ทุกอย่างรอบตัวล้วน 'เป็นพิษ' แม้น้ำเปล่า ก็ทำให้ตายได้ถ้าไม่ระวัง
ที่ผ่านมา เราได้ยินคำว่า 'ไซยาไนด์' กันมาหนาหู แต่ความจริงในชีวิตประจำวันของเรามีสารพิษอื่นๆ อยู่รอบตัว รวมไปถึงของใกล้ตัวอย่างอาหาร เครื่องสำอาง ของใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งหากได้รับในปริมาณมาก หรือใช้ผิดวิธี ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
Key Point :
- ไซยาไนด์ เป็นสารพิษที่ถูกพูดถึงมากในช่วงที่ผ่านมา แต่ความจริงในชีวิตประจำวันของเรายังมีสารพิษ หรือสิ่งที่ก่อให้เกิดพิษอีกมากมายที่เราอาจคาดไม่ถึง
- สิ่งรอบตัวไม่ว่าจะเป็น อาหาร เครื่องสำอาง ของใช้ในบ้าน หากใช้อย่างผิดวิธี หรือได้รับปริมาณที่มากเกินไป แม้แต่น้ำเปล่าก็ทำให้ตายได้
- การระมัดระวัง ในการใช้ชีวิต และเรียนรู้การช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษ อย่างถูกวิธี จะทำให้ปลอดภัยทั้งคนที่ได้รับสารพิษและคนที่ช่วยเหลือ
ช่วงที่ผ่านมา มีความสนใจเกี่ยวกับสารพิษที่ส่งผลต่อร่างกายโดยเฉพาะ ไซยาไนด์ แต่ความจริงแล้วยังรอบตัวเรา ยังมีสิ่งที่เป็นพิษอีกมากมายจนเราคาดไม่ถึง แต่อาจจะในปริมาณที่น้อยมากจนไม่ส่งผลต่อร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอาหาร สินค้าที่ใช้ภายในบ้าน หรือแม้กระทั่งเครื่องสำอาง อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างรอบตัวล้วนเป็นพิษ หากบริโภคเกินพอดี หรือได้รับในปริมาณที่มากเกินไป แม้แต่น้ำเปล่า ก็สามารถทำให้ตายได้
ผศ.นพ.สหภูมิ ศรีสุมะ หัวหน้าสาขาวิชาเภสัชวิทยาและพิษวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ความรู้ใน รายการพบหมอรามาฯ ผ่านช่องทาง RAMA Channel เกี่ยวกับ 'สารพิษกับชีวิตประจำวัน นอกจากไซยาไนด์ ยังมีสารพิษอะไรแฝงตัวอยู่ในชีวิตอีกบ้าง' โดยระบุว่า ทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเราล้วนเป็นพิษ แต่ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ สารอะไร ปริมาณที่ได้รับ และผู้ที่ได้รับ ยกตัวอย่าง น้ำเปล่า ทุกคนทานได้ แต่หากโดนกรอกน้ำเปล่า 10 ลิตร การได้รับปริมาณที่มากไป จะทำให้เกลือแร่ผิดปกติ สมองบวม เม็ดเลือดแดงแตก เพราะฉะนั้น น้ำเปล่าก็เสียชีวิตได้ หากปริมาณมากพอ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไซยาไนด์ มีอยู่ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็น ก๊าซ มีกลิ่นคล้ายอัลมอนด์ แต่ไม่ใช่ทุกคนจะได้กลิ่น พบใน 15-40% ของประชากร ก๊าซเกิดจากการเผาไหม้พลาสติกบางชนิด เช่น โพลียูรีเทน ทำให้เหตุการไฟไหมบางแห่ง มีไซยาไนด์ออกมาด้วยจากพลาสติก
ถัดมา คือ เกลือไซยาไนด์ เป็นผง ไม่มีกลิ่น (จะมีกลิ่นตอนที่เข้าไปทำปฏิกิริยาแล้ว) หรืออาจจะละลายน้ำมา มีใช้ในระดับอุตสาหกรรมเครื่องเงิน เครื่องทองในการทำความสะอาด แต่หากน้ำยาล้างเครื่องเงินเครื่องทอง ไม่ควรมีสารนี้เพราะเป็นสารอันตรายถึงแก่ชีวิต
ไซยาไนด์ ในธรรมชาติ อันตรายหรือไม่
นอกจากนี้ ยังมี ไซยาไนด์ ที่อยู่ในธรรมชาติ เช่น เนื้อข้างในเมล็ดพีช แอปริคอต เมล็ดแอปเปิ้ล หากกลืนเมล็ดแอปเปิ้ลลงไปโดยที่ไม่ทุบให้แตกก็ไม่เป็นอันตราย แต่หากทุบให้แตก ข้างในมีสารไซยาไนด์เป็นองค์ประกอบแต่น้อยมาก การปั่นน้ำแอปเปิ้ลแล้วมีเม็ดหลุดรอดลงไปเม็ดสองเม็ดจึงไม่เป็นอันตราย
มันสำปะหลัง ทานได้หรือไม่
ในส่วนของ มันสำปะหลัง แบ่งเป็น 2 ตระกูล ได้แก่ มันสำปะหลังพันธุ์หวาน มีปริมาณไซยาไนด์ต่ำ ส่วนใหญ่หากจะบริโภคเป็นอาหารจะใช้พันธุ์เหล่านี้ ที่เปลือกจะมีไซยาไนด์มากกว่าเนื้อ คำแนะนำ คือ ปอกเปลือกออก ทำให้สุก เพียงเท่านั้น ปริมาณไซยาไนด์ก็ลดลงมาก
ขณะที่ มันสำปะหลังพันธุ์ขม ต่อให้เป็นเนื้อข้างในก็มีส่วนของไซยาไนด์พอสมควร ส่วนใหญ่นำไปทำไบโอดีเซล หรืออาหารสัตว์ โดยมีการเตรียมให้ปริมาณไซยาไนด์ลดลงก่อนนำไปให้สัตว์บริโภค
"แต่ในบางประเทศที่เพาะปลูกพืชยากก็มีการบริโภคมันสำปะหลังพันธุ์ขม แต่มีวิธีเตรียม คือ ปอกเปลือก สับเป็นชิ้นๆ ตาก หรือ แช่น้ำ ตามที่แต่ละพันธุ์กำหนด ไซยาไนด์จะเริ่มสลาย ในบางทวีปเป็นแหล่งอาหารหลัก ดังนั้น จึงมีการเตรียมบริโภคกันเป็นปกติ สรุป คือ มันสำปะหลัง ทานได้ และพันธุ์ที่เราบริโภคส่วนใหญ่เป็นพันธุ์หวาน"
ผศ.นพ.สหภูมิ อธิบายต่อไปว่า ไซยยาไนด์ ปริมาณน้อยๆ ที่เข้าไปสู่ร่างกายจะโดนจับโดยซัลเฟอร์ในร่างกาย แต่ในกรณีของ เกลือ หรือ ก๊าซไซยาไนด์ที่มีความเข้มข้นสูง ร่างกายไม่สามารถมีซัลเฟอร์พอจะสู้กับมันได้ จึงทำให้ได้รับอันตรายจากสารพิษ
เพราะการที่เรามีชีวิตอยู่ได้ เซลล์ของเราดึงออกซิเจนไปใช้สร้างพลังงาน โดยเฉพาะสมองและหัวใจ แต่ไซยาไนด์ กลไกสำคัญ คือ ทำให้ร่างกายดึงออกซิเจนมาสร้างพลังงานไม่ได้ ทำให้การรู้สติผิดปกติ ชัก หมดสติ หรือหัวใจหยุดเต้น
เจอคนหมดสติ สงสัยว่าโดนพิษไซยาไนด์ ต้องทำอย่างไร
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องทำเมื่อเจอคนล้มหมดสติ หากกรณีที่สงสัยว่าโดนพิษ ไซยาไนด์ ควรโทรขอความช่วยเหลือ และหากช่วยเหลือเบื้องต้น ไม่แนะนำการเป่าปาก นอกจากนี้ ไซยาไนด์มียาต้านพิษ ผลิตโดย สถานเสาวภา สภากาชาดไทย ซึ่งไม่ใช่ทุกประเทศที่มียาต้านพิษ และหากมีก็ค่อนข้างแพงเพราะต้องนำเข้า
"ส่วนประเทศไทย ราว ปี ค.ศ. 2010 มีโครงการยาต้านพิษ เพราะเล็งเห็นว่า พิษบางชนิดหากไม่มียาต้านพิษ ต่อให้เก่งแค่ไหนก็เกิดการบาดเจ็บเรื้อรัง เสียชีวิตได้ นำไปสู่โครงการยาต้านพิษไซยาไนด์ เป็นเวลากว่า 13 ปี ซึ่งเป็นยาฉีด ถูกเก็บอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ด้วยความร่วมมือของ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) องค์การเภสัชกรรม สภากาชาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เพื่อให้เกิดการกระจายยาต้านพิษให้ทัน โดยนอกจากโรงพยาบาลใหญ่ หากระยะเดินทางเกิน 60 นาที ควรจะมีสต็อกไว้เพิ่ม ดังนั้น หากดูสต็อกยาต้านพิษไซยาไนด์ค่อนข้างถี่ ซึ่งปัจจุบัน นอกจากกระจายยายังมีการอบรมแพทย์อีกด้วย”
พิษในอาหาร ที่อาจเกิดอันตราย
พริก
สำหรับ ผักสด เช่น พริก จะมีสารแคปไซซิน ที่ทำให้มีรสเผ็ด ซึ่งสารดังกล่าวถูกนำมาใช้ เช่น ในสเปรย์พริกไทย แคปไซซินเป็นสารแต่ใช่ว่าจะเป็นพิษต่อทุกคน ทั่วโลกมีคนพยายามพัฒนาพันธุ์พริกเพื่อมาแข่งขันกัน มีการแข่งขันกินพริก จนหลอดอาหารอักเสบ
"ดังนั้น บางอย่างอาจจะไม่เป็นอันตราย แต่หากปริมาณเยอะก็สามารถทำให้เกิดอันตรายได้ อย่างที่บอกว่ามี 3 ปัจจัย คือ สารอะไร ปริมาณเท่าใด และคนรับเป็นใคร คนที่กินเผ็ดได้ หรือ ไม่ได้ อยู่ที่ต่อมรับรส ความชอบ ความทนต่อความระคายเคืองแต่ละบุคคล บางคนรับความเผ็ดไม่ได้เลย ท้องเสียทันที เยื่อบุไม่สามารถดูดซึมสารหรือทนต่อความระคายเคืองได้
เห็ดพิษ
สารพิษที่อยู่ในเห็ด คือ สารในธรรมชาติ มีทั้งพันธุ์มีพิษและไม่มีพิษ การดูด้วยตาเปล่า แยกได้ระดับหนึ่งแต่ไม่ 100% อาการของผู้ที่ทานเห็ดพิษ คือ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง และสามารถเสียชีวิตได้
ถัดมา คือ ตับอักเสบ พอทานเสร็จจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย และระยะเวลาจากการกินจนถึงมีอาการเกิน 4 ชั่วโมง ความเสี่ยงจะเป็นกลุ่มตับอักเสบสูง ดังนั้น แนะนำให้อยู่โรงพยาบาล เพื่อติดตามอาการ ดำเนินการให้ยาต้านพิษ นอกจากนี้ ยังมีเห็ดที่ส่งผลต่อการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้อสลายอีกด้วย
5 เห็นพิษต้องระวังในหน้าฝน
- เห็ดหัวกรวดครีบเขียว
- กลุ่มเห็ดระโงกพิษ
- เห็ดระโงกน้ำตาล
- กลุ่มเห็ดคล้ายกับเห็ดโคน
- กลุ่มเห็นคล้ายเห็ดหาด
หากไม่เชี่ยวชาญ ไม่ควรแยกชนิดเห็ดด้วยตนเอง เห็ดบางชนิดไม่สามารถจำแนกได้ด้วยตาเปล่า ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพิ่มเติม อย่างไรก็ตาม เห็ดสามารถทานได้ ในแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่น ฟาร์มที่เพาะพันธุ์ หรือ ที่ขายตามซูเปอร์มาเก็ต สำหรับคนที่ต้องการเก็บของป่า ต้องศึกษาให้ดี ไม่ชัวร์อย่าเก็บทานเอง
คาเฟอีน
อาหารที่ทำให้ใจสั่น ทำให้มีอาการตั้งแต่ ชีพจรช้า และ ชีพจรเร็ว เช่น คาเฟอีน กัญชา ทุกอย่างเป็นยาและทุกอย่างเป็นพิษหากใช้ผิด ดังนั้น ก่อนจะใช้กัญชาทางการแพทย์ต้องปรึกษาแพทย์
พิษจาก 'เครื่องสำอาง' สารปรอท และ สเตียรอยด์
ผศ.นพ.สหภูมิ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ เครื่องสำอาง ก็สามารถเป็นพิษได้ เช่น ครีมที่มีสารปรอท อดีตมีข้อมูลว่าปรอททำให้มีการกัดเม็ดสีของผิว จึงมีคนนำไปผสม นอกจากนี้ ยังมีการปนเปื้อนอย่างอื่นได้อีกในเครื่องสำอาง เช่น สเตียรอยด์ ซึ่งความจริงใช้ลดการอักเสบของผิว แต่ผลข้างเคียง คือ ทำให้ชั้นผิวบางลง และบางคนบางจนเห็นเส้นเลือด โดยสเตียรอยด์เป็นสารที่มีตามธรรมชาติ และร่างกายของเราสร้างสเตียรอยด์อยู่แล้ว จากต่อมหมวกไต เพื่อสู้กับการอักเสบของร่างกาย
สเตียรอยด์ นอกจากนำมาใช้ในเครื่องสำอาง ยังมีการนำไปใช้ในนักกีฬา บางชนิดนำไปกระตุ้นสร้างกล้ามเนื้อ แต่การมีสเตียรอยด์ในตระกูลสร้างกล้ามเนื้อทำให้กล้ามเนื้อโตได้ง่าย ถามว่าอันตรายหรือไม่ ? ทุกอย่างเป็นพิษ หากมีสารสเตียรอยด์มากเกินไป ทำให้เม็ดเลือดขาวทำงานไม่เก่ง ส่งผลให้ติดเชื้อเสียชีวิต ซึ่งอาจจะเคยได้ยินว่าใช้สเตียรอยด์นานๆ ติดเชื้อเสียชีวิตได้ นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อกระดูกพรุน น้ำตาลในเลือดสูง กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว
ก๊าซไข่เน่า
ก๊าซไข่เน่า มาจากแบคทีเรียย่อยสลายเศษโปรตีน ส่วนใหญ่อยู่ในท่อน้ำทิ้ง หรือ พื้นที่ที่มีการย่อยสลายซากสัตว์ หรือซากโปรตีนอื่นๆ ที่อยู่ชั้นดินทำให้เกิดก๊าซไข่เน่าขึ้นมา ทั้งนี้ ในท่อการระบายน้ำ ซึ่งระบายอากาศไม่ดี ทำให้มีก๊าซมากและเป็นอันตรายได้
"โดยที่พบบ่อย คือ คนที่ลงไปล้างท่อ แล้วหมดสติ เพื่อนลงไปช่วยก็หมดสติไปด้วย รวมถึง ห้องเย็นที่เก็บปลาในเรือ ซึ่งการออกเรือต้องใช้เวลานาน การที่เก็บปลาปริมาณมากทำให้ความเย็นไม่พอ และปลาเน่าเสีย เป็นต้น นับเป็นโศกนาฎกรรมที่มีทุกปี ไม่ว่าจะท่อน้ำทิ้ง ท่อปฏิกูล ระบบบำบัดน้ำเสีย หรือ ห้องเย็นบริเวณท่าเรือและบนเรือ"
ก๊าซไข่เน่า ก่อเรื่อง 2 ประเด็น คือ กลไกลแรก ทำให้เกิดการระคายเคืองเยื่อบุรุนแรง บางคนเกิดอาการทางเดินหายใจส่วนบนบวม ปอดอักเสบ เลือดออกจากปอด และ กลไกที่สอง เป็นกลไกเดียวกับพิษไซยาไนด์ ทำให้เซลล์ดึงออกซิเจนมาใช้สร้างพลังงานไม่ได้ โดยเฉพาะสมอง หัวใจ ขาดออกซิเจน เกิดการหมดสติ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ชัก ความดันโลหิตตก หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจหยุดเต้น หากความเข้มข้นระดับหนึ่ง ทำให้เสียชีวิตเฉียบพลันได้
การช่วยเหลือ เมื่อพบคนหมดสติจากก๊าซไข่เน่า
หากเจอเพื่อนประสบเหตุ ด้วยความที่ก๊าซไข่เน่าน้ำหนักมากกว่าออกซิเจนเพราะฉะนั้น สิ่งที่ต้องทำ คือ ระบายอากาศ หรือ เจอจางด้วยออกซิเจนส่วนอื่นเข้าไป เพื่อให้อยู่ในระดับที่พอเข้าไปช่วยได้ แต่ผู้ที่เข้าไปช่วยต้องมีอุปกรณ์ป้องกัน ที่เหมาะสม โดยทั่วไป คือ หน้ากากที่ต่อท่อออกซิเจน หากเจอเหตุการณ์ควรเรียกเจ้าหน้าที่ เพราะถ้าเข้าไปช่วยเองอาจทำให้กลายเป็นผู้ป่วยรายถัดไป และทำให้เจ้าหน้าที่ช่วยยากขึ้น
เครื่องทำน้ำอุ่นชนิดแก๊ส
จากกรณีที่มี ผู้ป่วยนักท่องเที่ยว 4 ราย และเสียชีวิต 1 ราย ในจังหวัดหนึ่ง จากการใช้เครื่องทำน้ำอุ่นชนิดแก๊ส ทำให้หน้ามืด มึนงง ขาดอากาศหายใจ เสียชีวิต ทั้งนี้ เครื่องน้ำอุ่นดังกล่าว ใช้แก๊สชนิดหุงต้ม การเผาไหม้เกิดในห้องน้ำที่ระบายอากาศไม่ดี หากเผาไหม้สมบูรณ์จะได้คาร์บอนไดออกไซด์ แต่หากเผาไหม้ไม่สมบูรณ์เราจะได้คาร์บอนมอนอกไซด์ ดังนั้น จะได้ทั้งคู่ และอันตรายทั้งคู่หากปริมาณมากพอ แต่กลไกไม่เหมือนกัน
ผศ.นพ.สหภูมิ อธิบายว่า คาร์บอนไดออกไซด์ จะเบียดให้ออกซิเจนต่ำลง ส่วน คาร์บอนมอนอกไซด์ นอกจากจะเบียดให้ออกซิเจนต่ำลงแล้ว ยังแย่งจับกับเม็ดเลือดแดงด้วย ทำให้เม็ดเลือดที่วิ่งไปหาหัวใจไม่มีออกซิเจน ส่งผลให้เกิดอันตราย
“ทุกอย่างเป็นพิษ อย่างคนสูบบุหรี่ ได้ทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ และ คาร์บอนมอนอกไซด์ ตลอดเวลา ทุกครั้งที่สูบ เพียงแต่ว่าไม่ใช่ขนาดที่ทำให้ตายเฉียบพลัน แต่ทำให้ค่อยๆ เกิดการบาดเจ็บของอวัยวะเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ควรลดละเลิก ”
สารแอมโมเนียร์
กรณีโรงน้ำแข็งเกิดสารแอมโมเนียร์รั่วไหล กลิ่นรุนแรงไปไกล ส่งผลให้ชาวบ้านมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ซึ่งคนที่มีอาการรุนแรง คือ กลุ่มที่อยู่ใกล้โรงงานประมาณ 50 – 100 เมตรนั้น ในชีวิตประจำวัน เราได้ยินคำว่าแอมโมเนียร์มานาน หลายครั้งเรารู้ว่าเป็นสารอันตราย แต่ขณะเดียวกัน ก็พบว่าเมื่อจะเป็นลมหมดสติ จะได้ดมแอมโมเนียร์เช่นกัน แล้วความจริง แอมโมเนียร์อันตรายหรือไม่ ?
ผศ.นพ.สหภูมิ อธิบายว่า แอมโมเนียร์ มีกลิ่นเฉพาะตัว หากเยอะจะเริ่มแสบจมูก แสบตา การรั่วไหลความเข้มข้นสูงมาก ขณะที่ เวลาคนเป็นลมหมดสติ แล้วเอาแอมโมเนียร์ให้ดม แอมโมเนียร์จะมีกลิ่น ทำให้รำคาณและตื่น
แอมโมเนียร์ พอสัมผัสกับน้ำบนผิวหนัง จะทำปฏิกิริยาและเกิดป็นสารระคายเคือง โดยเฉพาะบริเวณที่มีความชื้น เช่น ตา ทางเดินหายใจส่วนบน หากความเข้มข้นเยอะมาก ก็เกิดการระคายเคือง ในรายที่รุนแรงอาจทำให้ทางเดินหายใจบวม เสียชีวิตได้ อย่างที่บอกว่าทุกอย่างเป็นพิษ หากดมน้อยๆ เช่น ตอนจะเป็นลมก็แค่รู้สึกรำคาณ แต่หากก๊าซรั่วจะทำให้อาการหนัก
น้ำยาซักผ้าขาว และ น้ำยาล้างห้องน้ำ
กรณีห้ามนำน้ำยาซักผ้าขาว ผสมกับน้ำยาล้างห้องน้ำ อาจเกิดก๊าซคลอรีนเป็นพิษ อันตรายถึงชีวิตได้ โดยล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ก็ออกมาเตือนผู้บริโภคว่าไม่ควรนำมาผสมกันเพราะทำให้เกิดปฏิกิริยาและเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ
ผศ.นพ.สหภูมิ เผยว่า กลุ่มของน้ำยาล้างห้องน้ำจะเป็นกรด มีคลอรีนเป็นองค์ประกอบ และกลุ่มของน้ำยาฟอกขาวมีแอมโมเนียร์เป็นองค์ประกอบ ทั้งสองเป็นสารระคายเคืองทั้งคู่ หากผสมกันจะเกิดปฏิกิริยาและฟุ้งขึ้นมา ทำให้แสบตา แสบจมูก ระคายเคืองต่อทางเดินหายใจ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ปิด ทำให้ออกซิเจนลดลงเรื่อยๆ ทำให้เสียชีวิตได้
ดังนั้น เป็นข้อห้าม แนะนำว่า จะใช้สารอะไรในบ้านให้อ่านข้างขวด หากไม่ระบุว่าให้ผสม “อย่าไปผสม” สารเคมีเหล่านั้น สามารถทำปฏิกิริยากันได้ และเกิดพิษขึ้นมาภายหลัง