'หมอธีระ' เผยโควิด-19 สายพันธุ์ XBB.1.9.1 และ XBB.1.16 พบเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
"หมอธีระ" เผย "โควิด-19" สายพันธุ์ที่ระบาดหลักยังคงเป็น XBB.1.5 มีสัดส่วนตรวจพบราว 41.57% มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ขณะที่สายพันธุ์ XBB.1.9.1 และ XBB.1.16 พบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2566 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็น "โควิด-19" ระบุว่า
อัปเดตเรื่องโควิด-19
1. สายพันธุ์ที่ระบาดทั่วโลก
องค์การอนามัยโลกออกรายงาน WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา (ภาพที่ 1-3)
ปัจจุบันมีประเทศที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลมาที่ WHO ลดลงมาก เหลือราว 42 ประเทศ หรือเพียง 18% ของประเทศทั้งหมดที่เป็นภาคีสมาชิก ทั้งนี้มีเพียง 22 ประเทศที่รายงานอย่างสม่ำเสมอ
ทั้งนี้ ข้อมูลจนถึง 7 พฤษภาคม 2566 พบว่า สายพันธุ์ที่ระบาดหลักยังคงเป็น XBB.1.5 มีสัดส่วนตรวจพบราว 41.57% โดยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
ในขณะที่ XBB.1.9.1 พบ 15.65% และ XBB.1.16 พบ 13.17% โดยทั้งสองสายพันธุ์นี้พบเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2. ประสิทธิภาพของวัคซีน Bivalent ในอเมริกา
ทีมงานจาก US CDC เผยแพร่ผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีนชนิด Bivalent ลงในวารสาร MMWR วันที่ 26 พฤษภาคม 2566 (ภาพที่ 4)
- การลดเสี่ยงป่วยนอนโรงพยาบาล
ในภาพรวมพบว่า ประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย Bivalent vaccine ในกลุ่มประชากรผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปนั้น ช่วยลดความเสี่ยงในการป่วยนอนโรงพยาบาลได้ราว 60% ในช่วง 2 เดือนแรกหลังฉีด
แต่ประสิทธิภาพจะลดลงเหลือราว 25% หลังฉีดไปเกิน 4 เดือน โดยประสิทธิภาพในคนสูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปจะมากกว่าคนอายุ 18-64 ปีเล็กน้อย
- การลดเสี่ยงป่วยรุนแรง หรือเสียชีวิต
ในภาพรวมพบว่า ประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วย Bivalent vaccine ในกลุ่มประชากรผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปนั้น ช่วยลดความเสี่ยงในการป่วยรุนแรงจนต้องนอนรักษาในไอซียู หรือเสียชีวิตได้ราว 69% ในช่วง 2 เดือนแรกหลังฉีด
ทั้งนี้ ประสิทธิภาพจะลดลงเหลือราว 50% หลังฉีดไปเกิน 4 เดือน
ผลการศึกษาข้างต้น ช่วยให้เราเห็นความสำคัญของการฉีดวัคซีน ที่จะช่วยลดความเสี่ยงป่วยรุนแรง หรือเสียชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง สูงอายุ มีโรคประจำตัว ซึ่งมักมีสถานะสุขภาพที่ไม่แข็งแรง
อย่างไรก็ตาม ก็ตอกย้ำให้เราทราบว่า ท่ามกลางสถานการณ์ระบาดที่ยังรุนแรงในประเทศไทยนั้น จำเป็นต้องมีการป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด แม้จะได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นมาแล้วก็ตาม เพราะวัคซีนช่วยลดความเสี่ยงได้บางส่วน
การป้องกันตัวด้วยวิธีอื่นๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ทั้งเรื่องการใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท เลี่ยงที่แออัดหรือที่ระบายอากาศไม่ดี ไม่แชร์ของกินของใช้กับผู้อื่นนอกบ้าน
ที่สำคัญที่สุดคือ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก ไม่ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด
อ้างอิง
Link-Gelles R et al. Estimates of Bivalent mRNA Vaccine Durability in Preventing COVID-19–Associated Hospitalization and Critical Illness Among Adults with and Without Immunocompromising Conditions — VISION Network, September 2022–April 2023. MMWR Morb Mortal Wkly Rep 2023;72:579–588.