มูลค่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทย แต่ละปีสร้างได้ 2 สนามบินสุวรรณภูมิ
มูลค่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทยปีละราว 5 แสนล้านบาท สร้างสนามบินสุวรรณภูมิได้ 2 สนาม ปี66 ผู้มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้รับการบำบัดในสถานพยาบาล 65 % ยกต้นแบบเลิกสุราในชุมชน ผ่านกลไกธรรมนำทาง -ครอบครัว
Keypoints :
- มูลค่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทยปีละราว 5 แสนล้านบาท สร้างสนามบินสุวรรณภูมิได้ 2 สนาม หากมีสุราเสรี เปิดกว้างผลิตแบบไม่ต้องขออนุญาต จะเกิดปัญหาในชุมชนมากขึ้น
- สถานการณ์ดื่มของคนไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ปี 2566 พบผู้มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้รับการบำบัดในสถานพยาบาล 65 % ยังมีผู้ที่เข้าไม่ถึงบริการบำบัดรักษาอีกจำนวนมาก
- ต้นแบบเลิกสุราในชุมชน 2 รูปแบบ คือ รูปแบบธรรมนำทางแลtรูปแบบกลุ่มฮักครอบครัว ผู้มีปัญหาสุรา สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลด ละ เลิก ดื่มสุรา มีสัมพันธภาพที่ดีกับคนในครอบครัวและชุมชน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
มูลค่าตลาดเหล้า-เบียร์ในไทย
ภายในงานวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ปี 2566 เมื่อเร็วๆนี้ ธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สะท้อนภาพสถานการณ์ในประเทศไทยว่า หากย้อนหลังไปราว 10 ปี มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นอันดับ 1 ในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยในผู้ที่อายุ 15 ปีขึ้นไป มีการดื่มกว่า 30 % ปัจจุบันอยู่อันดับ 2 เทียบเท่ากับประเทศเวียดนาม อยู่ที่ 28 % ส่วนหนึ่งที่ทำให้ลดลงเนื่องจากมีมาตรการต่างๆ เช่น พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรณรงค์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในแต่ละปีการซื้อขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สามารถสร้างสนามบินสุวรรณภูมิได้ 2 สนาม โดยมีมูลค่าทางการตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในไทยปีละเกือบ 5 แสนล้านบาท ส่วนงบประมาณก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิราว 2 แสนล้านบาท
สุราเสรีเพิ่มปัญหาในชุมชน
ธีระ กล่าวอีกว่า การที่มีข้อเสนอให้มีการผลิตโดยเสรี จากปัจจุบันการผลิตจะต้องขออนุญาตจากกรมสรรพสามิตโดยมีข้อจำกัดต่างๆ เพื่อดูแลสิ่งแวดล้อม เหตุเดือดร้อนรำคาญ และควบคุมคุณภาพ แต่เมื่อมีการเสนอให้ที่บ้านก็ทำได้ ไม่ต้องขออนุญาต จึงเป็นสิ่งที่น่าห่วงจากปัจจุบันก็มีการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ปริมาณมากอยู่แล้ว ส่วนภาษีสรรพสามิตที่เก็บได้ราว 1.5 แสนล้านบาท เป็นอันดับ 2 รองจากภาษีน้ำมัน ซึ่งเชิงปัญหาจะเกิดขึ้นในชุมชน สมมติมีโรงเหล้ามากขึ้นในชุมชนมากขึ้น โอกาสที่จะมีการดื่มจะสูงมากขึ้น นอกจากนี้ พรบ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จะเป็นเครื่องมือในการช่วยควบคุม ปกป้อง และลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
เข้าถึงการบำบัดในสถานพยาบาล 65 %
ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2566 ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต นางสาวรุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก (สสส.) กล่าวเปิดเวทีการประชุมถอดบทเรียนการดำเนินงานโครงการขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุราและสุขภาวะโดยชุมชน โดยสมาคมฮักชุมชน “สามประสาน เพื่อสุขภาวะ…ทำได้อย่างไรในชุมชน” ว่า สถานการณ์ดื่มของคนไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบผู้ที่เคยดื่มหนักในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา 5.7 ล้านคน คิดเป็น 10 % แนวโน้มลดลงมาโดยตลอดจาก 14 %ในปี 2557
ขณะที่ข้อมูลรายงานผลการดำเนินงานคัดกรองและการบำบัดผู้มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 พบผู้มีปัญหาการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้รับการบำบัดในสถานพยาบาล 65% ซึ่งยังมีผู้ที่เข้าไม่ถึงบริการบำบัดรักษาหรือไม่พร้อมจะเดินเข้าสู่ระบบสุขภาพอีกจำนวนมาก
สสส. ได้ขยายการทำงานสานพลังภาคีเครือข่าย ผ่านสมาคมฮักชุมชน ในโครงการขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุราและสุขภาวะโดยชุมชน เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าสู่กระบวนการ ลด ละ เลิก การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเน้นการทำงานผ่าน ชุมชน และ วัด เป็นสำคัญเพราะใกล้ชิดกลุ่มเป้าหมายและการป้องกันแก้ไขปัญหาในชุมชนร่วมกัน โดยเตรียมรณรงค์ให้ประชาชน ลด ละ เลิก ในวันช่วงเข้าพรรษา โดยใช้ชื่อว่า ปีนี้ใคร ๆ ก็งดเหล้าเข้าพรรษา เชื่อว่าหลายคนจะถือเอาช่วงเวลาเข้าพรรษา 3 เดือน เป็นจุดเริ่มต้นตั้งใจจะที่จะเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
2 รูปแบบเลิกเหล้าในชุมชน
นางสาวรักชนก จินดาคำ นายกสมาคมฮักชุมชน กล่าวว่า สมาคมฮักชุมชน ได้ริเริ่มโครงการขับเคลื่อนการดูแลผู้มีปัญหาสุราและสุขภาวะโดยชุมชน ดำเนินการใน 26 พื้นที่ จาก 10 จังหวัด โดยมีรูปแบบที่ให้ชุมชนได้วิเคราะห์ เลือก และนำไปปฏิบัติในพื้นที่ 2 รูปแบบ คือ รูปแบบธรรมนำทาง และ รูปแบบกลุ่มฮักครอบครัว
โดยมีเป้าหมายเพื่อให้เกิดผลลัพธ์สำคัญ คือ
1.กลไกขับเคลื่อนงาน ที่คนในชุมชนมีส่วนร่วม เป็นเจ้าของปัญหา มีความเข้าใจ และพร้อมดำเนินการในมิติการบำบัดดูแลผู้มีปัญหาสุรา
2.มีความรู้ ทักษะ เครื่องมือในการดูแลผู้มีปัญหาสุรา ที่คณะทำงานในพื้นที่และชุมชน สามารถนำไปใช้ได้ และติดตามผลได้
3.ผู้มีปัญหาสุรา สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลด ละ เลิก ดื่มสุรา มีสัมพันธภาพที่ดีกับคนในครอบครัวและชุมชน มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
รูปแบบธรรมนำทาง มีกิจกรรมหลัก ได้แก่ กิจกรรมอยู่วัด รู้ ธรรม 7 วัน 6 คืน และกิจกรรมติดตาม นำ หนุน ใจ มีพระสงฆ์เป็นผู้มอบหลักธรรม สร้างสติ หนุนเสริมปัญญาควบคู่ไปกับบุคลากรสุขภาพ ให้ความรู้ผลกระทบสุรา การดูแลสุขภาพ โดยมีผู้นำชุมชน และอสม. ช่วยสร้างแรงจูงใจให้สมัครใจเข้าร่วมกิจกรรม สนับสนุนกระบวนการการติดตามผล ครอบครัว คอยให้ความรัก ความเข้าใจ ให้โอกาสกับผู้ที่อยากเลิกสุรา และลดการกระตุ้นการกลับไปดื่ม
รูปแบบกลุ่มฮักครอบครัว มีกิจกรรมหลัก ได้แก่ กิจกรรมกลุ่มแลกเปลี่ยนประสบการณ์ชุดทักษะความรู้ 8 ครั้ง 8 สัปดาห์ และกิจกรรมติดตาม นำ หนุน ใจ โดยผู้มีปัญหาสุราและสมาชิกในครอบครัวจะต้องมีส่วนร่วมในการเข้าร่วมกิจกรรมทุกครั้ง โดยทั้ง 2 รูปแบบใช้รวมเวลา 12 เดือน โดยมีเครื่องมือสำคัญคือ แบบสำรวจข้อมูลครัวเรือน ข้อมูลการดื่มสุรา ผลกระทบ และ ความสุข แบบประเมิน พฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และแบบประเมินคุณภาพชีวิต
“แต่ละชุมชนจะมีการวิเคราะห์เลือกเองจากความเหมาะสม กิจกรรมสำคัญอยู่ที่กลุ่มแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในเรื่องของทักษะความรู้ ประสบการณ์ในเรื่องของการดื่มสุราและแก้ปัญหาของสมาชิกแต่ละคน หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมทั้ง 2 รูปแบบ จะมีการติดตาม นำ หนุน ใจ จะเป็นลักษณะของการติดตามที่บ้าน ติดตามแบบลักษณะกลุ่ม และมีการฝึกพัฒนาทักษะ ให้อาชีพ สร้างรายได้ เพื่อให้การเลิกสุราเกิดความยั่งยืน ไม่กลับมาดื่มซ้ำ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการติดตามผลทั้งในด้านการปรับพฤติกรรมการดื่มสุราและคุณภาพชีวิตทั้งต่อผู้มีปัญหาสุรา ครอบครัว และชุมชน” นางสาวรักชนก กล่าว
ตัวอย่างเลิกเหล้าสำเร็จ
นายชุมพล นวลอ่อน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มฮักครอบครัว บ้านสันทราย อ.ไชยปราการ จ.เชียงใหม่ เล่าถึงประสบการณ์จากการเลิกสุราว่า เริ่มดื่มช่วงอายุ 20 ปี เลิกเรียนก็ตั้งวงดื่มสุรา และตามมาด้วยการทะเลาะวิวาท ยกพวกตีกัน จนเรียนจบได้ทำงานช่วยดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลไชยปราการ ตอนนั้นพ่อเกิดอุบัติเหตุจากการดื่มแล้วกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงนาน 7-8 ปี จึงมีความคิดว่าอยากบวชให้พ่อ ตัดสินใจบวช 1 พรรษา ลาสิกขามาแล้วก็ตั้งใจอยากเลิกดื่มสุราและเลิกบุหรี่ จึงเข้าร่วมโครงการกลุ่มฮักครอบครัว ร่วมกิจกรรมครบ 8 ครั้ง จนสามารถเลิกได้สำเร็จ
“ฝากถึงคนที่อยากเลิก ให้คิดถึงตัวเองเป็นอันดับแรก คิดถึงคนในครอบครัว และลองคิดวิเคราะห์ข้อเสียของการดื่ม และพิจารณาว่า เราดื่มแล้วดีอย่างไร ไม่ดีอย่างไรบ้าง ก็จะเห็นภาพชัดเองว่าเราต้องเลิกดื่ม พอเราเลิกได้แล้ว ได้ไปเชิญชวนคนรอบตัว เพื่อน ครอบครัว คนในชุมชน ให้ลดละเลิก เพราะเราเคยเห็นผลกระทบจากการดื่มมาแล้ว เพื่อขยายกลุ่มไปให้ทั่วพื้นที่ หมู่บ้าน ชุมชน ใกล้เคียง เพื่อให้ทุกคนเลิกสุราได้สำเร็จ” นายชุมพล กล่าว