รัฐบาลเชิญชวนคนไทย ลด ละ เลิกเหล้า เข้าพรรษา

รัฐบาลเชิญชวนคนไทย ลด ละ เลิกเหล้า เข้าพรรษา

รัฐบาลเชิญชวนคนไทย ลด ละ เลิกเหล้าเข้าพรรษา สร้างภูมิคุ้มกันร่างกายลดความเสี่ยงโรคได้กว่า 230 ชนิด แถมช่วยลดรายจ่ายครอบครัวเพิ่มเงินในกระเป๋า

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื่องด้วย วันเข้าพรรษา ของทุกปี เป็นวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 2 ส.ค.66 กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาสังคมและเครือข่ายงดเหล้า จัดกิจกรรมเพื่อรณรงค์ให้คนไทย ลด ละ เลิก การดื่มแอลกอฮอล์ ภายใต้คำขวัญ “ไกลเหล้า ไกลโรค ไกลอุบัติเหตุ”
 
ในโอกาสนี้ รัฐบาลจึงขอเชิญคนไทยทุกคนร่วมลด ละ เลิก เหล้า หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทุกชนิดตลอดเทศกาลเข้าพรรษา ที่จะมาถึง ให้ช่วงเวลานี้เป็นจุดเริ่มต้นในการดูแลสุขภาพ ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายต่างๆ  ซึ่งข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ระบุว่าทุกปีทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากพิษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประมาณ 3 ล้านคน และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมากกว่า 230 ชนิด 

นอกจากนี้ ยังช่วยลดโอกาสที่เกิดความสูญเสียกับครอบครัวและสังคมโดยรวมจากอุบัติเหตุ ที่นำมาซึ่งการบาดเจ็บ พิการ หรือเสียชีวิตก่อนวัยอันควรซึ่งไม่สามารถประเมินเป็นมูลค่าความเสียหายได้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การลด ละ เลิก เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยังช่วยลดรายจ่ายภาคครัวเรือนได้มาก ซึ่งข้อมูลจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ด้านพฤติกรรมการดื่มสุราของประชากรไทย ปี 65 ระบุว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แนวโน้มค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 64 เหล่านักดื่มต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดื่มเพิ่มขึ้นจากในปี 60 เกือบ 2 เท่า โดยผู้ดื่มหนักเป็นประจำ มีค่าใช้จ่ายการ ดื่มสุรา เฉลี่ยสูงถึง 3,722 บาทต่อเดือน
 
ทั้งนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลได้มีแนวนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มีความสมดุลระหว่างมิติทางเศรษฐกิจ และมิติของสังคม โดยมิติทางเศรษฐกิจนั้นได้มีกฎกระทรวงที่ลดข้อจำกัดทางกฎระเบียบการอนุญาตให้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่เดือนพ.ย.65 เพื่อประโยชน์ในการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่น และลดการผูกขาดทางการตลาด แต่ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ได้มีการขับเคลื่อนให้มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เพื่อจำกัดไม่ให้กิจกรรมที่มาจากการแข่งขันทางธุรกิจกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมการดื่มที่มากขึ้น

ตลอดจนขับเคลื่อนการรณรงค์เพื่อสร้างความรอบรู้ผลกระทบต่อสุขภาพที่มาจากการดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งทางตรงและทางอ้อมให้ประชาชนอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่ต้องเน้นการป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ เช่น ควบคุมจุดจำหน่าย ความหนาแน่นของร้านค้า การกำหนดโซนนิ่ง เป็นต้น