ความเสี่ยงจากการบริโภค Aspartame (แอสพาร์เทม)

ความเสี่ยงจากการบริโภค Aspartame (แอสพาร์เทม)

Aspartame เป็นสารให้รสหวาน (sweetener) ที่ใช้เจือปนอาหาร (food additive) ที่มีประสิทธิภาพสูง คือมีความหวานมากกว่าน้ำตาลทราย 180-200 เท่า รสชาติใกล้เคียงกับน้ำตาลทรายมากที่สุด ไม่ทำให้ฟันผุ ไม่กระตุ้นน้ำตาลในเลือดสูง

แอสพาร์เทม จึงเป็นที่นิยมและใช้ในผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มกว่า 5,000 ชนิดทั่วโลกมานานกว่า 40 ปีแล้ว

มาวันนี้มีรายงานข่าวจากสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า คณะกรรมการ International Agency for Research on Cancer (IARC) ซึ่งเป็นฝ่ายวิจัยความเสี่ยงด้านมะเร็งขององค์การอนามัยโลก (WHO) จะประกาศในวันที่ 14 ก.ค.นี้ให้ Aspartame เป็นสารที่ “มีความเป็นไปได้ที่จะทำให้เกิดมะเร็งในมนุษย์” (possible carcinogenic to humans)

ตรงนี้เป็นการได้ข้อมูลมาจากแหล่งข่าว ที่สาระสำคัญจะประกาศออกมารายละเอียดเป็นอย่างไรนั้น จะต้องรออ่านแถลงการณ์อย่างเป็นทางการอีกครั้ง

IARC นั้นขอย้ำว่าเป็นฝ่ายวิจัยที่ประเมินจากงานวิจัยที่มีอยู่ว่า อาหารอะไรหรือสารอะไรมีความเสี่ยงต่อการทำให้เกิดมะเร็งมากน้อยเพียงใด โดยมีลำดับความเสี่ยงดังนี้

1.Carcinogenic อันนี้แปลว่ามีหลักฐานทางการวิจัยชัดเจนทั้งในมนุษย์และสัตว์ว่า การบริโภคอาหารหรือได้รับสารดังกล่าวทำให้เกิดมะเร็ง เช่น การกินเนื้อสัตว์ปรุงแต่งและการสัมผัสกับ asbestos (ฉนวนกันความร้อน) เป็นต้น

2.Probably Carcinogenic แปลว่ามีข้อมูลวิจัยในมนุษย์ แต่มีจำนวนจำกัดที่บ่งชี้ว่าทำให้เป็นมะเร็ง อย่างไรก็ดี มีข้อมูลที่เพียงพอที่ทำให้เชื่อได้ว่าก่อให้เกิดมะเร็งในสัตว์ ตัวอย่างเช่น การกินเนื้อแดงและการทำงานข้ามคืนและอดหลับอดนอน

3.Possibly Cancer Caning ยังมีข้อมูลที่จำกัดในมนุษย์ว่าทำให้เกิดมะเร็ง แต่ในสัตว์มีข้อมูลที่พอเพียงในการบ่งชี้ความเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งได้ ตัวอย่างเช่น การได้รับคลื่นวิทยุจากการใช้โทรศัพท์มือถือ และล่าสุดคงจะมีการบริโภค Aspartame รวมอยู่ด้วย

4.“Not classifiable” แปลว่ายังมีหลักฐานทางการวิจัยไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นสถานะปัจจุบันของ Aspartame ที่ประวัติการอนุมัติและการใช้นั้น ต้องยอมรับว่ามีการโต้เถียงกันอย่างกว้างขวางมากว่า 50 ปีแล้ว สรุปได้ดังนี้

ความเสี่ยงจากการบริโภค Aspartame (แอสพาร์เทม)

1973: สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐ (USFDA) ไม่อนุมัติการใช้ Aspartame เพราะมีงานวิจัยบ่งชี้ว่ามีความเสี่ยงที่จะทำให้เป็นโรคสมอง (รวมทั้งเป็นมะเร็งในสมอง)

1981: USFDA อนุมัติการใช้ Aspartame ในอาหาร แต่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผลมาจากการที่หนึ่งในคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านของประธานาธิบดีเรแกนคือนาย Donald  Rumsfeld (ต่อมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหม) เป็นซีอีโอของบริษัทยา GD Searle (บริษัทลูกของบริษัท Pfizer) ที่เป็นผู้คิดค้น Aspartame โดยที่ FDA ของรัฐบาลเรแกนไม่รับฟังความเห็นแย้งของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญของ FDA เอง

1997:  สถาบันวิจัยอิสระของอิตาลี Ramazzini Institute แถลงผลการวิจัยการบริโภคในหนู พบว่าหนูที่กิน Aspartame (แม้จะในปริมาณไม่มาก) เกิดเนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย (malignant tumors) ในไต เต้านม และระบบประสาท

ในช่วง 10 กว่าปีหลังจากนั้นจึงได้มีการวิจัยผลงานดังกล่าวอย่างกว้างขวาง ทั้งที่สนับสนุนผลการวิจัยดังกล่าวและที่มีความเห็นแย้งกับผลงานวิจัย (ส่วนนี้มักพบว่าได้รับเงินจากกลุ่มบริษัทที่ใช้ Aspartame ประกอบอาหารและเครื่องดื่ม เช่น American Beverage Association และ Ajnomoto)

มาวันนี้จึงมีคำถามว่า IARC มีข้อมูลใหม่มากเพียงพอที่ทำให้ต้องปรับเปลี่ยนข้อสรุปเกี่ยวกับ Aspartame มากน้อยเพียงใด

คำตอบหนึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการแถลงผลการวิจัยใหม่ล่าสุดของ Ramazzini Institute เมื่อปี 2021 ที่ทางสถาบันกล่าวว่าผลงานวิจัยเดิม (ซึ่งก็ยังเป็นการวิจัยในหนู) แต่ในขณะเดียวกันก็มีงานวิจัยอื่นที่ขัดแย้งกับข้อสรุปดังกล่าว

ณ วันนี้ Aspartame ได้รับการอนุมัติโดย อย.ในประเทศหลักทั่วโลก โดยกำหนดเพดานการบริโภค Acceptable Daily Intake หรือ ADI วันละไม่เกิน 50 มิลลิกรัมในสหรัฐ และ 40 มิลลิกรัมในสหภาพยุโรป ในความเป็นจริงนั้นการบริโภคต่อคนเฉลี่ยเพียงวันละประมาณ 5 มิลลิกรัมเท่านั้น

การจะบริโภคให้มากถึงเพดาน ADI จะต้องดื่มน้ำอัดลมแบบ sugar free ประมาณวันละ 19 กระป๋องทุกวันตลอดชีวิต (หรือใช้ nutra sweet ประมาณ 85 ซองทุกวัน)

ความเสี่ยงจากการบริโภค Aspartame (แอสพาร์เทม)

นอกจากนั้นเพดาน ADI นั้นถูกกำหนดให้เท่ากับ 1% ของระดับการบริโภค Aspartame ที่ประเมินว่ายังไม่เป็นพิษต่อร่างกาย (No-observed adverse effect level หรือ NOAEL)

ข้อสรุปคือเป็นอีกเรื่องนี้ที่สามารถทำให้ผู้บริโภคสับสนได้อย่างมากว่า อะไรกินได้ อะไรไม่ควรกิน ดังนั้น การกินไม่มากและการออกกำลังกายเป็นประจำมากๆ จึงยังเป็นคติประจำใจของผมครับ

ทั้งนี้ ผมยังไม่เคยพบงานวิจัยใดเลยที่มีข้อสรุปว่าหากออกกำลังกายตามมาตรฐานของ WHO (150 นาทีต่อสัปดาห์) หรือมากกว่านั้น 2.4 เท่า จะเป็นภัยอันตรายต่อร่างกาย ตรงกันข้ามเป็น “ยา” ที่ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคสมองเสื่อม โรคอ้วน และโรคอื่นๆ ได้อย่างมีนัยสำคัญครับ

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร

กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร