'หมอธีระ' เผยฉีดวัคซีนครบเข็มกระตุ้น ช่วยลดเสี่ยง Long COVID ได้ 43%

'หมอธีระ' เผยฉีดวัคซีนครบเข็มกระตุ้น ช่วยลดเสี่ยง Long COVID ได้ 43%

"หมอธีระ"เผยแม้คนที่ติดเชื้อ "โควิด-19" แล้วเกิด "Long COVID" นั้น ส่วนใหญ่อาจดีขึ้นภายใน 6-12 เดือนก็ตาม แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่จะตกอยู่ในกลุ่มที่ไม่ดีขึ้นหลังผ่านมา 12 เดือน ชี้ฉีดวัคซีนครบเข็มกระตุ้น ช่วยลดเสี่ยง Long COVID ได้ 43%

เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็น "โควิด-19" ระบุว่า "อัปเดตLong COVID" เมื่อ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมา British Medical Journal เผยแพร่บทบรรณาธิการ สรุปสาระสำคัญเกี่ยวกับ "Long COVID" จากงานวิจัยปัจจุบัน

Ballouz T และคณะจากสวิสเซอร์แลนด์ ติดตามศึกษาธรรมชาติของ ภาวะLong COVID พบว่า กลุ่มผู้ป่วยที่เกิด Long COVID นั้น มีราวหนึ่งในสี่ (23%) ที่อาการไม่ดีขึ้นแม้เวลาจะผ่านไป 6 เดือน

ราวหนึ่งในห้า หรือ 19% ก็ยังมีอาการคงเดิม ณ 12 เดือน

และราวหนึ่งในหก หรือ 17% อาการยังคงเดิม ณ 24 เดือน

โดยผลจากการศึกษานี้ก็สอดคล้องกับงานวิจัยอื่นๆ ทั่วโลก ที่พบสัดส่วนการป่วยยาวนานในลักษณะเดียวกัน

จึงมีการสรุปว่า ถึงแม้คนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 แล้วเกิด Long COVID นั้น ส่วนใหญ่อาจดีขึ้นภายใน 6-12 เดือนก็ตาม แต่ก็มีจำนวนไม่น้อยที่จะตกอยู่ในกลุ่มที่ไม่ดีขึ้นหลังผ่านมา 12 เดือน ซึ่งกลุ่มนี้มักจะมีปัญหาต่อเนื่องระยะยาว

 

อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน ความรู้จากการวิจัยทางการแพทย์ได้พิสูจน์ให้เราเห็นว่ามีวิธีลดความเสี่ยงที่จะเกิด Long COVID ได้แก่ การรับวัคซีน การได้ยาต้านไวรัส Paxlovid หรือ Molnupiravir หรือ Ensitrelvir รวมถึงยา Metformin

การฉีดวัคซีนครบเข็มกระตุ้น จะช่วยลดเสี่ยง Long COVID ได้ 43%

  • ยา Metformin ช่วยลดได้ 42%
  • ยา Ensitrelvir ช่วยลดได้ราว 30-40%
  • ยา Paxlovid ช่วยลดได้ 26%
  • และยา Molnupiravir ช่วยลดได้ 14%

ย้ำดังๆ ว่า "กัญชา กัญชง อาหารเสริม สมุนไพร ฟ้าทะลายโจร รวมถึงสิ่งเสพติด ยาผีบอกต่างๆ ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่เชื่อถือได้ และไม่ควรหลงไปซื้อหาหรือนำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ต่อ Long COVID ดังกล่าว"

สถานการณ์ไทยเรา ยังมีการติดเชื้อกันมาก ควรใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวเสมอ

เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี ไม่ควรแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด

 

 

อ้างอิง

Understanding the burden of post-covid-19 condition. BMJ. 30 May 2023.