“สังคมสูงวัย” โอกาสทางธุรกิจ “บริการ-สินค้า-พาเที่ยว” เติบโต

“สังคมสูงวัย” โอกาสทางธุรกิจ  “บริการ-สินค้า-พาเที่ยว” เติบโต

ไทยก้าวสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงวัยมีแนวโน้มเติบโต ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินมูลค่าการใช้จ่ายสำหรับ อุปกรณ์ทางการแพทย์ อำนวยความสะดวก ความปลอดภัยผู้สูงอายุในไทย ปี 2564 อยู่ที่ 8,000 – 9,000 ล้านบาท คาดโตเฉลี่ย 7.8 % ต่อปี ใน 5 ปีข้างหน้า

ที่ผ่านมา กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เคยคาดการณ์ไว้ว่าสังคมไทยกำลังจะเข้าสังคมผู้สูงอายุ ในปี 2568 แต่ล่าสุดพบว่าในปี 2565 ประเทศไทยไม่เพียงแต่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเท่านั้น แต่มีหลายจังหวัดเข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์” โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ที่พบสัดส่วนของผู้สูงอายุต่อประชากรทุกวัย เพิ่มสูงขึ้นเกินกว่า 20%

 

ปี 2576 ประเทศไทยจะมีประชากรสูงวัยถึง 28 % ของประชากรทั้งหมด หรือเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัย ระดับสุดยอด ขณะที่อัตราการเกิดของเด็กเกิดใหม่ลดลงเหลือเพียง 5.5 แสนคนเท่านั้นในปี 2564 โดยอัตราเจริญพันธุ์รวมลดลงเหลือ 1.5 จากเดิมที่อยู่ที่ 2.0 ทำให้ที่ผ่านมาพบว่าตลาดรวมธุรกิจที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุในประเทศไทยมีมูลค่าสูงกว่า 1 แสนล้านบาท 

 

เฉพาะ “ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ” ซึ่งมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องปีละกว่า 1.5 เท่าทุกปีคาดว่ามีมูลค่าตลาดราว 1 หมื่นล้านบาท ทั้งรับดูแลนอกสถานที่ ภาคเอกชน ธุรกิจจัดส่งดูแลตามบ้าน รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้สูงอายุ

 

 

 

ยกระดับเนอร์สซิ่งโฮมรับสูงวัย

 

เมื่อประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ประชากรอายุยืนขึ้น จากการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้า ขณะเดียวกันอายุที่มากขึ้นก็มาพร้อมกับโรคประจำตัว ประมาณการณ์ว่า ผู้สูงอายุของไทยที่มีอยู่ราว 12 ล้านคน ประมาณ 8 – 9 แสนคน อยู่ในภาวะพึ่งพิงหรือต้องการคนดูแล นับเป็นโอกาสของธุรกิจดูแลผู้สูงอายุที่ต้องยกระดับมาตรฐานเพื่อตอบโจทย์ความต้องการเหล่านี้

 

“นพ.เก่งพงศ์ ตั้งอรุณสันติ” ผู้อำนวยการ Chersery Home โรงพยาบาลผู้สูงอายุ และศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู และในฐานะนายกสมาคมการค้าและการบริการสุขภาพ ผู้สูงอายุไทย (SHSTA) เผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่าธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ หรือ เนอร์สซิ่งโฮม รวมถึง การส่งผู้ดูแลไปดูแลที่ผ่าน ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีการเติบโตค่อนข้างมาก ดูได้จากการจดทะเบียนบริษัทใหม่ และการสมัครเข้ามาเป็นสมาชิกของสมาคมฯ จาก 200 กว่าแห่งในปี 2562 เป็น 500 แห่ง ในช่วงระยะเวลา 2 ปี

 

ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการควบคุมมาตรฐาน โดยมีการแนะนำให้เนอร์สซิ่งโฮมรายเล็กจดทะเบียนบริษัท และขอใบอนุญาตกับทางกระทรวงสาธารณสุข ปัจจุบัน มีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุที่ขึ้นทะเบียนมากกว่า 600 แห่ง และศูนย์ขนาดเล็กที่ยังไม่ขึ้นทะเบียนคาดว่าจะมีประมาณ 2,000 แห่ง แต่ในอนาคตจะต้องขึ้นทะเบียนทั้งหมด

 

โดยมาตรฐานขั้นต้นสำหรับศูนย์ดูแลผู้สูงอายุของกระทรวงสาธารณสุข มีด้วยกัน 3 ด้าน ได้แก่ “ด้านความปลอดภัย” คือ ต้องมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตเบื้องต้น รวมถึงทางลาดชัน สัญญาณขอความช่วยเหลือ ฯลฯ “ด้านอาคารสถานที่” ต้องมีระบบป้องกันการติดเชื้อ ไม่แออัด มีพื้นที่ระหว่างเตียง 90 ซม. ระบบระบายอากาศ ห้องน้ำ ประตูกว้าง 90 ซม. ฯลฯ และ “ด้านการให้บริการ” ต้องมีผู้ดูแลเหมาะสมไม่น้อยจนเกินไป ตามเกณฑ์ คือ คนไข้ 5 คน มีผู้ดูแล 1 คนขั้นต่ำ และมีระบบบริการฉุกเฉินในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น

 

“สังคมสูงวัย” โอกาสทางธุรกิจ  “บริการ-สินค้า-พาเที่ยว” เติบโต

 

เอกชนพัฒนาต้นน้ำ-ปลายน้ำ

 

บริษัท เทคโนเมดิคัล จำกัด (มหาชน) (TM) ในฐานะเป็นตัวแทนจำหน่ายเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ในกลุ่มอุปกรณ์และวัสดุสิ้นเปลือง และกลุ่มอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ หนึ่งในภาคเอกชนที่เล็งเห็นโอกาสในการต่อจิ๊กซอร์ธุรกิจนี้ มีการก่อตั้ง “บริษัท ทีเอ็ม เนิร์สซิ่ง แคร์ จำกัด” หรือ TMNC ภายใต้ “THE PARENTS”

 

“นพ.นพดล นพคุณ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีเอ็ม เนิร์สซิ่ง แคร์ จำกัด (TMNC) เผยว่า ความท้าทายในธุรกิจดังกล่าว คือ เมื่อผู้สูงอายุมีความต้องการมากขึ้น โอกาสมีแน่นอน เพียงแต่จะต้องมีคุณภาพด้วย ผู้ประกอบการก็ต้องยกระดับมาตรฐานให้มากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลดีต่อประชาชนและประเทศ

 

ทั้งนี้ THE PARENTS พัฒนาตั้งแต่ “ต้นน้ำ” สร้างคนที่มีคุณภาพ โดยก่อตั้ง “โรงเรียนการบริบาล เดอะพาเร้นท์ส” (The Parents Nursing Care School) ผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพป้อนโรงพยาบาล ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ และส่งบุคลากรที่ผ่านการอบรมเข้าไปดูแลผู้สูงอายุในที่พักอาศัย

 

ถัดมา คือ “กลางน้ำ” ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ The Parents Nursing Home ตั้งเป้าเป็นสถานดูแลผู้สูงอายุ ที่ต้องการคนดูแลหรือภาวะพึ่งพิงให้เป็นมาตรฐาน คุณภาพ รองรับได้จำนวน 107 เตียง อาคาร 5 ชั้น เน้นให้บริการส่งเสริม ฟื้นฟู ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในทุกสภาวะของร่างกาย

 

และ “ปลายน้ำ” อยู่ระหว่างการก่อตั้ง “โรงพยาบาล เดอะพาเร้นท์ส” (Parents Hospital) อาคาร 7 ชั้น ขนาด 28 เตียง มุ่งเน้นด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ อัมพาตทุกกลุ่มอายุ ร่วมกับการรักษาแพทย์แผนไทยประยุกต์ แพทย์แผนจีน หน่วยไตเทียม ธาราบำบัด การบริบาลนักกีฬา บริบาลคุณแม่หลังคลอด ผู้ป่วยออฟฟิศซินโดรม ฯลฯ คาดจะเปิดให้บริการได้ ภายในไตรมาสที่ 2 ปี 2567

 

ขณะเดียวกัน ผู้สูงอายุที่ไม่ต้องการภาวะพึ่งพิง ก็มีห้องสันทนาการ มีกิจกรรมให้ผู้สูงอายุที่ชอบสังคมมาทำกิจกรรมร่วมกัน ร้องเพลง เต้นรำ วาดรูป ทำอาหาร กิจกรรมท่องเที่ยว ท่องเที่ยวต่างประเทศที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงบริการพาไปพบแพทย์ ช้อปปิ้ง เป็นต้น

 

“สังคมสูงวัย” โอกาสทางธุรกิจ  “บริการ-สินค้า-พาเที่ยว” เติบโต

 

พาพ่อแม่ไปหาหมอ-ช้อปปิ้ง

 

ปัจจุบัน หนึ่งในธุรกิจที่น่าสนใจ คือ พาผู้สูงอายุไปโรงพยาบาล ในวันที่ลูกหลานไม่ว่าง หรือ ไปเที่ยว ไหว้พระ ช้อปปิ้ง ที่ตอบโจทย์สูงวัยที่ยังแอคทีฟอยู่ “พญ.ศศิ ใหญ่สว่าง” จักษุแพทย์เฉพาะทางด้านการแก้ไขสายตา ซึ่งเริ่มเข้ามาในธุรกิจนี้ เผยว่า “บริการพาพ่อแม่ไปหาหมอ” ต่อยอดจาก บริการ Lid Spa at Home ส่งพยาบาลไปรีดไขมันเปลือกตา รักษาตาแห้งถึงบ้าน ในพื้นที่ กทม. เมื่อคนไข้เห็นพยาบาลไปให้บริการที่บ้าน จึงเริ่มไหว้วานให้ช่วยรับส่งไปโรงพยาบาล จึงมองว่าธุรกิจนี้มีโอกาส จุดเด่น คือ ผู้ที่ไปรับ เป็นพยาบาลวิชาชีพ ดังนั้น จึงตอบโจทย์คนไข้ เพราะเขารู้สึกอุ่นใจ ตั้งแต่ไปรับ พาไปส่งหาหมอ และกลับมาส่งที่บ้าน ดูแลตลอดระยะเวลา ลูกหลานก็ค่อนข้างไว้ใจ สบายใจ

 

พอคนไข้เริ่มเยอะขึ้น และลูกค้าเกิดไอเดียว่าอยากให้พาพ่อแม่ไปไหว้พระ และอยากจะให้พยาบาลพาไปด้วย จึงเกิดบริการที่ 2 ขึ้นมา คือ “พาพ่อแม่ไปเที่ยว” คิดค่าบริการเหมา 12 ชม. 5,500 บาทรวมรับส่ง ซึ่งเขาก็อุ่นใจมากขึ้นที่มีพยาบาลไปด้วย บางคนก่อนหน้านี้พ่อแม่ไม่เคยออกจากบ้านเลยเพราะอายุมาก และเขากังวลว่าหากพ่อแม่เป็นอะไรนอกบ้าน ล้ม หัวใจหยุดเต้น แต่หากมีพยาบาลไปด้วย แถมขับมารับที่บ้าน เขาก็อุ่นใจมากขึ้น พ่อแม่ก็ได้ไปไหว้พระ โดยเบื้องต้นให้บริการที่ กทม. และ ปริมณฑล

 

“สังคมสูงวัย” โอกาสทางธุรกิจ  “บริการ-สินค้า-พาเที่ยว” เติบโต

 

หัวใจสำคัญ ทำธุรกิจสูงวัย

 

ทั้งนี้ “สังคมสูงวัย” ในปัจจุบันเรียกว่าแตกต่างจากในอดีต ผู้สูงอายุมีความแอคทีฟมากยิ่งขึ้นและบางส่วนยังต้องการใช้ชีวิตเหมือนวัยหนุ่มสาว เพียงแค่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพมากขึ้นเท่านั้น เช่น การหกล้ม หัวใจหยุดเต้น หรือสมองขาดเลือด

 

พญ.ศศิ อธิบายต่อไปว่า ผู้สูงวัยที่ยังมีความรู้สึกเป็นคนหนุ่มสาวก็อยากไปเที่ยว ทำกิจกรรม เดินออกกำลังกาย ไหว้พระ ช้อปปิ้งเหมือนคนปกติ แต่ข้อจำกัดด้านอายุเยอะ มีปัญหาสุขภาพ แม้จะทำประกันเพื่อความสบายใจส่วนหนึ่งแต่ก็อาจจะยังไม่สบายใจอยู่ดี เพราะหากไปเดินช้อปปิ้งคนเดียวเหมือนตอนสาวๆ เกิดหัวใจหยุดเต้นขึ้นมาใครจะช่วย ดังนั้น บริการของเราซึ่งมีพยาบาลไปด้วย จะช่วยให้สามารถทำกิจกรรมได้ทุกอย่าง สบายใจมากขึ้นที่จะไปเดินเล่น ช้อปปิ้ง โดยมีพยาบาลประกบ ตอบโจทย์ในเรื่อง Active Healthy Living เมื่อคนอายุเยอะขึ้น

 

“หัวใจสำคัญในการทำธุรกิจเกี่ยวกับผู้สูงอายุ อย่างแรก คือ ต้องรู้ว่าผู้สูงอายุเขาไม่ต้องการถูกมองเป็นผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่พึ่งพาคนอื่น นี่คือ หัวใจสำคัญ หากมองว่าผู้สูงอายุ ที่ยังมีจิตใจเป็นหนุ่มสาวอยู่ แต่มีข้อจำกัดเรื่องความเสี่ยงด้านสุขภาพมากขึ้น เราก็จะมีปฏิสัมพันธ์กับเขาเหมือนคนทั่วไปที่สามารถไปเที่ยวได้ เพียงแต่ดูแลความเสี่ยงด้านสุขภาพให้ และสามารถช่วยเหลือได้ทันที ทำให้เขารู้สึกว่าปลอดภัย เหมือนเป็นหนุ่มสาวอีกครั้ง” พญ.ศศิ กล่าวทิ้งท้าย

 

“สังคมสูงวัย” โอกาสทางธุรกิจ  “บริการ-สินค้า-พาเที่ยว” เติบโต