ปวดแบบไหน? เสี่ยง'โรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อม' ต้องเฝ้าระวัง
สังคมก้มหน้า พฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการจ้องหน้าจอมือถือเป็นเวลานานๆ นั่งหน้าคอมพิวเตอร์ และพฤติกรรมเนือยนิ่งอาจทำให้หลายๆ คนเกิดอาการปวดคอ และเข้าใจว่าตนเองเป็น ‘ออฟฟิศซินโดรม’
Keypoint:
- มือถือกลายเป็นอวัยวะหนึ่งของผู้คนที่มีผลต่อการใช้ชีวิต ยิ่งเมื่อต้องก้มหน้าจ้องมือถือเป็นเวลานานๆ หรือ นั่งอยู่หน้าคอมนานๆ ทำให้เกิดความปวดเมื่อบริเวณคอ บ่า ไหล่ และแขน ซึ่งอาจเสี่ยงเป็นโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อมได้
- เมื่อเริ่มปวดบริเวณต้นคอและสะบัก เคลื่อนไหวคอไม่สะดวก มีอาการติดขัดในการขยับคอ ปวดร้าวถึงไหล่ แขน และปลายนิ้ว ลุกลามจนเกิดการชาที่แขน ขา มือ และเท้า รู้สึกอ่อนแรง ทั้งหมดนี้ไม่ใช่โรคออฟฟิศซินโดรม
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่ทำให้กระดูกคอเสื่อม และควรจะไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา
ในความเป็นจริงพฤติกรรมเหล่านั้นเป็นการใช้งานกระดูกไม่เหมาะสม และส่งผลร้ายแรง อย่าง การเป็น โรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อม หรือโรคหมอนรองกระดูกคอทับเส้นประสาท ดังนั้น หากใครที่กำลังมีอาการปวดเมื่อยบริเวณคอ บ่า ไหล่ และแขน บ่อยๆ ปวดนานๆ ปวดมากขึ้น หรือมีอาการชาร่วมด้วย นั่นอาจไม่ใช่อาการของโรคออฟฟิศซินโดรมทั่วไป
'กระดูกคอเสื่อม'เป็นหนึ่งในอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นกับร่างกายของใครหลายคน ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นแค่กับผู้สูงอายุเท่านั้น แต่ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การใช้งานร่างกายส่วนต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณส่วนคออย่างหักโหมจนเกินไป ก่อให้เกิดอาการเจ็บ ปวด หรือแม้กระทั่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการกระดูกคอเสื่อมได้ตามมา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้น ผ่านกล้อง แผลเล็ก เจ็บน้อย หายไว
"โรคกระดูกสันหลัง" ต้อง "kdms" รักษาด้วยทีมแพทย์เฉพาะทาง นวัตกรรมทันสมัย
รู้จักภาวะ "Text Neck" เมื่อ "ก้มหน้า" เล่นมือถือจะมีน้ำหนักกดทับถึง 27 กก.
เตือนอย่าหลงเชื่อ "น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น" ช่วยให้ไม่ปวดเนื้อตัว-กระดูก
พฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อม
รศ. นพ.วิวัฒน์ วจนะวิศิษฐ หัวหน้าหน่วยกระดูกสันหลัง ภาควิชาออโธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าพฤติกรรมเสี่ยงที่จะเป็นหมอนรองกระดูกคอเสื่อมเร็วของคนในปัจจุบัน ได้แก่ พนักงานออฟฟิศที่ใช้คอมพิวเตอร์ทั้งวัน คนที่จดจ่อใช้มือถือสมาร์ทโฟนแบบหนักหน่วง คนทำงานห้องแล็บที่ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์บ่อยๆ คนทำงานฝีมือก้มๆ เงยๆ ต่างๆพฤติกรรมเหล่านี้จะยิ่งเร่งให้หมอนรองกระดูกคอของเราเสื่อมไวกว่าปกติ
ส่วนมากโรคหมอนรองกระดูกเสื่อมจะพบในคนที่อายุประมาณ 40 ปี ขึ้นไป และมักจะเป็นบริเวณปล้องที่ 5 ต่อ 6 รองลงมา คือ ปล้องที่ 6 ต่อ 7
ทั้งนี้ เมื่อมีการเสื่อมหรือแตกของหมอนรองกระดูก ก็จะมีโอกาสเกิดการกดทับที่ประสาทไขสันหลังและรากประสาทได้ ทำให้เกิดอาการปวดคอร้าวมาที่แขน หากเป็นมากๆ หรือมีการกดทับเส้นประสาทมากๆ ก็จะทำให้เกิดอาการแขนอ่อนแรง ชาบริเวณปลายนิ้ว เป็นต้น
การที่เราสะบัดคอแล้วมีเสียงดังกร็อบแกร็บ คือ อาการของโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อมหรือไม่?
ต้องบอกว่าไม่ใช่ โรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อมส่วนใหญ่จะไม่มีเสียง หากเราสะบัดแล้วมีเสียงกร็อบแกร็บแต่ไม่มีอาการปวดใดๆ ก็ไม่น่าจะมีผลขนาดต้องทำการรักษา ซึ่งเสียงที่ว่า คือ เสียงของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นมากกว่า แต่โดยปกติแล้วการสะบัดคอให้มีเสียงดังๆ นั้น แพทย์แนะนำว่า 'ไม่ควรทำ' เพราะมีผลทำให้ข้อต่อบริเวณคอเสื่อมเร็วได้เช่นกัน เกิดจากการทำงานที่หนักเกินไปเวลาเราสะบัดแรงๆ
อาการปวดแบบไหน? ต้องระวังเป็นโรค
โรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อมเกิดได้จากหลายปัจจัย ทั้งอายุที่มากขึ้น และพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น ก้มหน้าก้มคอเล่นโทรศัพท์มือถือนานๆ นั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ในท่าที่ไม่ถูกต้องต่อเนื่องเป็นประจำ ส่วนในคนอายุน้อยอาจเกิดจากหมอนรองกระดูกบาดเจ็บ เพราะยกของหนักเกินไป การเล่นกีฬา หรือได้รับอุบัติเหตุ เป็นต้น
- อาการปวดคอ บ่า ไหล่ หากเป็นต่อเนื่องโดยไม่ได้รับการรักษา มีโอกาสที่โรคจะลุกลามจนหมอนรองกระดูกคอไปกดทับที่บริเวณเส้นประสาทไขสันหลัง ซึ่งจะทำให้มีอาการปวดร้าวจากคอมาไหล่ มาแขน และชาปลายนิ้วได้
- อาการปวดของโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อมในระยะแรกจะคล้ายกับการปวดออฟฟิศซินโดรม แต่จะปวดนานกว่า โดยเริ่มจากการปวดบริเวณต้นคอและสะบัก ทำให้เคลื่อนไหวคอไม่สะดวก
- ต่อมาจะมีอาการติดขัดในการขยับคอ ปวดร้าวไปถึงไหล่ แขน และปลายนิ้ว
- เมื่ออาการลุกลาม ก็จะเกิดการชาที่แขน ขา มือ และเท้า รู้สึกอ่อนแรงจนทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลงมาก เพราะระบบประสาทถูกรบกวนจนไม่สามารถควบคุมร่างกายได้เหมือนปกติ
- หากมีสัญญาณหรืออาการเตือนดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจ วินิจฉัย และทำการรักษาให้เร็วจะดีกว่า
ลักษณะโรคกระดูกคอเสื่อมได้เป็น 3 กลุ่มอาการ ได้แก่
- อาการปวดต้นคอ (Axial Neck Pain) เป็นอาการที่ปวดต้นคอ รวมถึง อาการปวดร้าวไปถึงบริเวณท้ายทอย หรือปวดลามไปต้นสะบักด้านหลัง และช่วงหัวไหล่ด้านหลังได้ ซึ่งกลุ่มอาการนี้จะส่งผลจากข้อกระดูกคอ หรือหมอนรองกระดูกคอที่เสื่อม
- อาการกดทับรากประสาท (Radiculopathy) เป็นอาการโรคกระดูกคอเสื่อม ที่เกิดจากมีหมอนรองกระดูกคอเสื่อม หรือกระดูกงอกที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย ไปกดทับตรงรากประสาท ส่งผลให้คนไข้รู้สึกปวดร้าวลงแขน หรือลามไปถึงนิ้วมือ นอกจากนี้ บริเวณแขนและนิ้วมืออาจมีอาการชา หรืออ่อนแรงร่วมด้วย
- อาการกดทับไขสันหลัง (Myelopathy) เป็นอาการที่มีสาเหตุเช่นเดียวกับ Radiculopathy แต่ในกรณีของ Myelopathy จะเกิดการจากกดทับไขสันหลัง ซึ่งถือว่าเป็นอาการโรคกระดูกคอเสื่อมที่มีความรุนแรงและอันตรายมากที่สุด โดยผู้ป่วยจะมีอาการข้อมือเกร็ง ไม่สามารถใช้งานมือได้อย่างเต็มที่ เช่น การติดหรือแกะกระดุม เขียนหนังสือลำบาก และลายเซ็นเปลี่ยนไป รวมถึง อาจมีอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น เดินทรงตัวไม่ได้ เดินขากว้างหรือขาแข็งเป็นหุ่นยนต์ หรือไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ นอกจากนี้ ผู้ที่มีอาการกดทับไขสันหลังอาจไม่มีอาการปวดคอ จึงต้องอาศัยการสังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของคนไข้นั่นเอง
สำหรับคนไข้ที่ถูกวินิจฉัยให้เป็นโรคกระดูกคอเสื่อม อาจมาพบแพทย์ด้วยกลุ่มอาการใดอาการหนึ่ง หรืออาจมีอาการในหลายๆ กลุ่มอาการร่วมกันก็ได้ ซึ่งโดยปกติถ้ามีปัญหาเพียงแค่ความเสื่อมของกระดูกคอเพียงอย่างเดียว มักจะมาในอาการกลุ่มที่ 1 แต่ถ้ามีปัญหารากประสาทหรือไขสันหลังถูกกดทับ คนไข้อาจมาด้วยอาการกลุ่มที่ 1 ร่วมกับกลุ่มที่ 2 หรือ 3 ได้
ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน
นพ.กู้พงษ์ ศิริบำรุงวงศ์ ศัลยแพทย์ชำนาญการด้านกระดูกสันหลัง โรงพยาบาลกระดูกและข้อ ข้อดีมีสุข (Kdms) กล่าวว่าข้อกระดูกคอของมนุษย์จะประกอบไปด้วยส่วนประกอบหลัก คือ กระดูกคอ หมอนรองกระดูก และข้อต่อของกระดูกคอ โดยปกติอวัยวะนี้จะมีความยืดหยุ่นและให้ความคล่องตัว เมื่อเกิดการเคลื่อนไหวของศีรษะ เช่น การก้มศีรษะ การเงยศีรษะ หรือการหันศีรษะไปยังทิศทางต่างๆ ทำให้กระดูกคอถือเป็นอีกอวัยวะหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างมากต่อร่างกาย โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการกระดูกคอเสื่อมได้นั้น มีดังนี้
- ข้อกระดูกเริ่มเสื่อมจากอายุที่มากขึ้น
ผู้ที่มีอาการกระดูกคอเสื่อมนั้นส่วนใหญ่มักมาจากปัจจัยของอายุที่เพิ่มขึ้น เพราะเป็นช่วงที่ร่างกาย และข้อต่อต่างๆ ค่อยๆ เสื่อมสภาพลงจากการใช้งาน ซึ่งส่งผลต่อข้อต่อกระดูกและหมอนรองกระดูกได้เช่นกัน โดยปกติผู้ที่มีอายุ 30 ปีขึ้นไป ส่วนประกอบของน้ำในหมอนรองกระดูกจะลดลง ทำให้หมอนรองกระดูกคอเริ่มเสื่อม และผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป ข้อต่อกระดูกจะเสื่อมเร็วขึ้น ซึ่งเป็นที่มาให้เกิดอาการกระดูกคอเสื่อมได้
- ได้รับอุบัติเหตุ
สำหรับผู้ที่เคยประสบอุบัติเหตุบริเวณลำคอ ทั้งแบบรุนแรงและไม่รุนแรง เช่น การได้รับการกระแทก หรือหกล้ม สามารถเพิ่มโอกาสเสี่ยงที่กระดูกคอจะเสื่อมได้มากกว่าคนทั่วไป
- ใช้งานกระดูกคอไม่ถูกต้อง
หลายคนมักจะมีพฤติกรรมการใช้งานกระดูกคอที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็น การก้มหรือเงยศีรษะบ่อยๆ และการนั่งทำงานในท่านั่งเดิมๆ เป็นเวลานาน รวมถึง กลุ่มนักกีฬาที่มีการสะบัดคอบ่อยๆ เช่น กีฬาฟุตบอล ที่ต้องโหม่งลูกฟุตบอล พฤติกรรมเหล่านี้สามารถส่งผลให้ข้อต่อของกระดูกคอเสื่อมเร็วขึ้นได้
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่ส่งผลต่อข้อกระดูกต้นคอ
ไม่ใช่แค่ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต หรือปัจจัยอื่นๆ อย่างการได้รับอุบัติเหตุ หรือการมีอายุที่มากขึ้นเพียงเท่านั้น แต่ผู้ที่มีโรคประจำตัวตั้งแต่กำเนิดก็ถือเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้กระดูกคอเสื่อมได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น
- กลุ่มอาการคลิปเปล-ไฟล์ (Klippel-Feil Syndrome) เป็นความผิดปกติแต่กำเนิดที่ทำให้กระดูกคอเชื่อมกันตั้งแต่ 2 ข้อหรือหลายข้อ ทำให้มีลักษณะคอสั้นกว่าปกติ จะส่งผลให้กระดูกคอที่ยังไม่เชื่อมเสื่อมได้เร็วกว่าคนปกติ
- ผู้ที่มีอาการกล้ามเนื้อคอเกร็งกระตุก (Cervical Dystonia) เป็นความผิดปกติที่ไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อต้นคอได้ ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของคอ ส่งผลให้เกิดความเสื่อมได้เร็วกว่าคนทั่วไป
โดยความผิดปกติเหล่านี้ สามารถมีผลทำให้กระดูกคอเสื่อมลงได้ ทั้งนี้ ความผิดปกติเหล่านี้ถือเป็นอาการที่พบได้น้อย
วิธีรักษาโรคกระดูกคอเสื่อม
หากพบว่าตนเองเข้าข่ายอาการกระดูกคอเสื่อม เบื้องต้นแนะนำให้พบแพทย์ออร์โธปิดิกส์ หรือหมอกระดูกที่มีความชำนาญและมากประสบการณ์ในด้านกระดูกและข้อ เพื่อเข้ารับการประเมินและวินิจฉัยก่อน ซึ่งทางแพทย์นั้นจะหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมร่วมกับคนไข้ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ในการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการรักษาโรคกระดูกคอเสื่อมจะมีขั้นตอนการรักษาหลักๆ ดังนี้
- ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในชีวิตประจำวันที่ทำให้กระดูกคอเสื่อม
สำหรับผู้ที่เป็นโรคกระดูกคอเสื่อมแต่อาการไม่รุนแรงมาก ทางแพทย์จะแนะนำให้เริ่มต้นจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตก่อน ไม่ว่าจะเป็น การหลีกเลี่ยงการหมุนคอ การแหงนคอบ่อยๆ หรือการก้มและเงยศีรษะ รวมถึง การนั่งอยู่ในท่าเดิมเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันไม่ให้ข้อกระดูกคอเสื่อมเร็ว
- การให้ยา
เนื่องจากโรคกระดูกคอเสื่อมไม่มียารักษาโดยตรง เช่น ยาลดหรือชะลอความเสื่อมของกระดูกคอ ดังนั้น ในระหว่างที่คนไข้กำลังรักษาอาการกระดูกคอเสื่อมนั้น แพทย์จะให้ยาบรรเทาอาการปวดเป็นอีกหนึ่งวิธีเพื่อบรรเทาความเจ็บปวด หรืออาการเกร็งของกล้ามเนื้อ เช่น การใช้ยาลดอาการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อ หรือยาลดอาการปวดปลายประสาท เป็นต้น ซึ่งจะให้ประสิทธิภาพเป็นอย่างดีโดยเฉพาะกับผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มอาการปวดต้นคอ (Axial Neck Pain) และอาการกดทับรากประสาท (Radiculopathy)
- กายภาพบำบัด
กรณีที่ผู้ป่วยกระดูกคอเสื่อมต้องเข้ารับการทำกายภาพบำบัด สามารถทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การทำกายบริหารหรือการใช้เครื่องมือที่ทันสมัย เพื่อฟื้นฟูหรือบรรเทาอาการเจ็บปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึง การทำกายภาพบำบัดด้วยวิธีอื่นๆ ดังนี้
- ทำท่ากายบริหาร: เพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อคอด้วยการออกกําลังกายแบบไอโซเมตริก (Isometric Exercise) โดยการเกร็งกล้ามเนื้อคอให้อยู่กับที่ จากนั้นใช้มือดันศีรษะ ครั้งละ 10 วินาที เป็นจำนวน 10-15 ครั้งในทุกเช้าหรือเย็น
- การประคบร้อน: การประคบร้อนจะช่วยบรรเทาอาการปวดที่เกิดขึ้นได้ โดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่น หรือวางเจลประคบร้อนลงในบริเวณที่มีอาการปวดครั้งละ 10-15 นาที
- การใช้เครื่องอัลตราซาวนด์: อีกหนึ่งวิธีการรักษาโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง เพื่อส่งผ่านความร้อนเข้าไปในชั้นกล้ามเนื้อ
- การช็อกเวฟ: เครื่องมือชนิดนี้ก็สามารถรักษาผู้ที่เป็นโรคกระดูกคอเสื่อมได้เช่นกัน โดยการส่งคลื่นกระแทก (Shock Wave) เข้าไปกระตุ้นบริเวณที่ปวดเพื่อลดอาการปวด และเพิ่มประสิทธิภาพในการฟื้นฟูของร่างกายมากขึ้นได้
- เครื่องเรดคอร์ด (Red Cod): เครื่องเรดคอร์ด เป็นอุปกรณ์ที่ช่วยจัดระเบียบการทำงานของกล้ามเนื้อให้ถูกต้อง เพื่อลดอาการปวดที่ไม่พึงประสงค์จากพฤติกรรมการใช้งานที่ไม่ถูกต้อง
- ผ่าตัด
แพทย์จะเลือกใช้วิธีการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคกระดูกคอเสื่อมมีข้อบ่งชี้เหล่านี้
- อาการปวด และไม่ตอบสนองต่อการรักษาเบื้องต้น: หากผู้ป่วยโรคกระดูกคอเสื่อมใช้การรักษาด้วยการกินยา และการทำกายภาพบำบัดแล้ว ยังมีอาการปวดรุนแรงจนรบกวนการใช้ชีวิต
- อาการแย่ลง หรือมีภาวะอ่อนแรงที่รุนแรง: ถ้าตรวจติดตามอาการแล้ว แพทย์พบว่าคนไข้มีอาการไม่ดีขึ้น หรือร่างกายมีภาวะอ่อนแรง เช่น แขนอ่อนแรง หรือยกแขนไม่ขึ้น
- อาการกดทับไขสันหลัง (Myelopathy): หากผู้ป่วยมีอาการของการกดทับไขสันหลัง เช่น อาการแขนและขาเกร็ง หรือไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้
ทั้งนี้ การเลือกวิธีผ่าตัดในการรักษาเคสคนไข้นั้น จะขึ้นอยู่กับพิจารณาของแพทย์อีกทีด้วย โดยการผ่าตัดส่วนใหญ่แล้ว จะเป็นการผ่าตัดเพื่อนำสิ่งที่กดทับรากประสาท หรือไขสันหลังออก โดยใช้เครื่องมืออย่างกล้องจุลทรรศน์ (Microscope) หรือ กล้องเอ็นโดสโคป
ข้อคำนึงเกี่ยวกับการผ่าตัดกระดูกคอเสื่อม
หากคนไข้ต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคกระดูกคอเสื่อม ควรปฏิบัติตัวตามความแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เช่น
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การก้มหรือเงยศีรษะ รวมถึงการเคลื่อนไหวร่างกายโดยเฉพาะส่วนคอ
- สวมคอลลาร์หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการประคองคอเป็นเวลา 4 สัปดาห์โดยประมาณ หรือในกรณีที่เป็นการผ่าตัดเปลี่ยนหมอนรองกระดูกเทียมจะต้องอาศัยการพักฟื้นเป็นเวลา 1-2 สัปดาห์
หากปล่อยให้อาการกระดูกคอเสื่อมเรื้อรังจะเกิดอะไรขึ้น
โรคกระดูกคอเสื่อมเป็นอาการที่มีระดับความปวดตั้งแต่ปวดเมื่อยจนกระทั่งปวดรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากปล่อยไว้นาน นอกจากจะส่งผลเสียต่อร่างกายแล้ว ยังมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้ เช่น กระดูกคอเสื่อมและกดทับรากประสาทอย่างรุนแรงจนไม่สามารถฟื้นฟูกลับมาได้ แม้ว่าจะเข้ารับการผ่าตัดกระดูกคอเสื่อมแล้ว หรือในกรณีที่ผู้ป่วยเป็นโรคกระดูกคอเสื่อมรุนแรงในระดับกดทับไขสันหลัง (Myelopathy) อาจทำให้พิการหรือทุพพลภาพได้
กระดูกคอเสื่อมเป็นอีกโรคหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น อาการปวดเมื่อยกระทั่งเจ็บปวดอย่างรุนแรง ทั้งยังทำให้สภาพร่างกายเสื่อมสภาพลงอีกด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่เป็นโรคกระดูกคอเสื่อม แต่มีอาการไม่รุนแรงมากนัก สามารถรักษาได้ด้วยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การทำกายภาพบำบัด การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หรือแม้แต่การผ่าตัดกระดูกคอเสื่อมเพื่อให้ร่างกายหายจากโรคดังกล่าว และช่วยให้คุณสามารถกลับมาใช้ชีวิตตามปกติอีกครั้ง
อ้างอิง:ศูนย์สมองและระบบประสาทไขสันหลัง โรงพยาบาลพญาไท 2 ,โรงพยาบาลกระดูกและข้อ ข้อดีมีสุข(Kdms) และ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล