'อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์' โอกาส SMEs ไทย

'อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์' โอกาส SMEs ไทย

TECELS ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ขึ้นแท่น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมหลักของประเทศ และผลักดันประเทศไทยสู่ 'ศูนย์กลางทางการแพทย์' และสุขภาพมูลค่าสูง

Key point :

  • อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ ขึ้นแท่น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมหลักของประเทศ และผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง
  • ล่าสุด TECELS ร่วมกับ 3 หน่วยงาน ขับเคลื่อน SMEs ในอุตสาหกรรมที่มีมากกว่า 6,000 ราย ด้านมาตรฐาน การตลาด และการขยายออกสู่ต่างประเทศ
  • ภาพรวมตลาดสมุนไพร ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โตต่อเนื่อง โดย ปี 2565 มูลค่ากว่า 52,104 ล้านบาท การควบคุมคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำ จะถือเป็นการยกระดับตลาดสมุนไพร และ  SMEs ได้มากขึ้น  

 

ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาพิสูจน์ได้ว่าอุตสาหกรรมการแพทย์สามารถพัฒนาได้ในระยะเวลาอันรวดเร็วทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ประเทศไทย ในปี 2565 ผลิตภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์ของไทย ซึ่งมีมูลค่าตลาดกว่า 2.4 แสนล้านบาท นำเข้ากว่า 70% และการผลิตในประเทศเพียง 30% ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับมูลค่าตลาด ขณะเดียวกันอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ ยังเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

 

ล่าสุด TECELS ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ขึ้นแท่น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมหลักของประเทศ และผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางทางการแพทย์และสุขภาพมูลค่าสูง สร้างความแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ที่นำองค์ความรู้ทางด้านชีววิทยาศาสตร์ มาใช้ประโยชน์ในการผลิตเป็นสินค้าหรือบริการที่ตอบสนองต่อความจำเป็นและความต้องการเพื่อให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น  ซึ่งเป็นโอกาสของ SMEs มากกว่า 6,000 ราย หากได้รับการสนับสนุนทั้งด้านมาตรฐาน การตลาด และการขยายออกสู่ต่างประเทศ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

สตีฟ เบอริล นักธุรกิจและนักลงทุนด้านชีววิทยาศาสตร์ จากสหรัฐ กล่าวว่าอุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ของโลก ไม่ว่าจะเป็น เครื่องมือแพทย์วัคซีน ยาชีววัตถุ ล้วนแล้วแต่ตอบโจทย์สุขภาพ ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ปัญหาใหญ่ของโลก อันได้แก่ โลกร้อน ความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน น้ำ และสุขภาพ นอกจากนี้นวัตกรรมที่เกิดจากเทคโนโลยีชีวภาพเป็นอีกแหล่งสำคัญในการวินิจฉัยอาการของโรคและรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ ธุรกิจชีววิทยาศาสตร์จึงเป็นธุรกิจแห่งอนาคตของมนุษยชาติ

 

ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภาประธานกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ศลช. (TCELS) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวในงาน TCELS Life Sciences Beyond Aspiration โดยระบุว่า โควิด-19 เป็นตัวพลิกโฉมอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพของโลก เป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการคิดค้นนวัตกรรม กระบวนการคิดค้นยา วัคซีน จากที่เคยใช้เวลา 10 ปี ลดเหลือเพียง 18 เดือน

 

และยังได้สร้างบทเรียนสำคัญว่า ปัญหาเรื่องสุขภาพ สังคม เศรษฐกิจ ไม่ใช่เรื่องที่แยกส่วนกันได้ ดังนั้น ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ของไทยหลังโควิด-19 จึงต้องมุ่งเน้นการวิจัย พัฒนานวัตกรรม ที่สามารถต่อยอดไปสู่การผลิตและใช้ประโยชน์ได้จริง สร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ และประเทศไทยพึ่งพาตัวเองได้ 

 

 

ปี 65ยา-เวชภัณฑ์ไทยมูลค่า2.4แสนล้าน

 

ในปี 2565 ผลิตภัณฑ์ยาและเวชภัณฑ์ของไทย มีมูลค่าตลาดประมาณ 2.4 แสนล้านบาท และมีอัตราการเติบโต 3-5 % แบ่งเป็น การผลิตในประเทศ 30 % และ นำเข้า 70 % ซึ่งถึงแม้ว่าจะมีมูลค่าตลาดที่สูง แต่เมื่อเปรียบเทียบการวิจัย พัฒนา และต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ภายในประเทศ รวมถึงการส่งออกแล้ว พบว่า ยังมีสัดส่วนที่น้อยมาก โดยเฉพาะการวิจัยและพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้หรือสังคม ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี สนับสนุนให้เกิดมาตรฐานผลิตภัณฑ์ และการเร่งรัดเข้าสู่ขั้นตอนการใช้ประโยชน์ได้จริงในระยะเวลาที่เหมาะสมและทันต่อสถานการณ์เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับประเทศไทย

 

ทั้งนี้ การทำงานที่สำคัญ คือ การทำงานกับเครือข่ายพันธมิตร การลงนามร่วมมือกับ 3 หน่วยงานหลักในครั้งนี้ จึงเป็นการเสริมจุดแข็ง ในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งถือเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนและเพิ่มศักยภาพ วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (MSME) บูรณาการทำงานร่วมกับภาครัฐ และเอกชน เพื่อให้ MSME เติบโตและแข่งขันได้ในระดับสากล

 

ถัดมา คือ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถือเป็นแกนกลางในการสร้างความเข้มแข็ง ดึงศักยภาพอุตสาหกรรมไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล ร่วมกันพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สิ่งแวดล้อมของไทยอย่างยั่งยืน และ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในการให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ แก้ไข ในการประกอบธุรกิจ และยังสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเอกชนได้มีโอกาสเรียนรู้เทคนิค ประกอบธุรกิจให้ทันสมัย 

 

พัฒนาสมุนไพรตั้งแต่ต้นน้ำ

 

ศรัณยู ชเนศร์ กรรมการเหรัญญิก หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาเกษตรกรจำนวนมาก มีการผลักดันปลูกฟ้าทะลายโจร สู่การใช้ในประชาชน  ปัจจุบันพบว่ายาหม่องขายดี โดยเฉพาะกับคนจีน รวมถึง อุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับสปามีการส่งขายทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น ลูกประคบ ไพร มีการส่งออกทั่วโลก ทุกวันนี้สปาไทยมีเกือบทุกโรงแรมในโลก

 

“สิ่งที่หอการค้าไทย ทำคือ ต้นน้ำ เพราะส่วนใหญ่ที่อยู่กับหอการค้าไทยเป็นทำเกษตรกรรม รวมถึงผลักดันมาตรฐานการปลูก เพราะสมุนไพรต้นน้ำ ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าออร์แกนิคจริง นอกจากนี้ ยังผลักดัน SMEs โดยร่วมมือกับ สสว. ในเรื่องการการเงิน การบริหารจัดการ การขาย ให้กับ SMEs โดยมีโครงการ Big Brother สร้าง SMEs ให้เป็นนักธุรกิจที่ดี ที่เก่ง และมองหาตลาดได้ รวมถึงเชื่อมโยงกับตลาด และมีผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หรือ เรียกว่า YEC ที่พร้อมทดลองสิ่งใหม่ๆ มองว่าสิ่งที่ TECELS ผลักดันเป็นการตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ ละครเรื่อง หมอหลวง ถือเป็นซอฟต์พาวเวอร์ในการผลักดันตลาดสุมนไพร คนรุ่นใหม่สนใจสมุนไพรมากขึ้น” ศรัณยู กล่าว

 

เปิดคลินิกส่งเสริมผู้ประกอบการ

 

เภสัชกรวราวุธ เสริมสินสิริ ผู้อำนวยการกองควบคุมเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ต้องสร้างอีโอซิสเต็มได้ตั้งแต่ต้นจนจบ โดย อย. เปิดคลินิกให้คำปรึกษาตั้งแต่ขั้นตอนการวินิจฉัย สินค้านวัตกรรม เปิดบ่มเพาะผลิตภัณฑ์  สนับสนุนเงินทุน หรือ แล็บเทส เตรียมเอกสารการขออนุญาตสำหรับผลิตภัณฑ์นวัตกรรม เพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์นวัตกรรมของประเทศ 

 

สร้างอีโคซิสเต็ม และ โครงสร้างพื้นฐาน ที่ทำให้คนอยากจะทำวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ครอบคลุมตั้งแต่การวิจัย พัฒนา ไปจนถึงการตลาด อาจจะต้องลงทุนกับระบบสารสนเทศครั้งใหญ่ ที่เชื่อมโยงข้อมูลการตลาดต่างประเทศ หากทำได้เชื่อว่าจะทำให้ประเทศไทยจะขึ้นไปสู่อีกเลเวลหนึ่งและหลุดจากกับดักรายได้ปานกลางได้ 

 

\'อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์\' โอกาส SMEs ไทย

 

ขยายใช้ “ยาสมุนไพร” ในรพ.

 

แผนปฏิบัติการด้านสมุนไพรแห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ.2566-2570 ตั้งเป้าขนาดตลาดวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทยเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 1 เท่าตัว เป็น 1 แสนล้านบาทภายในปี 2570 จากปี 2565 ที่มีอยู่ราว 52,104.3 ล้านบาท และตั้งเป้าให้คนนึกถึงสมุนไพรเมื่อเจ็บป่วยเพิ่มเป็น 4 % ภายใน 5 ปีจากปัจจุบันที่มีเพียง 2 % โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จะต้องสร้างการรับรู้และความเชื่อมั่น เพิ่มการใช้“ยาสมุนไพร”ในโรงพยาบาลมากขึ้น โดยจะเปิดให้รักษาโรคปวดเรื้อรัง  นอนไม่หลับ ดูแลสุขภาพหลังคลอด  โรคผิวหนัง และใช้ในการบำบัดยาเสพติด 

 

นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เปิดเผยว่าภาพรวมตลาดสมุนไพร ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการขยายตัวต่อเนื่องจากที่ปี 2562 มีมูลค่าราว 53,000 ล้านบาท แต่ปี 2563 ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้ตลาดลดลงเหลือราว 45,000 ล้านบาท แต่กลับมาอีกครั้งในปี 2565 มีมูลค่า 52,104 ล้านบาท  การเติบโตของยอดขายสะสมระหว่างปี 2560-2565 ประเทศไทยยอดขายโดดเด่นเพียง 2 หมวดผลิตภัณฑ์ คือ

  • กลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรใช้เพื่อรักษา/บรรเทาอาการภูมิแพ้ หวัด ไอ ยอดขายเติบโต 9.4 % และกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจากสมุนไพร 8.6 %
  • รองลงมาคือ กลุ่มผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่เกี่ยวกับการย่อยและระบบทางเดินอาหาร 4.3 % และกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดพร้อมดื่ม 1.7 %
  • อัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีระหว่างปี 2560-2565 อยู่ที่ 3.4 %

 

โดยมูลค่าการนำเข้าและส่งออกสารสกัดสมุนไพร ปี 2559-2564 นำเข้า 770.26 ล้านบาท สูงสุด 5 อันดับแรก หญ้าหวาน ขมิ้นชัน พริก ว่านหางจระเข้ กระชาย และส่งออก 215.143 ล้านบาท สูงสุด 5 อันดับแรก พริก กระชายดำ กวาวเครือ บัวบก หญ้าหวาน

 

"หากต้องการส่งเสริมพืชสมุนไพรให้เป็นพืชเศรษฐกิจ ต้องทำให้ขนาดตลาดวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทยเพิ่มขึ้น เป็น 1 แสนล้านบาทภายในปี 2570 จะต้องวางแผนและขยายแพ็คเกจการใช้สมุนไพรในระบบให้มากขึ้น โดยในปี 2566 จะขยายการใช้สมุนไพรในรพ.สต.ราว 3,000 แห่ง และโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลประจำจังหวัดให้เพิ่มมากขึ้น โดยจะให้บริการครอบคลุม 5 ด้านด้วยกันคือให้รักษาอาการปวดเรื้อรัง นอนไม่หลับ ดูแลสุขภาพหลังคลอด โรคผิวหนัง และใช้ในการบำบัดยาเสพติด  เชื่อว่าเมื่อประชาชนมีการรับรู้ในวงกว้างจะทำให้มีการใช้บริการมากขึ้น" 

 

ขณะเดียวกันจะจัดทำคู่มือแนวทางการใช้ยาสมุนไพรแทนยาแผนปัจจุบัน เป็นทางเลือกให้กับแพทย์ และเภสัชกร ในโรงพยาบาลต่างๆ เพื่อให้เป็นทางเลือกในการจ่ายยาให้กับประชาชน และร้านยาที่เข้าร่วมโครงการกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ในการจ่ายยาให้กับประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย 

 

"เมื่อเราทำให้ปลายน้ำมีความต้องการใช้ยาสมุนไพรมากขึ้น ก็จะส่งผลดีให้กับกลางน้ำ และต้นน้ำไปในตัวด้วย โดยต้นน้ำ จะจัดทำ “มาตรฐานการเพาะปลูกสมุนไพร” โดยร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เน้นการเพาะปลูกที่เป็น “Medical Grade” ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกได้ โดยนำร่องที่มาตรฐานการเพาะปลูกกัญชาขณะนี้ได้พัฒนาต่อยอดไปที่ ฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน และกระชายดำ ในการยกระดับมาตรฐานการเพาะปลูกให้มากขึ้นด้วย และจะขยายไปยังพืชสมุนไพรอื่นๆ ไปด้วยในอนาคต" อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวทิ้งท้าย 

 

สุขสำราญนิทราคลินิก

 

คลินิกรักษาอาการปวดเรื้อรังและนอนไม่หลับ ด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน(Chronic Pain and Insomnia TT & CM Clinic) รพ.การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน (ยศเส) เปิดให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์แผนไทยตั้งแต่ ปี.2562 ผู้ป่วยมาเข้ารับบริการ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการปวดเรื้อรัง ทั้งจากโรคมะเร็งและไม่ใช่จากโรคมะเร็ง รวมถึงการนอนไม่หลับ มีผู้มารับบริการจำนวน 26,693 ราย

 

ที่ผ่านมา ได้มีการจัดตั้ง 'สุขสำราญนิทราคลินิก' รักษาอาการปวดเรื้อรังและนอนไม่หลับ ด้วยการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน(Chronic Pain and Insomnia TT & CM Clinic)ครบวงจร เปิดให้บริการดูแลรักษาผู้ป่วยตามแนวเวชปฏิบัติการรักษาอาการปวดเรื้อรังและนอนไม่หลับด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน

 

การดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการปวดที่มีระยะเวลาต่อเนื่องมากกว่า 3 เดือน ตั้งแต่ผู้ป่วยที่มีอาการปวดในระดับยอมรับได้ไปจนถึงระดับปวดมาก รวมถึงผู้ป่วยที่มีอาการนอนไม่หลับ ทำให้สุขลักษณะการนอนไม่ดี ซึ่งเป็นการรักษาแบบองค์รวมร่วมกันระหว่างการแพทย์แผนไทยและการแพทย์บูรณาการ

 

มีทั้งการรักษาแบบหัตถการและการใช้ยา ซึ่งมีทั้งยาทั่วไปและสมุนไพรที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ คนไข้สามารถ Walk in   เข้ามาใช้บริการในคลินิกได้ โดยขั้นตอนการเข้ารับบริการจะมีบุคลากรทางการแพทย์ให้บริการ ประกอบด้วยแพทย์แผนไทยแพทย์แผนไทยประยุกต์แพทย์  แผนปัจจุบันและแพทย์แผนจีน  ร่วมวินิจฉัยรวมถึงร่วมวิเคราะห์แนวทางในการรักษาผู้ป่วยแต่ละรายและพยาบาลวิชาชีพเป็นผู้คัดกรองส่งต่อให้แพทย์ทำการรักษา

 

ในส่วนแนวทางการรักษาอาการปวดเรื้อรังและนอนไม่หลับ สามารถรักษาแบบใช้ยา  โดยจะมีการจ่ายยาในการรักษาผู้ป่วยซึ่งจะใช้ตำรับแผนไทยและยาสมุนไพรเป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติเช่น ยาธาตุบรรจบ ยาธาตุอบเชย  ยาเบญจกูล  ยามันทธาตุ  ยาหอมนวโกฐ   ยาแผนไทยที่อยู่ในเภสัชตำรับของโรงพยาบาล เช่น ยาวัดคำประมง ยาผสมเถาเอ็นอ่อน ยากัญชาทางการแพทย์แผนไทย/การแพทย์ทางเลือกประกอบด้วย ตำรับยาที่มีกัญชาปรุงผสม เช่น ยาศุขสยาศน์ ยาทำลายพระสุเมรุ ยาแก้ลมแก้เส้น ยาน้ำมันสนั่นไตรภพ เป็นต้น น้ำมันกัญชาทางการแพทย์ได้แก่ น้ำมันกัญชา(ตำรับหมอเดชา)น้ำมันกัญชาเมตตโอสถ น้ำมันกัญชากรุณย์โอสถ เป็นต้น

 

และการรักษาแบบไม่ใช้ยา เช่น การนวดรักษาประคบสมุนไพร การพอกยาสมุนไพร  การแช่สมุนไพร  การกักน้ำมัน   การอบสมุนไพร  การฝังเข็มโดยแพทย์แผนจีน  และการใช้หลักธรรมานามัย เป็นต้น

 

ให้บริการฟรี สำหรับผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพ(บัตรทอง) และสิทธิข้าราชการ  ส่วนสิทธิประกันสังคมอยู่ระหว่างการดำเนินการ  เปิดให้บริการทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี เวลา 08.30 - 16.30น.สอบถาม  02-2243262,02-2248820