'วายร้ายไวรัส' ที่มาพร้อมกับฤดูฝน โรคฮิตที่ใครๆ ก็เป็นได้

'วายร้ายไวรัส' ที่มาพร้อมกับฤดูฝน โรคฮิตที่ใครๆ ก็เป็นได้

เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน อีกหนึ่งฤดูที่เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ที่มาพร้อมกับสภาพอากาศและความชื้นที่เปลี่ยนไป นำมาซึ่งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียบางชนิดที่ทำให้เกิดโรค ซึ่งทุกคนควรระมัดระวังและดูแลสุขภาพของตัวเองให้ห่างจากโรค

 Keypoint:

  • เมื่อเช้าสู่หน้าฝน สิ่งที่ทุกคนต้องเตรียมตัวให้พร้อม คือ เรื่องของการดูแลสุขภาพ เพราะด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม การติดเชื้อไวรัส เชื้อโรคต่างๆ จะง่ายขึ้น
  • โรคฮิตที่เกิดขึ้นในช่วงหน้าฝนมีมากมาย โดยเฉพาะไข้หวัดใหญ่ ไข้เลือดออก  ฉี่หนู โรคมือเท้าปาก และการรับประทานน้ำ อาหารก็สำคัญไม่แพ้กัน อาจทำให้ป่วยได้ 
  • การดูแลสุขภาพสามารถทำได้ง่ายๆ เพียงล้างมือให้สะอาด ปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจาม รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ออกกำลังกาย และหากมีอาการป่วยต้องรีบไปพบแพทย์

โรคที่มักมากับหน้าฝนนั้นมีมากมาย ทั้งกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ กลุ่มโรคที่ติดต่อทางน้ำและอาหาร กลุ่มโรคที่ติดเชื้อทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนัง กลุ่มโรคที่มียุงเป็นพาหะ และโรคหน้าฝนที่เป็นมากในเด็กเล็กนั่นก็คือโรค มือ เท้า ปาก โดยโรคฮิตที่ทุกคนทุกวัยควรทำความรู้จักแต่ละโรค เพื่อเตรียมรับมือหน้าฝน

ด้วยสภาพอากาศที่แปรปรวนบวกกับการหายใจเอาเชื้อไวรัสที่กระจายอยู่ในอากาศจากการไอ จาม ของผู้ใกล้ชิดเข้าไป ซึ่งอาจจะเป็นโรคต่างๆได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหน้าฝนที่อากาศชื้น จะยิ่งทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่ายมาก

\'วายร้ายไวรัส\' ที่มาพร้อมกับฤดูฝน โรคฮิตที่ใครๆ ก็เป็นได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

รู้จัก 6โรคที่มาพร้อมกับหน้าฝนพร้อมวิธีป้องกัน

การไฟฟ้านครหลวง แนะวิธีป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าช่วงฤดูฝน - ช่องทางแจ้งจนท.

เปิด 5 จังหวัด ไข้เลือดออกระบาดสูงสุด - ปัจจัยเสี่ยงเสียชีวิต

ระวัง 'กิ้งกือ' ช่วงหน้าฝน ไม่กัดแต่มีพิษ ทำให้ผิวหนังไหม้

 

โรคฮิตหน้าฝนที่ต้องทำความรู้จัก เตรียมสุขภาพให้พร้อม

กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้ออกประกาศเตือนประชาชนในการป้องกันโรคติดต่อที่มักเกิดขึ้นในฤดูฝนโดยมี 5 กลุ่ม รวม 15 โรค ได้แก่

 1.กลุ่มโรคติดต่อของระบบทางเดินอาหารที่พบบ่อย 

  • โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน บิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ โรคเหล่านี้เกิดจากการรับประทานอาหารที่มีการปนเปื้อนของเชื้อจุลชีพที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหาร ที่ลำไส้
  • โดยผู้ป่วยจะมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ อาจมีไข้ ปวดบิดในท้อง และหากติดเชื้อบิดอาจมีมูกหรือเลือดปนอุจจาระได้
  • นอกจากนี้เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิด เอ และบี ยังสามารถติดต่อได้จากการรับประทานอาหารปนเปื้อนเชื้อ ผู้ที่มีอาการตับอักเสบจะมีไข้ อ่อนเพลีย มีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองหรือดีซ่าน คลื่นไส้อาเจียน
  • ดังนั้นในหน้าฝนนี้จึงควรระมัดระวังอาหารการกินเป็นพิเศษ โดยรับประทานอาหารที่สุกใหม่ ๆ สะอาด ใช้ช้อนของตัวเอง
  • โรคตับอักเสบ เป็นภาวะที่ตับมีอาการอักเสบ และติดเชื้อ ซึ่งโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น ไวรัสตับอักเสบชนิด A B C D และ E โดยจะมีลักษณะการติดต่อที่แตกต่างกันไปตามแต่ละสายพันธุ์ โดยอาการตับอักเสบเกิดได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุที่พบบ่อยมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส และยังมีสาเหตุอื่นๆ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานยาบางอย่าง เป็นต้น

\'วายร้ายไวรัส\' ที่มาพร้อมกับฤดูฝน โรคฮิตที่ใครๆ ก็เป็นได้

 2.กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อบุผิวหนังที่พบบ่อย 

  • โรคแลปโตสไปโรซิสหรือไข้ฉี่หนู อาการเด่น คือ ไข้สูงเฉียบพลัน ปวดศีรษะ มักปวดกล้ามเนื้อบริเวณน่องและโคนขาอย่างรุนแรง และตาแดง ประมาณร้อยละ5-10 ของผู้ป่วยโรคนี้อาจมีอาการรุนแรง เช่น ดีซ่าน ไตวาย หรือช็อคได้
  • โรคนี้มักเป็นเกิดในที่ที่มีน้ำท่วม ผู้ที่บ้านมีหนูมาก เกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน คนงานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ โค สุกร ปลา ผู้ที่ทำงานขุดท่อระบายน้ำ เหมืองแร่ โรงฆ่าสัตว์ เป็นต้น

 

เช็กกลุ่มโรคหน้าฝนที่ต้องเฝ้าระวัง

3.กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจที่พบบ่อย 

  • โรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ คออักเสบ หลอดลมอักเสบ ปอดอักเสบหรือปอดบวม โดยเฉพาะในปัจจุบันมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ชนิดเอH1N1 ซึ่งเป็นโรคระบาดใหม่
  • ขณะนี้พบการระบาดทั่วประเทศ และโรคไข้หวัดนกที่มีแหล่งแพร่ระบาดมาจากสัตว์ปี เชื้ออาจมีการผสมข้ามสายพันธุ์กับเชื้อไข้หวัดใหญ่ในคนที่อยู่ในช่วงระบาดในฤดูฝนได้
  • วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ฉีด 1 เข็มต่อปี เพื่อป้องกันและกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ลดความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อน และลดอัตรการเสียชีวิต
  • โรคปอดอักเสบ (Pneumonia) เกิดจากการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง เกิดได้จากทั้งเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และเชื้อรา ที่พบโดยส่วนใหญ่จะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus Pneumonia หรือเชื้อนิวโมคอคคัส โดยโรคปอดอักเสบนี้จะมักเป็นอาการต่อเนื่องมาจากไข้หวัดใหญ่

4.กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุง ที่สำคัญ 3 โรค ได้แก่

  • ไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ซึ่งกว่าร้อยละ80 เป็นยุงลายที่อยู่ในบ้านซึ่งจะวางไข่ในน้ำที่ขังอยู่ตามที่ต่าง ๆ ผู้ป่วยระยะแรกจะมีอาการเหมือนการติดเชื้อไวรัสทั่วไป ได้แก่ อาการไข้ ปวดเมื่อยตามตัว อาจมีอาการปวดกระดูกมาก ไข้จะสูงอยู่ประมาณ 2-7 วัน หลังจากนั้นไข้จะลง พร้อมกับอาจจะมีอาการเลือดออกผิดปกติ มือเท้าเย็น หรือช็อคได้

\'วายร้ายไวรัส\' ที่มาพร้อมกับฤดูฝน โรคฮิตที่ใครๆ ก็เป็นได้

  • ไข้สมองอักเสบเจอี(Japanese Encephalitis)มียุงรำคาญเป็นพาหะนำโรค มักแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำตามทุ่งนา ผู้ป่วยจะมีไข้ ปวดศีรษะ อาเจียน หลังจากนั้นจะมีอาการซึมลงหรือชักได้ ผู้ป่วยอาจเสียชีวิต หรือพิการหากไม่ได้รับการรักษา
  • โรคมาลาเรีย มียุงก้นปล่องที่อยู่ในป่าเป็นพาหะนำโรค โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูงหนาวสั่น ซีดลง เนื่องจากเม็ดเลือดแดงแตก ถ้าเป็นชนิดรุนแรงอาจมีอาการไตวาย ตับอักเสบ ปอดผิดปกติ และอาจมีความผิดปกติทางสมองที่เรียกว่า มาลาเรียขึ้นสมองได้

5. โรคเยื่อบุตาอักเสบหรือโรคตาแดง โรคเกิดจากเชื้อไวรัสที่อยู่ในน้ำสกปรก กระเด็นเข้าตา  

นอกจากนี้ ยังมีโรคหน้าฝนที่ต้องเฝ้าระวัง อย่าง ปัญหาน้ำกัดเท้าที่เกิดจากเชื้อรา สาเหตุเกิดจากการแช่น้ำสกปรกนาน ๆ ทำให้ผิวหนังเป็นผื่นแดง ถ้าเกาจะเป็นแผลมีน้ำเหลืองออก และอันตรายจากสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่องที่หนีน้ำมาอาศัยในบริเวณบ้าน 

 

5 โรคฮิตหน้าฝนที่เด็กควรเฝ้าระวัง

1.โรคไข้หวัดใหญ่ หรือ Influenza เป็นโรคที่พบบ่อยในคนทุกเพศทุกวัย พบได้เกือบทั้งปีเพราะไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น แต่จะเป็นมากในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของอาการไข้ที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน ไข้หวัดใหญ่แตกต่างจากไข้หวัดธรรมดาตรงที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อาการหลักๆ เด็กจะมีไข้ ปวดหัว ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ ไอ หรือเจ็บคอ ซึ่งเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องจะมีโอกาสเสี่ยงและมีอาการรุนแรงมากกว่ากลุ่มอื่น

2.โรคมือเท้าปาก เกิดจากเชื้อไวรัส (Enterovirus 71, Coxsackie) พบได้ประปรายตลอดทั้งปี แต่จะพบมากในฤดูฝน สำหรับกลุ่มอาการของโรคเด็กจะมีไข้ ผื่น ตุ่มน้ำใสตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า แผลในปาก กระพุ้งแก้ม ลิ้น เหงือก บางรายอาจมีผื่นที่ขาและก้นร่วมด้วย พบมากในเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 3 ปี (อนุบาลถึงประถม)

\'วายร้ายไวรัส\' ที่มาพร้อมกับฤดูฝน โรคฮิตที่ใครๆ ก็เป็นได้

3.โรคไข้เลือดออก เป็นโรคที่มียุงลาย เป็นพาหะนำโรค มีโอกาสเป็นได้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะอยู่ในกรุงเทพฯ หรือต่างจังหวัดถ้าได้รับเชื้อแล้วจะมีไข้สูงเกิน 3 วันขึ้นไป ตาและหน้าจะเริ่มแดง มีความรูสึกอ่อนเพลียและปวดท้อง โรคนี้ระบาดได้ทั้งปีโดยเฉพาะหน้าฝน เพราะโอกาสที่น้ำขังมีได้มาก เพราะฉะนั้นอาการที่บ่งบอกว่าลูกอาจเป็นไข้เลือดออก คือ มีไข้สูงมาก กินยาลดไข้เท่าไหร่ก็ไม่ได้ผล ปวดหัว ปวดกระบอกตา หรือปวดเมื่อยตามตัว มีอาการหน้าแดง ปากแดง

4.โรคอีสุกอีใส เป็นโรคที่เกิดขึ้นบ่อยและเป็นกันบ่อย แต่มักจะเป็นในบางช่วง เมื่อเป็นแล้วมักจะติดกันโดยเฉพาะการติดต่อจากเพื่อนที่โรงเรียน กลุ่มอาการของโรค ผู้ป่วยจะมีไข้ เป็นผื่นแดง และมีตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นตามตัว โดยเริ่มจากบริเวณท้องลามไปต้นแขน ขา และใบหน้า หลังจากนั้นจะเกิดเป็นสะเก็ดและเป็นแผลขึ้น มักหายได้เองประมาณ 2-3 สัปดาห์ ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ซึ่งมีประสิทธิภาพค่อนข้างดี เริ่มฉีดในเด็กตั้งแต่ 1 ขวบขึ้นไป ซึ่งเป็นวัคซีนเสริมยังไม่กำหนดเป็นมาตรฐานที่เด็กทุกคนจะต้องฉีด

5.โรคไอพีดีและปอดบวม หรือที่เรียกว่า Invasive Pneumococcal Disease (IPD) คือ โรคติดเชื้อชนิดรุนแรงที่มีสาเหตุจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ “นิวโมคอคคัส” ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและที่เยื่อหุ้มสมอง ซึ่งมีความรุนแรงและอาจทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ถ้าติดเชื้อที่ระบบประสาท เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ เด็กจะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง เด็กเล็กจะมีอาการงอแง ซึม และชักได้ ส่วนการติดเชื้อกระแสเลือด เด็กจะมีไข้สูง งอแง ถ้ารุนแรงอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ 

\'วายร้ายไวรัส\' ที่มาพร้อมกับฤดูฝน โรคฮิตที่ใครๆ ก็เป็นได้

ป้องกันตัวเองอย่างไร? ให้ห่างไกลโรคที่มากับหน้าฝน

โรคที่มากับหน้าฝนมักเป็นโรคที่มีน้ำเป็นตัวแพร่กระจายเชื้อ และเป็นเชื้อที่กระจายตัวได้ดีในอากาศเย็นชื้น การป้องกันทำได้ด้วยการลดการแพร่กระจายและความเสี่ยงในการติดเชื้อของทั้งตัวคุณเองและคนรอบข้าง ดังนี้

  • ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนรับประทานหรือเตรียมอาหาร และหลังจากเข้าห้องน้ำ
  • ปิดปากและจมูกเมื่อไอหรือจาม และหลีกเลี่ยงการนำมือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก ปาก
  • หมั่นทำความสะอาดพื้นผิวที่มีการสัมผัสร่วมกันบ่อยๆ เช่น ลูกบิดประตู ราวจับบันได
  • หลีกเลี่ยงการใช้ของใช้ส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว หมอน หูฟัง เครื่องสำอาง แว่นตา ยาหยอดตา
  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ไม่รับประทานอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ หลีกเลี่ยงอาหารที่ค้างคืนหรือมีการเก็บรักษาไม่เหมาะสม
  • ในขั้นตอนการปรุงหรือเก็บอาหารควรแยกเนื้อสัตว์ อาหารทะเล และไข่ไก่ ออกจากอาหารอื่นๆ และมีเขียงแยกสำหรับหั่นเนื้อสัตว์โดยเฉพาะ
  • กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยคอยดูไม่ให้มีน้ำขังในภาชนะทั้งในบ้านและบริเวณรอบบ้าน ควรมีฝาปิดภาชนะที่ใส่น้ำเพื่อป้องกันยุงลายวางไข่
  • สวมรองเท้าบู้ตทุกครั้งเมื่อต้องลุยน้ำขัง หรือรีบล้างมือล้างเท้าให้สะอาดหลังจากสัมผัสน้ำขังหรือสัตว์ที่เป็นพาหะ
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำ พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่ทีประโยชน์ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันต่อสู้โรค 

อ้างอิง: รพ.ศิรินทร์ รพ.นครธน ,กระทรวงสาธารณสุข