'หมอธีระ' อัปเดต 5 ความรู้ล่าสุด โควิด XBB.1.16
"หมอธีระ" เผยอัปเดต 5 ความรู้ล่าสุด "โควิด-19" สายพันธุ์ย่อย XBB.1.16 อาการเด่น ข้อมูลจากกุมารแพทย์ในอินเดีย ซึ่งเล่าประสบการณ์พบผู้ป่วยเด็กมาด้วยอาการไข้สูง และมีเยื่อบุตาอักเสบ
เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็น "โควิด-19" สายพันธุ์ย่อย XBB.1.16 ระบุว่า "สองวันนี้พยายามให้ความรู้ และให้สัมภาษณ์สื่อทั้งไทยและเทศ เพื่อช่วยกันแก้ไขข่าวลวงเกี่ยวกับ XBB.1.16
ย้ำอีกครั้งว่า ความรู้จนถึงปัจจุบันมีดังนี้
1. "โควิด-19" สายพันธุ์ย่อย XBB.1.16 พบครั้งแรกที่อินเดีย และระบาดเยอะในอินเดียจนถึงปัจจุบัน ตอนนี้มีรายงานตรวจพบไปแล้ว 34 ประเทศทั่วโลก
2. XBB.1.16 นั้นได้รับการพิสูจน์จากทีมมหาวิทยาลัยโตเกียวแล้วว่า มีสมรรถนะการแพร่ ซึ่งประเมินค่า Effective reproductive number (Re) มากกว่า XBB.1 ราว 27% หรือ 1.27 เท่า และมากกว่า XBB.1.5 ซึ่งครองการระบาดทั่วโลกในปัจจุบันราว 17% หรือ 1.17 เท่า โดยมีระดับการดื้อต่อภูมิคุ้มกันพอๆ กัน ซึ่งตระกูล XBB.x นั้นดื้อกว่า Omicron สายพันธุ์ย่อยเดิมๆ ที่เคยระบาดมาก
3. เรื่องความรุนแรงของโรคนั้น ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน แต่จากสถิติในอินเดีย ยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของอัตราเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นชัดเจน คงต้องเฝ้าระวังกันต่อไป เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าสายพันธุ์ใด ติดเชื้อแต่ละครั้งไม่ใช่แค่ชิลๆ แล้วหาย แต่ป่วยได้ รุนแรงได้ ตายได้ และเสี่ยงต่อ Long COVID ด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- ศูนย์จีโนม รพ.รามา เผยไทยพบผู้ติดเชื้อ โควิด-19 สายพันธุ์ XBB.1.16 แล้ว 6 ราย
- 'หมอธีระ' เผย 'โควิด-19' สายพันธุ์ย่อย XBB.1.16 เป็นตัวเต็งที่จับตามอง
- โควิดสายพันธุ์ใหม่ XBB.1.16 เพิ่งเริ่มต้น เปิด 9 ข้อที่ควรต้องรู้ในระลอกนี้
- โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ XBB , XBB.1.16 สำคัญมาก ข้อเท็จจริงที่ต้องรู้ เช็กเลย
4. อาการเด่นของสายพันธุ์ย่อย XBB.1.16 นั้น มีการแชร์ข้อมูลจากกุมารแพทย์ในอินเดีย ซึ่งเล่าประสบการณ์พบผู้ป่วยเด็กมาด้วยอาการไข้สูง และมีเยื่อบุตาอักเสบ จึงตั้งเป็นข้อสังเกตเตือนให้ทราบกัน อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการรวบรวมข้อมูลเรื่องอาการของ XBB.1.16 อย่างเป็นระบบ และยังไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบกับสายพันธุ์อื่น ดังนั้นจึงควรฟังหูไว้หู และคอยติดตามข้อมูลอัปเดตกันต่อไปอย่างใกล้ชิด
ที่ควรรู้คือ เยื่อบุตาอักเสบ เกิดได้จากหลากหลายสาเหตุ รวมถึงไวรัสก็หลากหลายชนิด รวมถึงโควิด-19 ตั้งแต่สายพันธุ์ดั้งเดิมก็มีรายงานว่าทำให้เกิดได้เช่นกัน แต่เจอไม่บ่อยนัก
5. เลือดกำเดาไหล รวมถึงเลือดออกใต้เยื่อบุตา สามารถเกิดขึ้นได้จากการไอแรงๆ จามแรงๆ หรือไอจามต่อเนื่องเป็นเวลานาน ไม่ว่าจะจากหวัด หวัดใหญ่ ภูมิแพ้ รวมถึงโควิด-19 เพราะการไอ และจามแรงๆ จะเพิ่มความดันในลูกตาจนทำให้เส้นเลือดฝอยแตก หรือเพิ่มความดันในโพรงจมูก จนทำให้เลือดกำเดาไหลได้
เหนืออื่นใด ไม่ว่าจะโควิดสายพันธุ์ใด โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ รวมถึงโรคติดต่อต่างๆ ล้วนป้องกันได้ ลดความเสี่ยงได้ หากเรามีความใส่ใจสุขภาพ ใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท มีสติ ใช้ความรู้ที่ถูกต้อง ป้องกันตัวสม่ำเสมอ
ย้ำอีกครั้ง โควิด-19 ไม่ใช่หวัดธรรมดา ไม่กระจอก และไม่ใช่หวัดตามฤดูกาลดังที่โม้หรือปรามาสกัน
ณ ปัจจุบัน เรายังไม่สามารถทำนายการเปลี่ยนแปลงของมันได้อย่างแม่นยำ ลักษณะยังไม่เป็นไปตามฤดูกาล แต่เป็นไปตามระดับความเสี่ยงจากพฤติกรรมของคนและสังคม รวมถึงระดับภูมิคุ้มกัน
สุดท้ายคือ Long COVID ที่คือ Pandora box และสร้างผลกระทบต่อชีวิตคนจำนวนมากที่เป็น โดยยังไม่มีวิธีรักษามาตรฐาน
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์