“นายกฯ” สั่งเฝ้าระวัง ”โควิด” ระบาดพุ่ง แนะ กลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีน อย่าประมาท

“นายกฯ” สั่งเฝ้าระวัง ”โควิด” ระบาดพุ่ง แนะ กลุ่มเสี่ยงฉีดวัคซีน อย่าประมาท

“โฆษกรัฐบาล” เผย “นายกฯ” สั่งเฝ้าระวัง “โควิด–19” ระบาดเพิ่มเติมในช่วงนี้ กำหนดมาตรการเฝ้าระวังในโรงเรียน แนะฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นประจำปี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ป้องกันป่วยหนักหรือเสียชีวิต

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์โควิด–19 ซึ่งยังพบการแพร่ระบาดต่อเนื่อง โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังเพิ่มเติมอย่างใกล้ชิด เน้นย้ำคำแนะนำกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง 608 (กลุ่มอายุ 60 ปี, กลุ่ม 7 โรคเรื้อรัง และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์) เร่งฉีดวัคซีน ทั้งผู้ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีน หรือการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันอาการป่วยหนักหรือเสียชีวิต 

โดยข้อมูลจากกรมควบคุมโรค ระบุว่า ปัจจุบันผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดย 7 วัน ระหว่างวันที่ 14 – 20 พฤษภาคม 2566 พบจำนวนผู้เสียชีวิต 64 ราย เฉลี่ยวันละ 9 ราย ส่วนใหญ่อายุมาก 70 ปีขึ้นไป และไม่ยอมรับวัคซีน กลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรงเป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 401 ราย ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจ 226 ราย ซึ่งมักไม่ได้รับวัคซีนและยังพบการระบาดลักษณะเป็นกลุ่มก้อนในกลุ่มวัยทำงาน นักเรียน และในครอบครัวเพิ่มมากขึ้น มีการกระจายของผู้ป่วยในหลายจังหวัด ส่วนกลุ่มผู้ป่วยอาการรุนแรง พบว่า เป็นผู้สูงอายุมากกว่า 70 ปี และส่วนใหญ่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนหรือบางรายพบฉีดวัคซีนเพียง 2 เข็ม แต่ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น ทำให้ระดับภูมิคุ้มกันหมู่ในประชากรลดลงมาก สายพันธุ์ที่พบการระบาดเป็นสายพันธุ์ใหม่/สายพันธุ์ย่อยอื่นจากต่างประเทศ มีการระบาดเพิ่มทั้งในเมืองและชนบท ตามมาด้วยจำนวนผู้ป่วยอาการหนักที่เพิ่มมากขึ้น 

ซึ่งในช่วงนี้ รัฐบาลยังได้เพิ่มมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคในโรงเรียน ภายหลังการเปิดภาคเรียนของสถานศึกษาทั่วประเทศ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด–19 ในกลุ่มเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา โดยขอความร่วมมือให้ครูประจำสถานศึกษาเข้มงวดมาตรการเฝ้าระวังฯ ในโรงเรียนตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด และหากพบเด็กนักเรียนป่วยจำนวนมาก อาจให้มีการหยุดเรียนเป็นรายห้องเรียน หรือชั้นเรียน โดยไม่จำเป็นต้องปิดโรงเรียน และแจ้งสำนักงานสาธารณสุขในพื้นที่ หรือศูนย์บริการสาธารณสุข ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อดำเนินการสอบสวนควบคุมโรคโดยเร่งด่วน

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค ยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนโควิด–19 ในลักษณะเป็นเข็มกระตุ้นประจำปี ในทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยให้ห่างจากเข็มสุดท้ายหรือประวัติการติดเชื้อ อย่างน้อย 3 เดือน โดยมีการจัดเตรียมวัคซีนโควิด-19 ให้กับทุกกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป และได้มีการจัดหาวัคซีนรุ่นใหม่สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่อายุ 12 ปีขึ้นไปด้วย โดยประชาชนสามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ที่หน่วยบริการตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ หรือสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

“นายกรัฐมนตรีห่วงใยประชาชนต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด – 19 ที่ยังคงมีต่อเนื่อง โดยกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินสถานการณ์ พิจารณา ปรับมาตรการ และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด พร้อมขอความร่วมมือประชาชนไม่ประมาท และปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุข ติดตามประกาศของกรมควบคุมโรคอยู่เสมอ” นายอนุชา กล่าว