'โรคไตเรื้อรัง' ความเสี่ยงใกล้ตัวของคนชอบกินเค็ม

'โรคไตเรื้อรัง' ความเสี่ยงใกล้ตัวของคนชอบกินเค็ม

โรคไต เป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพของคนไทย หลายคนติดการกินเค็ม ซึ่งเป็นหนึ่งในปัยจัยที่ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และนำไปสู่ไตเสื่อม การเช็กสุขภาพเป็นประจำทุกปีโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง จะช่วยให้รู้ทันสุขภาพและรักษาได้เร็วหากพบโรค

Key Point : 

  • ไต ถือเป็นอวัยวะเล็กๆ ในร่างกายที่สำคัญ ทำหน้าที่กรองสารพิษต่างๆ หรือ กรองสารบางอย่างที่เกินความจำเป็นออกจากร่างกาย
  • ปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการทำงานของไต คือ การทานเค็ม ซึ่งสัมพันธ์กับโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ทำให้ไตเสื่อม
  • ขณะเดียวกัน โรคไตเรื้อรัง ในระยะแรกอาจจะยังไม่มีอาการ ดังนั้น ควรตรวจสุขภาพประจำปี โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้รู้เร็วและรักษาชะลอความเสื่อมของไตให้ได้มากที่สุด

 

 

โรคไตเรื้อรัง เป็นสภาวะที่ไตถูกทำลาย มีผลทำให้การทำงานของไตลดลง เช่น การรักษาสมดุลของเหลวในร่างกาย การควบคุมน้ำ และแร่ธาตุต่างๆ ในเลือด การกำจัดของเสียออกจากเลือด การกำจัดยาและพิษออกจากร่างกาย การหลังฮอร์โมนเข้าสู่กระแสเลือด เป็นต้น สาเหตุที่ก่อให้เกิดโรคไตเรื้อรัง คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคอ้วน รวมถึงสภาวะอื่นๆ เช่น ไตอักเสบ โรคถุงน้ำในไต เป็นต้น

 

อ.พญ.ศรินยา บุญเกิด สาขาวิชาโรคไต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวในรายการ ลัดคิวหมอรามาฯ ผ่านช่องทาง รามาแชลแนล โดยอธิบายว่า เมื่อพูดถึงโรคไต สามารถแบ่งเป็น 'ไตวายเฉียบพลัน' เกิดจากการทำงานของไตลดลงนับเป็นวัน และ 'ไตวายเรื้อรัง' จะค่อยเป็นค่อยไปในระยะเวลาเป็นเดือน เป็นปี เป็นความเสื่อม โดยปัจจัยที่ทำให้ไตเสื่อม อาจจะไม่รุนแรงถึงขั้นทำให้ไตสลบเหมือนไตวายเฉียบพลัน แต่ไตวายเรื้อรังเป็นปัจจัยที่เป็นเรื่อยๆ เป็นตลอดและมีการบาดเจ็บของไตเกิดขึ้นตลอดเวลา และทำให้ไตเสื่อมในระยะเดือนเป็นปี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

ไตมีหน้าที่อะไร ?

 

แม้ไตจะขนาดไม่ใหญ่แต่สำคัญ ไตคล้ายๆ เครื่องกรองน้ำ มีหน้าที่ดื่มน้ำหรือทานอาหารต่างๆ เข้าไป ส่วนเกินจากที่ร่างกายต้องการจะมีการขับออกมากับปัสสาวะ โดยไตจะเป็นตัวควบคุม อีกส่วนหนึ่ง คือ สารอาหาร เกลือแร่ สารพิษ ต่างๆ ที่รับประทานหรือได้รับ ในรูปของยา หรือปัจจัยอื่นๆ ไตก็จะมีหน้าที่เก็บสิ่งที่ประโยชน์ต่อร่างกาย และทิ้งสารบางอย่างที่อาจจะมีประโยชน์แต่เกินความต้องการของร่างกาย รวมถึงสารพิษต่างๆ ออกทางไต

 

นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับการผลิตเม็ดเลือด เพราะไตผลิตฮอร์โมนต่างๆ ที่สำคัญ คือ เป็นฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตเม็ดเลือดแดง เพราะฉะนั้น หากการทำงานของไตเสื่อมลง การทำงานของฮอร์โมนก็จะลดลง และคนไข้จะมีภาวะโลหิตจาง

 

โรคไตเรื้อรัง หรือไตวายเรื้อรัง เกิดจากอะไร

 

ไตมีความเสื่อมมากขึ้นตามอายุ ซึ่งยังไม่ชัดเชนว่าเป็นกลไกปกติ หรือ เมื่ออายุมากขึ้น เจอการบาดเจ็บของไตเรื่อยๆ และทำให้ไตเสื่อมลง ไตของทุกคนจะค่อยๆ เสื่อมลงอยู่แล้วหลังจากอายุ 40 ปี แต่หากมีปัจจัยอื่นๆ เช่น เบาหวาน ความดัน โรคไตอักเสบ การติดเชื้อ หรือได้รับสารพิษบางอย่าง เช่น ยาบางกลุ่ม จะทำให้ไตเสื่อมลง ตามอายุที่ควรจะเป็น

 

สำหรับยาบางกลุ่มที่ทำให้ไตเสื่อม ต้องดูประโยชน์และโทษ โดยปกติ ยาที่แพทย์สั่งจะมีข้อบงชี้ ยาบางชนิดหากผู้ป่วยเป็นโรคไต อาจจะต้องปรับลดขนาดยาลง ให้เพียงพอต่อการทำงานของไต หรือหลีกเลี่ยงหากจะทำให้เกิดการบาดเจ็บของไตอย่างรุนแรง ซึ่งยาส่วนใหญ่ที่ใช้ เช่น เบาหวาน ความดัน ก็จะมียาบางตัวที่ห้ามใช้ในคนไข้ที่ค่าการทำงานของไตต่ำ โดยปกติแพทย์จะทราบอยู่แล้ว

 

"แต่ยาที่สำคัญ ที่ส่วนมากจะสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา คือ ยาสมุนไพรบางประเภท และยาแก้ปวด ในกลุ่ม เอ็นเสด (NSAIDs) หากใช้ในระยะสั้นมักไม่มีปัญหา แต่หากใช้เรื่อยๆ ในระยะเวลานาน จะมีปัญหากับไตได้"

 

 

สาเหตุ 

  • โรคเบาหวาน
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคไตอักเสบ
  • ไต้รับยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs สม่ำเสมอ
  • โรคทางพันธุกรรม
  • โรคนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
  • โรคไตขาดเลือด

 

อาการ

 

ทั้งนี้ ความน่ากลัวของโรคไต คือ ไม่ได้มีอาการ จนกระทั่งเมื่อการทำงานของไตลดลงในปริมาณมากเช่น น้อยกว่า 30% จึงจะมีอาการให้เห็น เช่น อ่อนเพลียจากโลหิตจาง กว่าที่โลหิตจะจาง ฮอร์โมนที่ผลิตเม็ดเลือดจะลดลง ไตจะทำงานน้อยกว่า 30% เป็นส่วนใหญ่ ไตจะทำงานให้ร่างกายอยู่ในสมดุลในระดับหนึ่ง จนกระทั่งลดลงเยอะจึงจะมีอาการของโรคแสดงให้เห็น เช่น โรคไตอักเสบ อาจจะมีอาการแสดงบางอย่าง คือ ปัสสาวะเป็นฟอง ปัสสาวะเป็นเลือด บวม หรือมีภาวะความดันโลหิตสูงที่คุมไม่ได้

 

“สาเหตุที่ทำให้ปัสสาวะเป็นฟอง เนื่องจากมีการรั่วจากโปรตีนบางชนิดลงมาในปัสสาวะ ยิ่งรั่วมากก็จะเห็นเป็นฟองค่อนข้างเยอะ คนไข้หลายคนบอกว่าต้องกดชักโครกหลายครั้ง ขณะที่ในกรณีที่การทำงานไตแย่ลง คนไข้จะมีอาการขาบวม จะสังเกตได้ที่ขาก่อน”

 

หากน้ำเริ่มเกินเยอะ เกลือกรองออกน้อยลง ร่างกายก็เก็บเกลือเพิ่มขึ้น ทำให้ความดันโลหิตสูง หรือคนที่ความดันโลหิตสูงเดิมคุมได้ยาก ต้องใช้ยา 3-4 ตัว และอาการทั่วไปอื่นๆ เช่น อ่อนเพลียจากโลหิตจาง หรือของเสียคั่งค้าง และหากไตทำงานน้อยลงเหลือราว 15% ก็จะเกิดอาอาการ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร

 

กินเค็ม เกี่ยวกับไตอย่างไร

 

อ.พญ.ศรินยา  อธิบายว่า ความจริงแล้วการกินเค็ม ทางวงการแพทย์ยังไม่ชัดเจนว่าจะทำให้เป็นโรคไต แต่เป็นปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้ไตทำงานหนักขึ้น เช่น หากเราทานเค็ม ทำให้ร่างกายเก็บน้ำ เก็บเกลือเพิ่มขึ้นทำให้ความดันโลหิตสูง พอความดันโลหิตสูง ไตก็ทำงานเพิ่มขึ้น ทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น ดังนั้น การทานเค็มถึงแม้จะไม่ได้เป็นสาเหตุโดยตรงแต่ก็เป็นปัจจัยที่เจอได้บ่อยที่ทำให้ไตแย่ลง

 

"อย่างไรก็ตาม ไม่ได้แปลว่าสนับสนุนให้ทานเค็ม เพราะที่มีหลักฐานชัดเจน คือ การทานเค็ม เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคความดันโลหิตสูง และความดันโลหิตสูงก็เป็นสาเหตุสำคัญมากที่ทำให้คนไข้เป็นโรคไต เพราะฉะนั้น มีความสัมพันธ์กัน"

 

คนเป็นโรคไตเรื้อรังส่วนมากมักไม่มีอาการ ดังนั้น คนที่มีความเสี่ยงเป็นโรคไตเรื้อรังควรมีการตรวจคัดกรอง ดังนี้

กลุ่มเสี่ยง

  • อายุ 60 ปีขึ้นไป
  • มีโรคประจำตัวที่เป็นสาเหตุ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง
  • เป็นโรคที่อาจเกิดสภาพพยาธิที่ไต เช่น SLE โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • เป็นโรคเกาต์
  • ได้รับสารพิษหรือยาที่ทำลายไต
  • ครอบครัวมีประวัติไตเรื้อรัง
  • มีภาวะน้ำหนักเกิดหรือโรคอ้วน
  • มีมวลกล้ามเนื้อไตลดลง
  • ตรวจพบนิ่วในไตหรือระบบทางเดินปัสสาวะ

 

สำหรับการคัดกรอง สามารถทำได้โดย 'การตรวจเลือด' เพื่อดูการทำงานของไต แบ่งระยะทำงานของโรคไต ถัดมา คือ 'การตรวจปัสสาวะ' หากไม่ได้มีความเสี่ยงแต่อยากตรวจสุขภาพ สามารถตรวจได้ เพราะโรคไตเรื้อรัง จะรอให้เป็นระยะท้ายไม่ได้ เพราะความยากของโรคไต คือ ไม่มียาที่ทำให้การทำงานของไตดีขึ้น

 

ดังนั้น ควรตรวจในคนไข้ที่มีความเสี่ยง และหากรู้เร็วจะได้ชะลอความเสื่อมของไตให้ได้เร็ว เป็นการตรวจที่ไม่ซับซ้อน การตรวจสุขภาพประจำปีแพ็กเกจส่วนใหญ่จะรวมอยู่แล้ว แต่ปัญหาส่วนใหญ่ คือ คนไม่ตรวจสุขภาพประจำปี

 

การบำบัดทดแทนไต คนไข้ไตเรื้อรัง

 

อ.พญ.ศรินยา อธิบายต่อไปว่า เมื่อเป็นโรคไตแล้ว การรักษามีทางเลือก ตั้งแต่การรักษาไตเสื่อมเรื้อรัง แต่ยังไม่ถึงระยะท้าย วิธีรักษา คือ ชะลอความเสื่อมของไตให้ได้มากที่สุด หากมีโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ต้องคุมให้ได้ตามเกณฑ์ที่มีหลักฐานว่าชะลอความเสี่ยงของไตได้

 

ค้นหาภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาวะโลหิตจาง ภาวะความผิดปกติของฮอร์โมนบางอย่างที่ส่งผลต่อกระดูกและข้อ ค้นหาความเสี่ยงโรคหัวใจ เพราะคนไข้โรคไตไม่ได้เสียชีวิตจากโรคไต แต่ส่วนใหญ่เสียชีวิตจากโรคหัวใจ ดังนั้น แพทย์จะสกรีนหาโรคหัวใจไปด้วย และหากชะลอไม่ไห้ จนไตเสื่อมเรื้อรังระยะท้าย คือ ระยะที่ 5 หรือการทำงานของไตน้อยกว่า 6% มีทางเลือกหลักๆ 4 ทาง ดังนี้

ฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

  • นำเลือดออกทางเส้นเลือดที่แขนหรือคอ
  • ขจัดของเสียและน้ำส่วนเกินที่คั่งอยู่
  • นำเลือดที่ฟอกกลับคืนสู่ผู้ป่วย
  • ใช้เวลา 4 ชั่วโมง/ครั้ง 2-3 ครั้ง/สัปดาห์

ล้างไตทางช่องท้อง

  • ใส่น้ำยาล้างไตทิ้งค้างในช่องท้อง
  • ปล่อยน้ำยาล้างไตที่มีของเสียและน้ำส่วนเกินทิ้ง
  • เปลี่ยนใส่น้ำยาล้างถุงใหม่เข้าไป
  • 3-5 รอบต่อวัน

ปลูกถ่ายไต

  • ผ่าตัดนำไตที่ดีจากผู้บริจาคมาใส่
  • ต้องกินยากดภูมิต้านทานสม่ำเสมอ
  • วิธีนี้มีประสิทธิภาพดีที่สุด

“อาจจะรับบริจาคจากคนที่ยังมีชีวิตเช่นญาติพี่น้อง และ จากคนที่เสียชีวิต ซึ่งหากคนไข้แข็งแรงพอที่จะผ่านการผ่าตัดและรับยากดภูมิได้ ก็จะเป็นแนวโน้มได้ผลลัพธ์ที่ดีในระยะกลางและระยะยาว”

การรักษาแบบองค์รวม

เป็นการรักษาแบบประคับประคอง สำหรับคนไข้บางคนที่อายุมาก หรือมีโรคประจำตัว เช่น สมองเสื่อมอย่างรุนแรง มะเร็งระยะสุดท้าย ที่คุณภาพชีวิตที่ไม่ได้ดีมากแล้ว บางครั้งจะเลือกการรักษาแบบประคับประคอง ไม่ฟอกไต

 

"แต่คนไข้ต้องเข้าใจว่า สุดท้าย ไตเขาจะแย่ลงและเสียชีวิตในที่สุด อย่างไรก็ตาม ต้องมองดูคุณภาพชีวิต หากสุดท้าย คนไข้บางคนที่เปราะบางมาก หากฟอกไตทางเส้นเลือด หรือ ฟอกไตทางช่องท้องและติดเชื้อ บางทีอายุไขของเขาอาจจะสั้นกว่าการเลือกรักษาแบบประคับประคอง"

 

ปัจจุบัน คนไข้สามารถเข้าถึงการรักษาได้ทุกแบบไม่ว่าจะสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง , ประกันสังคม , ข้าราชการ แต่อาจจะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่แตกต่างกันเล็กน้อย

 

ลดความเสี่ยงโรคไตได้อย่างไร

 

อ.พญ.ศรินยา กล่าวว่า การลดความเสี่ยง คือ รู้ไว รักษาได้ไว อยากให้คนไข้ที่มีความเสี่ยง ไปตรวจคัดกรอง หรือคนไข้ที่มีโรคประจำตัว ที่อาจจะส่งผลต่อไต คือ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ขอให้รีบรักษา เวลาแพทย์สั่งจ่ายยาหากมีโรคไตจะให้ยาที่ไม่มีผลทำให้ไตทำงานแย่ลง บางคนมองว่าแพทย์สั่งยาเยอะ ทานแล้วกลัวจะส่งผลต่อไต แต่ความจริงหากไม่ทานยาจนเบาหวาน ความดัน คุมไม่ได้ จะยิ่งทำให้ไตเสื่อมเร็ว

 

อีกทั้ง ไม่ทานอะไรที่ทำให้ไตทำงานหนัก เช่น ยากลุ่มแก้ปวด ยาสมุนไพรบางอย่าง และสุดท้าย การทานเค็มแม้จะไม่ได้มีผลกับไตโดยตรง แต่ก็เป็นปัจจัยโดยอ้อม ควรจะลดเค็ม

 

เทคนิคลดเค็ม

 

อ.พญ.ศรินยา แนะนำว่า เวลาไปทานอาหารข้างนอก จะไม่ปรุงเพิ่ม ต้องค่อยๆ ฝึก เพราะโดยปกติ เวลาไปทานอาหารข้างนอก ร้านจะจัดมาให้เราค่อนข้างเต็มที่ระดับหนึ่ง แต่หลายคนไปเพิ่มเครื่องปรุงอีกโดยที่ยังไม่ทันได้ชิม

 

"ลิ้นของเราจะมีการเรียนรู้ หากทานเค็มไปเรื่อยๆ บางอย่างที่ทานเราอาจจะไม่รู้สึกว่าเค็ม แต่อีกคนอาจจะทานแล้วเค็มมาก คนไข้โรคไตบางคนพอเริ่มปรับลดเค็ม ทานอาหารไปเรื่อยๆ ก็เริ่มทานได้ ลิ้นจะมีการปรับตัว อาจจะใช้รสชาติอื่นๆ มาเพิ่มได้ เช่น เผ็ด เปรี้ยว ก็ไม่ใช่ข้อห้าม หากไม่เป็นเบาหวานก็สามารถเติมน้ำตาลได้เล็กน้อย หรือส่วนผสมของธรรมชาติ เพื่อให้อาหารมีรสชาติอร่อยขึ้น"

 

ทั้งนี้ ลิมิตของความเค็มที่เราสามารถทานได้ เช่น เกลือไม่เกิน 1 ช้อนชา ซีอิ๊ว น้ำปลา ไม่เกิน 1-2 ช้อนชา ซึ่งบางครั้งร้านอาหารก็เติมมาให้อยู่แล้ว ทำให้แต่ละวันเราอาจทานเกิน อีกทั้ง การอ่านฉลากโภชนาการก็สามารถช่วยได้เช่นกัน โดยในหนึ่งวันไม่ควรทานโซเดียมเกิน 2,000 มิลลิกรัม