“โควิด-19”มาพร้อมเทศกาล กิจกรรมรวมตัวเสี่ยงติดเชื้อ
หลังเทศกาลสงกรานต์ ขอให้สังเกตอาการตนเอง 7 วัน ระหว่างนี้หลีกเลี่ยงใกล้ชิดผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หากมีอาการป่วยให้ตรวจ ATK
เป็นไปตามคาดหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่มีกิจกรรมรวมตัวคนจำนวนมาก มีการใกล้ชิดและไม่ได้สวมหน้ากาก มีโอกาสเสี่ยงติดเชื้อและพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในที่สุด
โดยระหว่างวันที่ 9-15 เม.ย. 2566
มีผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาล (รายสัปดาห์) จำนวน 435 ราย : เฉลี่ยรายวัน จำนวน 62 ราย/วัน
ผู้เสียชีวิต (รายสัปดาห์) จำนวน 2 ราย : เฉลี่ยรายวัน จำนวน 0 ราย/วัน
ผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาล สะสม 5,483 ราย (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2566)
ผู้เสียชีวิต สะสม 273 ราย (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2566)
ขณะนี้สายพันธุ์ที่แพร่ระบาดในประเทศไทยยังอยู่ในตระกูลโอมิครอน โดยสายพันธุ์หลักเป็นสายพันธุ์ลูกผสม XBB และ XBB.1.5 และ XBB.1.9.1 มีแนวโน้มสูงขึ้น
ล่าสุดพบผู้ป่วย สายพันธุ์ XBB.1.16 ในไทย จำนวน 6 ราย เบื้องต้นพบว่าเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ อยู่ในวัยทำงาน และอาการป่วยไม่รุนแรง และยังไม่มีรายงานผู้ป่วยเยื่อบุตาอักเสบ เหมือนที่พบในประเทศอินเดีย
อย่างไรก็ตาม อาการของโควิด จะมีอาการตัวร้อน เป็นไข้ บางรายก็จะมีอาการระคายเคืองตามใบหน้า หรือดวงตาได้
ฉะนั้นหลังเทศกาลสงกรานต์ ขอให้สังเกตอาการตนเอง 7 วัน ระหว่างนี้หลีกเลี่ยงใกล้ชิดผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง หากมีอาการป่วยให้ตรวจ ATK
ที่สำคัญตั้งแต่เดือนพ.ค.เป็นต้นไปประชาชนทุกคนสามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ประจำปีได้ โดยเฉพาะกลุ่มเป้าหมายที่ต้องฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ สามารถรับวัคซีนทั้ง 2 ชนิดพร้อมกันได้เลย จะช่วยลดการป่วยหนักและเสียชีวิตได้
ส่วนผู้ที่ภูมิคุ้มกันขึ้นไม่ดี สามารถรับภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป(Long Acting Antibody : LAAB) ได้ที่สถานบริการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้าน
หากเดินทางไปยังพื้นที่สาธารณะให้สวมหน้ากาก รวมทั้งไปร่วมกิจกรรมหรือไปสถานที่ที่มีกลุ่ม 607 จำนวนมาก เช่น โรงพยาบาล สถานดูแลผู้สูงวัย และตรวจ ATK เมื่อป่วยมีอาการทางเดินหายใจ ไข้ ไอ เจ็บคอ
หากผลเป็นบวก ให้สวมหน้ากากเมื่อใกล้ชิดผู้อื่น หลีกเลี่ยงใกล้ชิดกลุ่ม 608 สถานที่มีคนจำนวนมาก
หากอาการมากขึ้น เช่น เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก ให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อรักษาในโรงพยาบาล
สำหรับกลุ่ม 608 หรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับยาต้านไวรัสและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
กรณีที่มีสมาชิกครอบครัว เพื่อน/เพื่อนนักเรียน/เพื่อนร่วมงานที่ตรวจ ATK แล้วผลเป็นบวกในช่วง 1-2 สัปดาห์ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกันควบคุมโรค
สถานพยาบาลให้เตรียมบุคลากรไว้ให้บริการฉีดวัคซีนทั้ง โควิด 19 และไข้หวัดใหญ่ เตรียมพร้อมยา เวชภัณฑ์ และเตียง รองรับผู้ป่วยที่มีอาการป่วยรุนแรง ทุกจังหวัดเร่งรัดติดตามเฝ้าระวังและรายงานโรคอย่างต่อเนื่อง ทั้งในโรงพยาบาลและชุมชน
ผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 ทุกราย ให้เก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งทางเดินหายใจ ส่งตรวจ RT-PCR และตรวจหาสายพันธุ์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมตรวจสอบประวัติที่เกี่ยวข้อง และรายงานข้อมูลภายใน 24 ชั่วโมง เตรียมทีมออกสอบสวนโรค
กรณีผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตทุกราย รวมทั้งการระบาดของโรคที่มีลักษณะเป็นกลุ่มก้อน โดยเฉพาะในโรงพยาบาล โรงเรียน สถานดูแลผู้สูงวัย ผู้พิการและด้อยโอกาส ค่ายทหาร เรือนจำ กลุ่มนักท่องเที่ยว
ดังนั้นผู้ที่ควรได้รับวัคซีนอย่างยิ่งคือกลุ่มเสี่ยง ที่มีโรคประจำตัวหรือผู้สูงอายุเพราะเมื่อติดโรคแล้ว จะโอกาสรุนแรงและเสียชีวิตได้