เช็ก ตัวเร่ง ตัวร้าย มีผลต่อสมอง รู้ไว้ ห่างไกล 'สมองเสื่อม'

เช็ก ตัวเร่ง ตัวร้าย มีผลต่อสมอง รู้ไว้ ห่างไกล 'สมองเสื่อม'

ภาวะสมองเสื่อม คือ การถดถอยทั้งที่เกี่ยวข้องกับความจำ พูดอะไร ทำอะไร จำไม่ได้ กระทบการตัดสินใจ การใช้ภาษา พฤติกรรม อารมณ์ ข้อมูลพบว่า ประชากรไทยประมาณ 67 ล้านคน จะมี 100,000 คน เป็นผู้ป่วยสมองเสื่อมเต็มขั้น มีปัจจัยหลายอย่าง เช่น ยา พฤติกรรม และอาหาร

Key Point : 

  • สถิติประชากรไทยราว 67 ล้านคน จะมี 100,000 คน เป็นผู้ป่วยสมองเสื่อมเต็มขั้น นอกจากนั้นยังมีอีกจำนวนมากที่พร้อมจะแสดงอาการ
  • สมองเสื่อม เช่น อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน เป็นต้น เป็นภาวะที่มีโปรตีนพิษปรากฏขึ้นในสมอง อาจมีการทำลายเนื้อสมองร่วมอยู่ด้วย แต่ยังไม่มีอาการ  
  • สมองเสื่อมมีเวลาบ่มเพาะ 10-15 ปี ก่อนจะเกิดอาการในวันแรก ปัจจัยที่ควรเลี่ยงมีตั้งแต่ยาและพฤติกรรม รวมถึง อาหาร อีกทั้งปัจจุบันมีนวัตกรรมการตรวจที่หากรู้เร็วจะช่วยชะลอโรคได้ทัน 

 

 

สมองมนุษย์ คือ วิวัฒนาการขั้นสูงสุดของสิ่งมีชีวิต สมองทำให้มนุษย์เป็นคนที่สมบูรณ์ มีความจำ มีการเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ ความมีเหตุมีผล และพัฒนาสร้างสรรค์ขึ้นไปอีก ทั้งนี้ สำหรับ ข้อมูลจาก ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบว่า สถิติประชากรไทยประมาณ 67 ล้านคน จะมี 100,000 คน เป็นผู้ป่วยสมองเสื่อมเต็มขั้น นอกจากนั้น ยังมีสมองเสื่อมที่กำลังเพาะบ่ม และยังมีสมองเสื่อมแฝง ที่พร้อมจะแสดงอาการออกมาเมื่อไรก็ได้อีกมากมาย

 

ภาวะสมองเสื่อม คือ การถดถอยทั้งที่เกี่ยวข้องกับความจำ พูดอะไร ทำอะไร จำไม่ได้ กระทบการตัดสินใจ การใช้ภาษา พฤติกรรม อารมณ์ และในที่สุดเปรียบเสมือกับเป็นเด็กทารก โดย ‘สมองเสื่อม’ มีหลายโรคด้วยกัน แต่ที่สำคัญที่สุด คือ อัลไซเมอร์ ซึ่งพบว่ามีความสามารถในการถ่ายทอดมรดกโรคนี้ได้สูงมาก ถ้ามีพี่น้องพ่อแม่ หรือในระดับที่สูงขึ้นไป เช่น ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นโรคสมองเสื่อมหนึ่งคน ความเสี่ยงที่จะเกิดอัลไซเมอร์จะสูงขึ้น และถ้ามีมากกว่าหนึ่งคน ความเสี่ยงจะยิ่งสูงขึ้นไปอีกอย่างมาก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

โปรตีนพิษ ตัวร้าย ปัจจัยทำสมองเสื่อม

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha โดยอธิบายว่า สมองเสื่อม เช่น อัลไซเมอร์ พาร์กินสัน เป็นต้น หมายถึง มีโปรตีนพิษปรากฏขึ้นในสมองแล้ว และอาจมีการทำลายเนื้อสมองร่วมอยู่ด้วย แต่ 'ยังไม่มีอาการได้' และเป็นที่มาว่า ทำไมถึงต้องตรวจให้รู้ว่ามีโปรตีนพิษอยู่ในสมองแล้วหรือยัง แม้ว่ายังไม่มีอาการ

 

ข้อมูลยังพบอีกว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดสมองเสื่อม คือ สมองเสื่อมมีเวลาบ่มเพาะประมาณ 10-15 ปี ก่อนจะเกิดอาการในวันแรก เนื่องจากมีโปรตีนพิษร้าย สะสมอยู่ ในการสะสมจะมีตัวเร่งที่ทำให้โรคปรากฏเร็วขึ้น การดำเนินของโรคเร็ว และรุนแรงเป็นเงาตามตัว การที่คนเรามสุขภาพไม่ดี มีผลกระทบต่อสมองโดยตรง ดังนั้น จึงต้องดูแลสุขภาพให้ดี ไม่ปล่อยให้อ้วนลงพุง พุงยื่น มีไขมันส่วนเกิน โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง เหล่านี้เป็นปัจจัยเร่งของสมองเสื่อมผ่านกลไกการอักเสบ

 

ยาและพฤติกรรม ควรเลี่ยง ส่งผลต่อสมอง

ทั้งนี้ ร่างกายไม่ใช่สนามรบของยา การที่เราใส่ยาเข้าไปมากๆ อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากพฤติกรรมการใช้ยา ไม่ว่าจะเป็นการซื้อยากินเอง หรือมีหมอคอยดูแลโรคหลายคน ซึ่งแต่ละคนก็จ่ายยารักษาโรคหนึ่งทำให้เกิดภาวะยาตีกัน ส่งผลร้ายต่อร่างกาย และสมอง โดยยาที่ควรหลีกเลี่ยง มีดังนี้

ยาแก้แพ้

  • มีหลักฐานชัดเจนว่า สำหรับคนที่มีอายุมาก ใช้ยาแก้แพ้ที่ออกฤทธิเร็วเพื่อแก้อาการคัดจมูก คัน เมารถ เมาเรือ หรือบางคนใช้ยาแก้แพ้เป็นยานอนหลับ เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นปี จะเป็นตัวเร่งทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมเร็วขึ้น

 

ยาสมองเสื่อม

  • ซึ่งไม่ใช่การรักษาที่สาเหตุ แต่เป็นการกระตุ้นเร่งสมองให้ทำงานตลอดเวลา โดยหวังว่าจะทำให้มีสมาธิ และจำได้มากขึ้น แต่ตรงกันข้ามกับการทำงานของสมองที่ต้องใช้พลังงานอย่างสมเหตุสมผล ประหยัดมัธยัสถ์แม้กระทั่งสามารถรีไซเคิลสิ่งที่ใช้แล้วกลับมาเป็นประโยชน์

ยาแก้ปวด

  • กลุ่มยาบรรเทาอาการปวดเนื่องจากเส้นประสาทแปรปรวน หรือผิดปกติ ชื่อยา GABAPENTIN หรือ PREGABALIN ยาในตระกูลนี้ สำหรับผู้สูงอายุมีคำเตือนอาจทำให้การนอน หรือการหายใจผิดปกติ ทำให้เกิดสมองเสื่อมทางอ้อม ร่วมกับยาประเภทต่อต้านอาการต่างๆ ต้านซึมเศร้า หดหู่ หรือยาต้านอาการทางจิตที่อาจนำมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น ในกรณีนำมาช่วยในการนอนหลับ ทำให้กดการทำงานของสมองมากขึ้น

การผ่าตัด

  • แม้เป็นการผ่าตัดเล็กๆ น้อยๆ เช่น การผ่าตัดข้อเข่าทั้งแบบเปิดหรือส่องกล้อง ถึงแม้ไม่มีการดมยาสลบแต่ก็เป็นการเพิ่มความเครียดให้กับร่างกาย ส่งผลให้จุลินทรีย์ในลำไส้ จากตัวดีกลายเป็นตัวเลว สร้างสารอักเสบขึ้น ทำให้ผนังลำไส้รั่วซึม ปล่อยสารอักเสบเข้าไปในเลือด และต่อไปยังสมอง ทำให้จุดชนวนให้เกิดการอักเสบในสมองเพิ่ม เพิ่มการสร้างโปรตีนพิษ ที่ทำให้เกิดอัลไซเมอร์และสมองเสื่อมชนิดต่างๆ

การดมยา

  • ชัดเจน คือ การผ่าตัดหัวใจ ซึ่งต้องมีปอด และหัวใจเทียมหลังจากนั้น 6 เดือน ถึง 1 ปี เกิดภาวะสมองเส่อม แม้กระทั่งเพียงการดมยาสลบเฉยๆ ก็อาจเร่งการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้เช่นกัน

 

ทั้งนี้ พฤติกรรมการใช้ยาที่มากเกินความจำเป็น การใช้ยาผิดวัตถุประสงค์ ส่งผลลบต่อการทำงานของสมอง ทำให้ทำงานแปรปรวน หรือทำให้เกิดการอักเสบ และสะสมของปริมาณโปรตีนพิษ เป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อม หรือเร่งให้อาการสมองเสื่อมปรากฎเร็วขึ้น หากไม่อยากเป็นโรคสมองเสื่อมให้พยายามหลีกเลี่ยง

 

วงจรอาหาร กระทบภาวะสมองเสื่อม

นอกจากนี้ ในเรื่องของสมอง แท้จริงแล้วยังเกี่ยวกับ ‘ลำไส้’ เพราะลำไส้เกี่ยวข้องกับอาหารการกิน ทั้งนี้ ในลำไส้มีแบคทีเรียจำนวนมหาศาลนับไม่ถ้วน แบคทีเรียเหล่านี้ จะเป็นตัวดีหรือตัวร้าย ขึ้นอยู่กับชนิดของอาหาร

อาหารที่ร้อนแรง

  • ที่ก่อให้เกิดการอักเสบ โดยผ่านทางแบคทีเรียในลำไส้

อันดับอาหาร

  • อาหารที่ทำให้เกิดการอักเสบจากมากไปหาน้อย อาหารที่ร้อนแรงสูงสุด ได้แก่ เนื้อแดงทุกชนิด ที่ไม่ได้มีเฉพาะเนื้อวัว หมู แกะ แพะเท่านั้น เพราะเนื้อไก่ก็จัดว่าเป็นอาหารร้อนแรงเช่นเดียวกัน

กระบวนการปรุงอาหารจากการหมัก

  • การปรุงรส และการใส่สารเคมีเพื่อทำให้เนื้อสามารถเก็บได้นานขึ้น มีรสชาติได้ดีข้น ทำให้เมื่อถึงลำไส้ จะมีการคัดจุลินทรีย์หรือแบคทีเรียเป็นชนิดดุร้าย ปล่อยสารอักเสบออกมา ทำให้ลำไส้รั่ว สารอักเสบจะผ่านเข้าไปในกระแสเลือด เกิดความผิดปกติในหลอดเลือดกระจายไปทั่วร่างกาย และสมอง กระตุ้นทำให้เกิดการอักเสบของสมองอีกต่อ

สารอักเสบที่อยู่ในลำไส้

  • สามารถกระตุ้นเซลล์ที่อยู่ในผนังบุลำไส้ (ซึ่งปกติจะสร้างโปรตีนที่ควบคุมจุลินทรีย์ที่ไม่ดี) ทำให้เกิดโปรตีนบิดเกลียวผิดปกติหรือโปรตีนพิษ ที่ทำให้เกิดโรคพาร์กินสันและสมองเสื่อมแบบต่าง ๆ อีกด้วย

ผลของการอักเสบ

  • ทำให้กระบวนการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของสารอาหารที่เป็นประโยชน์ในตับ เพื่อส่งผ่านผนังหลอดเลือดเข้าไปเลี้ยงสมองผิดปกติ

 

จะเห็นได้ว่า ลำไส้กับสมอง มีการทำงานเชื่อมโยงกันผ่านตับ ระบบ และคุณภาพของอาหารการกิน ส่งผลต่อการทำงานของสมอง หากไม่อยากเป็นโรคสมองเสื่อม ควรเลือกกินอาหารที่เหมาะสม

 

รู้ได้อย่างไรว่าสมองเสื่อม

โรคสมองเสื่อมนั้น จะบ่มเพาะอาการทีละน้อย เริ่มจากคนปกติทั่วไปที่มีสติปัญญา สมองดี เมื่อผ่านไป เริ่มจะมีอาการหลงลืมเล็ก ๆ น้อย ๆ จนอาการค่อย ๆ แย่ลง ใช้เวลาหลายปีกว่าจะมีอาการปรากฏชัด เพราะฉะนั้นจึงบอกได้ยากว่า อาการหลงลืมที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นตามวัยหรือเกิดจากโรคสมองเสื่อม ในการวินิจฉัยทั่วไปของแพทย์เอง ก็ต้องติดตามดูอาการจนกระทั่งชัดเจนว่ามีภาวะสมองเสื่อม จึงจะชี้ชัดโรคได้

 

แต่น่าเสียดายเมื่อถึงเวลานั้น อาจจะสายเกินไปสำหรับการรักษาให้หายปกติ หรือชะลอโรค ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้สายเกินไป คือ ‘เราต้องรู้เร็ว’ ว่ามีความผิดปกติที่ทำให้เสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม โดยการตรวจด้วยเครื่องมือและนวัตกรรมต่าง ๆ

 

การตรวจวินิจฉัย

  • มีเครื่องมือหลายชนิดที่สามารถตรวจหาตัวบ่งชี้ว่าเสี่ยงต่อสมองเสื่อมได้ แต่มีข้อจำกัดแตกต่างกันไป อาทิ
  • คอมพิวเตอร์สมองใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้า มีข้อจำกัดคือความไวและการจำแนกชนิดของสมองเสื่อมค่อนข้างยาก
  • การใช้เวชศาสตร์นิวเคลียร์ (PET SCAN) ในการตรวจว่าสมองมีพลังงานบกพร่องหรือไม่ และการตรวจโปรตีนพิษ มีความไวมากกว่าคอมพิวเตอร์สมองใช้สนามแม่เหล็กไฟฟ้า แต่การตรวจด้วยวิธีนี้มีราคาค่าใช้จ่ายสูง
  • การเจาะน้ำไขสันหลัง ตรวจวัดการถูกทำลายของสมอง แต่วิธีนี้ไม่เป็นที่ใช้อย่างแพร่หลาย เพราะแม้จะมีความปลอดภัย แต่ผู้ป่วยอาจเจ็บตัว

 

นวัตกรรมใหม่ รู้เร็ว ชะลอโรคทัน

ปัจจุบัน มีนวัตกรรมใหม่ในการตรวจหาโปรตีนบ่งชี้ความผิดปกติของสมอง และทำนายภาวะสมองเสื่อมด้วยวิธีการตรวจเลือด ควบคู่ไปกับการทดสอบโดยนักประสาทจิตวิทยา การตรวจหาความสี่ยงสมองเสื่อมด้วยนวัตกรรมใหม่นี้ เหมาะสมสำหรับทุกคนที่มีอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปหรือคนที่มีอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป แต่มีประวัติสมองเสื่อมในครอบครัว และหากทราบอาการบ่งชี้ภาวะสมองเสื่อมแต่เนิ่นๆ จะทำให้สามารถเข้าสู่กระบนการรักษาเพื่อป้องกัน หรือ ชะลอโรคได้ทันท่วงที

 

การตรวจหาความเสี่ยงของสมองเสื่อมด้วยวิธีตรวจเลือด ถ้าสมองถูกทำลายอย่างต่อเนื่องมาสักพักหนึ่งจะพบว่า โปรตีนนิวโรฟิลาเมนต์ (NEUROFILAMENT) จะหลุดออกมาอยู่ในกระแสเลือด เมื่อตรวจพบจะสามารถบอกได้ว่ามีโรคสมองแฝงอยู่ แม้ยังไม่มีอาการ หรือเมื่อตรวจแล้วพบกรณีที่ ระดับโปรตีนนิวโรฟิลาเมนต์ (NEUROFILAMENT) ปกติ แต่มีอาการหลงลืมเล็กน้อยอาจจะพูดได้ว่าคนนั้นไม่น่าจะเป็นโรคสมอง แต่อาจมีอาการจากความเครียดหรือหลงลืมตามวัย

 

ทั้งนี้ ตัวการที่ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์ (ซึ่งเป็นสาเหตุของสมองเสื่อมร้อยละ 70) คือ โปรตีนบิดเกลียวม้วนพับผิดปกติ ซึ่งสะสมก่อนเนื้อสมองถูกทำลาย ถ้าตรวจค้นหาโปรตีนพิษนี้ได้ จะตรวจวินิจฉัยโรคอัลไซเมอร์ได้เร็วขึ้น โปรตีนพิษนี้มีชื่อว่า พี-ทาว (P-TAU) ซึ่งสามารถเจาะเลือดตรวจได้ คล้ายกับนิวโรฟิลาเมนต์ ถ้าเจอว่าระดับพี-ทาวในเลือดสูงแสดงว่า มีโรคอัลไซเมอร์แฝงแล้ว แม้จะไม่มีอาการ ทำให้สามารถรู้ได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ช่วยแก้ไขปรับเปลี่ยนพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพ และอาหารการกินช่วยป้องกันได้ก่อนมีอาการหรือก่อนที่จะมีการทำลายสมอง

 

เนื้อสมองถูกทำลาย ใช่ว่าจะสมองเสื่อมทันที

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้คนที่มีโปรตีนบิดเกลียวผิดปกติในสมอง หรือคนที่มีการถูกทำลายของเนื้อสมองไปแล้ว ยังไม่ได้หมายความว่าคนนั้นจะมีอาการสมองเสื่อมในทันทีทันใด มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนทางร่างกายของคนคนนั้นด้วย ดังนั้น การตรวจโปรตีนอย่างเดียวอาจจะประเมินได้ไม่เพียงพอ จึงต้องมาตรวจทางด้านประสาทจิตวิทยาซึ่งเป็นการทำแบบทดสอบความสามารถของสมองด้วย และเมื่อได้ข้อมูลทั้งผลเลือด และผสมกับข้อมูลทดสอบความสามารถของสมอง เราก็พอจะทำนายได้ว่า จะเกิดโรคสมองเสื่อมหรือไม่ มีค่าดัชนีบ่งชี้ระดับ สูง กลาง ต่ำ ประเมินได้คร่าว ๆ ว่ากี่เปอร์เซ็นต์ที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมภายในระยะเวลาที่กำหนด ทำให้เข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทันท่วงที

 

ป้องกัน ชะลอ รักษาสมองเสื่อม

ทั้งนี้ การป้องกัน ชะลอ รักษาสมองเสื่อม ศ.นพ.ธีระวัฒน์ แนะว่า เข้าใกล้มังสวิรัติ งดแป้งงดเนื้อสัตว์ กินกุ้งหอยปูปลาหนัก ผักผลไม้กากใยวันละครึ่งกิโล ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ตากแดด กิจกรรมเสริมปัญญาไม่ใช่มานั่งกดเล่นเกมส์ และ สังสรรค์กับโลกภายนอกและเพื่อนฝูง คุมโรคประจำตัวทุกชนิดให้กลับคืนเข้าที่ ไม่ว่าจะเป็นอ้วน ความดันสูง เบาหวานไขมัน งดสูบบุหรี่เด็ดขาด งดยา ที่ไม่จำเป็นเด็ดขาด ขณะเดียวกัน ยาที่ใช้ประจำตัวนั้น ไม่ว่าจะเป็นยาเบาหวานหรือความดันเลือกใช้ยาตัวที่ ออกฤทธิ์สำหรับเบาหวานหรือความดัน และแถมยังป้องกันสมองเสื่อมได้ด้วย อีกทั้ง ยาที่ใช้รักษาโรคสมองเสื่อมขณะนี้ เริ่มเข้าแถวออกมาแล้ว ภายในระยะเวลาหนึ่งปีนี้ ไม่ต่ำกว่า 8 ถึง 10 ตัว ดังนั้น รักษาสุขภาพให้ดีที่สุด

 

การเดินวันละ 10,000 ก้าว

  • หรือหากไม่สะดวกต้องทำงาน ก็ให้ เดิน 7,500-10,000 ก้าว ควบคู่กับการออกกำลังกายอื่น ๆ เลือกเวลาเดินตอนที่มีแสงแดดอ่อน ๆ เช่น เวลาเช้า หรือตอนเย็น เพราะแสงแดดไม่ได้ช่วยสร้างวิตามินดีอย่างเดียว แต่สร้างเสริมสุขภาพทั้งหมด และเดินให้สม่ำเสมอ อย่างน้อย 4-5 ครั้งต่อสัปดาห์ ทำให้ร่างกายแข็งแรงหลอดเลือดทำงานโดยสมบูรณ์ ส่งผลต่อสมองโดยตรง

รำมวย ไทเก็ก ไทชิ

  • นอกจากการเดิน ยังมีการออกกำลังกายประเภท ไทเก็ก หรือไทชิ เป็นการเคลื่อนไหวร่างกาย พร้อมกับการกำหนดลมหายใจ ทำสมาธิ เราสามารถรำไทเก็ก รำมวย ได้ตามสวนสาธารณะใกล้ ๆ บ้าน หรือเปิด ยูทูบ ทำตาม

การปั่นจักรยานอยู่กับที่

  • การปั่นจักรยานอยู่กับที่ ปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ ที่สำคัญต้องปั่นให้เร็ว การปั่นจักรยานอยู่กับที่ เชื่อมโยงกับการทำงานของสมอง ส่วนต่างๆ

การเล่นดนตรี

  • เต้นรำ ร้องเพลง เป็นกิจกรรมที่สร้างเสริมการทำงานของสมอง สามารถร้องเพลงในบ้าน หรือไปร้องคาราโอเกะกับเพื่อน การเต้นนั้นควรเป็นการเต้นที่มีจังหวะ เช่น เต้นบอลรูม เต้นลีลาศ มีจังหวะจะโคน คล้อยตามคู่เต้น และที่สำคัญ คือ การเล่นเครื่องดนตรี ประเภทใดก็ได้ หากเล่นไม่เป็นก็สามารถเริ่มหัดเล่นได้

การดื่มกาแฟ

  • การดื่มกาแฟ ก็ช่วยได้ แต่ดื่มในปริมาณที่เหมาะสมกับตนเอง ถ้าดื่มแล้วใจสั่นก็ลดปริมาณ หรือ เลือกช็อกโกแลตดำ ที่มีปริมาณโกโก้ 70%

อาหาร

  • อาหารช่วยชีวิต ประกอบด้วย การเข้าใกล้มังสวิรัติให้มากที่สุด แต่กิน กุ้ง หอย ปู ปลาได้ งดเนื้อสัตว์บกทุกชนิด กินผักผลไม้กากใย ผลไม้ที่กินได้ทั้งกลีบ ทั้งชิ้น ทั้งเปลือก ปริมาณครึ่งกิโลกรัมต่อวัน โดยให้ผักมากกว่าผลไม้ 2:1 และต้องเป็นผักผลไม้ที่ปลอดสารเคมีหรือผักอินทรีย์เท่านั้น เพิ่มถั่ว และลดแป้ง ทั้งข้าว ขนมปัง ข้าวเหนียว ก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น

 

 

อ้างอิง :  โครงการสบายสมอง Strong &Healthy