ชื้น แฉะ น้ำขัง ต้องระวัง เช็ก 6 'โรคผิวหนัง' ที่พบบ่อยใน ‘หน้าฝน’

ชื้น แฉะ น้ำขัง ต้องระวัง เช็ก 6 'โรคผิวหนัง' ที่พบบ่อยใน ‘หน้าฝน’

สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ชวนประชาชน เช็ก 6 โรคผิวหนัง ที่มากับหน้าฝน จากความชื้นแฉะ น้ำขัง อาจทำให้เกิดโรคผิวหนัง เช่น กลาก เกลื้อน เชื้อรา น้ำกัดเท้า พร้อมวิธีปฏิบัติตัวและการรักษา

Key Point :

  • ในช่วงหน้าฝน ที่มีอากาศชื้น แฉะ อาจเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคผิวหนัง เช่น น้ำกัดเท้า กลาก เกลื้อน เชื้อรา หรือ ทำให้อาการเดิมกำเริบขึ้น เช่น ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง
  • นอกจากนี้ ต้องระวังเรื่องของแมลง เช่น ยุง หมัด ไร ด้วงก้นกระดก ที่หากสัมผัส อาจทำให้เกิดผื่นผิวหนังอักเสบได้ 
  • สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ชวนเช็ก 6 โรคผิวหนัง ที่มากับหน้าฝน พร้อมวิธีป้องกันและรักษา

 

 

ในฤดูฝนเป็นช่วงอากาศชื้น แฉะ พื้นที่บางแห่งมีน้ำท่วมขัง เหล่านี้อาจส่งผลให้เกิดโรคผิวหนังตามมา ไม่ว่าจะเป็นกลาก เกลื้อน น้ำกัดเท้า เชื้อรา หรือแมลงต่างๆ ที่พบในช่วงหน้าฝน เช่น ยุง ไร หมัด ด้วงก้นกระดก ที่หากสัมผัสจะอาจทำให้ผื่นผิวหนังอักเสบได้ 

 

พญ.ชนิศา เกียรติสุระยานนท์ สถาบันโรคผิวหนัง กล่าวในรายการ รู้ทันปัญหาผิว ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ สถาบันโรคผิวหนัง ว่า สำหรับโรคผิวหนังที่มักพบในช่วงหน้าฝน อาทิ ผื่นแพ้ผิวหนังจากเชื้อรา การอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียบางชนิด โรคน้ำกัดเท้า ซึ่งเมื่ออากาศเปลี่ยนอาจทำให้โรคผื่นแพ้ผิวหนังแย่ลง และผื่นผิวหนังอักเสบที่เกิดจากแมลง

 

เกลื้อน 

ทั้งนี้ อาการผื่นแพ้ผิวหนังจากเชื้อรา ได้แก่ เกลื้อน มีลักษณะเป็นผื่นวงกลม อาจมีหลายวงซ้อนไปมา หรืออาจจะรวมกันเป็นผื่นขนาดใหญ่ ผื่นเกลื้อนมีขุยที่มีสีแตกต่างกัน มักจะเกิดบริเวณลำตัว หลัง อก ท้อง ไหล่ คอ และมักจะเกิดในคนไข้ที่เหงื่อออกเยอะ ใส่เสื้อผ้าอับชื้น

  • การรักษา ส่วนใหญ่คนไข้มักจะซื้อยาทาที่ร้านขายยาและมักจะอาการดีขึ้น แต่หาก 2 สัปดาห์ ทายาแล้วไม่ดีขึ้น ควรจะให้แพทย์ตรวจ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

 

2. กลาก

ถัดมา คือ กลาก มีความต่างจากโรคเกลื้อน ลักษณะผื่นขอบเขตค่อนข้างชัด มีขุย หากเราตากฝน ไม่อาบน้ำมีความเป็นไปได้ว่าจะติดเชื้อรา เพราะเชื้อราชอบบริเวณที่อับชื้น หากไม่รักษาความสะอาด ก็มีโอกาสเป็นกลากมากขึ้น โดยเฉพาะหน้าฝน พบผู้ป่วยที่เป็นกลาก เกลื้อน เยอะขึ้น

  • วิธีรักษา หากเป็นกลากสามารถซื้อยาที่ร้านขายยาทาได้ แต่บางกรณีที่ร้านขายยาให้ยาผิด เช่น ให้ยาสเตียรอยด์ ทำให้โรคกลากแย่ลงได้ กำเริบ เป็นเยอะขึ้น ดังนั้น กรณีนี้คนไข้ต้องมาตรวจรักษาที่โรงพยาบาล โดยระยะเวลาในการรักษา 1-3 เดือน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการอักเสบด้วยว่าเป็นมาก เป็นน้อย และเป็นบริเวณไหน

 

3. โรคน้ำกัดเท้า

สำหรับโรคน้ำกัดเท้า ลักษณะ คือ การระคายเคืองผิวหนังเนื่องจากความอับชื้น เมื่อสัมผัสกับสิ่งสกปรกบริเวณน้ำขังหลังฝนตก ทำให้เกิดผื่นบริเวณเท้า ซอกนิ้วเท้า บางรายอาจติดเชื้อรา แบคทีเรียซ้ำซ้อนได้

  • วิธีการดูแลตัวเอง คือ หลีกเลี่ยงการเอาเท้าจุ่มบริเวณที่มีน้ำขัง แต่หากโดนน้ำแล้ว แนะนำให้อาบน้ำ ล้างสบู่ให้สะอาดและทำให้แห้ง

 

4. โรคเท้าเหม็น 

สำหรับโรคเท้าเหม็น เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณผิวหนังชั้นบน หากสังเกตจะพบว่ามีหลุมเล็กๆ ฝ่าเท้ากับง่ามเท้า และส่งกลิ่นเหม็น แตกต่างจากน้ำกัดเท้า ที่เป็นการระคายเคืองจากน้ำแต่อาจไม่มีแบคทีเรีย

  • ขณะเดียวกัน จากข้อสงสัยที่ว่า ถุงเท้ายูเรียสามารถรักษาได้หรือไม่ หลักการ คือ ยูเรียลอกหนังชั้นหนังกำพร้าออก ทำให้หนังนิ่มขึ้นเป็นการแก้ปัญหาได้เบื้องต้น แต่ปัญหาเท้าเหม็นต้องมาตรวจว่าติดเชื้อหรือไม่ จะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

 

 

5. ผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง

เป็นโรคที่เป็นตลอดทั้งปี แต่เมื่ออากาศเปลี่ยน เข้าหน้าฝน อุณหภูมิ ความชื้นที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดผื่นภูมิแพ้ที่กำเริบได้ กระตุ้นให้ที่เป็นอยู่แย่ลง วิธีสังเกตอาการ คือ ผื่นแดง แห้ง ลอก อาจจะเป็นมากขึ้น หรือในบางรายที่อาการมาก อาจจะมีผื่นแฉะ น้ำเหลืองซึมได้ บริเวณที่มักเป็น คือ ข้อพับ แขน ขา ใบหน้า ลำคอ

  • ควรรีบมาพบแพทย์เพราะอาจเกิดการติดเชื้อซ้ำซ้อนได้ เช่น เชื้อรา แบคทีเรีย

 

6. ผื่นผิวหนังอักเสบจากแมลง

แมลงกับหน้าฝน เป็นอะไรที่อยู่คู่กัน เช่น ยุง ไร หมัด และที่สำคัญ คือ ด้วงก้นกระดก ที่มีสารก่อการระคายเคืองผิว ทำให้เกิดผื่น

  • การรักษาหากเป็นไม่มากสามารถซื้อยาทาเองได้ แต่หากเป็นเยอะแนะนำให้มาโรงพยาบาลเพราะต้องทานยา และอาจเกิดรอยดำหลังการอักเสบได้ แต่ไม่ถึงกับเป็นรอยแผลเป็น

 

 

ชื้น แฉะ น้ำขัง ต้องระวัง เช็ก 6 \'โรคผิวหนัง\' ที่พบบ่อยใน ‘หน้าฝน’

 

 

ปัญหาผิวหนังอื่นๆ 

พญ.ชนิศา อธิบายเพิ่มเติมว่า สำหรับคนที่เป็นแผลสดและเปียกน้ำฝน เพิ่มโอกาสการติดเชื้อ ไม่ว่าจะแบคทีเรีย รา หรือเชื้ออื่นๆ ดังนั้น การดูแลตัวเองเบื้องต้น จะต้องล้างน้ำเปล่าและน้ำสบู่ ติดตามดูอาการว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ หากเริ่มอักเสบ เป็นหนอง ต้องรีบพบแพทย์

 

สำหรับ คนอ้วน มีโอกาสจะเป็นเชื้อราในร่มผ้าได้ เพราะมีเนื้อที่ทับกัน มีเหงื่อ อับชื้น ทำให้เชื้อราโตง่ายกว่า ขณะเดียวกัน ยารักษาเชื้อราที่ใช้ไปนานๆ ไม่เป็นอันตราย แต่หากใช้ผิดวิธี เช่น ยาที่ผสมสเตียรอยด์และใช้โดยไม่รู้ อาจจะได้รับผลข้างเคียงกับสเตียรอยด์โดยไม่รู้ตัว ดังนั้น ควรพบแพทย์จะปลอดภัยกว่า

 

อย่างไรก็ตาม หากไม่ได้รับการรักษาในระยะยาว ไม่ใช่แค่เชื้อรา แบคทีเรีย แต่มีเชื้ออื่นๆ เช่น ไมโครแบคทีเรีย แบคทีเรียขั้นสูง ในกลุ่มนี้จะรักษาค่อนข้างยาก และกินยานาน อาจจะใช้เวลาหลายเดือนถึงเป็นปี แนะนำให้ตรวจสอบตัวเองเบื้องต้นและพบแพทย์แต่เนิ่น หากซื้อยาทานเอง ก็ให้เวลายาทำงาน 2 สัปดาห์ หากไม่ดีขึ้นแนะนำให้พบแพทย์

 

การใช้สกินแคร์ในหน้าฝน

ท้ายนี้ พญ.ชนิศา แนะว่า หน้าฝนเป็นหน้าที่อากาศค่อนข้างชื้น กลุ่มที่เป็นผื่นภูมิแพ้ฤดูนี้อาจจะทำให้อาการกำเริบ หลักการทั่วไป คือ ทามอยเจอไรเซอร์ ครีมบำรุงผิวเป็นประจำ หลีกเลี่ยงน้ำขัง น้ำสกปรก หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือโดนไปแล้ว ให้ล้างทำความสะอาดและทำให้แห้ง อาจจะใช้แป้งโรย โดยเฉพาะคนที่เคยติดเชื้อรา จะมีแป้งโรยป้องกันเชื้อราก็สามารถช่วยได้