'หมอธีระ' เผยญี่ปุ่นโควิดระบาดเพิ่ม กว่า 90% เป็น Omicron สายพันธุ์ย่อย XBB

'หมอธีระ' เผยญี่ปุ่นโควิดระบาดเพิ่ม กว่า 90% เป็น Omicron สายพันธุ์ย่อย XBB

"หมอธีระ" เผยสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศญี่ปุ่นนั้นน่าเป็นห่วง กว่า 90% เป็น Omicron สายพันธุ์ย่อย XBB

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2566 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ "หมอธีระ" คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กถึงประเด็น "โควิด-19" ระบุว่า อัปเดตความรู้โควิด-19

1. สถานการณ์โลก

องค์การอนามัยโลกได้เผยแพร่รายงาน WHO Weekly Epidemiological Report เมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา (ภาพที่ 1-3)

\'หมอธีระ\' เผยญี่ปุ่นโควิดระบาดเพิ่ม กว่า 90% เป็น Omicron สายพันธุ์ย่อย XBB

ยังคงจับตาเฝ้าระวัง Omicron สายพันธุ์ย่อยจำนวนทั้งสิ้น 9 สายพันธุ์ย่อย ได้แก่ XBB.1.5, XBB.1.16, BA.2.75, CH.1.1, BQ.1, XBB, XBB.1.9.1, XBB.1.9.2, และ XBB.2.3

ข้อมูลตรวจสายพันธุ์จนถึงปลายพฤษภาคม 2566 พบว่า XBB.1.5 ยังมีสัดส่วนตรวจพบสูงสุดที่ 30% แต่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

\'หมอธีระ\' เผยญี่ปุ่นโควิดระบาดเพิ่ม กว่า 90% เป็น Omicron สายพันธุ์ย่อย XBB

ในขณะที่สายพันธุ์ที่พบมากขึ้นได้แก่ XBB.1.9.1 ที่ 19.22%, XBB.1.16 ที่ 17.95%, XBB.2.3 ที่ 7.46%, XBB.1.9.2 ที่ 6.91%, และ XBB.x ที่ 5.12%

จะสังเกตได้ว่า ลักษณะสัดส่วนสายพันธุ์ย่อยดังกล่าวมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดิมมาตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

2. ญี่ปุ่นมีการระบาดที่เพิ่มขึ้นมาก

ข้อมูลจาก The Japan Times วันที่ 16 มิถุนายน 2566 ชี้ให้เห็นว่า สถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศญี่ปุ่นนั้นน่าเป็นห่วง เพราะมีจำนวนผู้ป่วยที่รายงานจากสถานพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศเพิ่มขึ้นราว 2 เท่าในรอบเดือนที่ผ่านมา

\'หมอธีระ\' เผยญี่ปุ่นโควิดระบาดเพิ่ม กว่า 90% เป็น Omicron สายพันธุ์ย่อย XBB

ทั้งนี้ หากเจาะลึกไปที่กรุงโตเกียว จะพบว่า จำนวนเคสโดยเฉลี่ยต่อสถานพยาบาล ณ ปัจจุบันนี้ เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ตัวชี้วัดอื่นๆ ที่บ่งถึงภาระของสถานพยาบาลที่ตึงตัวมากขึ้น เช่น ค่าเฉลี่ยรอบ 7 วันของจำนวนครั้งที่รถพยาบาลไม่สามารถหาสถานพยาบาลเพื่อนำส่งผู้ป่วยไปรักษาภายใน 20 นาทีนั้นก็มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 82.3 ครั้ง เพิ่มเป็น 96.3 ครั้ง

การระบาด โควิด-19ในญี่ปุ่น ขณะนี้ กว่า 90% เป็น Omicron สายพันธุ์ย่อย XBB โดยจำแนกเป็น XBB.1.16 ที่ 31.3%, XBB.1.9.1 ที่ 20.8% และ XBB.1.5 ที่ 15.6%.

สำหรับไทยเรานั้น การติดเชื้อแต่ละวันยังมีมาก และส่วนใหญ่มาจากเรื่องพฤติกรรมเสี่ยง

พึงรับรู้ว่า การระบาดที่เราเผชิญมาหลายเดือนจนถึงปัจจุบันนั้น มาจากปัญหาเรื่องการป้องกันตัวที่ไม่เพียงพอ เทศกาลและกิจกรรมที่แออัดคลุกคลีใกล้ชิด การประกอบกิจการต่างๆ การท่องเที่ยวเดินทาง รวมถึงการเปิดเทอมในสถานศึกษา

ไม่ใช่หวัดตามฤดูกาลดังข่าวลวงที่ทำให้เข้าใจผิดกัน

ควรใช้ชีวิตด้วยความไม่ประมาท ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ

ระมัดระวังสถานที่เสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง ที่มีการคลุกคลีใกล้ชิด

ปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่ ที่กิน ที่ท่องเที่ยว ที่พักแรม ให้มีการระบายอากาศให้ดี

ระมัดระวังเรื่องการกินดื่ม แชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่นนอกบ้าน

หากไม่สบาย ควรรีบตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน ถ้าตรวจพบว่าติดเชื้อ ควรแยกตัวอย่างน้อย 7-10 วัน จนกว่าจะไม่มีอาการและ ตรวจ ATK ซ้ำแล้วได้ผลลบ

การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

การติดแต่ละครั้ง เสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง เสียชีวิต และเกิดปัญหาระยะยาวอย่าง Long COVID ได้

ป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดซ้ำ ย่อมดีที่สุด

 

อ้างอิง

1. WHO Weekly Epidemiological Update. WHO. 15 June 2023.

2. COVID wave looms in Japan after case numbers nearly double in a month. The Japan Times. 16 June 2023.