ให้คุณค่า ผ่านงานที่ทำ หัวใจสำคัญ 'รพ.นครธน'
นพ.วิโรจน์ ตระการวิจิตร ผู้อำนวยการสายงานแพทย์ รพ.นครธน เผยเคล็ดลับการบริหารคน ดูแลทีม ผ่านวิกฤติโควิด-19 สู่การพัฒนาศักยภาพ ตอบโจทย์เป้าหมายการเป็นศูนย์ความเชี่ยวชาญโรคยากซับซ้อน
Key Point :
- การนำพาองค์กร ผ่านวิกฤติโควิด-19 โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่เรียกว่าทำงานอย่างหนักหน่วง สิ่งสำคัญ ไม่เพียงแค่การดูแลผู้ป่วย แต่ต้องดูแลบุคลากรด่านหน้า รวมถึงผู้นำที่ต้องอยู่เคียงข้างผู้ปฏิบัติงาน
- รพ.นครธน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโรงพยาบาลที่ผ่านพ้นสถานการณ์ดังกล่าว และขณะนี้เดินหน้าสู่การพัฒนาศูนย์การแพทย์เฉพาะทางโรคยากซับซ้อน และมุ่งพัฒนาบุคลากรให้ก้าวสู่ความเชี่ยวชาญ
- นพ.วิโรจน์ ตระการวิจิตร ในฐานะผู้นำ มองว่า นอกจากการพัฒนาศักยภาพแล้ว หัวใจสำคัญ คือ การสร้างคุณค่า ผ่านงานที่ทำ ตอบโจทย์สิ่งที่ยึดถือ 'การบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์'
วิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา โรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์ และจิตอาสา นับว่าต้องรับมืออย่างหนักหน่วง การผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมาได้ ไม่ใช่แค่การมุ่งรักษาผู้ป่วยทั้งกลุ่มทั่วไปและผู้ป่วยโควิดเท่านั้น แต่ยังต้องดูแลบุคลากรด่านหน้าซึ่งถือเป็นบุคคลสำคัญ ในการนำพาประเทศฝ่าวิกฤติ
โรงพยาบาลนครธน ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่พระราม 2 โรงพยาบาลเฉพาะทางขนาด 150 เตียง เป็นอีกโรงพยาบาลแห่งหนึ่งที่ต้องเพิ่มศักยภาพการรองรับผู้ป่วยขึ้น และถือเป็นโรงพยาบาลแรกๆ ที่ได้รับเคสผู้ป่วยโควิด-19 จากเหตุการณ์สนามมวย และการแพร่ระบาดที่ จ.สมุทรสาคร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นพ.วิโรจน์ ตระการวิจิตร ผู้อำนวยการสายงานแพทย์ โรงพยาบาลนครธน ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา เป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครเคยเจอ สิ่งที่ทำได้ คือ ตั้งทีมเฉพาะกิจ 5 กลุ่ม ประชุมกันทุกวันว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร โรงพยาบาลต้องทำสถานที่ใหม่ป้องกันการติดเชื้อ โดยใช้ลานจอดรถเป็นคลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ (ARI CLINIC) เพื่อแยกผู้ป่วยโควิด-19 กับ ผู้ป่วยปกติ เจ้าหน้าที่ใส่ชุด PPE ตลอดเวลาในอากาศที่ร้อนเพราะอยู่ลานจอดรถ ส่วนผู้ป่วยที่แอดมิท ต้องทำวอร์ดพิเศษ มีลิฟต์เฉพาะแยก และต้องแยกเจ้าหน้าที่
“การดูแลบุคลากรสำคัญมาก ทั้งเรื่องขวัญกำลังใจ ผู้บริหารต้องพูดคุยกับเจ้าหน้าที่สม่ำเสมอ เพื่อให้เขารู้ว่าผู้บริหารอยู่กับเขาตลอดเวลา ในสภาวการณ์ที่ไม่แน่นอน น่าวิตกกังวล เราประชุมกันทุกวัน เพื่ออัปเดตมาตรการ"
หลังจากวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้โรงพยาบาลเดินหน้ากลยุทธ์สู่การเป็นศูนย์ความเชี่ยวชาญ ผ่าน 6 ศูนย์ทางการแพทย์ ดูแลโรคยาก ซับซ้อน โดยร่วมกับ บำรุงราษฎร์ เฮลท์ เน็ตเวิร์ก 2 ศูนย์ และร่วมกับ สไมล์ โอเปอเรชั่นส์ 1 ศูนย์
แน่นอนว่า การเดินหน้าสู่ความเชี่ยวชาญ บุคลากรก็ต้องมีการพัฒนา 'นพ.วิโรจน์' อธิบายต่อไปว่า หลังโควิด-19 เรามุ่งพัฒนาบุคลากร 2 ส่วน คือ
1.มาตรฐานวิชาชีพ เมื่อเราเดินหน้าเน้นศูนย์การแพทย์โรคยากซับซ้อน ดังนั้น ต้องเน้นความเชี่ยวชาญ และเป็นสากล ซึ่งนับเป็นความท้าทายเพราะแพทย์หาได้ แต่พยาบาล เภสัชกร นักเทคนิคการแพทย์ เหล่านี้จะต้องตามให้ทัน ไม่ใช่มีแพทย์เก่งแต่คนอื่นตามไม่ทันก็รักษาไม่ได้ ต้องทำงานเป็นทีม
และ 2. การบริการ ที่ยึดถือ 'การบริการด้วยหัวใจความเป็นมนุษย์' โดยมีโครงการ SBE Plus หรือ Service Beyond Expectation Plus ทำอย่างไรให้เข้าไปนั่งในใจของผู้ใช้บริการ รู้ว่าต้องการอะไรโดยที่เขาไม่ต้องร้องขอ มีรูปแบบ บริการอย่างไร โดยมีการเซ็ตเป็นทีม มีการฝึกอบรมให้กับพนักงานในโรงพยาบาลนครธนทุกคน ต้องรู้เรื่องของ 'SBE Plus' ว่าจะต้องทำอย่างไร และมีกระบวนการเยียวยาทางจิตใจ เรื่องของ Special Readership การอบรมในมิติทางจิตวิญญาณ เพื่อให้เขามีความอ่อนโยน อ่อนน้อม และรู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำ ได้บุญ ได้กุศล และสิ่งที่ดี
“พยายายามทำให้เขาเห็นคุณค่าของตัวเองผ่านงานที่เขาทำ นี่คือหัวใจสำคัญ หากบุคลากรทางการแพทย์เห็นคุณค่าในตัวเองผ่านงานที่ทำ เขาจะรู้สึกว่าตื่นมาแล้วมีพลังในทุกวัน เหนื่อย หนักแค่ไหน ก็สามารถทนได้ เพราะเขากำลังทำสิ่งที่ดีๆ เมื่อได้ทำสิ่งที่ดี ก็รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีประโยชน์ หากมนุษย์รู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า มีประโยชน์ มีความหมาย เขาจะมีพลังชีวิต มันดีกว่าพลังจากเงิน อาหาร แต่เป็นพลังงานที่หล่อเลี้ยงตัวเขา”
สูตร “N.E.S.S” ฉบับผู้นำ
ถามถึงการดูแลสุขภาพตัวเอง นพ.วิโรจน์ กล่าวว่า นี่คือสิ่งสำคัญมาก ลีดเดอร์ต้องดูดี มีพลังชีวิต เป็นจุดที่พยายามดูแลตัวเองตลอดเวลา สูตร คือ “N.E.S.S” ได้แก่
N (Nutrition) สารอาหาร ส่วนตัวให้ความสำคัญกับอาหารมาก ทุกเช้าต้องกินโปรตีน อาหารเสริม ดูแลสุขภาพ เจาะเลือดตรวจดูสารอาหาร วิตามิน กินวิตามินเสริม เพราะอาหารสำคัญมาก กินแล้วน้ำหนักเกินก็ต้องควบคุม
E (Exercises) ออกกำลังกายทุกวัน วิ่ง เล่นเวท โยคะ ยืดเหยียด เพราะการออกกำลังกายสำคัญ
S (Stress Management) การบริหารความเครียด ลีดเดอร์ทุกคนส่วนใหญ่เครียด แต่เมื่อเครียดแล้ว ไม่ควรไปแสดงออกกับลูกน้อง เครียดต้องมีวิธีการต่อสู้กับความเครียดให้ได้ ดังนั้น ต้องมีวิธีการจัดการความเครียด เจริญสติ ออกกำลังกายก็ช่วยให้ความเครียดลดลง รวมถึงการนอนคุณภาพ วัดออกซิเจนตอนนอน มอนิเตอร์การนอนตลอดเวลา การพักผ่อนเพียงพอจะทำให้ความเครียดลดลง
S (Support System) ได้แก่
- Medical Support ต้องตรวจสุขภาพประจำปี ดูว่ามีปัญหาอะไร ต้องใช้ยาตัวไหน ปรึกษาแพทย์ในการเช็กร่างกาย ทานยาที่เหมาะสมกับตัวเอง
- ถัดมา คือ Social Support เรื่องของเพื่อนฝูง สังคม การเข้ากับคนอื่น ความสัมพันธ์กับครอบครัว
- และ Spiritual Support มิติด้านจิตวิญญาณ เราต้องสามารถรู้ว่าเราอยู่ไปทำไม อยู่ไปเพื่ออะไร ชีวิตเรามีคุณค่าระดับไหน ตื่นเช้ามาจะมีพลัง เป็นมิติด้านจิตวิญญาณ รวมทั้งการศึกษาธรรมะ การปฏิบัติธรรม ช่วยให้เราเห็นคุณค่าและความหมายของชีวิต เพื่อให้รู้ว่าสิ่งที่เราทำมีความหมายต่อเพื่อนมนุษย์ขนาดไหน เป็นพลังให้เรา
“หากเราทำทั้งหมดได้ ตัวเราก็จะสมบูรณ์แบบ และเมื่อตัวเราสมบูรณ์แบบ เราก็จะส่งพลังไปยังเพื่อนๆ น้องๆ ให้กับใครก็ได้ ยิ่งเราเป็นผู้นำ เราต้องเป็นตัวอย่าง เราต้องเป็น Role Model” นพ.วิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย