สุขภาพดีเพราะสีฟัน | วรากรณ์ สามโกเศศ
เมื่อ 30-40 ปีก่อนตอนที่เห็นเด็กเล็กๆ ในโรงเรียนเข้าแถวกันแปรงฟันหลังอาหารกลางวัน ก็อดไม่ได้ที่จะอมยิ้มและรู้สึกขำ ดูน่ารักดีเพราะทำอะไรสนุกๆ โดยหารู้ไม่ว่า
การสร้างนิสัยแปรงฟันเช่นนี้ มีผลอย่างมากต่อสุขภาพตามหลักฐานทางการแพทย์ที่พบมากขึ้นทุกที มันไปไกลถึงช่วยป้องกันการเป็นโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคทางเดินหายใจหรือแม้แต่ภาวะอัลไซเมอร์ด้วยซ้ำ
หนังสือพิมพ์ New York Times ฉบับกลาง เม.ย.2023 (Hannah Seo, Oral Hygiene can help prevent many diseases) รายงานความเห็นของนักวิจัยหลายคน ที่ช่วยทำให้ประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพช่องปากกับหลายโรคดังกล่าวชัดเจนขึ้น และเกิดคำแนะนำที่เป็นประโยชน์อย่างมากต่อสังคมโลก
ญี่ปุ่นมีโครงการรณรงค์สำคัญที่มีชื่อว่า “8020 Campaign” มากว่า 20 ปี เลข 80 คืออายุ และเลข 20 คือจำนวนฟันที่ใช้งานได้โครงการต้องการสร้างความตระหนักในหมู่ประชาชนว่าเมื่อถึงอายุ 80 ปีแล้ว จงพยายามรักษาฟันให้มีจำนวนเกินกว่า 20 ซี่ให้ได้เพื่อการมีสุขภาพที่ดี
หากฟังดูทั่วไปแล้วเป้าหมายนี้ก็ไม่น่ายาก แต่ถ้าคำนึงคนเฒ่าคนแก่ที่อยู่ในชนบทหรือแม้แต่ในเมืองที่ไม่ดูแลสุขภาพช่องปาก กินเหล้า สูบบุหรี่ เคี้ยวยาเส้นมาตลอดชีวิตแล้วก็ยากไม่น้อย เราเห็นคนสูงวัยที่มีฟันหลอ (ไม่มีอะไรที่ทำให้ดูแก่เท่าการมีฟันหลอ) หรือมีฟันเหลืออยู่ไม่กี่ซี่กันบ่อยๆ
ตรรกะที่ว่าหากฟันไม่ดีแล้วสุขภาพก็ไม่ดีด้วยนั้นเป็นเรื่องที่พอเข้าใจ เมื่อกินอาหารได้ไม่ถนัดหรือไม่อร่อย ก็ไม่อยากกิน หรือกินได้น้อยลง สุขภาพก็ต้องเลวร้ายเป็นธรรมดาเพราะขาดสารอาหาร แต่เรื่องมันมากกว่านั้นเพราะมันมีตัวผู้ร้ายสำคัญเข้ามาวุ่นวายด้วย
นั่นก็คือแบคทีเรียบางชนิดที่ทำให้เกิดฟันผุ และ/หรือเหงือกอักเสบจนฟันโยกและหลุด อีกทั้งแบคทีเรียบางชนิดเมื่อหลุดเข้าไปในกระแสเลือดก็อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายในหลายลักษณะได้
ช่องปากของเรานั้นมืด เปียกชื้นและอุ่น จึงเหมาะที่แบคทีเรียจะมีชีวิตเติบโต และยิ่งมีสารอาหารที่ช่วยให้เติบโตและขยายตัวจากอาหารและเครื่องดื่มที่เราบริโภคกันอยู่ตลอดเวลาเข้าไปเลี้ยงด้วยแล้ว จึงไม่แปลกใจที่ในช่องปากโดยเฉลี่ยแล้วมีแบคทีเรียที่ดีและเลวอยู่รวมกันถึง 6,000 ล้านตัว
แบคทีเรียแต่ละตัวมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.2 ไมครอน (หนึ่งไมครอนเท่ากับ 1 ในล้านของเมตร) ซึ่งใหญ่กว่าไวรัส 10 เท่า และเล็กกว่าฝุ่น 2.5PM ซึ่งมีเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน ประมาณ 12 เท่า
แบคทีเรียในปากมีอยู่ประมาณ 700 สายพันธุ์ ตัวที่ดีหากอยู่ในลำไส้ก็จะช่วยการย่อยอาหารและช่วยให้มีสุขภาพดี แต่ตัวที่ร้ายนั้นจะแปรเปลี่ยนน้ำตาลที่กินเข้าไปเป็นคราบอยู่บนฟัน
หากทิ้งไว้โดยไม่มีการแปรงออกไปก็จะเริ่มปฏิกิริยาทำให้เกิดฟันผุ และเหล่าแบคทีเรียอีกหลายตัวก็ร่วมเจริญเติบโต ในรูฟันผุและอาจทำให้เหงือกอักเสบอย่างรุนแรงได้หากไม่มีการรักษา ฟันก็จะโยกและหลุดออกจากเหงือก
โรคเหงือกอักเสบ (Periodontal Disease) คือการติดเชื้อและเกิดการอักเสบของเหงือกและกระดูกที่จับฟันให้เข้ารูป หากแบคทีเรียและสารที่เป็นผลพลอยได้จากการติดเชื้อหลุดเข้าไปในกระแสเลือดและกระจายสู่อวัยวะต่างๆ ก็อาจก่อให้เกิดโรคขึ้น กลไกที่เกิดขึ้นในขณะนี้ยังไม่เป็นที่ทราบชัดโดยละเอียด แต่รู้แน่ชัดว่ามีผลเสียต่อร่างกาย
สิ่งที่แพทย์สังเกตเห็นมานานแล้วก็คือ สุขภาพช่องปากมีความสัมพันธ์กับการเป็นโรคเบาหวาน (สัมพันธ์กันโดยไม่รู้ชัดว่าอะไรเป็นต้นเหตุหรือปลายเหตุโดยเฉพาะระหว่างโรคเหงือกอักเสบกับโรคเบาหวาน) โดยเชื่อว่าการที่เหงือกอักเสบทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวาน
และในทางกลับก็เช่นกัน คำอธิบายเท่าที่ได้จากงานวิจัยก็คือการอักเสบเรื้อรังของเหงือก อาจทำให้ร่างกายมีความสามารถต่ำลงในการส่งสัญญาณให้ร่างกายปล่อยสารอินซูลิน หรือตอบรับต่อการที่สารอินซูลีนหลั่งออกมา
โรคที่สองที่น่ากลัวก็คือ โรคนิวมอเนีย ซึ่งเกิดจากแบคทีเรียชนิดหนึ่ง เมื่อร่างกายสูดดมแบคทีเรียชนิดนี้จากปากและเข้าไปในปอดก็อาจติดเชื้อนิวมอเนียได้และหากร่างกายอ่อนแอขาดภูมิต้านทานก็เกิดอาการขึ้น (คนสูงวัยมากๆ ส่วนใหญ่เสียชีวิตเพราะโรคนิวมอเนีย)
โรคที่สาม คือโรคหัวใจ มีงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่าโรคเหงือกอักเสบมีความเกี่ยวพันกับการเกิดสภาวะหัวใจขาดเลือด (heart attack) สโตรก การสะสมของแผ่นคราบจุลินทรีย์ (plaque) ในหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งทำให้หลอดเลือดอุดตัน และความผิดปกติของหัวใจอื่นๆ แพทย์เชื่อว่าแบคทีเรียจากเหงือกอักเสบที่หลุดเข้าไปในกระแสเลือดคือตัวการ
งานวิจัยในปี 2019 ซึ่งศึกษาคนเกาหลีใต้ 250,000 คน ข้ามเวลา 10 ปี พบว่าคนที่ดูแลฟันตนเองเป็นอย่างดี และพบทันตแพทย์เป็นประจำ มีโอกาสน้อยกว่าคนที่ไม่ดูแลสุขภาพช่องปากที่จะเป็นโรคหัวใจ
โรคที่สี่ การที่เหงือกอักเสบอย่างรุนแรงของคนท้องมีความสัมพันธ์กับการคลอดก่อนกำหนด และลูกมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์เมื่อแรกคลอด นอกจากนี้ยังพบว่าแบคทีเรียจากช่องปากสามารถหลุดเข้าไปถึงรก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการส่งผ่านอาหารให้ทารกจนทำให้เกิดหลากหลายปัญหาขึ้นได้ระหว่างการตั้งครรภ์
โรคที่ห้า ภาวะสมองเสื่อมเป็นสภาวะทางประสาทที่ครอบคลุมหลายลักษณะโดยรวมไปถึงอัลไซเมอร์ด้วย แพทย์พบแบคทีเรียชนิดที่อยู่ในปากปรากฏในเนื้อเยื่อของสมองของคนที่มีภาวะอัลไซเมอร์ด้วย จึงเชื่อว่าน่าจะมีความสัมพันธ์กัน
เป็นที่แน่ชัดในปัจจุบันว่า สุขภาพของช่องปากเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งเพราะมีผลต่อสุขภาพของร่างกายโดยทั่วไป การแปรงฟันครั้งละ 2 นาที เช้าและก่อนนอน อีกทั้งบริโภคผักผลไม้ที่อุดมด้วยวิตามินซี ได้รับการตรวจเช็กฟันโดยทันตแพทย์อย่างสม่ำเสมอ หากเหงือกอักเสบหรือเป็นแผลเรื้อรังต้องรีบรักษาทันที อย่าทิ้งไว้เพราะอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพได้
คนจำนวนไม่น้อยไม่สนใจสุขภาพช่องปากเท่าที่ควร โดยรักษาเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นเท่านั้นเช่น ปวดฟัน ซึ่งสำหรับบางคนและบางครั้งอาจสายเกินไปและเป็นเรื่องใหญ่กว่าที่คิดก็เป็นได้ ดีที่สุดคือป้องกันโรคภัยของร่างกายด้วยการเอาใจใส่ ดูแล และรักษาสุขภาพช่องปากอยู่เสมอ.