'ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์' ในภารกิจผู้ช่วยเยียวยาจิตใจผู้ป่วยมะเร็ง
“สุนัขแสนรู้”ไม่เพียงเป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์ แต่ยามคนเจ็บป่วยยังมีบทบาทเป็น “ผู้บำบัดจิตใจ”ได้อย่างดีด้วย เฉกเช่น “บัดดี้”และ”ข้าวปั้น” สุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ ปฏิบัติงานที่หออภิบาลคุณภาพชีวิต รพ.มหาวชิราลงกรณธัญบุรี รับหน้าที่เป็นเพื่อนผู้ป่วยมะเร็ง
รพ.มหาวชิราลงกรณธัญบุรี โรงพยาบาลเฉพาะทางโรคมะเร็ง สังกัดกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แต่ละปีมีจำนวนผู้ป่วยมารับบริการแบบผู้ป่วยนอก จำนวน 38,863 คนต่อปีและผู้ป่วยใน จำนวน 4,572 คนต่อปี จำนวนผู้ป่วยประคับประคอง 1,466 คนต่อปี กลุ่มโรคมะเร็งที่พบมากที่สุด 5 อันดับ ได้แก่ มะเร็ง เต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย มะเร็งปอด มะเร็งไทรอยด์ และมะเร็งปากมดลูก ตามลำดับ
นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผอ.รพ.มหาวชิราลงกรณธัญบุรี กรมการแพทย์ กล่าวว่า สัตว์เลี้ยงบำบัดมีมานานมากแล้ว โดยเฉพาะในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ สำหรับประเทศไทย อาจจะยังไม่แพร่หลายมากนัก โดยสัตว์ที่นิยมนำมาใช้ในการบำบัด ได้แก่ สุนัข แมว ปลา นก ม้า เป็นต้น และมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเรื่องสัตว์เลี้ยงบำบัด ความผูกพันระหว่างมนุษย์กับสัตว์ จนเป็นที่ยอมรับและนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ส่วนของประเทศไทย รพ.มหาวชิราลงกรณธัญบุรี เป็นแห่งแรกของประเทศที่นำสุนัขเข้ามาช่วยบำบัดเยียวยาจิตใจผู้ป่วยมะเร็ง ตั้งแต่ปี 2553 มาจนถึงปัจจุบัน
“การนำสัตว์เลี้ยงมาช่วยบำบัด พบว่า ได้ผลดีมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่มีปัญหาด้านจิตใจ ผู้ป่วยเด็ก ผู้สูงอายุ หรือในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า จากผลการศึกษาพบว่าการใช้สุนัขบำบัดจะช่วย ทำให้ผู้ป่วยได้ผ่อนคลาย เพลิดเพลิน ลดความกังวล มีอารมณ์ที่ร่าเริงแจ่มใสมากขึ้น”นพ.อดิศัยกล่าว
ทั้งนี้ สุนัขที่นำมาช่วยในการดูแลเยียวยาจิตใจผู้ป่วย ควรเป็นสายพันธุ์ที่มีความเป็นมิตรกับผู้คน ชอบสังคม มีความฉลาด ฝึกการรับและทำตามคำสั่งได้ง่าย รับรู้และไวต่อความรู้สึกของเจ้าของ เช่น สายพันธุ์แสตนดาร์ด พันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ หรือพันธุ์มิเนเจอร์ ชเนาเซอร์ เป็นต้น
สำหรับรพ.มหาวชิราลงกรณธัญบุรี นำสุนัขเข้ามาช่วยในการดูแลและเยียวยาจิตใจผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายและผู้ดูแล โดยเลือกใช้ สุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ รีทรีฟเวอร์ เป็นสายพันธุ์ที่มีความฉลาดหลักแหลม เป็นมิตร นิสัยดี ขี้ประจบเอาใจทั้งคน และสัตว์เลี้ยงตัวอื่น ๆ และเมื่อโตเต็มวัยก็ยังคงมีความขี้เล่น มีควากระตือรือร้น และมีความอดทนสูงต่อการ ฝึกฝน เรียนรู้เร็ว มีสมาธิกับงาน หรือกิจกรรมที่ทำอย่างมาก
ขณะนี้มี 2 ตัว คือ “บัดดี้” เป็นสุนัขเพศผู้ รุ่นที่ 1 ปัจจุบันมีอายุ 13 ปี และ“ข้าวปั้น” เป็นสุนัขเพศผู้ รุ่นที่ 2 อายุ 4 ปี ทั้งสองได้รับการฝึกจากโรงเรียนฝึกสุนัขเพื่อให้สามารถรับคำสั่งได้ ตั้งแต่ช่วงอายุ 2-3 เดือน แล้วจึงนำเข้ามาเป็นสมาชิกในหออภิบาลคุณภาพชีวิต
และก่อนนำสุนัขไปเล่นกับผู้ป่วยต้องทำความสะอาดเช็ดตัว แปรงขน แปรงฟัน เช็ดหูและ ซอกต่างๆ ให้สะอาด นอกจากนี้ ยังได้รับการดูแลและพบแพทย์ตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอตามโปรแกรมการดูแลสุขภาพของสุนัข เช่น การได้รับวัคซีน, ยาถ่ายพยาธิโรคหัวใจ, กินยาเห็บหมัด รวมถึง การพาวิ่งออกกำลังทุกวัน
“ผู้ป่วยที่เข้าร่วมทำกิจกรรมสุนัขบำบัด เป็นผู้ป่วยมที่มีความต้องการที่จะเล่นกับสุนัข ชอบสุนัข หรือมีสุนัขเลี้ยงไว้ที่บ้าน ที่สำคัญต้องผ่านการประเมินจากเจ้าหน้าที่และไม่มีปัญหาภาวะภูมิคุมกันต่ำ โดยผู้ดูแลสุนัขจะนำสุนัขเข้าไปเล่นกับผู้ป่วยในห้องทุกวันหรือตามความต้องการของผู้ป่วย”นพ.อดิศัยกล่าว
นอกจาก สุนัข “บัดดี้และข้าวปั้น” ที่ทางโรงพยาบาลเตรียมไว้เป็นเพื่อนเล่นเพื่อช่วยเยียวยาจิตใจผู้ป่วยแล้ว หออภิบาลคุณภาพชีวิตยังอนุญาตให้ญาตินำสุนัขของผู้ป่วยที่เลี้ยงที่ไว้บ้านเข้ามาเยี่ยมผู้ป่วยที่โรงพยาบาลได้ด้วย
“บางคนเลี้ยงสุนัขและรักสุนัขมาก แต่ไม่สามารถนำมาได้เพราะอยู่ต่างจังหวัด บางคนไม่อยากอยู่โรงพยาบาล แต่พอมีน้องหมามาเล่นด้วยมันคลายเหงาได้”
จากข้อมูลการศึกษา ผลของการใช้โปรแกรมสุนัขบำบัดดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในหออภิบาลคุณภาพชีวิต รพ.มหาวชิราลงกรณธัญบุรี มีการเก็บรวมรวมสถิติ พบว่า ผู้ป่วยที่เข้าโปรแกรมสุนัขบำบัด มีระดับความมสุขที่เพิ่มขึ้น และระดับความเครียดลดลง รู้สึกผ่อนคลาย ได้ทำในสิ่งที่รักและคุ้นชิน เกิดความรู้สึกเพลิดเพลิน สนุกสนาน ลด ความวิตกกังวล และเป็นการส่งเสริมอารมณ์ทางบวกต่อผู้ป่วยและญาติ
โรงพยาบาลมีแผนการขยายบริการการใช้สัตว์เลี้ยงบำบัด(Pet therapy) สำหรับการดูแลผู้ป่วยให้กับเครือข่ายโรงพยาบาลมะเร็งภูมิภาค และโรงพยาบาลต่างๆ ที่สนใจเข้าศึกษาดูงาน และนำแนวคิดสัตว์เลี้ยง บำบัดไปประยุกต์ใช้ในเหมาะสมกับบริบทของแต่ละโรงพยาบาล เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการดูแลผู้ป่วย
“สุนัขบำบัดเป็นกิจกรรมทางเลือกหนึ่งที่ตอบสนองต่อความต้องการและความปรารถนาของผู้ป่วยมะเร็งระยะท้ายที่รักสัตว์หรือมีสัตว์เลี้ยงที่บ้าน สามารถช่วยได้ทั้งเรื่องของร่างกายและจิตใจ เพื่อให้ผู้ป่วยได้ฝึก การเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อมือและข้อ รู้สึกผ่อนคลาย ได้ทำในสิ่งที่รักและคุ้นชิน เกิดความรู้สึกเพลิดเพลิน สนุกสนาน ลดความวิตกกังวล และเป็นการส่งเสริมอารมณ์ทางบวกต่อผู้ป่วยและญาติ”นพ.อดิศัยกล่าว
ไม่เพียงแต่ สุนัขบำบัดเท่านั้น รพ.มหาวชิราลงกรณธัญบุรีมีการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย โดยมีแผนในการนำสัตว์เลี้ยงประเภทอื่นๆ มาใช้ ดูแลผู้ป่วย เพื่อเป็นทางเลือกแก่ผู้ป่วยและให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น การนำนกและปลา มาช่วยในการบำบัด (Therapy & Relaxation) และการแพทย์ทางเลือกอื่นๆ เช่น การแพทย์แผนไทย การนวด สมาธิบำบัด และ Aroma therapy เป็นต้น