รู้ทัน 6 โรคฮิตหน้าฝน ที่เด็กเล็กต้องเฝ้าระวัง ป้องกันรักษาทันท่วงที

รู้ทัน 6 โรคฮิตหน้าฝน ที่เด็กเล็กต้องเฝ้าระวัง ป้องกันรักษาทันท่วงที

แอสตร้าเซนเนก้า เผย 6 โรคที่มักพบการระบาดในช่วงฤดูฝน เนื่องจากสภาพอากาศเย็นลง ความชื้นสูง เชื้อไวรัสและแบคทีเรียแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว รู้เท่าทัน สาเหตุ สังเกตอาการ หาทางป้องกันได้อย่างทันท่วงที

เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนที่สภาพอากาศเย็นลงและมีความชื้นสูง เป็นช่วงเวลาที่เชื้อไวรัสและแบคทีเรียสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคติดเชื้อต่างๆ ตามมามากมาย แม้ในยุคนี้ที่ทุกคนตื่นรู้กับโรคระบาดมากขึ้น แต่สำหรับเด็กเล็กที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ อาจมีความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อและนำมาซึ่งอาการเจ็บป่วยได้ง่าย

 

โดยสังเกตได้จากความหนาแน่นของหอผู้ป่วยเด็กในโรงพยาบาลหลายแห่งตลอดช่วงหน้าฝน ดังนั้น การรู้เท่าทันโรคที่มาพร้อมฤดูฝนในเด็กเล็ก ทั้งสาเหตุและวิธีป้องกัน จะช่วยให้ผู้ปกครองสามารถสังเกตอาการและหาทางป้องกันได้อย่างทันท่วงที โดย 6 โรคที่มักพบการระบาดในช่วงฤดูฝน ได้แก่

 

1. โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัส RSV

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เด็กเล็กจำนวนมากต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลช่วงหน้าฝน คงหนีไม่พ้นชื่อของเชื้อไวรัส RSV (Respiratory Syncytial Virus) ซึ่งเป็นไวรัสที่แพร่ระบาดในกว่า 90% ของเด็กช่วงวัยสองปีแรก และเป็นสาเหตุสำคัญของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง (LRTI) ในเด็กทั่วโลก แม้ว่าส่วนใหญ่อาการจะไม่รุนแรง ลักษณะคล้ายหวัดทั่วไป มีไข้ต่ำ ไอ คัดจมูก แต่หากเป็นเด็กกลุ่มเสี่ยง อาทิ ทารกที่คลอดก่อนกำหนด (เกิดก่อนอายุครรภ์ 35 สัปดาห์) หรือเด็กที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับปอดหรือหัวใจ จะมีความเสี่ยงสูงในการเกิดอาการรุนแรงจนต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลหรืออาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 

 

และสิ่งที่ทำให้พ่อแม่หลายคนเป็นกังวลนั้นเพราะในปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาเฉพาะทาง ดังนั้น การป้องกันจึงจำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเด็กกลุ่มเสี่ยง ทั้งการหมั่นล้างมือ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด และรักษาสุขอนามัยอย่างสม่ำเสมอ แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีวัคซีนป้องกันไวรัส RSV ในเด็ก แต่หลายประเทศได้เริ่มอนุมัติการใช้ยาแอนติบอดีที่สามารถป้องกันการเกิดโรครุนแรงในเด็กกลุ่มเสี่ยงจากเชื้อ RSV ได้แล้ว5 นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญทางการแพทย์เพื่อช่วยปกป้องประชากรกลุ่มนี้

 

2. โรคมือเท้าปาก

โรคมือเท้าปากในเด็กจะเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี แต่พบการระบาดที่มากขึ้นในฤดูฝน โดยอาการส่วนใหญ่จะมีไข้ ร่วมกับผื่น ตุ่มน้ำใสขึ้นตามฝ่ามือ-เท้า มีแผลในปาก พบบ่อยในเด็กเล็กตั้งแต่อายุ 6 เดือนถึง 3 ปี ซึ่งสามารถติดต่อกันได้โดยตรงจากการสัมผัสน้ำมูกหรือน้ำลายของผู้ป่วย การไอจาม หรือโดยอ้อมผ่านของใช้หรืออาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ โดยเป็นโรคที่สามารถหายได้เอง แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดและงดใช้ภาชนะร่วมกับผู้อื่น เด็กควรมีกระติกน้ำหรือแก้วส่วนตัวสำหรับใช้ที่โรงเรียน รวมถึงการฝึกให้เด็กใช้ช้อนกลาง สำหรับเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 6 ปี อาจพิจารณาฉีดวัคซีนป้องกันโรคมือเท้าปากตามคำแนะนำของแพทย์

 

รู้ทัน 6 โรคฮิตหน้าฝน ที่เด็กเล็กต้องเฝ้าระวัง ป้องกันรักษาทันท่วงที

 

3. โรคไข้เลือดออก

อีกหนึ่งโรคติดต่อที่ระบาดหนักเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน เพราะมีพื้นที่น้ำขังให้ฟักตัวยุงลายซึ่งเป็นพาหะนำโรคนี้ โดยอาการของโรคไข้เลือดออกจะแตกต่างจากไข้หวัดชนิดอื่นตรงที่เมื่อเด็กได้รับเชื้อแล้วจะมีไข้สูงต่อเนื่อง แม้ทานยาลดไข้แล้วแต่อาการจะยังคงไม่บรรเทา หากสังเกตว่าใบหน้าและตาเริ่มแดง มีอาการปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย และเป็นไข้ติดต่อกันเกิน 3 วัน ให้สันนิษฐานได้ว่าเป็นไข้เลือดออก ควรรีบพาเด็กไปพบแพทย์ ไม่ควรรอจนอาการเริ่มรุนแรง เพราะหากไข้ขึ้นสูงอาจทำให้เกิดอาการช็อคหรือมีจุดเลือดออกได้ สำหรับการป้องกันที่ดีที่สุดคือระวังอย่าให้ยุงกัด และคอยตรวจสอบพื้นที่น้ำขังเพื่อทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายบริเวณที่พักอาศัยและสถานศึกษา นอกจากนี้ ผู้ปกครองอาจพิจารณาให้เด็กเข้ารับวัคซีนป้องกันไข้เลือดออกตามคำแนะนำของแพทย์

 

4. โรคไข้หวัดใหญ่

เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนชื้น จึงสามารถพบโรคไข้หวัดใหญ่ได้เกือบทั้งปี แต่ฤดูกาลระบาดหนักมักเกิดในช่วงฤดูฝนเช่นเดียวกัน โดยอาการไข้ที่เกิดขึ้นจะเป็นแบบเฉียบพลัน และเนื่องจากโรคนี้สามารถเป็นได้ทุกวัย จึงแพร่กระจายได้ง่ายในครอบครัวที่อยู่ใกล้ชิดกัน ความแตกต่างจากไข้หวัดธรรมดานั้นคือโรคไข้หวัดใหญ่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน เช่น โรคปอดอักเสบ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อาการส่วนใหญ่ที่พบจะมีไข้สูง ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัว ไอหรือเจ็บคอ ทั้งนี้ สำหรับเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี หรือผู้สูงอายุ รวมถึงผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น โดยสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ ซึ่งควรเข้ารับช่วงประมาณ 1-2 เดือนก่อนเข้าฤดูกาลระบาดหรือหน้าฝนของทุกปี สามารถฉีดได้ในเด็กอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป

 

 

5. โรคท้องเสียหรืออุจจาระร่วงจากไวรัสโรต้า

ไวรัสโรต้า (Rotavirus) คือหนึ่งในสาเหตุสำคัญของโรคท้องร่วงเฉียบพลันในเด็ก โดยเฉพาะกับเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี โดยติดต่อผ่านการรับประทานอาหารหรือสิ่งปนเปื้อนเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นของเล่น ของใช้ หรือนำมือที่สัมผัสเชื้อเข้าปาก เมื่อได้รับเชื้อแล้วจะทำให้เกิดการอักเสบในกระเพาะอาหารและลำไส้ อาการส่วนใหญ่ที่พบคือ คลื่นไส้อาเจียน อุจจาระถ่ายเหลวต่อเนื่อง บางรายอาจมีไข้สูง ทานได้น้อย หากท้องเสียติดต่อกันเป็นเวลานานอาจเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ ซึ่งอาจส่งผลรุนแรงถึงขั้นเกิดภาวะช็อคและเสียชีวิตได้ ดังนั้น การดูแลสุขอนามัยที่ดีของเด็กจึงสำคัญมาก รวมถึงการเสริมภูมิคุ้มกันด้วยการเข้ารับวัคซีนป้องกันไวรัสโรต้าตั้งแต่วัยทารก ซึ่งเป็นชนิดรับประทาน (หยอด) เริ่มให้กับทารกได้ตั้งแต่อายุ 2 เดือนเป็นต้นไป

 

 

6. โรคไอพีดี (Invasive Pneumococcal Disease)

โรคไอพีดี (IPD) คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดโรครุนแรงหลายชนิดในเด็กขึ้นอยู่กับอวัยวะที่มีการติดเชื้อ เช่น โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ โรคปอดอักเสบ หรือการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งล้วนเป็นภาวะที่ร้ายแรงและอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี และมีความเสี่ยงสูงในกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคตับ โรคธาลัสซีเมีย หรือภาวะไม่มีม้าม เป็นต้น แบคทีเรียนิวโมคอคคัสสามารถแพร่กระจายผ่านการไอ จาม หรือการสัมผัสกับสารคัดหลั่งที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่

 

โดยจากข้อมูลการประเมินของ องค์การอนามัยโลก พบว่า มีเด็กที่เสียชีวิตจากโรคนี้ถึงราว 1 ล้านคนต่อปี วัคซีนจึงเป็นตัวช่วยสำคัญในการป้องกันการติดเชื้อและลดอาการเจ็บป่วยที่รุนแรงได้ โดยแนะนำให้ฉีดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และสามารถเริ่มฉีดได้เมื่ออายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันควบคู่ไปกับการดูแลสุขอนามัยที่ดีให้กับเด็ก

 

เพราะเด็กเล็กทุกคนมีโอกาสเจ็บป่วยได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝน การป้องกันและหมั่นสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดจึงเป็นสิ่งสำคัญ หรือหากบุตรหลานมีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้สูง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย หรือมีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที เพราะการวินิจฉัยโรคได้เร็วจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาและลดความรุนแรงของโรคได้มากขึ้น