เรื่องผิว กับ 'คุณแม่มือใหม่' ตั้งครรภ์ต้องระวังอะไร ทำเลเซอร์ได้หรือไม่
สำหรับคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ เรียกได้ว่ามีสิ่งที่ต้องดูแลหลายๆ อย่าง รวมถึง 'โรคผิวหนัง' อย่างผื่นที่จำเพาะในสตรีตั้งครรภ์ ที่มีอาการของโรคแตกต่างกันตั้งแต่อาการคัน เป็นขุย ไปจนถึงส่งผลต่อเด็กทำให้แท้งได้ พร้อมไขข้อสงสัย ตั้งครรภ์ทำเลเซอร์ได้หรือไม่ ?
Key Point :
- การเปลี่ยนแปลงทางผิวหนังขณะตั้งครรภ์ ที่พบ ได้แก่ ผื่นจากฮอร์โมน และ ผื่นที่จำเพาะในสตรีตั้งครรภ์ ซึ่งมีอาการและลักษณะของโรคแตกต่างกัน ตั้งแต่อาการที่ไม่ส่งผลต่อทารก ไปจนถึงอาจทำให้แท้งได้
- ผื่นที่เกิดจากฮอร์โมน จะมีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง เส้นผม เล็บ เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และเส้นเลือด
- ขณะที่ ผื่นจำเพาะในสตรีตั้งครรภ์ สามารถพบได้ตั้งแต่ไตรมาสแรก จนถึงหลังตั้งครรภ์ อาการมากน้อยแตกต่างกันไป และบางโรคส่งผลต่อทารกในครรภ์ ดังนั้น คุณแม่ควรหมั่นสังเกตอาการ หากอาการคันรุนแรง ผิวสีเหลือง ควรพบแพทย์โดยเร็ว
พญ.ศศิมา ธรรมรุจา นายแพทย์ปฏิบัติการ สถาบันโรคผิวหนัง อธิบายในรายการ รู้ทัน ปัญหาผิว ของ สถาบันโรคผิวหนัง เกี่ยวกับ โรคผิวหนังในสตรีตั้งครรภ์ โดยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงทางผิวหนังขณะตั้งครรภ์ ได้แก่ ผื่นจากฮอร์โมน และ ผื่นที่จำเพาะในสตรีตั้งครรภ์
ผื่นจากฮอร์โมน
สำหรับ ผื่นที่เกิดจากฮอร์โมน จะมีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง เส้นผม เล็บ เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และเส้นเลือด ดังนี้
- ผิวหนัง มักจะมีสคล้ำที่บริเวณผิวหนังหน้าท้อง จะเห็นว่าระหว่างการตั้งครรภ์ฮอร์โมนเอสโตรเจนสูงขึ้น ทำให้มีฝ้าชุดขึ้นในบริเวณหน้าด้วย
- เส้นผม จะมีลักษณะภาวะขนดก ผมร่วงหลังตั้งครรภ์ ซึ่งพบได้นานถึง 15 เดือนหลังคลอด
- เล็บ เกิดเล็บหนาตัวขึ้น เล็บร่อน และเล็บแตกง่าย
- เส้นเลือด สามารถทำให้เกิดจ้ำเลือด ฝ่ามือแดง และเนื้องอกในหลอดเลือด ซึ่งไม่เป็นอันตราย สามารถหายได้หลังคลอด
- เนื้อเยื้อเกี่ยวพัน เนื่องจากมีความผิดปกติของคอลลาเจน ทำให้เกิดผิวแตกลาย ซึ่งจะดีขึ้นได้หลังคลอด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผื่นจำเพาะในสตรีตั้งครรภ์
ขณะที่ ผื่นจำเพาะในสตรีตั้งครรภ์ แบ่งเป็น 3 ไตรมาส คือ
- ไตรมาส 1-2
จะพบภูมิแพ้ในขณะตั้งครรภ์ อาการ คือ มีผื่นแดง มีขุย รอยแกะเกา ส่งผลกระทบต่อมารดา คือ ผื่นมักหายหลักคลอด แต่ไม่มีผลกระทบต่อทารก การรักษา คือ ครีมบำรุง ยาสเตียรอยด์ชนิดความเข้มข้นไม่สูง ยาแก้คัน โรคนี้จะไม่มีภาวะแทรกซ้อนในมารดาและทารก นอกจากแม่จะมีอาการคัน ไม่สบายตัว การวินิจฉัย คือ ทางคลินิก ไม่จำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ
- ไตรมาส 2-3
1. ผื่นในโรค Intrahepatic cholestasis of pregnancy คือ ไม่มีรอยโรคที่ผิวหนังชัดเจน คนไข้จะมีอาการคันที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ลามไปทั่วตัว รอยเกา ผิวสีเหลือง ผื่นมักหายหลังคลอด ส่วนผลกระทบต่อทารก คือ คลอดก่อนกำหนด ภาวะทารกเครียด และอาจจะมีภาวะแท้งในขณะตั้งครรภ์ได้ การรักษา คือ ใช้ยา Ursodeoxycholic acid จะลดเรื่องของกรดน้ำดี ลดอัตราการเสียชีวิตของทารก
2. โรคตุ่มน้ำเพมฟิกอยด์ คือ ผื่นลมพิษ ตุ่มน้ำ รอยเกา สะเก็ด โดยผื่นมักจะหายหลังคลอด ส่วนผลกระทบต่อทารก คือ คลอดก่อนกำหนด น้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ และ 10% ของทารกอาจมีตุ่มน้ำ การรักษา คือ ใช้ยาสเตียรอยด์ ยาแก้คัน ครีมบำรุง การวินิจฉัยจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อไปตรวจดูว่ามีการแยกชั้นของผิวหนังหรือไม่ที่ทำให้เกิดตุ่มน้ำเพื่อยืนยันการวินิจฉัย
- ไตรมาส 3- หลังตั้งครรภ์
โรคที่พบได้ คือ โรค Polymorphic eruption of pregnancy อาการ คือ ผื่นลมพิษ ตุ่มน้ำใส ผื่นแดง มีขุย ผื่นมักหายหลังคลอด และไม่มีผลกระทบต่อทารก การรักษา คือ ยาสเตียรอยด์ ยาแก้คัน และครีมบำรุง
“โรคเหล่านี้จะเป็นโรคจำเพาะหญิงตั้งครรภ์เท่านั้น และหลังตั้งครรภ์ โรคส่วนใหญ่จะหายได้เอง แต่ 3 โรคหลัก ที่อาจจะกลับมาเป็นได้ คือ ภูมิแพ้ผิวหนัง โรคตุ่มน้ำเพมฟิกอยด์ และ โรค Polymorphic eruption of pregnancy ขณะเดียวกัน โรค Intrahepatic cholestasis of pregnancy ซึ่งคนไข้จะคันมากและมีอาการเหลือง ทำให้ทารกอาจเสียชีวิตขณะตั้งครรภ์ ต้องได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างเร่งด่วนเพื่อลดอัตราการตายทารกในครรภ์”
การปฏิบัติตัว รักษาเบื้องต้น
การรักษาเบื้องต้น พญ.ศศิมา แนะนำให้ทาครีมบำรุงผิวให้ชุ่มชื่นเพียงพอ ลดอัตราการคัน หากมีตุ่มน้ำ แนะนำให้ใช้ยาสเตียรอยด์ชนิดเข้มข้นไม่มาก และหากมีอาการคันให้ทานยาแก้คัน แนะนำให้พบแพทย์เพื่อวินิจฉัยได้ถูกต้อง และได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เพราะยาบางชนิดคนท้องไม่สามารถใช้ได้
“สำหรับยาที่รักษาโรคผิวหนังที่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ คือ ยาทากลุ่มวิตามินเอ ทำให้มีผลข้างเคียงต่อทารก ในส่วนของยาทาน คือ กรดวิตามินเอ ยากรดภูมิบางชนิด ยาปฏิชีวนะบางกลุ่ม เพราะฉะนั้น การใช้ยาในระหว่างตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะโรคผิวหนังหรือไม่ใช่โรคผิวหนัง ควรรักษาภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะจะมีผลต่อเด็กได้”
พันธุกรรมกับโรคผิวหนัง
ขณะเดียวกัน จากข้อคำถามที่ว่า พันธุกรรมเกี่ยวข้องกับโรคผิวหนังในหญิงตั้งครรภ์หรือไม่ หลักๆ จะไม่เกี่ยว เพราะโรคผิวหนังที่เกิดส่วนใหญ่จะมาจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป แต่จะมีอยู่โรคหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการคันและเหลืองได้ คือ โรค Intrahepatic cholestasis of pregnancy ซึ่งเป็นโรคที่ถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม ทางยีนเด่น
"ดังนั้น โรคที่ต้องระวังเป็นพิเศษ มี 2 โรค คือ โรคตุ่มน้ำเพมฟิกอยด์ ทำให้คลอดเร็วก่อนกำหนด มีตุ่มน้ำ ทารกตัวเล็ก และ โรค Intrahepatic cholestasis of pregnancy ต้องได้รับการรักษาอย่างท่วงที"
ตั้งครรภ์ทำเลเซอร์ได้หรือไม่
พญ.ศศิมา กล่าวว่า ระหว่างตั้งครรภ์ไม่แนะนำให้ทำเลเซอร์ แต่หลังจากตั้งครรภ์ระหว่างให้นมบุตร สามารถทำได้ไม่มีข้อห้ามเพราะยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์ที่ชัดเจนว่าการทำเลเซอร์จะมีการสะสมของพลังงานที่จะผ่านไปยังน้ำนมแม่หรือไม่ ดังนั้น สามารถได้ แต่ให้เลี่ยงการฉีดสารเติมเต็ม เช่น ฟิลเลอร์ สารลดเลือนริ้วรอย และเมโสละลายไขมัน จนกว่าจะหยุดให้นมบุตร
“สำหรับการใช้สกินแคร์ในหญิงตั้งครรภ์ แนะนำให้ใช้ครีมบำรุงผิว มอยเจอร์ไรเซอร์ให้เพียงพอ ทาครีมกันแดดป้องกัน เพราะช่วงตั้งครรภ์ ฮอร์โมนสูงมากขึ้น มีโอกาสเป็นฝ้ามากขึ้น เพราะฉะนั้น ครีมกันแดดจำเป็นมาก” พญ.ศศิมา กล่าว