รู้จัก ‘ไทนี่’ และผองเพื่อน ทีม ‘สุนัขนักบำบัด’ รุ่นแรกในประเทศไทย
ทำความรู้จัก ‘ไทนี่’ 1 ในทีมสุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทย รุ่นที่ 1 ที่ผ่านการอบรม ฝึกฝนเจ้าของสุนัขและสุนัขที่มีศักยภาพให้เป็น ‘ทีมสุนัขนักบำบัด’ มาตรฐานระดับโลก สู่บทบาทจิตอาสาบำบัด ฟื้นฟู ผู้ป่วยซึมเศร้า ผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อม เด็กพิเศษ ฯลฯ
Key Point :
- สมาคมสุนัขนักบำบัด เปิดตัวทีม สุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทย รุ่นที่ 1 ฝึกฝนเจ้าของสุนัขและสุนัขที่มีศักยภาพให้เป็น ‘ทีมสุนัขนักบำบัด’ มาตรฐานระดับโลก
- สำหรับรุ่นที่ 1 มีผู้ผ่านหลักสูตรทั้งหมด 16 ทีม ที่ได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ เข้าใจพื้นฐาน อาการโรค ความต้องการ และความเหมาะสมในการดูแล ทั้งร่างกายและจิตใจ
- ไทนี่ สุนัขพันธุ์ไวมาราเนอร์ อายุ 6 ปี เป็นหนึ่งในสุนัขที่ผ่านหลักสูตร โดยที่ผ่านมา ได้มีโอกาสทำหน้าที่บำบัดฟื้นฟูเด็กบกพร่องทางการได้ยิน เด็กพิเศษ และผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า
ที่ผ่านมา เราได้เห็นว่าสุนัข แมว หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ กลายเป็นหนึ่งสมาชิกในครอบครัว นอกจากจะช่วยให้คลายเหงาแล้ว ในบางครั้ง สัตว์เลี้ยงยังช่วยบำบัดผู้ป่วย เช่น ภาวะซึมเศร้า ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม หรือช่วยคลายกังวลสำหรับผู้ป่วยระยะท้าย ให้รู้สึกผ่อนคลาย มีชีวิตชีวามากขึ้น อีกทั้งยังสามารถกระตุ้นการเรียนรู้สำหรับเด็กๆ ได้อีกด้วย
ในต่างประเทศเอง เราพบว่า สุนัข ถูกนำมาใช้นำทางของผู้พิการทางสายตา และในประเทศไทย แม้จะมีน้อย แต่ก็เริ่มเห็นคนที่มีสุนัขนำทางแล้วเช่นกัน โดยสามารถให้สุนัขขึ้นรถไฟฟ้าได้ เข้าไปสถานที่ต่างๆ ได้ หากเป็นสุนัขนำทางผู้พิการทางสายตา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- 'Pet Parent' เลี้ยงสัตว์เป็นลูก ดันตลาดโต 6.6 หมื่นล้าน ปี 2026
- 'ทาสแมว' ห้ามพลาด 'Thailand Cat Show 2023' วันที่ 30 มิ.ย.-2 ก.ค.
- 3 ขั้นตอน ตีตั๋วโรงภาพยนตร์ i-Tail PET CINEMA พาสุนัข – แมว ไปดูหนัง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2566 สมาคมสุนัขนักบำบัด จัดงาน First in Thailand, Therapy Dog Thailand Team Debut! เพื่อเปิดตัวทีมสุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทย รุ่นที่ 1 ที่ผ่านการอบรม หลักสูตร Certified Therapy Dog Thailand ซึ่ง allfine เป็นผู้ริเริ่มโครงการและพัฒนาหลักสูตรสุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทยขึ้นเมื่อ ปี พ.ศ. 2563 เพื่อฝึกฝนเจ้าของสุนัขและสุนัขที่มีศักยภาพให้เป็น ‘ทีมสุนัขนักบำบัด’ มาตรฐานระดับโลก
ถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตามแนวทางของ Therapy Dog Association Switzerland VTHS ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ หวังสร้างการรับรู้ให้สังคม ในวงกว้างถึงความพร้อม ของทีมสุนัขนักบำบัดฯ ในการต่อยอดความรู้ไปสู่ การลงมือ ปฏิบัติหน้าที่ เพื่อสร้างความรัก และความสุขให้แก่สังคมไทย
ไทนี่ นักบำบัด
‘ไทนี่’ สุนัขพันธุ์ไวมาราเนอร์ อายุ 6 ปี เป็น 1 ในทีมสุนัขนักบำบัดฯ รุ่นแรกของไทย โดย แน็ต – ณัฐรีย์ เหมันต์ นักปรับพฤติกรรมสุนัข จากเพจ Hua Hin Dog Training and Boarding เจ้าของ ไทนี่ เล่าว่า ความจริงแล้วเจ้าของเก่าไทนี่ คือ ชาวฝรั่งเศส พาไทนี่มาเลี้ยงที่ประเทศไทยได้เพียง 2 เดือนและเลี้ยงไม่ไหว ด้วยความที่เป็นสุนัขพลังงานเยอะ ทำให้ดื้อ แรงเยอะ และเจ้าของเก่าเอาไม่อยู่ เราในฐานะครูฝึกสุนัข จะเข้าไปสอนเขาแต่เขาไม่เลี้ยงแล้ว จึงตัดสินใจรับไทนี่มาดูแลต่อตั้งแต่อายุ 8 เดือน
“หลังจากเห็นข้อมูล ‘หลักสูตร Certified Therapy Dog Thailand’ ทางอินเทอร์เน็ต เป็นคอร์สสุนัขบำบัด และส่วนตัวรู้สึกว่าอยากทำอะไรเพื่อสังคม เพราะเรามีความรู้เรื่องสุนัข จึงสนใจสมัครเข้าเรียนหลักสูตร โดยการคัดเลือกจะต้องดูว่าสุนัขเข้ากับคนได้หรือไม่ เข้ากับสุนัขตัวอื่นได้หรือไม่ เพราะสุนัขบำบัดต้องได้พบเจอกับคนแปลกหน้าเยอะ บางตัวที่ไม่คุ้นกับคนแปลกหน้าคงไม่เหมาะกับสายงาน โดยในการเรียนมีเรียนทั้งทฤษฎีและภาคปฏิบัติในช่วงเสาร์อาทิตย์”
สำหรับ ไทนี่ แม้ในช่วงเด็กๆ จะดื้อตามสไตล์ลูกสุนัข แต่เมื่อโตขึ้นก็เริ่มมีนิสัยนิ่งขึ้น บวกกับการที่ได้ทำกิจกรรมเยอะทำให้ได้ใช้พลังงาน โดยที่ผ่านมา ไทนี่ มีโอกาสได้ไปบำบัดเด็กบกพร่องทางการได้ยิน ผู้ป่วยภาวะซึมเศร้า และ เด็กพิเศษ
“กิจกรรมที่ไปทำจะแตกต่างกัน เช่น เด็กบกพร่องทางการได้ยิน และ เด็กพิเศษ ส่วนใหญ่จะพยายามให้เขาได้เคลื่อนไหว ไทนี่ก็จะได้เป็นตัวแทนในการคลาน เดินลอด เดินตามกรวยจราจร แต่หากเป็นผู้ป่วยซึมเศร้า ก็จะเป็นกิจกรรมอีกแบบหนึ่ง เช่น ให้ไทนี่พาไปเดิน เป็นต้น โดยการจัดกิจกรรมแต่ละครั้ง จะจัดการโดยสมาคมสุนัขนักบำบัด และเราเป็นเครื่องมือในการช่วยบำบัด ถือเป็นการทำจิตอาสา ทำด้วยใจล้วนๆ”
ณัฐรีย์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ไทนี่เหมือนเขาบำบัดเราในทุกๆ วัน แต่พอได้มีโอกาสพาเขาไปบำบัดคนที่เราไม่รู้จัก ถึงแม้จะเป็นเวลาแค่ชั่วโมงเดียว แต่การที่ได้เห็นผู้ป่วยมีรอยยิ้มบนใบหน้า ก็ทำให้มีความสุข ในฐานะเจ้าของ เราสามารถปั้นสุนัขเราให้ไปสร้างรอยยิ้มให้คนอื่นต่อได้ เรารู้สึกประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ นอกจากไทนี่แล้ว ยังมีสุนัขสายพันธุ์โกลเด้น รีทริฟเวอร์อีก 1 ตัว ซึ่งถูกฝึกเป็นทีมกู้ภัย ทีมเดียวกับ เซียร่า และ ซาฮาร่า สุนัขกู้ภัยแห่งชาติ อีกด้วย
สำหรับ หลักสูตรในรุ่นที่ 1 ที่เรียกว่าเป็นรุ่นบุกเบิกนี้ มีเจ้าของสุนัขและสุนัขที่จบจากหลักสูตร จากสมาคมสุนัขบำบัด อีกรวมแล้ว 16 ทีม โดยเจ้าของแต่ละคนก็มีสุนัขสายพันธุ์แตกต่างกันไป รวมถึงสุนัขแต่ละตัวก็มีคาแรคเตอร์ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นในกลุ่ม High Energy และ Low Energy ซึ่งจะใช้บำบัดในผู้ป่วยที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสม
เป่าฮื้อ นักบำบัดหน้านิ่ง
อีกหนึ่งตัวอย่างในทีมนักบำบัด รุ่นที่ 1 อย่าง คิม - ศศิญา โสภาเสถียรพงศ์ นักธุรกิจและแอดมินเพจ คลับปักกิ่งแห่งประเทศไทย เจ้าของน้องเป๋าฮื้อ เล่าถึงสิ่งที่ทำให้ตัดสินใจเข้าเรียนกับหลักสูตรว่า ด้วยความที่น้องหมาอายุสั้นกว่าคนมาก เมื่อเขาไม่อยู่แล้วสิ่งที่เหลืออยู่คือความทรงจำ จึงตั้งใจเลี้ยงน้องเป๋ามากไม่ว่าจะทำกิจกรรม พาไปเจอเพื่อนตัวใหม่ๆ หรือไปต่างประเทศ และการลงเรียนหลักสูตรดังกล่าวก็เพื่อสร้างความสุขให้กับคนอื่น
น้องเป๋าฮื้อ เป็นสุนัขอายุ 9 ปี ซึ่งเติบโตมาพร้อมกับลูกสาว ซึ่งอายุเกือบๆ จะ 9 ปี เรียกว่าเลี้ยงดูเป็นครอบครัว และทำกิจกรรมหลายอย่างร่วมกัน ด้วยความที่น้องเป๋าจะเหมือนก้อนหิน พลังไม่เยอะ เป็นสุนัข Low Energy จึงได้มีโอกาสไปบำบัดผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าที่ รพ.ศรีธัญญา
“ในตอนแรกแอบเครียดเพราะได้รับข้อมูลว่า คนที่ต้องบำบัดไม่ค่อยพูด ไม่แสดงสีหน้า แต่ข้อดีคือ คนที่รับการบำบัดยอมทำกิจกรรมได้ เราต้องเตรียมตัวค่อนข้างเยอะ เพื่อให้กิจกรรมเพียงพอกับเวลาที่กำหนด และต้องทำให้ถึงเป้าหมาย กิจกรรมที่ทำในตอนนั้น คือ ชวนพี่ๆ มาทำอาหารเช้าให้น้องเป๋า เพราะน้องยังไม่ทานข้าว มีโต๊ะที่เตรียมของไว้ เช่น มันหวาน ฟักทอง และอาหาร ต่างๆ เพื่อให้ผู้บำบัดสามารถเลือกได้”
ศศิญา เล่าต่อไปว่า ในวันนั้น เรียกว่าน้องเป๋าทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี โดยการมองอาหารที่พี่ๆ ทำสายตาลุกวาว น้ำลายไหล คนที่ทำเขาเห็นว่าน้องเป๋ามอง ทำให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำมันสำคัญมาก เขาได้ป้อนและน้องเป๋ากินจนหมด หลังจากนั้นจึงขอให้พี่เขาช่วยแนะนำว่า หากเราจะหาวัตถุดิบอื่นๆ และเรามีหน้าที่ลิสต์ใส่ในกระดาษ การทำกิจกรรมครั้งนั้น อย่างแรกเห็นเลยว่าน้องเป๋ามีความสุขมากกับการกิน และคนที่รับการบำบัดก็มีความสุข มากกว่าเป้าหมายที่ต้องการให้เขามีส่วนร่วม คือ เขาเห็นว่าความคิดเห็นของเราได้รับความสนใจ
หลักสูตร ตอบโจทย์ทุกภาคส่วน
สำหรับ หลักสูตรสุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทย เป็นหลักสูตรที่ allfine เป็นผู้ริเริ่มโครงการและพัฒนาหลักสูตรเพื่อฝึกฝนเจ้าของสุนัขและสุนัข ที่มีศักยภาพ ให้เป็น 'ทีมสุนัขนักบำบัด' มาตรฐานระดับโลกเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ตามแนวทางของ Therapy Dog Association Switzerland VTHS ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยมีการออกแบบให้สอดคล้องกับบริบทของคนไทย โดยการเข้าไปพูดคุยกับ ผู้ใหญ่ใน หน่วยงาน องค์กรหรือมูลนิธิต่างๆ เพื่อเข้าใจบริบทที่สุนัขสามารถเข้าไปมีส่วนช่วยเหลือได้ เช่น รมต.จุติ ไกรฤกษ์ รมว.กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ คุณขรรค์ ประจวบเหมาะ ที่ปรึกษาและกรรมการกิติมศักดิ์ มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์, ดร.มลิวัลย์ ธรรมแสง มูลนิธิอนุเคราะห์คนหูหนวกใน พระบรม ราชินูปถัมภ์
พญ.นาฏ ฟองสมุทร คณะกรรมการกองทุนผู้สูงวัย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของ มนุษย์, ดร.สมพร หวานเสร็จ อดีตผู้อำนวยการ ศูนย์การศึกษาพิเศษส่วนกลาง ที่ดูแลเด็กพิเศษและเด็กพิการ, นายศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลศรีธัญญา และ แพทย์หญิงมธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาล ศรีธัญญา กลุ่มดูแลผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า อ.ดร.น.สพ.ปรารมภ์ ศรีภวัศราคม สัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้าน พฤติกรรมสัตว์,คุณครูรุ้งจิต ตั้งจิตเจริญ นักปรับพฤติกรรมสุนัข และ กองกำกับการสุนัขตำรวจ เป็นต้น
สำหรับผู้เข้ารับการอบรม จะมี 2 รุ่น รุ่นเยาวชนอายุ 14-18 ปี และรุ่นผู้ใหญ่อายุ 18-65 ปี โดยเจ้าของจะต้องอยู่ อาศัยร่วมกันกับสุนัขตัวที่จะนำมาฝึกไม่น้อยกว่า 1 ปี และมีเวลาที่จะเข้ามาเรียนให้ครบตามเวลาที่กำหนด 30 ชั่วโมงขึ้นไป โดยรูปแบบการเรียนการสอนจะสะดวกขึ้น อีกทั้ง ได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนัก นวัตกรรม แห่งชาติ (NIA) พัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้สามารถอบรมภาคทฤษฎีบนออนไลน์ (Online Theory) และการอบรมภาค ปฏิบัติ ซึ่งพาสุนัขมาพร้อมกับเจ้าของฝึกในสถานที่จริง (On-Floor Practice ) จึงทำให้ผู้อบรมสามารถจัดเวลาเรียน ได้ง่ายมากขึ้น ในส่วนของตัวสุนัขไม่ได้มีการกำหนดสายพันธุ์ แต่ต้องสามารถฟังคำสั่งเบื้องต้นได้ และไม่กลัวการใช้ชีวิตนอกสถานที่ ได้รับวัคซีนครบถ้วน และมีสุขภาพแข็งแรง
หลักสูตรดังกล่าวจะฝึกทั้งเจ้าของสุนัขและสุนัขทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ ครอบคลุมตั้งแต่การเรียนรู้ และทำ ความเข้าใจในเรื่องลักษณะพื้นฐาน อาการโรค ความต้องการ และความเหมาะสมในการดูแล ทั้งร่างกายและจิตใจคน ในกลุ่มต่างๆ ที่ต้องการรับการบำบัด อาทิ ผู้สูงวัย เด็กที่มีความต้องการพิเศษ เด็กสมาธิสั้น ผู้ที่มีภาวะซึมเศร้า คนตาบอด คนหูหนวก เป็นต้น
นอกจากนั้น ยังได้พัฒนาหลักสูตรใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจ ที่เกี่ยวข้องกับ สัตว์เลี้ยง, การแพทย์ และการออกแบบพื้นที่ เพื่อให้เกิดสุขภาวะที่ดีแบบองค์รวมในการอยู่ร่วมกับสัตว์เลี้ยงในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสร้างความสุขให้แก่สังคมไทย
เดินหน้าขยายทีม สุนัขบำบัด
วรกร โอสถารยกุล ผู้ก่อตั้งโครงการและหลักสูตรสุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทย (Therapy Dog Thailand) และนายกสมาคมสุนัขบำบัด กล่าวว่า หลักสูตรดังกล่าว เกิดจากประสบการณ์โดยตรงจากการใช้สุนัขที่บ้านช่วยบำบัดคุณย่าที่เป็นสโตรก พบว่า จากเดิมแม้จะเรียกหรือตะโกนท่านก็ไม่มอง แต่ท่านตอบสนองกับสุนัข สามารถหันกลับมามอง ลูบได้ จึงเริ่มศึกษาและมองหาที่ทำเกี่ยวกับสุนัขบำบัดทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และสุดท้ายมาลงเอยที่สวิตเซอร์แลนด์เพราะมีหลักสูตรชัดเจน และเป็นประเทศที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีอันดับต้นๆ ของโลก
ทั้งนี้ หลักสูตรดังกล่าวได้นำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทสังคมไทย รวมถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต การเลี้ยงสุนัข กฎหมาย ซึ่งของเมืองนอกและไทยไม่เหมือนกัน ต้องสอบถามผู้ที่ให้คำปรึกษา พัฒนาเป็นหลักสูตรที่มีวิทยากรที่เชี่ยวชาญในการสอน ตั้งแต่ปี 2563 มีการเปิดอบรมหลักสูตร Certified Therapy Dog Thailand จนวันนี้ มี ‘ทีมสุนัขนักบำบัดแห่งประเทศไทยรุ่นที่ 1’ ที่ผ่านการทดสอบและทำงานในฐานะจิตอาสา เพื่อทดลองบำบัดผู้รับบริการกว่า 150 ราย ในหลากหลาย สถานที่ อาทิ การบำบัดเด็กหูหนวก ที่โรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์, การบำบัดผู้ป่วย ในที่มีภาวะซึมเศร้าของโรงพยาบาล ศรีธัญญา, การบำบัดผู้สูงวัยที่มีภาวะสมองเสื่อม ที่ศูนย์เวชศาสตร์ ฟื้นฟูหลอดเลือดสมองที่ The Senizens และการบำบัดเด็กพิเศษที่อยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์การศึกษา พิเศษจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
สำหรับก้าวต่อไปของโครงการ 'วรกร' เผยว่า ภายหลังมีการจัดตั้งสมาคมสุนัขบำบัด จะให้ทีม สุนัขนักบำบัดฯ ที่จบการศึกษาได้สิทธิ์เข้าเป็นสมาชิกของสมาคมสุนัขบำบัด เพื่อร่วมเป็นคณะกรรมการ กำหนดทิศทางและการทำงานภาคการบำบัด เพื่อสร้างความรักและความสุขให้แก่สังคมไทย ในมิติต่างๆ อาทิ การเป็นหนึ่งในทางเลือกของเครื่องมือแพทย์ในการบำบัดผู้ป่วย, การเป็นสื่อการเรียนการสอน สำหรับเด็กพิการหรือเด็กที่มีความต้องการพิเศษ, การเป็นผู้นำในการส่งเสริมการสร้าง ความสัมพันธ์อันดีของ เจ้าของสุนัขและสุนัขผ่านการเลี้ยงดู ตลอดจนการจัดพื้นที่ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีต่อการอยู่ร่วมกันของคน และสุนัข ไปจนถึงการพัฒนาต่อยอดไปสู่การทำงานภาคสังคมร่วมกับภาครัฐ ในการพัฒนาสุนัขชุมชน ต่อไป
“จากนี้ การทำงานจะดำเนินไปแบบคู่ขนานทั้งการฝึกอบรมและการบำบัด ดังนั้น ก้าวแรก ที่สำคัญ คือ การสร้างการรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับสุนัขนักบำบัด ว่าเป็นการฝึกอบรมให้เจ้าของได้มี ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับผู้รับการบำบัดในแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นภาวะโรค ลักษณะพื้นฐานที่พึงรู้ สภาวะทางร่างกายและจิตใจ การออกแบบการบำบัดซึ่งเป็นหลักสำคัญ ในการเข้าบำบัดให้เกิดผลสำเร็จ ได้อย่างดี ทั้งหมดเป็นเหมือนวิชาชีวิต ที่เราสามารถนำไปใช้ได้ตลอดชีวิต ไม่ว่ากับคนในครอบครัว หรือคน รอบตัว เราเรียนกันจริงจังทั้งเจ้าของและสุนัข ตามแนวทางมาตรฐานหลักสูตรระดับโลก เพื่อสร้างความ มั่นใจและอุ่นใจในการไปทำงานร่วมกับภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงส่งเสริมภาคธุรกิจในการพัฒนา สังคม ต่อไป”
อีกส่วนหนึ่ง คือ การสร้างทีมสุนัขนักบำบัดฯ ซึ่งตอนนี้เรากำลังเปิดรับสมัครรุ่นที่ 3 เพื่อเชิญชวนผู้ที่สนใจมาร่วมเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญในการร่วมสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการบำบัดไทย ด้วยการใช้ 'ทีมสุนัขนักบำบัด' เป็นอีกหนึ่งทางเลือกเครื่องมือ แพทย์สำหรับการบำบัดผู้ป่วย หรือผู้ที่ ต้องการบำบัด