'ติดเชื้อในกระแสเลือด' โรคอันตรายที่คนไทยควรรู้
'ติดเชื้อในกระแสเลือด' เป็นโรคที่คนไทยควรตระหนักรู้ เพื่อหาแนวทางป้องกัน โดยทำให้ร่างกายแข็งแรง รักษาสุขอนามัย และคนสูงวัยควรฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และปอดบวม
ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้เกิดการเสียชีวิตในอันดับต้นๆ ของประชากรโลก ที่ผ่านมาในประเทศไทย อุบัติการณ์ปี 2560 ภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตมีผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดประมาณ 175,000 ราย/ต่อปี และมีผู้ป่วยภาวะพิษเหตุติดเชื้อ(sepsis)เสียชีวิต ประมาณ 45,000 ราย/ต่อปี
ทุก 1 ชั่วโมง มีผู้ป่วยเสียชีวิต 5 ราย ปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเสียชีวิต เนื่องจากได้รับการวินิจฉัยล่าช้า ทำให้เริ่มให้ยาปฏิชีวนะช้ากว่า 1 ชั่วโมงหลังการวินิจฉัย และ คนที่ติดเชื้อในกระแสเลือดเมื่อเข้ารักษาด้วยยาปฎิชีวนะ มักมีปัญหาดื้อยา
ตามสถิติคนที่ติดเชื้อในกระแสเลือด นอกจากคนสูงวัยที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี ยังรวมถึงคนวัยอื่นที่มีปัญหาโรคภัยไข้เจ็บ แต่ปริมาณน้อยกว่าคนสูงวัย
เนื่องจากเชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ไม่ว่าทางผิวหนัง ทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะ ทางเดินอาหาร หรือทางบาดแผล โดยเฉพาะในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายได้ง่าย
พญ.สุพิชชา องกิตติกุล แพทย์คลินิกอายุรกรรม โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลพญาไท อธิบายไว้ว่า “การติดเชื้อในกระแสเลือด หมายถึง การที่ร่างกายเกิดการติดเชื้อขึ้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น ปอด ในช่องท้อง ผิวหนัง และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องหรือภูมิคุ้มกันไม่ดี เชื้อก็จะลุกลามเข้าสู่เส้นเลือด ไหลเวียนอยู่ในเลือดของเรา พบว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนั้นเป็นเชื้อไวรัสและเชื้อรา”
ส่วนอีกเรื่องที่คนไทยไม่ค่อยใส่ใจ ยังภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดจากการ 'กลั้นปัสสาวะ' ส่วนใหญ่จะพบในผู้หญิง เนื่องจากมีทางเดินปัสสาวะที่สั้นกว่าผู้ชาย ทำให้เชื้อจากภายนอกเข้าสู่ภายในร่างกายได้ง่ายกว่า ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้เป็นเวลานานจนเกิดความผิดปกติ และไม่ได้เข้ารับการรักษาที่ถูกต้อง อาจทำให้เชื้อเข้าสู่กระแสเลือดได้
อาการที่มักพบในผู้ป่วยที่กลั้นปัสสาวะ จนเกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด มีสาหตุจากการปวดปัสสาวะบ่อย รู้สึกอยากเข้าห้องน้ำอยู่ตลอดเวลา ปัสสาวะขุ่น หรือเปลี่ยนสี มีกลิ่นเหม็น นอกจากนี้ อาจมีอาการปวดท้องน้อย และปวดลามมาถึงบริเวณหลัง มีไข้หนาวสั่น และอ่อนเพลีย
สาเหตุการติดเชื้อในกระแสเลือด
สาเหตุหลักในการติดเชื้อในกระแสเลือด ก็คือ การติดเชื้อแบคทีเรีย อาจเกิดจากการติดเชื้อรา ไวรัส หรือพยาธิก็ได้ โดยการติดเชื้อสามารถเกิดขึ้นตำแหน่งใดก็ได้ในร่างกาย
- การติดเชื้อจากปัญหาสุขภาพ
ปัญหาสุขภาพถือเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือดที่พบได้มากที่สุด โดยเชื้อแบคทีเรียจะซึมเข้าสู่กระแสเลือดและแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดทันที
ปัญหาสุขภาพซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือดได้แก่โรคที่เกี่ยวกับการติดเชื้อในปอด เช่น ปอดบวม นอกจากนี้ยังมีการติดเชื้อที่ไต โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ การติดเชื้อบริเวณท้อง
- ภาวะแทรกซ้อนติดเชื้อในโรงพยาบาล
ผู้ที่ต้องเข้าโรงพยาบาล เพื่อรับการรักษาด้วยกระบวนการทางแพทย์หรือการผ่าตัดนั้น เสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดสูง เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียอาจต้านฤทธิ์ยาปฏิชีวนะ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกหลายประการ โดยผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมักมีลักษณะดังนี้
- ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจนเกิดแผลขนาดใหญ่หรือถูกไฟลวก
- ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือผู้ป่วยลูคีเมีย
- ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด ฉีดสเตียรอยด์ หรือวิธีที่ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ
- ผู้ที่ต้องสวนปัสสาวะ หรือผู้ที่ถูกสอดท่อเข้าไปในหลอดเลือดดำผู้ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเด็กอายุน้อยมากหรือคนชรา
การฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และปอดบวม เป็นอีกทางเลือกป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือดสำหรับผู้สูงอายุ
อาการติดเชื้อในกระแสเลือด
สัญญาณและอาการของภาวะช็อกจากการติดเชื้อในกระแสเลือด ภาวะช็อกอาจเกิดขึ้นในกรณที่ความดันโลหิตต่ำลงมาก ทำให้เลือดไหลเวียนไปที่ระบบต่าง ๆ ลดลง เกิดภาวะอวัยวะล้มเหลวหลายระบบ หากอาการรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ อาจจะนำไปสู่การเสียชีวิตได้
1) อาการเฉพาะที่หรือเฉพาะอวัยวะที่ติดเชื้อ เช่น หากมีอาการไอและเจ็บหน้าอกเมื่อหายใจ อาจพบว่ามีการติดเชื้อที่ปอดหรือเยื่อหุ้มปอด หรือมีอาการปวดหลังและปัสสาวะบ่อย แสดงว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อที่กรวยไต เป็นต้น
2) อาการแสดงทางผิวหนัง เกิดจากการที่เชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรคที่อยู่ในกระแสเลือด กระจายมาสู่บริเวณผิวหนัง ทำให้เกิดรอยขึ้นที่บริเวณผิวหนัง ซึ่งในบางรอยนั้นอาจมีลักษณะที่ไม่จำเพาะ อย่างเช่นเป็นตุ่มหนองธรรมดา และในบางรอยนั้นมีลักษณะจำเพาะที่สามารถบอกได้ถึงชนิดของเชื้อ
3) อาการที่เกิดจากการที่ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการติดเชื้อ หรือเป็นกลุ่มอาการตอบสนองต่อการอักเสบทั่วร่างกาย เช่น มีไข้ขึ้นสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ในบางรายอาจมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย มีชีพจรเต้นเร็วขึ้นเกิน 90 ครั้งต่อนาที และหายใจเร็วเกิน 20 ครั้งต่อนาทีเป็นต้น
การวินิจฉัยอาการติดเชื้อในกระแสเลือก
เนื่องด้วยการติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นภาวะฉุกเฉิน แพทย์จึงต้องอาศัยการวินิจฉัยเบื้องต้นและเลือกให้ยาต้านจุลชีพที่ครอบคลุมเชื้อไว้ก่อน หากผู้ป่วยได้รับยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะที่ตรงกับเชื้อในช่วง 1-2 ชั่วโมงแรก ผู้ป่วยจะมีโอกาสรอดชีวิตสูงมากขึ้น
ในทางตรงกันข้าม หากได้รับยาที่ไม่ตรงกับเชื้อหรือได้รับยาช้าเกินไป ก็จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้นเช่นกัน
เมื่อได้รับยาต้านจุลชีพแล้ว แพทย์จะทำการรักษาแบบประคับประคองไปพร้อมๆ กัน เช่น ถ้ามีภาวะไตวายก็ทำการฟอกไต ถ้าผู้ป่วยหายใจเองไม่ได้ก็จะมีการให้ออกซิเจนหรือการใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือถ้าผู้ป่วยมีภาวะซีดก็จะมีการให้เลือด
การรักษาด้วยวิธีการอื่น ๆ
การให้ออกซิเจนหรือการใส่ท่อช่วยหายใจและเครื่องช่วยหายใจในกรณีที่มีภาวะหายใจล้มเหลวการฟอกไต ในกรณีที่มีภาวะไตวายเฉียบพลันปัสสาวะออกน้อย เลือดเป็นกรด ความสมดุลเกลือแร่ผิดปกติรุนแรงการให้เลือดหรือพลาสม่าในกรณีที่มีภาวะซีดรุนแรงหรือการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ
แนวทางป้องกันไม่ให้ติดเชื้อ
รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายเป็นประจำ รับประทานอาหารสุก สะอาด ล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆรักษาและควบคุมโรคประจำตัวให้ดี
สำหรับคนสูงวัย ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่ป้องกัน ซึ่งสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนที่จำเป็นได้ที่ สถานเสาวภา สภากาชาดไทย
-วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่
โรคไข้หวัดใหญ่ มีการแพร่ระบาดในทุกๆปี ผู้สูงอายุจึงควรได้รับวัคซีนชนิดนี้ เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ แบ่งออกเป็นชนิด 3 สายพันธุ์ และ 4 สายพันธุ์
ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขนั้น ได้กำหนดให้ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เข้ารับการฉีดวัคซีนชนิด 3 สายพันธุ์ฟรี! รวมถึงผู้ที่เป็นโรคที่มีความเสี่ยงสูง ได้แก่ โรคหัวใจ โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วน โรคมะเร็งที่ต้องให้ยาบำบัด และผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะได้รับการฉีดวัคซีนฟรีทุกๆ 1 ปี เช่นกัน
-วัคซีนป้องกันโรคปอดบวม
โรคปอดบวมเป็นสาเหตุอันดับต้น ๆ ที่ทำให้ผู้สูงอายุเสียชีวิต โรคปอดบวมมีสาเหตุสำคัญจากเชื้อนิวโมค็อกคัส ซึ่งอาจมีการติดเชื้อในกระแสเลือดและเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้
การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อนิวโมคอคคัส จึงมีความสำคัญสำหรับผู้สูงอายุอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ โดยวัคซีนชนิดนี้ แบ่งออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
วัคซีนชนิด 13 สายพันธุ์ ( PCV-13 ) และ วัคซีนชนิด 23 สายพันธุ์ ( PPSV- 23 ) โดยควรฉีดวัคซีนทั้ง 2 ชนิดต่อเนื่องกัน เว้นระยะห่างกัน 1 ปี และไม่จำเป็นต้อง ฉีดวัคซีน ซ้ำอีก
................
อ้างอิง
-https://www.medparkhospital.com/
-คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
-https://www.pobpad.com/