7ข้อ ดูแลสุขภาพ'ผู้สูงอายุ'ในหน้าร้อน-ฝุ่น PM 2.5
กรมการแพทย์แนะวิธีดูแลตัวเองในหน้าร้อนและช่วงฝุ่น PM 2.5 สำหรับผู้สูงอายุ ช่วยป้องกันอันตรายและลดความเสี่ยงจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและฝุ่น PM 2.5 ที่เกินมาตรฐานได้
จากสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิสูงขึ้นร่วมกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน ทำให้ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ การดูแลตัวเองในหน้าร้อนและช่วงฝุ่น PM 2.5 สำหรับผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อช่วยป้องกันอันตรายและลดความเสี่ยงจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและฝุ่น PM 2.5 ที่เกินมาตรฐานได้
นพ.ไพโรจน์ สุรัตนวนิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันสภาพอากาศของประเทศไทยมีอุณหภูมิสูงขึ้นและปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกินมาตราฐานติดอับดับต้นๆ ของโลก ทำให้ประชาชนต้องหันมาดูแลสุขภาพกันมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุเนื่องจากอายุที่มากขึ้นภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ลดลง ร่วมกับประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายลดลงจึงส่งผลอันตรายมากกว่าช่วงวัยอื่นๆ
พญ.พัชรินทร์ ปิงเมืองแก้ว รองผู้อำนวยการสถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติม ข้อแนะนำการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในหน้าร้อนและฝุ่น PM 2.5 ดังนี้
1. พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานผักและผลไม้ที่มีสีส้มและเหลือง เนื่องจากมีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น มะเขือเทศราชินี แครอท ฟักทอง มะม่วงสุก เป็นต้น
2. การปรับอุณหภูมิของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วด้วยการดื่มน้ำ โดยปกติควรดื่มน้ำวันละประมาณ 6-8 แก้ว แต่ถ้าหากอยู่กลางแดดร้อนอาจดื่มได้มากกว่านี้
3. การป้องกันสายตาและผิวหนังจากแสงแดดจ้าในการทำกิจกรรมกลางแจ้งนาน ๆ เช่น สวมแว่นกันแดด สวมหมวก ใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกาย เป็นต้น
4. หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมต่าง ๆ กลางแจ้งหากเป็นวันที่ค่าของฝุ่น PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานพิจารณาให้ออกกำลังกายภายในอาคารแทน
5. ผู้สูงอายุที่มีโรคภูมิแพ้จมูก โพรงจมูกอักเสบ และหอบหืด ควรใช้ยาสูดทางปาก และยาพ่นจมูกต่อเนื่อง หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ พิจารณาการล้างจมูกอาจช่วยลดทั้งฝุ่น PM 2.5 ในทางเดินหายใจส่วนบน และสารก่อภูมิแพ้ได้
6. ผู้สูงอายุที่มีโรคภูมิแพ้ผิวหนัง แนะนำใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกายมิดชิด และหลังกลับเข้ามาภายในอาคารแนะนำเปลี่ยนเสื้อผ้า อาบน้ำ สระผม ชำระล้างร่างกายที่อาจนำพาฝุ่นเข้ามาภายในอาคาร
7. สวมหน้ากากอนามัยที่สามารถกรอง PM 2.5 ได้ ทุกครั้งก่อนออกจากบ้าน ทั้งนี้ การให้ผู้สูงอายุได้สัมผัสแสงแดด ช่วงเช้าตรู่และช่วงเย็น ระยะเวลาสั้น ๆ ประมาณ 10 - 15 นาที เพื่อให้ร่างกายผลิตวิตามิน D ซึ่งเป็นวิตามินที่ร่างกายสามารถสร้างเองได้โดยการกระตุ้นจากรังสียูวีบี (UVB) จะมีส่วนช่วยในการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย สามารถป้องกันโรค โดยเฉพาะภาวะกระดูกพรุน กล้ามเนื้ออ่อนแรงในวัยผู้สูงอายุได้