ถอดบทเรียน ‘เอไอ’ อยู่ตรงไหน ‘วงการแพทย์ไทย’

ถอดบทเรียน ‘เอไอ’ อยู่ตรงไหน ‘วงการแพทย์ไทย’

ประเด็นที่ยังร้อนแรงและมีการพูดถึงมากขึ้นในช่วงเวลานี้ หนีไม่พ้นเทรนด์การนำเทคโนโลยี “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “เอไอ” มาประยุกต์ใช้เพื่อยกระดับด้านการแพทย์ให้ดีขึ้น

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ เอ็ตด้า รายงานว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมีการนำเทคโนโลยี เอไอเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสนับสนุนทางการแพทย์ตามโรงพยาบาลต่างๆ หลายแห่งแล้ว โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้มีการใช้งานในวงกว้างมากขึ้น ฉะนั้นโอกาสของวงการสุขภาพกับเทคโนโลยีเอไอในวันนี้จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป

ที่น่าจับตามองคือ จากนี้ทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักพัฒนา ผู้ประกอบการ ตลอดจนดิจิทัลเซอร์วิสโพรวายเดอร์หน่วยงานรัฐ-เอกชน และประชาชน จะสามารถก้าวไปข้างหน้าเพื่อยกระดับชีวิตและสุขภาพของคนไทยให้ดีขึ้นกว่าที่เคยพร้อมแก้ปัญหาและความท้าทายที่จะเข้ามาได้อย่างไรบ้าง

เพิ่มความเร็ว ลดภาระแพทย์

รู้หรือไม่ไทยใช้เอไอช่วยรักษาและดูแลสุขภาพคนไทยแล้ว ปัจจุบันเอไอได้แทรกซึมเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันของคนเราในหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งการนำมาประยุกต์ใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรมตลอดจนสถานที่ทำงาน

ถอดบทเรียน ‘เอไอ’ อยู่ตรงไหน ‘วงการแพทย์ไทย’

 

ไม่ว่าจะเป็นในด้านการตลาดและโฆษณา การศึกษา เทคโนโลยี การให้คำปรึกษา การเกษตร การขนส่ง การผลิต หรือแม้แต่วงการแพทย์ เพื่อเข้ามาช่วยให้การทำงานหลายอย่างของมนุษย์ที่ต้องใช้ข้อมูลและระยะเวลาในการประมวลผลสามารถทำได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

ดังนั้น จะเห็นว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาในหลายๆ ประเทศมีผู้ประกอบการได้เริ่มแสดงให้เห็นถึงการนำเทคโนโลยีเอไอเข้ามาใช้ โดยเฉพาะวงการสุขภาพ

สำหรับในประเทศไทยนั้นจะมีทั้งในส่วนที่เป็นแอปพลิเคชัน ตลอดจนการผนวกกับเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่เข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วย ช่วยในการวินิจฉัยข้อมูลเพื่อสนับสนุนแพทย์ ซึ่งถือว่าช่วยลดภาระการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ ตลอดจนการเข้าถึงผู้ป่วยได้มากขึ้นกว่าเดิม

‘ข้อมูล’ ความท้าทายครั้งใหญ่

ข้อมูล (DATA) คือความท้าทายครั้งใหญ่ ในการพัฒนาเอไอผู้ช่วยแพทย์ : แม้ปัจจุบันเริ่มมีการนเอไอมาใช้ในวงการแพทย์ไทยแล้ว แต่ประเด็นท้าทายที่สำคัญ คือการจัดการ “ข้อมูล” ซึ่งข้อมูลนับเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนา

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยยังไม่มี Open Data แหล่งข้อมูลที่เปิดให้ทุกคนสามารถเข้ามาเติมความรู้ด้านเอไอและขาดแคลนทั้งในมุมของผู้ที่ทำหน้าที่ในการเก็บข้อมูลของผู้ป่วย เพื่อนำมาติด Label แล้วทำให้เกิด Dataset

ซึ่งอาจจะเรียกผู้ที่ทำหน้าที่นี้ว่าเป็น เอไอ Creators ได้ ถ้ามีแบบนี้เกิดขึ้น ประเทศไทยอาจจะมี Healthcare Dataset ของไทยก็ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการมีแหล่งข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์และประมวลผล เช่น แหล่งข้อมูลภาพเอกซ์เรย์ปอด ภาพแมมโมแกรม เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ถือเป็นความท้าทายที่ทำได้ไม่ง่ายนัก ด้วยสาเหตุจากประเด็นเรื่องข้อมูลความเป็นส่วนตัวของผู้ป่วย ขณะที่ข้อมูลที่มีอยู่ก็กระจัดกระจายตามหน่วยงานโรงพยาบาลต่างๆ

ที่สำคัญหลายแห่งยังไม่ถูกเก็บหรือบันทึกในรูปแบบดิจิทัล ไม่มีการเชื่อมต่อหรือแชร์ข้อมูลระหว่างหน่วยงานด้วยกันเอง ด้วยเหตุผลที่ว่า เป็นข้อมูลส่วนตัวและเป็นข้อมูลประวัติการรักษาที่เป็นสิทธิของผู้ป่วย ไม่สามารถเปิดเผยได้หากไม่ได้รับการยินยอม

ตัวจักรขับเคลื่อนวงการแพทย์

การพัฒนาเอไอ คนใช้งานไม่ได้มีแค่แพทย์แต่ยังมีผู้ป่วย : การนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการรักษาทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ได้เป็นความท้าทายสำหรับภาครัฐเท่านั้น แต่สำหรับภาคเอกชน โดยเฉพาะนักพัฒนาเทคโนโลยี แพลตฟอร์ม แอปพลิเคชัน หรือระบบต่างๆ ล้วนแต่ต้องเจอความท้าทายเช่นกัน

เพราะจะสร้างแพลตฟอร์ม แอปฯ หรือระบบที่เข้ามาช่วยในการรักษาสักอย่างหนึ่ง สิ่งสำคัญนอกเหนือจากเรื่องประสิทธิภาพของเทคโนโลยี และเรื่องของเงินทุน ก็คือ ผู้พัฒนาต้องมองภาพใหญ่ว่า ผู้ใช้งานไม่ได้มีแค่แพทย์เท่านั้น แต่ยังมีผู้ป่วยด้วย

โดยผู้ป่วยนั้น มีทั้งผู้สูงอายุที่ติดเตียง เด็กที่มีความรู้ ภูมิหลัง ตลอดจนพื้นฐานที่แตกต่างกัน ดังนั้น เพื่อไม่ให้มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ท่ามกลางกระแสความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัล ผู้พัฒนาเทคโนโลยีจึงต้องพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ควรคำนึงถึงความง่ายต่อการใช้งาน ไม่ซับซ้อน ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความปลอดภัย

โดยสรุปแล้ว เอไอถือเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนวงการแพทย์ไทย ให้ก้าวหน้าทัดเทียมสากลและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำการรักษาได้

ไม่ว่าจะเป็น ลดการทำงานซ้ำซ้อนของบุคลากร, ช่วยในการวินิจฉัยโรคเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากรแพทย์, สร้างองค์ความรู้ใหม่, รวมไปถึงลดต้นทุนที่ส่งผลในเชิงเศรษฐกิจ