ทำไม? 'แสง'ส่งผลต่อการนอน ฟื้นฟูสุขภาพ ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมได้
‘โรคสมองเสื่อม’ ในผู้สูงอายุมีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากคนไทยมีอายุขัยยืนยาวขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่จะพบในกลุ่มอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป โดย 6 ใน 10 คนของผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมมีสาเหตุเกิดจากโรคอัลไซเมอร์ และประมาณการว่าไทยมีผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมราว 6 แสนคน
Keypoint:
- 'โรคอัลไซเมอร์' ภาวะสมองเสื่อมที่รักษาไม่หาย แต่เราสามารถชะลอการเสื่อมถอยของโรคให้เข้าสู่ระยะท้ายให้ช้าที่สุดได้ ผ่านการรักษาต่างๆ
- แสง สี ใช้บำบัดดูแลสุขภาพได้ ซึ่งในชีวิตของคนเราได้รับแสงธรรมชาติ จากตัวอาทิตย์ และในการดูแลผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม ได้มีการทดลองนำแสงมาใช้บำบัดผู้ป่วย
- การใช้แสงจ้า เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยให้ ผู้ป่วยมีคุณภาพการนอนหลับที่ดีขึ้น และสนับสนุนให้มีการฟื้นตัว ได้เร็วขึ้น
'โรคความจําเสื่อมอัลไซเมอร์' เป็นภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยมากถึง 60-80% ของภาวะสมองเสื่อม ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่คุกคามคนไทยและประชากรทั่วโลกมายาวนาน โดยในระยะหลังมีการตรวจพบโรคนี้ในผู้ป่วยที่มีอายุน้อยลง เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักไม่รู้ตัวว่าตนเอง กําลังเป็นโรคนี้
อีกทั้งโดยทั่วไปผู้ป่วยจะเริ่มแสดงอาการและสามารถวินิจฉัยพบเมื่อมีอายุมากกว่า 65 ปี จากข้อมูลกระทรวงสาธารณสุข คาดว่าจะเพิ่มจํานวนสูงขึ้นเป็น 1.1 ล้านคน ในปี 2573
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
หลงลืม พูดติดขัด สัญญาณเตือน ! อาการ 'โรคสมองเสื่อม'
20 เมนูสมุนไพร 'พรมมิ' บำรุงสมอง ไขมันต่ำ เสริมสุขภาพผู้สูงวัย
ระวัง ใช้โซเชียลมากเกินไปอาจ “สมองเสื่อม” แก้ได้ด้วย “โซเชียลดีท็อกซ์”
เช็กอาการแบบไหนเป็นโรคสมองเสื่อม CaregiverThai.com ช่วยได้เริ่ม1พ.ย.นี้
ภาวะสมองเสื่อม อาการถดถอย 6 ด้าน
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้จัดกิจกรรม 'Light & Life แสงกับสุขภาพ' โดยรศ.นพ.สุขเจริญ ตั้งวงษ์ไชย หัวหน้าศูนย์ดูแลภาวะสมองเสื่อม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่าการตรวจวินิจฉัยและการบำบัดรักษาโรคอัลไซเมอร์ ภาวะสมองเสื่อมเมื่อเกิดอาการแล้วอาจช้าเกินไป โรคนี้เมื่อเป็นแล้วไม่ได้เป็นปัญหาเฉพาะตัวผู้ป่วยเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงผู้ดูแลที่จะต้องดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง อาจทำให้เกิดภาวะเครียด ถือเป็นเรื่องที่ผู้ดูแลต้องเผชิญในการดูแลผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์
ยิ่งสังคมไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แบบ ( super age society ) ที่เราจะมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเกิน 20% ในปี 2566 ซึ่งหมายความว่าแนวโน้มการพบผู้ป่วยสมองเสื่อมก็จะเพิ่มขึ้นมากกว่าในปัจจุบัน
ภาวะสมองเสื่อมเป็นกลุ่มอาการเสื่อมถอยของสมรรถภาพสมองในด้านการรู้คิด (cognition) ซึ่งมี 6 ด้าน ได้แก่
- ความจำและการเรียนรู้
- การใช้ภาษา
- สมาธิเชิงซ้อน
- ความสามารถในการบริหารจัดการ
- การรับรู้ทักษะการเคลื่อนไหว
- การรู้คิดด้านสังคม
จนมีผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันและต้องพึ่งพาผู้ดูแล บางคนอาจจะมีอาการทางจิตหรือพฤติกรรมร่วมด้วย
โรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มภาวะสมองเสื่อมโดยจะมีอาการแสดงในระยะเริ่มต้นในปัญหาด้านความจำนำมาก่อนอาการด้านอื่นๆ
โดยกลุ่มอาการสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1.กลุ่มภาวะสมองเสื่อมที่รักษาไม่ได้ ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ หรือสมองเสื่อมจากปัญหาหลอดเลือดตีบ ซึ่งพบมากถึงร้อยละ 90
2.กลุ่มภาวะสมองเสื่อมที่รักษาได้ อาจเกิดจากโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ โรคซิฟิลิสสมอง หรือขาดวิตามินสูง กลุ่มนี้พบน้อยประมาณร้อยละ 10
สังเกตอาการเตือนของโรคสมองเสื่อม
โรคความจำเสื่อม ได้จากพฤติกรรมอาการหลงลืม จำสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้ เช่น
- พูดหรือถามคำถามเดิมซ้ำๆ
- วางของผิดที่ อย่างเอาโทรศัพท์ไปใส่ตู้เย็น เอาแปรงสีฟันไปใส่ตู้กับข้าว
- เอาของใช้ในครัวไปไว้ในห้องน้ำ แล้วก็หาของชิ้นนั้นไม่เจอ
- จำนัดหมายไม่ได้
- จำรายละเอียดเหตุการณ์ที่พึ่งผ่านไปไม่ได้
- กินข้าวแล้วบอกว่ายังไม่ได้กิน เป็นต้น
โดยอาการเหล่านี้จะต่างจากคนสูงวัยที่มีอาการหลงลืมทั่วไปคือ อาการหลงลืมเกิดขึ้นบ่อย ต้องใช้เวลานานในการนึกทบทวนแล้วก็ยังนึกไม่ออก เหมือนความจำเรื่องนั้นมันไม่เคยเกิดขึ้นหรือมันหายไปเลย ในขณะที่คนทั่วไปจะหลงลืมชั่วขณะแล้วพอจะนึกออกได้ในเวลาต่อมา
รศ.นพ.สุขเจริญ อธิบายต่อไปว่านอกจากอาการหลงลืมที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันแล้ว ผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์จะมีปัญหาด้านการสื่อสาร ไม่สามารถมีสมาธิจดจ่อกับเรื่องต่างๆ ได้นาน วางแผนหรือตัดสินใจใช้เหตุผลแก้ไขปัญหาไม่ได้ มีวิธีการคิดใช้เหตุผลไม่เหมาะสม
มีปัญหาเรื่องมิติและทิศทางไม่สามารถทำกิจกรรมที่มีลำดับขั้นตอนที่เคยทำได้ เช่น การใช้โทรศัพท์หรืออุปกรณ์ไฟฟ้า เริ่มไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันที่เคยทำได้หนักขึ้นเรื่อยๆ มีการเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพ บางคนจะมีอารมณ์หงุดหงิดเปลี่ยนแปลงง่าย
“บุคลิกภาพของผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะเปลี่ยนไปจากเดิมร่วมกับมีปัญหาทางจิตหรือพฤติกรรม เช่น มีอาการระแวง หึงหวงทั้งที่ไม่เคยเป็น พูดจาหยาบคาย วิตกกังวล หวาดกลัวไม่สมเหตุผล มีความสนใจสิ่งแวดล้อมลดลง ไม่สนใจเข้าสังคม แยกตัว จากที่เคยออกไปทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ นอกบ้าน อยู่ๆ ก็ไม่ไป เฉื่อยชาไม่ทำอะไร ไม่สนใจคนรอบข้าง ” รศ.นพ.สุขเจริญ กล่าว
ปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์
โรคอัลไซเมอร์เกิดจากสาเหตุที่หลากหลาย โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ
- อายุที่เพิ่มขึ้น โดยพบว่าผู้ที่มีอายุช่วง 65-70 ปี มีโอกาสมีภาวะสมองเสื่อมได้ประมาณ 1-2 % และมีโอกาสพบภาวะสมองเสื่อมหรือมีความชุกของโรคเพิ่มขึ้นเท่าตัว ทุกๆ ช่วงอายุ 5 ปีที่เพิ่มขึ้น
- เพศหญิงมีความเสี่ยงเป็นโรคนี้มากกว่าเพศชาย
- ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยเป็นโรคนี้จะมีความเสี่ยงสูงขึ้น
- ผู้ที่มีระดับการศึกษาน้อยมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ที่มีระดับการศึกษาสูง อาจเป็นเพราะผู้ที่มีระดับการศึกษาสูงมีโอกาสทำงานที่ต้องใช้สมองคิดวิเคราะห์มากกว่า ทำให้สมองถูกใช้งานอยู่ตลอดเวลา
- ภาวะหูตึง เพราะการที่ประสาทหูตึงหรือเสื่อมทำให้สมองถูกกระตุ้นลดลง
- การเกิดภยันตรายรุนแรงกับสมอง เช่น เกิดอุบัติเหตุทำให้สมองได้รับการกระทบกระเทือน สลบหรือไม่รู้ตัว
- มีความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ที่ไม่ได้รับการรักษาควบคุมให้ดี
- ภาวะอ้วนในวัยกลางคนซึ่งเพิ่มความเสี่ยงเมื่อมีอายุมากขึ้น
- ภาวะซึมเศร้าในผู้สูงวัย
- การใช้สารเสพติด การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอร์เกิน 21 มาตรฐานการดื่มต่อสัปดาห์
- การขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เก็บตัวลำพัง
- การไม่ได้ทำงานหรือทำกิจกรรมที่ต้องใช้สมอง
รักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ภาวะสมองเสื่อมโดยใช้แสงบำบัด
เมื่อมีอาการเริ่มต้นที่น่าสงสัยว่าจะเป็นโรคอัลไซเมอร์ แพทย์จะวินิจฉัยด้วยการซักประวัติจากผู้ป่วยและญาติ คนใกล้ชิดหรือผู้ดูแลที่สามารถให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน และพฤติกรรมที่บ่งบอกถึงความถดถอยด้านการทำงานของสมองของผู้ป่วย
พร้อมทั้งให้ผู้ป่วยเข้ารับการทดสอบสมรรถภาพของสมองโดยใช้แบบทดสอบการรูคิด ประเมินเกี่ยวกับความจำ สมาธิ การตัดสินใจ ทิศทาง การใช้ภาษา และการคำนวณ เป็นต้น จากนั้นจึงจะเป็นการตรวจเลือดและส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตรวจเอกซเรย์ CT หรือ MRI สมอง เพื่อค้นหาสาเหตุของภาวะสมองเสื่อมให้ชัดเจนต่อไป
“หากวินิจฉัยโรคได้เร็วเท่าไร ผู้ป่วยและคนรอบข้างก็จะได้วางแผนการใช้ชีวิตได้ดียิ่งขึ้นเพื่อรับมือกับอาการของโรคได้ การรักษาผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ไม่ใช่การรักษาให้หายจากโรค แต่เป็นการวางแผนการใช้ชีวิตและรักษาประคับประคองตามอาการและปัญหาที่เกิดขึ้น ชะลอภาวะสมองให้เสื่อมช้าที่สุด” รศ.นพ.สุขเจริญ ย้ำ
ปัจจุบันแพทย์จะรักษาโดยการให้ยาเพิ่มสารสื่อประสาทเกี่ยวกับความจำ จำพวกยากลุ่มโดเนพิซิล (donepezil)ไรวาสทิกมีน (rivastigmine) กาแลนตามีน (galantamine) แต่ปัญหาคือ ยากลุ่มเหล่านี้เป็นยานอกบัญชียาหลัก แต่เชื่อว่า อีกประมาณ 1-2 ปี จะมียาชื่อสามัญ หรือ Local made ซึ่งเป็นยาที่หมดสิทธิบัตรแล้ว และนำเข้าวัตถุดิบมาจากประเทศอื่น แต่มาบรรจุในประเทศไทย ก็จะเป็นอีกทางเลือกให้กับผู้ป่วย
ขณะนี้ มีแนวทางการบำบัดรักษาอื่นๆ ร่วมด้วย ที่น่าสนใจคือ แถบยุโรป อเมริกา ศึกษาแนวทาง Light therapy หรือการใช้แสงสว่าง สามารถทำให้ความจำของผู้ป่วยดีขึ้น โดยจะทำการทดลองโดยนำผู้ป่วยไว้ภายในห้องที่ถูกสร้างขึ้นพิเศษ และเปิดไฟที่มีความสว่างมากในระดับหนึ่ง เพื่อให้พวกเขารับรู้ถึงแสงสว่างว่า ช่วงไหนคือกลางวันกลางคืน เป็นการกระตุ้นศูนย์รับรู้ที่สูญเสียไปจากภาวะสมองเสื่อมนั่นเอง แต่ทั้งหมดเป็นเพียงงานวิจัยที่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน
ขณะที่ รศ.ดร.ธวัชชัย เตชัสอนันต์ อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าจากการศึกษาผลการบำบัดด้วยแสงจ้าต่อการนอน ของผู้ป่วยวิกฤตหลังผ่าตัด พบว่าผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับแสงจ้ามีการนอนหลับที่ดีขึ้นกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับ แสงจ้า
ดังนั้น การใช้แสงจ้าจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถช่วยให้ ผู้ป่วยมีคุณภาพการนอนหลับที่ดีขึ้น และสนับสนุนให้มีการฟื้นตัว ได้เร็วขึ้น และอาจช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนหลังฝ่าตัดในผู้ป่วยได้
นอกจากนั้น จะมีการนวดในลักษณะการนวดผ่อนคลาย ร่วมกับการฟังเพลง เรียกว่า massage and music therapy ซึ่งสถาบันทางการแพทย์หลายแห่งในต่างประเทศมีการทดลองทำวิธีนี้ ซึ่งพบว่า มีผลทำให้ผู้ป่วยอัลไซเมอร์มีความจำที่ดีขึ้น เพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกผ่อนคลาย ทำให้อารมณ์ดีขึ้น และการรับรู้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ประเทศไทยมีการศึกษาเรื่องนี้เช่นกัน แต่เน้นการนวดแผนไทยเพียงอย่างเดียว โดยโรงพยาบาลจิตเวชสงขลา
“อัลไซเมอร์ถือเป็นกลุ่มอาการสมองเสื่อมที่รักษาไม่หาย ทำได้เพียงให้อาการดีขึ้น ขณะเดียวกันจำนวนผู้ป่วยอัลไซเมอร์ในประเทศไทยก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น แต่ในส่วนของแพทย์ที่ทำการรักษาเกี่ยวกับโรคนี้โดยตรงยังมีจำนวนไม่เพียงพอ ยาที่ใช้รักษาเกี่ยวกับความจำก็ยังไม่ได้บรรจุอยู่ในบัญชียาหลัก การให้ยากับผู้ป่วยจึงไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ และอีกปัญหาหนึ่งที่มองข้ามไม่ได้คือ สังคมไทยยังไม่เข้าใจเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ โดยยังมองว่าการที่คนแก่ความจำเสื่อมเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่จริงๆ แล้วอัลไซเมอร์ คือ โรคที่มักเกิดขึ้นในกลุ่มผู้สูงอายุ และมีความเจ็บปวดกับภาวะที่เป็นมากเช่นกัน” ผศ.นพ.สุขเจริญกล่าว
วิธีดูแลรักษาสมอง ป้องกันโรคอัลไซเมอร์ก่อนสาย
ภาวะสมองเสื่อมเป็นเรื่องป้องกันได้ ซึ่งหลักฐานงานวิจัยหลายชิ้นชี้ว่าคนเราสามารถชะลอการเกิดภาวะสมองเสื่อมได้ตั้งแต่อายุยังน้อย
รศ.นพ.สุขเจริญ แนะนำว่า หากไม่อยากสมองเสื่อมและอยากให้สมองสดใสอยู่เสมอต้องเริ่มตั้งแต่อายุยังน้อย ปรับไลฟ์สไตล์ของเราให้เป็นสายสุขภาพซึ่งทำได้ง่ายๆ เช่น
- เริ่มจากไม่เครียด ไม่ซึมเศร้า
- มีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม
- ออกกำลังกายต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
- ตรวจสุขภาพประจำปี
- รักษาโรคประจำตัวที่มี
- กินอาหารสายสุขภาพให้ครบห้าหมู่
- หลีกเลี่ยงการใช้สารเสพติดและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- งดการสูบบุหรี่
- นอนหลับพักผ่อนให้มีคุณภาพการนอนที่ดี
- เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ในชีวิต
- ทำกิจกรรมยามว่าง
- ฝึกสมาธิ
อ้างอิง:โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย