ทำอย่างไร เมื่อ 'เด็กไทย' ตกเป็นเหยื่อ ทั้งโลกจริง-โลกไซเบอร์
ในสังคมไทยมีความรุนแรงมากขึ้นในหลายส่วน ไม่ว่าจะในโรงเรียน ครอบครัว และโลกไซเบอร์ และเกี่ยวข้องกับหลายมุมไม่ว่าจะด้านกฎหมาย จิตวิทยา โดยเฉพาะกับเด็กและเยาวชน ซึ่งครูเป็นบุคคลที่สำคัญ เป็นพื้นที่หลักที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้
Key Point :
- ความรุนแรง กลั่นแกล้ง ทั้งในโรงเรียนและโลกไซเบอร์ นับเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก เยาวชน ที่เข้าถึงโซเชียลมีเดีย ในช่องทางที่หลากหลาย
- เมื่อมีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นในโรงเรียน การบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะคุ้มครองความรุนแรงในโรงเรียนที่เกิดขึ้นได้
- ขณะเดียวกัน เด็กที่ถูกกลั่นแกล้งโดยเฉพาะในโลกไซเบอร์ พบว่า คนแรกๆ ที่จะเข้าหา คือ ครู ดังนั้น การมีสถานที่และคนรับฟังที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้กับเด็กจะทำให้เด็กกล้าขอความช่วยเหลือและป้องกันการนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย
ปัญหาความรุนแรงในสถานศึกษาเป็นปัญหาสำคัญของสังคมที่ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น ความไม่เข้าใจกันระหว่างครูและนักเรียนจากการทำร้ายกันด้วยวาจา การเหยียดหยาม ล้อเลียนบุพการี Cyberbullying , Sexual Harassment การไม่ยอมรับความแตกต่าง จนถึงการทำร้ายร่างกาย
งานวิจัยล่าสุดที่เก็บข้อมูลในปี 2566 พบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 40 เคยเห็นเหตุการณ์การกลั่นแกล้ง และมีคนที่เคยตกเป็นเหยื่อกว่าร้อยละ 30 ส่วนใหญ่มาในช่องทางโซเชียลมีเดียที่เด็กใช้ และสิ่งที่น่าสนใจ คือ ความรุนแรงมักจะอยู่ในแพลตฟอร์มที่ไม่ต้องโชว์ตัวตน ทำให้ความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวัย ม.ปลายจนถึงมหาวิทยาลัย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผศ.ดร.ปารีณา ศรีวนิชย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในงาน Teacher Conference ในหัวข้อ 'Stop Violence in Schools เยาวชนไทยห่างไกลความรุนแรง' ครั้งที่ 2 เกี่ยวกับ 'กลไกทางกฎหมายเมื่อมีเหตุความรุนแรง' ว่า กลไกทางกฎหมายเมื่อมีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นในโรงเรียน ต้องเริ่มตั้งแต่กฎหมายแม่บทซึ่งมีหลายฉบับ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกฎหมายที่คุ้มครองเด็กได้ดีในเนื้อหาของกฎหมาย
"แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานี้ กฎหมายลำดับรอง และแนวทางปฏิบัติจริง ในการบังคับใช้กฎหมายยังไม่ค่อยสมบูรณ์ สิ่งที่อยากให้มีมากขึ้น คือ ในโรงเรียนแต่ละโรงเรียน ควรจะต้องมีกลไกคุ้มครองผู้ที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงระหว่างนักเรียน ระหว่างนักเรียนและครู หรือกระทั่งความรุนแรงที่เกิดจากบุคคลภายนอกที่เข้ามากระทำต่อนักเรียนหรือครูที่อยู่ในโรงเรียน"
มาตรฐานสากล
ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน
แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ บนรากฐาน คือ มนุษย์ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นกัน ได้แก่
- สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง
- สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม
อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง กำหนดการกระทำที่เป็นความผิด
- ประมวลกฎหมายอาญา
- พ.ร.บ. การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์
- พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี
หากมีความรุนแรงเกิดขึ้นในโรงเรียนจะดำเนินการอย่างไร ?
- มาตรการบำบัดเยียวยา ผู้ถูกกระทำ/ผู้รอดพ้น และผู้เกี่ยวข้อง
- การรักษาฟื้นฟูร่างกาย
- การบำบัดเยียวยาและฟื้นฟูจิตใจ
- การศึกษา
- การทำงาน
- การดำรงชีวิตปกติ
- สิทธิที่จะถูกลืม Digital footprint
- สิทธิของผู้เสียหายตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
- สิทธิที่ได้รับเงินค่าตอบแทนความเสียหายในคดีอาญาตามกฎหมาย
- สิทธิในการได้รับความคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กตามกฎหมาย
- สิทธิของเด็กเยาวชนในคดีอาญา
- การคุ้มครองพยาน
“สิ่งที่อยากจะเน้น คือ การบำบัดฟื้นฟูและสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ โดยเฉพาะเรื่องทางเพศ ทำอย่างไรให้เหยื่อรู้สึกว่าเขาไม่ผิด ไม่รู้สึกกลัว สร้างจิตใจให้เข้มแข็ง เพราะตราบใดที่ผู้เสียหายไม่เข้มแข็ง เขาจะไม่สามารถเป็นพยานที่ดีได้เลย อีกทั้ง ความรู้ของผู้เกี่ยวข้อง ทัศนคติของตำรวจ เป็นสิ่งสำคัญ”
บูรณาการทำงาน อย่างเป็นรูปธรรม
ผศ.ดร.ปารีณา กล่าวต่อไปว่า ต้องมีการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการไม่ว่าจะเป็นครู ตำรวจ แพทย์ รวมถึงนักสังคมสงเคราะห์ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กลไกตรงนี้ในบ้านเรายังขาด และคิดว่าหากมีกระบวนการตรงนี้ที่เป็นการบูรณาการอย่างเป็นรูปธรรม จะคุ้มครองความรุนแรงในโรงเรียนที่เกิดขึ้นได้
นอกจากการส่งเสริมในเรื่องความสัมพันธ์อันดี การให้รู้จักเคารพและให้เกียรติซึ่งกันและกันในโรงเรียน น่าจะเป็นพื้นฐานที่ดีที่สุดในการป้องกันไม่ให้เกิดความรุนแรงในโรงเรียน เพราะความรุนแรงเกิดจากการขาดความเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นมนุษย์ทีเท่าเทียมกันไม่ว่าจะสถานะใดก็ตาม ดังนั้น เราเริ่มต้นตั้งแต่การป้องกัน สร้างเสริมความเข้าใจตรงนี้ และมีมาตรการที่จะมารองรับว่าเมื่อมีความรุนแรงเกิดขึ้นแล้วเราจะดำเนินการอย่างไรในการจัดการกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น
“ขณะเดียวกัน การจัดการกับความรุนแรงที่เกิดขึ้น เราต้องดูทั้งผลกระทบ ดูแล บำบัดเยียวยาเขาอย่างไร และผู้ที่ทำให้เกิดความรุนแรง ทำอย่างไรที่จะทำให้เขาไม่ก่อความรุนแรงเกิดขึ้นในอนาคต สิ่งที่อยากจะฝาก คือ เราไม่สามารถแก้ปัญหาความรุนแรง ด้วยการใช้ความรุนแรงได้ไม่ว่าในทางใด” ผศ.ดร.ปารีณา กล่าว
'โลกไซเบอร์' ดาบสองคม
ขณะเดียวกัน การกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์ในปัจจุบันพบว่ามีจำนวนมากขึ้น เนื่องจากเป็นช่องทางที่เข้าถึงง่าย และมีหลายแพลตฟอร์ม
ผศ.ดร.ณัฐสุดา เต้พันธ์ คณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึง การดูแลนักเรียนที่ได้รับความรุนแรงทางโลกไซเบอร์ ว่าปัญหาการกลั่นแกล้งในปัจจุบันมีจำนวนมาก งานวิจัยล่าสุดที่เก็บข้อมูลในปี 2566 พบว่า กว่าร้อยละ 40 เคยเห็นเหตุการณ์กลั่นแกล้ง และคนที่ตกเป็นเหยื่อกว่าร้อยละ 30
"คำถามที่ต้องคิดว่า กี่คนที่ไม่บอกความจริงว่าตนเองเคยตกเป็นเหยื่อ ซึ่งส่วนใหญ่มาในช่องทางโซเชียลมีเดียที่เด็กใช้ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก อินสตราแกรม ทวิตเตอร์ และมีบางอย่างที่น่าสนใจ คือ ความรุนแรงมักจะอยู่ในแพลตฟอร์มที่ไม่ต้องโชว์ตัวตน ความรุนแรงก็จะมากขึ้น ในช่วงม.ปลายจนถึงมหาวิทยาลัย"
พฤติกรรมต่างๆ ที่อยู่บนโลกออนไลน์ไม่ได้เป็นสิ่งร้ายเสมอไป หากสามารถเตรียมเด็กให้พร้อม เลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ภาพในสังคมไทยตอนนี้ความรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ โซเชียลมีเดียไม่ว่าจะเป็นไลน์ เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ติ๊กต็อก ask.fm ฯลฯ ในการศึกษาเชิงพฤติกรรม เด็กโตสามารถเลือกพฤติกรรมแสดงบนแพลตฟอร์มแตกต่างกัน
ตัวอย่างพฤติกรรม เช่น การมีแอคเคาน์หลุม หรือ Finsgram มาจาก Friend Only หรือ Fake Instragram บัญชีที่ถูกสร้างขึ้นมาจากบัญชีที่ใข้อยู่เป็นประจำ และถือเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่แพร่หลาย โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น อย่างไรก็ตาม แอคเคาน์หลุม มีทั้งบวกและลบ
การรังแกบนโลกไซเบอร์
การรังแกทางโลกโซเชียล หมายถึง การรังแก ดูถูก คุกคาม ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต เป็นการกระทำที่มีเจตนามุ่งร้ายชัดเจนและกระทำการรังแกซ้ำๆ ต่อเหยื่อหรือผู้ถูกรังแก ซึ่งเหยื่อหรือผู้ถูกรังแกจะรู้สึกว่าถูกคุกคาม และก่อให้เกิดความทุกข์ใจ
“จุดที่ทำให้ Cyberbullying ต่างจาก Bully ปกติ เพราะช่องทางมีมากกว่า 1 ช่องทาง มีการกระทำซ้ำๆ มุ่งร้าย เพราะไม่มีการแสดงตัวตน ไม่มีใครเห็น และ No safe place เพราะการที่ใครสักคนตกเป็นเหยื่อ เราจะหาพื้นที่ปลอดภัย สิ่งกระทบที่สุดของการเป็นเหยื่อคือการหมดหนทาง โลกไซเบอร์ การรังแกบนไซเบอร์เกิดได้ทุกที่ เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็ตามไปทุกที่”
สิ่งที่เกิดขึ้นตามมา คือ เหตุไม่ได้จบเฉพาะหน้าแล้วจบ ความรุนแรงการถูกกลั่นแกล้งจึงมากขึ้น ในไทยมีงานวิจัย เกี่ยวกับ Cyberbullying เยอะแต่ไม่มีการวิจัยที่เหยื่อโดยตรง ส่วนใหญ่จะถามคนทั่วไป เพราะการถามเหยื่อเป็นเรื่องยากที่จะตอบ
เยาวชนไทย 28.3% เคยถูกระราน
สถานการณ์ในประเทศไทย พบว่า เยาวชนไทยกว่าร้อยละ 50 มีประสบการณ์เกี่ยวกับการกลั่นแกล้งรังแกทางโลกไซเบอร์ อีกทั้ง จากการศึกษานักเรียนระดับมัธยมศึกษา 2,430 คน พบว่า ผู้เห็นเหตุการณ์ 40.7% ผู้ระราน 31% และผู้ถูกระราน 28.3%
รูปแบบการกลั่นแกล้งบนโลกไซเบอร์
1.การปะทะคารม
2.การก่อกวน
3.การใส่ร้ายป้ายสี
4.การปลอมตัวเป็นบุคคลอื่น
5.การเผยแพร่รูปภาพหรือข้อมูลส่วนตัว
6.การขับออกจากกลุ่ม
7.การเฝ้าติดตามทางอินเทอร์เน็ต
8.การถ่ายคลิปวิดีโอ
9.การส่งสิ่งที่มีความล่อแหลมทางเพศ เช่น ข้อความ ภาพเปลือย หรือ กึ่งเปลือย ให้ผู้อื่น
สถานการณ์ในไทยที่พบมาก
1.การโจมตีหรือใช้วาจาหยาบคาย
2.การคุกคามทางเพศออนไลน์
3.การแอบอ้างตัวตนของผู้อื่น
4.การแบล็คเมล์
5.การหลอกลวงในรูปแบบต่าง
6.การสร้างกลุ่มในเครือข่ายสังคมและโจมตีบุคคลที่ตนเองไม่ชอบ
การป้องกัน
ยกตัวอย่าง แนวทาง Positive school climate สร้างบรรยากาศเชิงบวกในโรงเรียน ได้แก่
- การสร้างความตระหนักรู้
- สร้างช่องทางในการสื่อสาร สิ่งที่ยากการเป็นเหยื่อรือการก้าวเข้าหาใครที่คุยได้
- สร้างความรู้สึกปลอดภัยและมีคุณค่า
- เครือข่ายชุมชนที่ทำร่วมกันป้องกัน Cyberbullying
- สร้างข่องทางในการแจ้งข่าวอย่างปลอดภัย
- สร้างความหวัง
- สร้างวัฒนธรรมแห่งความใส่ใจ
- สร้างกลุ่มนักเรียน "Peer Group"
- เก็บข้อมูล
สร้างพื้นที่ปลอดภัย ผู้รับฟังที่ดีในโรงเรียน
ผศ.ดร.ณัฐสุดา กล่าวต่อไปว่า เมื่อเราเลี่ยงไม่ให้เด็กเข้าไปใช้โซเชียลมีเดียไม่ได้ เพราะปัจจุบันข้อมูลข่าวสารที่มีประโยชน์ก็อยู่บนนั้น ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ ทำอย่างไรให้เด็กรู้ว่า เมื่อตนเองเข้าไปอยู่ในโลกโซเชียล เราจะทำพฤติกรรมอย่างไรให้ปลอดภัยและได้ประโยชน์สูงสุด ด้วยการให้ทักษะในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสม
สิ่งที่ต้องให้เขาคิด คือ เราไม่ได้นั่งคุยกับเพื่อน ข้อมูล ภาพ ที่เราส่งไป มันอยู่ไปอีกนาน มีสิทธิจะเผยแพร่ ทำซ้ำได้มากมาย เพราะฉะนั้น เด็กต้องเข้าใจพื้นฐาน และคิดก่อนที่จะทำ เข้าไปในโลกโซเชียลอย่างตั้งสติ ว่าเราจะใช้ประโยชน์จากเครือข่าย แต่ไม่ได้ทำตัวเองให้มีโอกาสเอาความเป็นตัวเราไปทำให้เกิดความเสียหาย
ครูคนแรกๆ ที่เด็กเข้าหา
ขณะเดียวกัน เมื่อถูกกลั่นแกล้ง เด็กมักจะไม่กล้าบอกพ่อแม่ แต่จากงานวิจัยที่ศึกษา พบว่า ครู มักจะเป็นคนแรกๆ ที่เด็กเข้าหา ดังนั้น หากครูเข้าใจ ใส่ใจ ไม่ตำหนิ เป็นตัวเริ่มต้นที่ดี เพราะผลกระทบทางจิตใจของเด็ก เขารู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีใครเชื่อใจได้ ใครๆ ก็มองเขาไม่ดี ดังนั้น ครูเป็นปราการแรกที่สำคัญ อาจจะไม่ต้องทำอะไรในเชิงจิตใจ แต่ขอให้รับฟัง เข้าใจ
"การมีห้องหรือพื้นที่สำหรับรับฟัง และมีคนที่เป็นพื้นที่ปลอดภัย เด็กจะกล้าที่จะแสวงหาความช่วยเหลืออย่างเหมาะสม ขณะที่ หากปล่อยไปอาจเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ซึ่งมีความเชื่อมโยงทางจิตใจหลายอย่าง ลองนึกผลกระทบพื้นฐานในเด็ก เมื่อถูก Cyberbullying จะรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่มีใครเข้าใจ ตกเป็นเหยื่อ ทุกคนมองในแง่ไม่ดี ทำให้เกิดซึมเศร้าตามมา งานวิจัยบอกชัดเจนว่า Cyberbullying คนที่ตกเป็นเหยื่อสัมพันธ์กับความคิดในการฆ่าตัวตาย เราทุกคนคงไม่อยากให้ถึงจุดนั้น ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ ป้องกัน หากทำตั้งแต่ต้นจะทำให้ป้องกันปัญหาใหญ่ในอนาคตได้"