กินฉี่ไม่แก้หวัด! 'ดื่มปัสสาวะ' ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อในร่างกาย
กินฉี่ไม่ได้แก้หวัด ไม่แก้เจ็บคอ อย่าหาทำ! เพราะการ "ดื่มปัสสาวะ" เสี่ยงรับสารเคมีจากยาหรือเชื้อโรคกลับเข้าไปในร่างกาย อาจติดเชื้อ ไตทำงานหนัก เกิดภาวะกรดสูง กระดูกบาง
ก่อนหน้านี้มีนักการเมืองชื่อดังกลายคนได้แนะนำเครื่องดื่มที่ตัวเองชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็น “กาแฟน้ำส้ม” หรือ “ช็อกโกแลต” ซึ่งสร้างกระแสโด่งดังในโลกออนไลน์อย่างล้นหลาม ต่อมาชาวเน็ตเริ่มขุดค้นเจอข้อมูลพบว่า เคยมีกูรูชื่อดังด้านการเมืองอีกคนแนะนำให้แฟนคลับ “ดื่มปัสสาวะ” เพื่อหวังผลในการรักษาโรค เช่น แก้เจ็บคอ แก้หวัด นำมาทาผิวที่มีตุ่มผิวหนังเพื่อรักษาให้หาย ตามความเชื่อ “น้ำมูตรรักษาโรค” ของตำรับยาของพระสายวัดป่าบางรูป
ประเด็นดังกล่าวแพร่สะพัดออกไปบนโลกออนไลน์จนเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้าง มีทั้งกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการดื่มน้ำปัสสาวะเพราะมองว่ามันไม่ได้ช่วยรักษาโรค ขณะที่บางกลุ่มก็มีความเชื่อว่ามันรักษาได้
แต่ในยุคปัจจุบันที่วิวัฒนาการทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก ทำให้ความเชื่อในอดีตถูกหักล้างด้วยความความรู้ทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะในประเด็น "การดื่มน้ำปัสสาวะรักษาโรค" แพทย์ยืนยันว่าไม่ได้มีประโยชน์ในการรักษาโรคใดๆ
- "ดื่มปัสสาวะ" ไม่ช่วยรักษาโรค แถมเสี่ยงติดเชื้อ ท้องร่วง ผิวอักเสบ
ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ สาขาวิชาโรคไต คณะแพทย์ฯ ม.มหิดล เคยให้ข้อมูลผ่านรายการฟังหมอก่อนแชร์ จากช่อง RAMA Channel ไว้ว่า ปัสสาวะเป็นของเหลวที่มีของเสียต่างๆ ที่ร่างกายขับออกมา เช่น เกลือโซเดียม, สารเคมีจากยา ฯลฯ อีกทั้งน้ำปัสสาวะมีฤทธิ์เป็นกรด หากดื่มน้ำปัสสาวะกลับเข้าไปอีก สารเหล่านั้นและกรดกลับเข้าไปสู่ร่างกายอีกรอบ ทำให้ไตยิ่งทำงานหนักกว่าเดิม พอร่างกายมีกรดสูงก็ส่งผลให้กระดูกเปราะบาง
อีกทั้งยังทำให้ร่างกายติดเชื้อเพิ่มได้ด้วย เนื่องจากในปัสสาวะมีเชื้อแบคทีเรียที่เข้มข้นสูง หากดื่มเข้าไปก็เหมือนกับการดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อโรค ในระยะสั้นอาจทำให้ป่วย เช่น เกิดอาการท้องเสียท้องร่วง บางคนเอาน้ำปัสสาวะไปทาแผลหรือเอาไปล้างตา ก็ยิ่งทำให้ร่างกายติดเชื้อ และเกิดแผลอักเสบได้
- ยิ่งดื่มปัสสาวะต่อเนื่อง ยิ่งมีผลเสียระยะยาว
หากดื่มปัสสาวะต่อเนื่องก็จะยิ่งมีผลเสียในระยะยาว ได้แก่ ไตทำงานหนัก, ร่างกายมีภาวะกรดสูง, กระดูกบาง, กระดูกเปราะแตกง่าย หรือเกิดภาวะเชื้อดื้อยาในอนาคต จากการดื่มน้ำปัสสาวะที่มียาปนเปื้อนมาด้วยจนเกิดการสะสมของสารเคมีในร่างกายจนเป็นอันตรายได้ ดังนั้น สรุปว่าในน้ำปัสสาวะไม่มีสารใดๆ ที่จะช่วยรักษาโรคได้ดังที่กล่าวอ้างกัน และไม่มีประโยชน์ใดๆ ในทางการแพทย์
นอกจากนี้ยังมีข้อมูลจาก ศ.กิตติคุณ นพ.เกรียง ตั้งสง่า โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายไปในทิศทางเดียวกันว่า คำกล่าวที่ว่า “ดื่มปัสสาวะรักษาโรคได้” นั้น ไม่เป็นความจริง! เพราะสารต่างๆ ที่ร่างกายขับออกมาทางปัสสาวะเกือบทั้งหมดเป็นสารของเสีย ได้แก่ ยูรีย, กรดอะมิโน, กรดยูริค, อนุพันธ์ของยา, เชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ถ้าดื่มปัสสาวะตนเองเข้าไป สารเหล่านั้นจะคั่งค้างอยู่ในร่างกายจะเกิดผลเสีย ได้แก่
1. ปัสสาวะมีความเป็นกรด (มีค pH ประมาณ 5 - 6.5) หากดื่มในขณะท้องว่าง อาจทำให้เกิดผลสียต่อเยื่อบุผนังลำคอ หลอดอาหาร กระเพาะอาหารได้
2. มีโอกาสได้รับสารอนุพันธ์ของตัวยา (ที่ร่างกายพยายามขจัดออกทางปัสสาวะ) กลับเข้าสู่ร่างกายอีกครั้ง จึงเพิ่มความเสี่ยงของการสะสมยาในร่างกายมากเกินไป
3. มีความเสี่ยงของเชื้อโรคที่อาจปะปนมากับปัสสาวะ
แม้อาจพบประโยชน์ได้บ้างในปัสสาวะ คือ ฮอร์โมนบางประเภท เช่น urokinase ที่มีคุณสมบัติละลายลิ่มเลือดได้ แต่ก็เป็นปริมาณที่น้อยมาก ดังนั้นการดื่มปัสสาวะทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกายมากกว่าผลดี ที่สำคัญคือ ทำให้มีการสะสมของเสีย (ซึ่งร่างกายต้องการขจัดทิ้งไปแล้ว) กลับเข้าไปหมุนเวียนเข้าสู่ร่างกายอีกครั้งหนึ่ง จึงไม่แนะนำให้ปฏิบัติ
--------------------------------------------
อ้างอิง : chulalongkornhospital, Rama Channel