'มะเร็งลำไส้ใหญ่' เรื่องใกล้ตัว เช็กพฤติกรรมเสี่ยง ก่อนสาย
จากกรณี ผู้ว่าณรงศักดิ์ หรือ 'ผู้ว่าฯหมูป่า' เสียชีวิตในวัย 58 ปี ที่ รพ.ศิริราช หลังจากเข้ารักษา 'โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่' ทั้งนี้ ประเทศไทย ทุกๆ วัน มีผู้เสียชีวิตจากโรคร้ายนี้เฉลี่ยวันละ 15 ราย ปีละ 5,476 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่วันละ 44 ราย ปีละ 15,939 ราย
Key Points:
- มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ในประเทศไทยพบมากเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง โดยทุกๆ วันมีคนไข้เสียชีวิตจากโรคร้ายนี้เฉลี่ยวันละ 15 ราย
- นอกจากนี้ ยังพบว่าอายุของผู้ป่วยน้อยลงเรื่อยๆ โดยส่วนหนึ่งมากจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต การทานอาหาร และไม่ออกกำลังกาย
- ในระยะแรกอาจไม่แสดงอาการ ผู้ป่วยหลายรายจึงไม่ตระหนักว่าตนเองเป็นมะเร็ง ดังนั้น ควรสังเกตสัญญาณผิดปกติของร่างกายสม่ำเสมอเพื่อจะได้รักษาอย่างทันท่วงที
จากกรณี นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี หรือ ผู้ว่าฯหมูป่า เสียชีวิตที่โรงพยาบาลศิริราช หลังเข้ารักษาอาการป่วยด้วย โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ขณะอายุ 58 ปี กรุงเทพธุรกิจ จะพาทำความเข้าใจเกี่ยวกับ มะเร็งลำไส้ใหญ่ ที่ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะคนสูงวัยเท่านั้น แต่ปัจจุบันพบว่าผู้ป่วยมีอายุที่น้อยลง และส่วนหนึ่งมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต
มะเร็งลำไส้ใหญ่ คือ โรคมะเร็งชนิดหนึ่ง มีลักษณะคล้ายกันกับมะเร็งอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายมนุษย์ เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ลำไส้ใหญ่ โดยเซลล์เกิดการแบ่งตัวแบบเพิ่มจำนวนจนควบคุมไม่ได้ ส่งผลให้เกิดเนื้องอก และเมื่อปล่อยให้เวลาผ่านไปเรื่อยๆ นานหลายปี ก็จะบ่มเพาะตัวเองเป็นเซลล์เนื้อร้าย และกลายเป็นมะเร็งที่พร้อมจะลุกลามแพร่กระจายไปที่อวัยวะอื่นๆ ของร่างกาย ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มักมีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป แต่ในปัจจุบันผู้ป่วยโรคนี้กลับมีอายุน้อยลง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เจาะลึก “มะเร็งลำไส้ใหญ่” ทำไมคนอายุน้อยป่วยโรคนี้มากขึ้น?
- ไขข้อสงสัย "มะเร็งลำไส้ใหญ่" คัดกรอง วินิจฉัย รักษาได้จริงหรือ
- คนไทยเสียชีวิตจาก 'มะเร็งลำไส้ใหญ่-ไส้ตรง' เฉลี่ยวันละ 15 ราย ปีละ 5,476 ราย
อายุน้อยก็เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้
ข้อมูลจาก CNN ระบุว่า สัดส่วนของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ในกลุ่มผู้ใหญ่ที่อายุน้อยกว่า 55 ปีเพิ่มขึ้นจาก 11% ในปี 1995 เป็น 20% ในปี 2019 นอกจากนี้ 60% ของผู้ป่วยโรคลำไส้ใหญ่และทวารหนักรายใหม่ในทุกช่วงอายุมักพบในช่วงระยะสองถึงสามแล้ว หรืออยู่ในอาการวิกฤติ
โดย ปัจจัยเสี่ยง ของผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่อายุน้อย พบว่า ไลฟ์สไตล์ การใช้ชีวิตที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดโรค ได้แก่ อาหารบางชนิด ไม่ออกกำลังกาย และน้ำหนักมากเกินไป แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะยังมีข้อมูลระบุว่าแม้บางคนจะกินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และมีน้ำหนักตัวตามมาตรฐาน ก็ยังป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้เนื่องจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมภายนอก
กรมการแพทย์ เผยว่า ปัจจุบัน มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง ในประเทศไทยพบมากเป็นอันดับ 3 ในเพศชาย และอันดับ 2 ในเพศหญิง โดยอ้างอิงจากสถิติของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ที่น่ากังวลคืออัตราการเกิดโรคมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยทุกๆ วันมีคนไข้เสียชีวิตจากโรคร้ายนี้เฉลี่ยวันละ 15 ราย ปีละ 5,476 ราย และมีผู้ป่วยรายใหม่วันละ 44 ราย ปีละ 15,939 ราย
มะเร็งลำไส้ใหญ่เกิดจากอะไร
ข้อมูลจาก โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยที่อาจเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้แก่
- อายุมากกว่า 50 ปี
- มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ชอบรับประทานอาหารไขมันสูง
- อาหารเนื้อแดง
- อาหารปิ้งย่าง
- อาหารที่มีกากใยน้อย
- สูบบุหรี่
- ดื่มแอลกอฮอล์
- ขาดการออกกำลังกาย
ทั้งนี้ มะเร็งลำไส้ใหญ่ ในระยะแรกอาจไม่แสดงอาการ ผู้ป่วยหลายรายจึงไม่ตระหนักว่าตนเองเป็นมะเร็ง อย่างไรก็ตามสัญญาณเตือนของมะเร็งลำไส้ใหญ่ที่สำคัญ ได้แก่ พฤติกรรมการขับถ่ายเปลี่ยนแปลงไป เช่น ท้องผูกสลับท้องเสีย อุจจาระก้อนเล็กลง อุจจาระมีเลือดปน (ซึ่งอาการนี้เป็นอาการสำคัญที่ควรใส่ใจเพราะคนส่วนใหญ่มักคิดว่าเป็นแค่ริดสีดวงทวาร) ส่วนอาการอื่นๆ ที่อาจพบ ได้แก่ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย น้ำหนักตัวลดหรือซีดโดยไม่ทราบสาเหตุ
สัญญานอันตราย
- ถ่ายเป็นเลือด ถ่ายเป็นมูก
- ขับถ่ายผิดปกติ ท้องผูกสลับกับท้องเสีย อุจจาระลีบเล็ก
- อ่อนเพลีย ซีด ความเข้มข้นของเลือดต่ำ
- ปวดท้องเรื้อรัง
- คลำได้ก้อนหน้าท้อง
- เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
การวินิจฉัย
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยอธิบายว่า ลำไส้ใหญ่ เปรียบเหมือนท่อน้ำที่นิ่ม เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ผิดปกติ จากเนื้องอก สู่เนื้อร้าย ดังนั้น การวินิจฉัยโดยการซักอาการ ตรวจร่างกาย และผลเลือด ยังไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นมะเร็งลำไส้หรือไม่ แต่ต้องการการตรวจที่มีความไว ได้แก่ การตรวจอุจจาระ การเอกซเรย์ แต่ทั้งสองสิ่งนี้ต้องมายืนยันผลตรวจอีกครั้งด้วยการส่องกล้อง
ตรวจหา มะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้ด้วยวิธีใดบ้าง
การตรวจอุจจาระหาเลือดแฝง ด้วย Rapid Test ตรวจด้วยตัวเอง และ Quantitative Test ที่โรงพยาบาล โดยความแม่นยำ ได้แก่ มะเร็งลำไส้ ความไว 79% แปลว่า หากเป็นมะเร็งจะมีโอกาสหามะเร็งไม่เจอกว่า 20% , ตรวจเนื้องอกลำไส้ ขนาดเกิน 1 ซม. ความไว 22% และผลบวกลวง แต่ลำไส้ปกติ 6%
การตรวจอุจจาระหาเลือดแฝงและเซลล์อักเสบอื่นๆ พบว่า ความแม่นยำสำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่ยังใกล้เคียงเดิม คือ ความไว 80% , เนื้องอกลำไส้ ขนาดเกิน 1 ซม. ความไวเพิ่มขึ้น 81% แต่เมื่อดูผลบวกลวง คือ ผลบวกแต่มาตรวจลำไส้แล้วปกติ เพิ่มขึ้นกว่า 54%
ขณะเดียวกัน ในต่างประเทศ มีการตรวจอุจจาระ หาเลือดแฝงและดีเอ็นเออื่นๆ พบว่า ประสิทธิภาพการวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้นเป็น 92% เนื้องอกลำไส้ ขนาดเกิน 1 ซม. ความไว 42% และ ผลบวกลวงอยู่ที่ 12%
ส่องกล้องลำไส้เสมือจริงด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ วิธีคือ ทานยาระบายเพื่อล้างลำไส้ ถัดมา คือ ใส่สายยางเป่าลมเข้าทางทวารหนัก เข้าเครื่องสแกนท่านอนหงายและนอนคว่ำ และมีโปรแกรมสร้างภาพลำไส้ 3 มิติ เมื่อดูประสิทธิภาพ พบว่า การวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ ความไว 96% เนื้องอกลำไส้ขนาดเกิน 1 ซม. ความไว 90% และผลบวกลวง 14%
กล้องแคปซูลลำไส้ใหญ่ วิธี คือ ทานยาระบายเพื่อล้างลำไส้ กลืนกล้องแคปซูลและติดเครื่องรับสัญญาณภาพ ทานยาระบายเป็นระยะๆ นาน 8-10 ชั่วโมง และถอดสัญญานภาพเข้าโปรแกรมวิดีโอ ประสิทธิภาพ ความไวในการวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ 93% เนื้องอกลำไส้ 1 ซม. ความไว 91% และ ผลบวกลวง 3%
ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เป็นการวินิจฉัยที่เป็นมาตรฐานสูงสุด สามารถวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ ความไว 100% และ เนื้องอกลำไส้ 1 ซม. ความไว 95%
แต่เดิมมีแค่กล้องธรรมดาในการส่อง ขณะที่ ปัจจุบัน มีการติดปีกซิลิโคนที่ปลายกล้อง เพื่อคลี่ลำไส้ ให้เห็นติ่งเนื้อที่ซ่อนในผนังลำไส้ นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีการปรับสีให้คมชัด และ การรวมทั้ง 2 เทคนิคเข้าด้วยกัน เมื่อเทียบประสิทธิภาพ พบว่า
- กล้องมาตรฐาน ค้นหาติ่งเนื้อเจอ 47%
- ติดปีกซิลิโคนที่ปลายกล้อง ค้นหาเจอ 52.8%
- เทคโนโลยีการปรับสีให้คมชัด 51.2%
- ติดปีกซิลิโคนที่ปลายกล้อง + เทคโนโลยีการปรับสีให้คมชัด ค้นหาเจอ 57.2%
นอกจากนี้ ยังมี เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยหาติ่งเนื้อ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ช่วยให้การตรวจแม่นยำมากขึ้น ณ ปัจจุบัน ได้ร่วมมือกับ ทีมงาน ผศ.ดร.พีรพล เวทีกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เรียกว่า DEEP GI
ความไวในการตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่
- ส่องกล้องลำไส้ 100%
- ส่องกล้องลำไส้เสมือนจริง 96%
- กล้องแคปซูลลำไส้ใหญ่ 93%
- อุจจาระหาเลือดและดีเอ็นเอ 92%
- อุจจาระหาเลือดแฝง 79%
ความไวในการตรวจหาติ่งเนื้อลำไส้
- ส่องกล้องลำไส้ 95%
- ส่องกล้องลำไส้เสมือนจริง 90%
- กล้องแคปซูลลำไส้ใหญ่ 91%
- อุจจาระหาเลือดและดีเอ็นเอ 42%
- อุจจาระหาเลือดแฝง 22%
การลุกลามของมะเร็งลำไส้ใหญ่
เนื่องจากมะเร็งเป็นเนื้อร้าย ที่ลุกลาม แพร่กระจาย โดยหลักๆ แล้วจะมี 3 วิธี คือ
- ลุกลามไปอวัยวะข้างเคียง
- แพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง
- แพร่กระจายไปทางกระแสเลือด ทำให้เกิดการกระจายไปยังอวัยอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไป ทำให้ระยะของโรคเป็นมากขึ้น
ระยะของมะเร็งลำไส้ใหญ่
- ระยะต้น (Stage 1-2) ถือเป็นระยะต้น มะเร็งจำกัดแค่ในผนังลำไส้ หรือนอกลำไส้เล็กน้อย ลุกลามเข้าสู่อวัยวะข้างเคียงได้แต่ยังไม่กระจายไปส่วนอื่น
- ระยะลุกลาม (Stage 3) มีการลุกลามของมะเร็งลำไส้ไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รับของเสียจากลำไส้
- ระยะแพร่กระจาย (Stage 4) ลุกลามไปยัง ตับ ปอด กระดูก หรือ อวัยวะอื่นๆ
การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่
การผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่
มีบทบาทในทุกระยะ ได้แก่
1. ผ่าตัดเฉพาะเยื่อบุลำไส้ใหญ่
- ผ่านการส่องกล้อง ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ โดยเป็นมะเร็งระยะต้นไม่เกินผนังลำไส้ จะทำการตัดลอกเนื้อมะเร็งออก ซึ่งใช้ได้ในบางกรณี และบุคคล
- ผ่านทางทวารหนัก กรณีนี้ก้อนมะเร็งต้องอยู่ใกล้ปากทวารหนัก ใช้ได้ระยะที่ 1 ในบางกรณีเท่านั้น
2. ผ่าตัดลำไส้ใหญ่ผ่านทางช่องท้อง
- ผ่าตัดแบบเปิด เป็นมาตรฐานผ่าตัดทั่วไป ข้อเสียคือ ต้องผ่าตัดใหญ่ นาน ลำไส้ต้องออกมาเจออากาศเยอะ ลำไส้กลับมาฟื้นตัวช้า แผลใหญ่ เจ็บเยอะ
- ผ่าตัดผ่านกล้อง รพ.จุฬาลงกรณ์ ใช้วิธีนี้เป็นหลัก โดยใช้เครื่องมือส่องกล้องเข้าหน้าท้องให้ท้องพองเพื่อให้มีพื้นที่ในการผ่าตัดมากขึ้น โดยมีเครื่องมือเป็นไม้ยาวๆ เข้าไปเพื่อทำการผ่าตัดต่อลำไส้ ลำไส้โดนอากาศน้อย แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว
3. การผ่าตัดแบบเก็บหูรูดทวารหนัก ทำได้ในบางกรณี
4. การผ่าตัดเปิดทวารเทียม
ใช้ใน 3 กรณีหลัก ได้แก่
- แก้ไขภาวะลำไส้อุดตัน
- เปิดชั่วคราวหลังผ่าตัด
- ทวารเทียมถาวร
ทั้งนี้ การป้องกันรักษา หากตรวจเจอตั้งแต่เป็นติ่งเนื้อ ยังไม่พัฒนาเป็นมะเร็งลำไส้ การรักษาก็สามารถตัดออกทางกล้องได้เลย ไม่ต้องมีแผลหน้าท้อง ไม่ต้องมีทวารเทียมหน้าท้อง ดังนั้น สามารถคัดกรองก่อนได้
รังสีรักษา
- ผู้ป่วยมะเร็งประมาณ 50% ได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสี
- ในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก รังสีรักษามีบทบาทมากในมะเร็งทะวารหนัก
ปัจจุบัน การฉายรังสีจากภายนอกสามารถเล็งเป้าหมายในร่างกายผู้ป่วยได้แม่นยำ ความคลาดเคลื่อนเพียง 1 มิลลิเมตร โดยมีหลักการสำคัญ เพื่อให้เซลล์มะเร็งได้ปริมาณรังสีมากพอเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง และเซลล์ปกติได้รับปริมาณรังสีให้น้อยที่สุด เพื่อลดผลข้างเคียงจากการรักษา เซลล์ปกติส่วนมากสามารถฟื้นตัวหลังจากรังสีได้ดี ผลข้างเคียงส่วนใหญ่จะดีขึ้นหลังจากฉายรังสีไม่กี่สัปดาห์
การรักษาด้วยยา
1. ยาเคมีบำบัด
- ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ที่แบ่งตัวเร็วรวมถึงเซลล์มะเร็ง โดยบทบาทของยาเคมีบำบัดในมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ได้แก่
- การรักษาเสริมหลังการผ่าตัดในมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ 2 ที่มีความเสี่ยงสูง และระยที่ 3
- ใช้ควบคู่กับการฉายแสงในมะเร็งลำไส้ตรง ระยะที่ 2 และ 3
- การรักษาหลักในมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักในระยะแพร่กระจาย
2. ยามุ่งเป้า
จัดเป็นยาชีววัตถุ (Biological product) คือ ยาที่ผลิตขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในระดับโมเลกุล ซึ่งในมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมียาสำคัญ 2 กลุ่ม ได้แก่
- Anti-VEGF : ยับยั้งโมเลกุลในการสร้างเส้นเลือดไปเลี้ยงเซลล์มะเร็ง
- Anti-EGFR : ยับยั้งโมเลกุลที่ส่งสัญญาณในการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยใช้ยา Anti-EGFR มีความจำเป็นต้องนำชิ้นเนื้อมาตรวจการเปลี่ยนแปลงในระดับยีน เพื่อประเมินโอกาสในการตอบสนองต่อการใช้ยาจึงจะสามารถใช้ยาได้
3. ยาภูมิคุ้มกันบำบัด
- เซลล์มะเร็ง นับว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย แต่มะเร็งสามารถหลบหลีกการถูกทำลายจากระบบภูมิคุ้มกัน โดยสร้างสารบางชนิดมาปิดกั้นการทำงานของเม็ดเลือดขาว ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถจำกัดเซลล์มะเร็งได้
- ยาภูมิคุ้มกันบำบัด จะออกฤทธิ์ช่วยทำให้เม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยกลับมาทำงาน และจัดการกับเซลล์มะเร็งในร่างกาย
มะเร็งลำไส้ใหญ่รักษาได้หรือไม่
ข้อมูล จาก ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรคมะเร็งครบวงจร รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เกี่ยวกับ ระยะของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ในระยะแตกต่างกันไป โดยการที่บอกว่าคนๆ หนึ่งรักษาหายขาดหรือไม่ ปกติดูที่อัตราการรอดชีพที่ 5 ปี พบว่า
- ระยะต้น (ระยะ 1-2) อัตราการรอดชีพ 5 ปี อยู่ที่ 80%
- ระยะลุกลามเฉพาะที่ (ระยะ 3) อัตราการรอดชีพ 5 ปี อยู่ที่ 60%
- ระยะแพร่กระจาย (ระยะ 4) อัตราการรอดชีพ 5 ปี อยู่ที่ 20%
ดังนั้น หากตรวจเจอ โรคมะเร็ง ตั้งแต่ระยะต้น มีโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้มากขึ้น เป็นเหตุผลว่า ทำไมต้องคัดกรอง รวมถึง การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ การคัดกรอง การลดโอกาสการเกิด สำคัญกว่าการเป็นแล้วรักษา
การป้องกัน
วิธีการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ ทำได้โดยหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่ไหม้เกรียมซึ่งมีสารก่อมะเร็ง รับประทานผัก เช่น แครอท ผักใบเขียว ฟักทอง ให้มากขึ้น และออกกำลังกายสม่ำเสมอ โดยวิธีการออกกำลังกายที่ถูกต้อง ชีพจรจะต้องเต้นเร็วขึ้น ซึ่งอัตราการเต้นของหัวใจควรเป็น (220-อายุ) x 80% และต้องออกกำลังกายต่อเนื่อง 20-40 นาที นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาที่พบว่าการรับประทานแอสไพรินต่อเนื่องนานๆ มีผลช่วยป้องกันมะเร็งได้
จะเห็นว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่เป็นเรื่องที่ใกล้ตัว ไม่จำเป็นต้องมีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งได้ถ้าอายุเกิน 50 ปี ดังนั้น ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่โดยไม่ต้องรอให้มีอาการผิดปกติ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้