเภท Nursing Home จำนวน 706 แห่ง

 

'นพ.เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ' ผู้อำนวยการ Chersery Home โรงพยาบาลผู้สูงอายุ และศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และในฐานะนายกสมาคมการค้าและการบริการสุขภาพ ผู้สูงอายุไทย (SHSTA) กล่าวว่า ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ หรือ เนอร์สซิ่งโฮม รวมถึง การส่งผู้ดูแลไปดูแลในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตค่อนข้างมาก ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการควบคุมมาตรฐาน โดยมีการแนะนำให้เนอร์สซิงโฮมรายเล็กจดทะเบียนบริษัท และขอใบอนุญาตกับทางกระทรวงสาธารณสุข

 

 

มาตรฐานขั้นต้นสำหรับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุของกระทรวงสาธารณสุข มีด้วยกัน 3 ด้าน ได้แก่ 

  • ด้านความปลอดภัย ต้องมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตเบื้องต้น รวมถึงทางลาดชัน สัญญาณขอความช่วยเหลือ ฯลฯ 
  • ด้านอาคารสถานที่ ต้องมีระบบป้องกันการติดเชื้อ ไม่แออัด มีพื้นที่ระหว่างเตียง 90 ซม. ระบบระบายอากาศ ห้องน้ำ ประตูกว้าง 90 ซม. ฯลฯ
  • ด้านการให้บริการ ต้องมีผู้ดูแลเหมาะสมไม่น้อยจนเกินไป ตามเกณฑ์ คือ คนไข้ 5 คน มีผู้ดูแล 1 คนขั้นต่ำ และมีระบบบริการฉุกเฉินในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น

นอกจากนี้ กิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการดูแล รักษาบำบัด และฟื้นฟูผู้สูงอายุ ยังได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพื่อเสริมความเข็มแข็งภาคเอกชน

 

Chersery Home ดูแลครบวงจร

 

สำหรับ Chersery Home ภายใต้การบริหารของ นพ.เก่งพงศ์ มีการดูแลดูแลคนไข้ครอบคลุมทั้ง 4 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มหลังผ่าตัด 2. สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ 3. สโตรก และ 4. กลุ่มระยะประคับประคอง ครบวงจรทั้งโรงพยาบาลผู้สูงอายุ Nursing home, Homecare, Service, Food innovation และ Healthcare data management platform รวมถึง ขยายไปถึงการดูแลกลุ่มประคับประคองระยะท้าย

 

ที่ผ่านมา Chersery Home ได้เปิดบริการใหม่ อย่าง 'Harmoni Homecare' บริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน ตั้งเป้า 1,000 ครอบครัวในระยะเวลา 3 ปี พร้อมกันนี้ยังจับมือกับประกันสุขภาพอย่าง เมืองไทยประกันชีวิต และ เจนเนอราลี่ จับกลุ่มคนไข้ที่ต้องการการพักฟื้นหลังออกจากโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และใน 3 ปีต่อจากนี้ (ปี 2566 - 2568) ตั้งเป้าขยายสาขาเพื่อรองรับโอกาสสังคมร้อยปีของไทย 10 สาขาพร้อมทั้งพัฒนา Franchise Model 'บ้านธรรมชาติ' ในกรุงเทพและต่างจังหวัดในราคาที่เข้าถึงได้มากขึ้น

 

อีกทั้ง มีแผนพัฒนาเรื่องบุคลากรที่มีมาตรฐานระดับสากล โดยร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเกือบ 10 แห่งทั้งระดับมหาวิทยาลัยและโรงเรียนบริบาล พร้อมที่ฝึกงานในศูนย์ของเครือกว่า 8 สาขาทั่ว กทม. พร้อมยังรุกตลาดอาหารเพื่อสูงวัยอย่าง 'อามาม่าพุดดิ้ง' ตอบโจทย์คนไข้ที่อยู่โรงพยาบาลที่มีปัญหาเรื่องการบดเคี้ยว รวมไปถึงอาหารประเภท Prebiotics / Probiotics โดยมีความร่วมมือทางด้านงานวิจัยกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในอนาคตจะมีการพัฒนา 'แพลตฟอร์ม Smart Tech' ดูแลที่บ้าน การเก็บข้อมูลสุขภาพระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลสุขภาพเบื้องต้น อาหาร น้ำหนักตัว และกล้ามเนื้อ เพื่อให้แพทย์สามารถติดตามคนไข้ได้อย่างต่อเนื่อง

 

THE PARENTS ดูแลต้นน้ำ-ปลายน้ำ

 

บริษัท เทคโนเมดิคัล จำกัด (มหาชน) หรือ TM ในฐานะเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในกลุ่มอุปกรณ์และวัสดุสิ้นเปลือง และกลุ่มอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ เป็นหนึ่งในภาคเอกชน ที่ก้าวสู่ธุรกิจดูแลผู้สูงวัย โดยก่อตั้ง “บริษัท ทีเอ็ม เนิร์สซิ่ง แคร์ จำกัด” หรือ TMNC ภายใต้แบรนด์ 'THE PARENTS' ดูแลตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

 

นพ.นพดล นพคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีเอ็ม เนิร์สซิ่ง แคร์ จำกัด (TMNC) เผยว่า 'THE PARENTS' เริ่มตั้งแต่ 'ต้นน้ำ' คือ สร้างคนที่มีคุณภาพ โดยก่อตั้ง โรงเรียนการบริบาล เดอะพาเร้นท์ส (The Parents Nursing Care School) ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพป้อนโรงพยาบาล ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และส่งบุคลากรที่ผ่านการอบรมเข้าไปดูแลผู้สูงอายุในที่พักอาศัย

 

'กลางน้ำ' ได้แก่ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ The Parents Nursing Home ตั้งเป้าเป็นสถานดูแลผู้สูงอายุ ที่ต้องการคนดูแลหรือภาวะพึ่งพิงให้เป็นมาตรฐาน คุณภาพ รองรับได้จำนวน 107 เตียง อาคาร 5 ชั้น ประกอบไปด้วย เตียงเดี่ยวหรือห้อง VIP/VVIP และชนิดเตียงรวม เน้นให้บริการส่งเสริม ฟื้นฟู ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในทุกสภาวะของร่างกาย

 

ในส่วนของ 'ปลายน้ำ' อยู่ระหว่างการก่อตั้ง โรงพยาบาล เดอะพาเร้นท์ส (Parents Hospital) อาคาร 7 ชั้น ขนาด 28 เตียง มุ่งเน้นด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตทุกกลุ่มอายุ ร่วมกับการรักษาแพทย์แผนไทยประยุกต์ แพทย์แผนจีน หน่วยไตเทียม ธาราบำบัด การบริบาลนักกีฬา บริบาลคุณแม่หลังคลอด ผู้ป่วยออฟฟิศซินโดรม สปา สามารถรองรับรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง, หลังผ่าตัดกระดูกและข้อ, หลังผ่าตัดใหญ่ทั่วไป และผู้ป่วยที่ต้องการฟื้นฟูสุขภาพให้แข็งแรงขึ้นก่อนกลับไปอยู่บ้าน คาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถดำเนินการในเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2567

 

“ขณะนี้ The Parents Nursing Home มีความพร้อมเพื่อให้บริการดูแลผู้สูงอายุหรือผู้มีภาวะพึ่งพิงทุกกลุ่ม ตั้งแต่กลุ่มติดเตียง กลุ่มกึ่งติดเตียง ติดสังคม รวมถึงผู้มีภาวะพึ่งพิงที่เกิดจากโรคต่างๆ เช่น โรคหลอดเลือดในสมองตีบ แตก ตัน โรคสมองเสื่อม รวมถึงผู้ป่วยหลังการผ่าตัดที่ต้องการการฟื้นฟูและดูแล” นพ.นพดล กล่าว