ไอเดีย!! จัดชุดสังฆทาน ให้ได้บุญ ดีต่อสุขภาพพระสงฆ์
วันหยุดยาวในช่วงอาสาฬหบูชา-เข้าพรรษา ปี2566 นี้ เหล่าพุทธศาสนิกชนจะร่วมกันทำบุญตักบาตร ถวายสังฆทาน ฟังธรรมเทศนาช่วงเช้า และเวียนเทียนช่วงค่ำ ปัจจุบันการตักบาตร จัดชุดสังฆทาน เป็นสิ่งหนึ่งที่ประชาชน มักนำมาถวายพระ
Keypoint:
- วันอาสาฬหบูชา และเทศกาลเข้าพรรษาปีนี้ ชาวพุทธได้ไปร่วมพิธีทำบุญตักบาตร เวียนเทียนจำนวนมาก แต่การนำข้าวของ-อาหารที่ดีต่อสุขภาพ และเลือกถวายสังฆทานที่จำเป็นจริงๆ คำนึงถึงสุขภาพของพระสงฆ์
- สิ่งที่ถวายพระสงฆ์ ควรเพิ่มข้าวกล้อง ผัก ปลา นมพร่องมันเนย และลดหวาน มัน และเค็ม เพื่อดูแลสุขภาพพร้อมลดปัญหาโรคร้ายที่จะเกิดขึ้นต่อพระสงฆ์
- ชุดสังฆทาน ควรถวายข้าวของเครื่องใช้ ที่ได้ใช้แน่นอน เช่น กระดาษชำระ มีดโกนหนวด สบู่ ยาสระผม และผลิตภัณฑ์จำเป็นในการทำความสะอาดวัด ผลิตภัณฑ์ซักผ้า รวมถึงยาที่ต้องดูวันหมดอายุของยาเป็นสำคัญ
วันอาสาฬหบูชา คือ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ก่อนวันเข้าพรรษาซึ่งเริ่มตั้งแต่แรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ถึงแรม 1 ค่ำ เดือน 11 วันอาสาฬหบูชา ได้รับการประกาศให้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เมื่อพุทธศักราช 2501 เช่นเดียวกับวันมาฆบูชาและวันวิสาขบูชา
ขณะที่ วันเข้าพรรษา เป็นหนึ่งในวันสำคัญของศาสนาพุทธ ที่ต่อเนื่องมาจากวันอาสาฬหบูชา โดยเป็นวันที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานว่าจะพักประจำอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดระยะเวลา 3 เดือนตามที่พระธรรมวินัยบัญญัติไว้ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น
ทว่าการใส่บาตรพระ หรือการจัดสังฆทาน ควรจะใส่ใจสุขภาพของพระสงฆ์ด้วยการเลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และเลือกถวายสังฆทานที่จำเป็นจริงๆ ในวันอาสาฬหบูชา และเทศกาลวันเข้าพรรษาปีนี้ 'กรุงเทพธุรกิจ' ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนจัดชุดสังฆทานให้ได้บุญ และดีต่อสุขภาพของพระสงฆ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เคล็ด(ไม่)ลับ ปลุกพลังการทำงานอย่างไร? หลังวันหยุดยาว
วันอาสาฬหบูชา 2566 พุทธศาสนิกชนร่วมหมื่นคนทำบุญตักบาตรบนหลังช้าง 37 เชือก
พิธีเจริญพระพุทธมนต์ ถวายพระพรชัยมงคล เวียนเทียน อาสาฬหบูชา 2566
'4 เพิ่ม 2ลด'ไอเดียตักบาตรและถวายสังฆทาน
ปัจจุบันชาวพุทธส่วนใหญ่มักจะใส่บาตรพระด้วยอาหารที่ทำสำเร็จรูป หรืออาหารถุง เพื่อความสะดวก รวมถึงการซื้อชุดสังฆทานที่มีขายอยู่ทั่วไป เพื่อถวายพระ แต่สิ่งที่หลายคนอาจจะไม่ได้ตระหนักนั่นก็คือ อาหารที่ใส่บาตร หรือชุดสังฆทานที่ถวายไปนั้นดีต่อสุขภาพของพระสงฆ์หรือไม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้แนะไอเดีย 4 เพิ่ม 2 ลด ในการตักบาตรที่ดีต่อสุขภาพของพระสงฆ์ ดังไปต่อนี้
1.เพิ่มข้าวกล้อง
ข้าวกล้องมีสารเส้นใยสูงมากกว่าข้าวขาว 3-7 เท่า การกินข้าวกล้องจะได้สารเส้นใยไปพร้อมๆกับสารอาหารบำรุงร่างกายสารพัดชนิด สารเส้นใยนี้จะช่วยซับเอาน้ำมันและน้ำตาลที่กินเข้าไปล้นเกิน ทิ้งเป็นกากอุจจาระ ซึ่งนอกจากจะช่วยควบคุมน้ำหนักแล้ว ยังสามารถช่วยควบคุมระดับไขมันและระดับน้ำตาลในเลือดไม่ให้สูงเกินไป
2.เพิ่มผัก
ผักอุดมไปด้วย วิตามิน แร่ธาตุ ใยอาหาร และวิตามินของผักหลากสี ช่วยเสริมสร้าง ควบคุมการทำงาน ช่วยต้านอนุมูลอิสระที่เป็นตัวทำลายเซลล์ในร่างกาย
3.เพิ่มปลา
ปลาเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูงและคุณภาพดีเหมือนเนื้อสัตว์ทั่วๆ ไป นอกจากนั้นยังมีวิตามิน เกลือแร่ และคาร์โบไฮเดรต โดยเฉพาะมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ในการบำรุงสมอง บำรุงเส้นประสาทและสายตา ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด
4.เพิ่มนมพร่องมันเนย
นมพร่องมันเนย คือ นมที่สกัดแยกมันเนยออกเพียงบางส่วน ทำให้มีพลังงานต่ำ และมีปริมาณไขมันเพียงเล็กน้อย โดยมีโปรตีนและแคลเซียมเทียบเท่ากับนมธรรมดา ซึ่งเป็นนมที่เหมาะอย่างมากสำหรับผู้สูงอายุหรือคนทั่วไปที่มีปัญหาเรื่อง ความอ้วนหรือมีไขมันในเส้นเลือดสูง
ขณะที่สิ่งที่ควรลดนั้น มี 2 สิ่งคือ
1.ลดหวาน เพราะการกินน้ำตาลมาก ทำให้ได้แต่พลังงานที่มากเกินไปจะทำให้อ้วน
2.ลดเค็ม ซึ่งการได้รับโซเดียมมากเกินไปมีความสัมพันธ์กับโรคความดันโลหิตสูง และหลายโรค
จัดชุดสังฆทานอย่างไร? พระสงฆ์ได้ใช้จริง ไม่ก่อโรค
สำหรับการจัดชุดหรือเลือกซื้อของถวายชุดสังฆทาน สามารถปฎิบัติได้ดังนี้
'ควรทำ'
1. ถวายข้าวของเครื่องใช้ ที่ได้ใช้แน่นอน เช่น กระดาษชำระ มีดโกนหนวด สบู่ ยาสระผม และควรดูวันหมดอายุของสินค้านั้นด้วย
2. อาหารที่มีประโยชน์ ย่อยง่าย รสไม่จัด
3. ผลิตภัณฑ์จำเป็นในการทำความสะอาดวัด ผลิตภัณฑ์ซักผ้า
'ไม่ควร'
1.ไม่ถวายอาหารติดมัน อาหารทอด หรืออาหารแปรรูป ผลไม้บางชนิดที่มีน้ำตาลสูง
2.ไม่ถวายผลิตภัณฑ์ปรับผ้านุ่มที่มีกลิ่นหอม โลชั่นทาผิวกลิ่นหอม น้ำหอม
3.ไม่ถวายจีวรโดยไม่ได้ศึกษาหรือสอบถามพระสงฆ์ก่อน ทำให้สีและเนื้อผ้าจีวรไม่ตรงกับความต้องการของพระสงฆ์
สำหรับการเลือกซื้อสินค้าจัดชุดสังฆทานหรือเลือกซื้อสังฆทานสำเร็จรูป ขอให้ยึดหลักดังนี้
1.ผลิตภัณฑ์อาหาร ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีวันหมดอายุเหลืออยู่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน อาหารกระป๋อง ต้องไม่บุบบี้หรือโป่งพอง หรือมีรอยรั่ว และไม่เป็นสนิม
2.ไม่นำผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น สบู่ แชมพู ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน ยากันยุง ผลิตภัณฑ์กำจัดแมลง เป็นต้น บรรจุประปนกับผลิตภัณฑ์อาหาร หรือผลิตภัณฑ์ยา เพราะจะทำให้มีกลิ่น หรือเกิดการปนเปื้อนเข้าไปในผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์ยา ทำให้เป็นอันตรายได้
วิธีถวายชุดสังฆทานยาให้แก่พระภิกษุสงฆ์
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) แนะ 4 วิธี สำหรับชาวพุทธที่ต้องการถวาย 'ชุดสังฆทานยา' ให้พระภิกษุสงฆ์ในเทศกาลวันเข้าพรรษา เพื่อความปลอดภัย และสุขภาพที่ดีของพระภิกษุ
นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เผยเนื่องในโอกาสวันสำคัญทางพุทธศาสนา รวมทั้งงานบุญต่างๆ พบว่าประชาชนมักจะมีการถวายสังฆทาน และมีบางส่วนจะนิยมถวายสังฆทานยาเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงขอแนะนำชาวพุทธ ในการเลือกซื้อชุดสังฆทานยา หรือจัดเอง โดยคำนึงถึง '3 เลือก 1 ห้าม' เพื่อความปลอดภัยและสุขภาพที่ดีของพระภิกษุ ดังนี้
- เลือกผลิตภัณฑ์ยาที่ปลอดภัย
เช่น ผลิตภัณฑ์ต้องได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ฉลากระบุคำว่า 'ยาสามัญประจำบ้าน' และมีเลขทะเบียนที่ถูกต้องกำกับบนฉลากของยานั้นๆ รวมทั้งบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท เนื่องจากยาสามัญประจำบ้านที่ผู้บริโภคสามารถซื้อหามาใช้ในการรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยได้ โดยให้ใช้ตามคำแนะนำที่ระบุไว้บนฉลากยา
- เลือกผลิตภัณฑ์ยาที่มีลักษณะอยู่ในสภาพสมบูรณ์
เช่น กรณียาเม็ด ไม่แตกหัก ไม่ชื้น หรือมีสีที่เปลี่ยนไปจากเดิม กรณียาแคปซูล ไม่บวม หรือมีรูปร่างบิดเบี้ยว กรณียาน้ำ ต้องไม่มีตะกอน หรือกรณีที่เป็นยาน้ำแขวนตะกอนเมื่อเขย่าแล้วตัวยาต้องกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอ
- เลือกผลิตภัณฑ์ที่มีการแสดงฉลากและเอกสารกำกับยา ที่มีข้อความรายละเอียดครบถ้วน เพื่อให้ผู้บริโภคได้ทราบข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์
เช่น ชื่อและที่ตั้งผู้ผลิต/นำเข้า วันเดือนปีที่ผลิตและวันหมดอายุ ส่วนประกอบวิธีการเก็บรักษา วิธีการใช้ยาตามขนาด คำเตือน ฉลากชัดเจนสมบูรณ์ ไม่ฉีกขาด เลือนหาย สีไม่ซีดจาง
ห้ามนำผลิตภัณฑ์ยาหมดอายุ หรือใกล้หมดอายุ มาจัดชุดสังฆทาน เนื่องจากอาจเป็นอันตรายต่อพระภิกษุสงฆ์ และต้องระมัดระวังหากมียากลุ่มอื่นที่ไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน ตาม พ.ร.บ.ยา ถือว่าผิดกฎหมาย
นอกจากนั้น หลายคนคงตระหนักถึงปัญหาที่กล่าวในข้างต้นเป็นอย่างดีอยู่แล้ว จึงไม่ควรซื้อชุดสังฆทานยาที่จัดสำเร็จรูป แต่เลือกซื้อยาสามัญประจำบ้านไปถวายแทน
แต่ก็ยังมีสิ่งที่ต้องระวัง คือ ต้องไม่ใส่ยาอันตรายลงไปในชุดสังฆทาน ตัวอย่างยาอันตราย เช่นยาปฏิชีวนะ ยาบรรเทาปวดกลุ่มไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDS) หรือเรียกภาษาชาวบ้านว่ายาแก้ปวดคลายเส้น ยา 2 ชนิดนี้เป็นต้นเหตุการแพ้ยาบ่อยๆ ในอัตราที่สูงมาก นอกจากทำให้แพ้แล้ว ยาบรรเทาปวดกลุ่ม NSAIDS ยังระคายเคืองกระเพาะอาหาร และอาจเป็นพิษต่อไตหรือตับได้ด้วย หากพระสงฆ์ท่านมีอายุมาก และมีโรคประจำตัวบางอย่างจะทำให้เกิดอันตรายจากการใช้ยากลุ่มดังกล่าว และอาจเกิดปัญหารุนแรงมากจนเป็นเหตุให้มรณภาพ
เพราะฉะนั้น ต้องเลือกยาสามัญประจำบ้านที่เหมาะสมกับการบรรจุในกล่องสังฆทาน แม้เราอาจจะคิดว่ายาบางชนิดไม่ใช่ยาอันตราย เช่น ยาแก้แพ้กลุ่มคลอเฟนิรามีน ซึ่งคนทั่วไปอาจบอกว่าใช้แล้วตนเองไม่มีปัญหาอะไร แค่ทำให้ง่วงนอนเท่านั้น แต่หากพระสงฆ์ที่เราถวายยาจำพวกนี้ไปมีโรคประจำตัว เช่น ต้อหิน หรือมีปัญหาต่อมลูกหมากโตก็จะทำให้เป็นอันตรายกับท่านได้ ดังนั้น หากต้องจัดยาในชุดสังฆทานก็ต้องเลือกยาที่ปลอดภัยกับพระสงฆ์ให้มากที่สุด โดยแทนที่จะถวายยากลุ่มคลอเฟนิรามีนก็เปลี่ยนเป็นยากลุ่มลอราทาดีน เป็นต้น เพราะนอกจากไม่ทำให้ง่วงแล้ว ยังไม่มีผลกระทบต่อโรคต้อหิน ต่อมลูกหมากโต
ยาใช้สำหรับภายนอกที่คนมักจะลืมไปแต่มีประโยชน์ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นชุดทำแผล ยาโพวิโดน-ไอโอดีน สำลี ผ้าก๊อซ พลาสเตอร์ปิดแผลยาดม ยาหม่อง ก็เป็นประโยชน์ไม่น้อย ผงน้ำตาลเกลือแร่ หรือเรียกว่า ORS สำหรับทดแทนการสูญเสียเกลือแร่อาการท้องเสีย และอาเจียน อีกอย่างหนึ่งคือยาอมที่ทำให้ชุ่มคอ บรรเทาอาการไอ เช่น ยาอมมะขามป้อม เป็นต้น
ควรจัดยาที่บรรจุแผงดีกว่าบรรจุขวด หรือกระปุก เพราะเก็บรักษาได้ง่าย และสามารถแบ่งปันกันได้ง่าย
สำหรับญาติโยมที่ใกล้ชิดกับพระสงฆ์ โดยเฉพาะโยมอุปัฏฐาก หากคุณมีโอกาสไปกราบพระ สนทนาธรรมกับท่านเสร็จแล้ว ขอให้ช่วยตรวจกล่องยาที่โยมรายอื่นๆ นำไปถวายด้วย เพราะอาจจะมียาใกล้หมดอายุ หรือยาหมดอายุแล้วอยู่ในกล่องสังฆทานได้ หากพบยาใกล้หมดอายุ หรือหมดอายุแล้ว ขอให้นำไปทิ้งในที่เหมาะสมทันที
"ขอย้ำว่าการถวายยาใดๆ กับพระสงฆ์ ขอให้ดูวันหมดอายุให้ดีทุกครั้ง และต้องเลือกยาที่ได้คุณภาพ ทั้งการเก็บรักษาก่อนจะนำไปถวายพระสงฆ์ และต้องเรียนนมัสการแจ้งให้ท่านเก็บรักษายาให้เหมาะสมด้วย เพื่อรักษาคุณภาพยา และเพื่อสุขภาพที่ดีของพระสงฆ์"
ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีระบบการสืบค้นเลขทะเบียนยาทาง www.fda.moph.go.th หรือผ่าน Line@FDAThai เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบได้ว่ายาที่ซื้อได้รับการขึ้นทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
และหากผู้บริโภคพบเห็นร้านใดจำหน่ายชุดสังฆทานยาที่บรรจุยาที่ไม่มีทะเบียน ยาหมดอายุ หรือใกล้หมดอายุ หรือพบร้านขายยาที่จำหน่ายยาผิดกฎหมาย หรือจำหน่ายยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ ในขณะที่เภสัชกรไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ตามเวลาทำการ สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
อ้างอิง:คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , สสส.,อย.