เคลื่อนธรรมนูญชุมชน งดเหล้า ดูแลเยาวชน รับมือ 'สุราเสรี'
เปิดผลสำรวจเด็ก เยาวชนในชุมชน สูบบุหรี่ –กัญชา- สุรา เพิ่มขึ้น ผนึกกำลัง MOU 5 ข้อ พร้อมใช้ 'ธรรมนูญสุขภาพ' สกัดปัญหา รับมือผลกระทบ 'สุราเสรี' ยันไม่ค้านลดทุนผูกขาด แต่ต้องมีกฎหมายควบคุม ชู 'บ้านเกาะ' นครศรีธรรมราช ชุมชนต้นแบบ
เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคใต้ตอนบน จัดเสวนาในหัวข้อ 'ท่ามกลางกระแสสุราเสรี การขับเคลื่อนธรรมนูญชุมชนงดเหล้า ลดปัจจัยเสี่ยงสำคัญอย่างไร' โดยมีผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขตพื้นที่ 11 นักวิชาการจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) และผู้แทนจากชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนกว่า 20 ชุมชนเข้าร่วม พร้อมทั้งได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) การปกป้องเด็ก เยาวชนจาก เหล้า เบียร์, บุหรี่, กัญชา, น้ำกระท่อม และสารเสพติดอื่นทุกชนิด ที่โรงเรียนวันเขาขุนพนม ต.บ้านเกาะ อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช
นางสาวธิรตี เลาหกุล ปลัดอาวุโสอำเภอพรหมคีรี ประธานเปิดเวทีลงนามบันทึกความร่วมมือ กล่าวว่า ขอบคุณผู้นำในตำบลบ้านเกาะที่ให้ความสำคัญในการดูแลลูกหลาน โดยลงนามบันทึกความร่วมมือครั้งนี้ ซึ่งมีอยู่ 5 ข้อ คือ
1.องค์กรด้านสถานศึกษาจะสร้างภูมิคุ้มกันและการเท่าทันจากเหล้า บุหรี่และปัจจัยเสี่ยงอื่นทุกช่องทาง เช่น บูรณาการหลักสูตรใน 8 กลุ่ม สาระวิชา หรือ กิจกรรมนักเรียน
2.ร้านค้าและร้านอาหารจะไม่จำหน่าย เหล้า บุหรี่ ให้เด็ก เยาวชน ตามกฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด โดยมีป้ายประชาสัมพันธ์อย่างชัดเจนหน้าร้าน
3.ร่วมกันเฝ้าระวังจุดเสี่ยง และปรับเป็นพื้นที่สร้างสรรค์และปลอดภัย เช่น มีป้ายประชาสัมพันธ์/มีไฟส่องสว่าง เป็นต้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
4.ร่วมกันเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงทั้ง ตัวเด็ก เยาวชน/บุคลทั่วไป รวมถึงบุคลภายนอก ที่สุ่มเสี่ยงหรือมีพฤติกรรมต้องติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดและสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และ
5.สนับสนุนกิจกรรมสร้างสรรค์และเปิดพื้นที่ให้เด็ก เยาวชนตำบลบ้านเกาะได้แสดงออก และสืบสานรากเหง้าภูมิปัญญาและประวัติศาสตร์ เพื่อสร้างความภาคภูมิใจในความเป็นชาวตำบลบ้านเกาะต่อไป
นายองอาจ พรหมมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าภาคใต้ตอนบน กล่าวว่า จากการทำงานกับชุมชนกว่า 20 ชุมชนในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน และได้เห็นปัญหาที่เกิดจากเหล้า เบียร์ บุหรี่ กัญชา น้ำกระท่อม และสารเสพติดอื่น จึงได้จัดทำชุมชนศูนย์เรียนรู้งดเหล้าลดปัจจัยเสี่ยง เพื่อให้คนในชุมชนตระหนักถึงปัญหาร่วม จนสามารถยกระดับเป็นธรรมนูญชุมชน และบันทึกความร่วมมือ เป็นข้อตกลงร่วมกันที่จะปกป้องเด็กและเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะในกระเสรีนิยมที่กำลังพัดผ่านมาอย่างรุนแรง กัญชา กระท่อม ที่มีการปลดล็อกไปก่อนหน้านี้
และล่าสุดกำลังจะเกิดนโยบาย สุราเสรี อีก ซึ่งเราเห็นด้วยกับการลดทุนผูกขาดให้ผู้ผลิตรายย่อยมีโอกาสแข่งขันกันอย่างเสรี แต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสินค้าที่มีผลกระทบต่อตัวผู้ดื่ม คนรอบข้าง ชุมชน และสังคม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีกฎหมายควบคุม และมีข้อตกลงร่วมกันของคนในชุมชนชุมชนเพื่อรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา
เยาวชน 13-15 ปี เข้าถึงบุหรี่ กัญชา แอลกอฮอลล์
นายอภินันท์ แสนเสนา กำนันตำบลบ้านเกาะ และประธานชุมชนศูนย์เรียนรู้งดเหล้าลดปัจจัยเสี่ยงตำบลบ้านเกาะ กล่าว จากการสำรวจพฤติกรรมเด็ก เยาวชนอายุ 13 – 15 ปีในพื้นที่ตำบลบ้านเกาะ พบว่า
- เคยสูบบุหรี่ 64%
- สูบกัญชา 23%
- ดื่มน้ำกระท่อม 13%
- ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 33%
โดยสถานการณ์ปัญหามีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ดังนั้น 11 องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันปัญหาเด็กเยาวชนในพื้นที่ ดังนี้
1.นายอำเภอพรหมคีรี
2.สถานีตำรวจภูธรอำเภอพรหมคีรี
3.ศูนย์ควบคุมป้องกันสารเสพติดและปัจจัยเสี่ยงจังหวัดนครศรีธรรมราช
4.องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านเกาะ
5.เทศบาลตำบลพรหมโลก
6.โรงเรียนวัดเขาขุนพนม
7.โรงเรียนชุมชนวัดอินทคีรี
8.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านเกาะ
9.ชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน
10.ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนงดเหล้าลดปัจจัยเสี่ยงตำบลบ้านเกาะ
11.กำนัน ผู้ใหญ่บ้านตำบลบ้านเกาะ
จึงได้ร่วมมือกันประกาศธรรมนูญชุมชนงดเหล้า ลดปัจจัยเสี่ยง เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและจัดสภาพแวดล้อมให้เด็ก เยาชนมีความเท่าทันและลดความเสี่ยงในการเข้าถึงปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้
ป้องกันเยาวชน จากปัจจัยเสี่ยง 6 ชุมชน
ด้าน นายภาณุพงศ์ แก้วละเอียด รองผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมป้องกันสารเสพติดและปัจจัยเสี่ยงจังหวัดนครศรีธรรมราช และประชาคมเครือข่ายงดเหล้าจังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ทางศูนย์ฯ ให้ความสำคัญและมีเป้าหมายการดูแลปกป้องเด็กเยาวชนจากปัจจัยเสี่ยง โดยให้การสนับสนุนชุมชนเป้าหมาย 6 แห่ง ในจำนวนนี้มี 2 แห่ง ได้ยกระดับจากชุมชนงดเหล้า สู่การใช้เครื่องมือธรรมนูญงดเหล้าลดปัจจัยเสี่ยง ภายใต้การสนับสนุนเครื่องมือจาก สช.
รวมถึงมีพี่เลี้ยงจากสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้าอีกด้วย โดยเฉพาะบ้านเกาะที่มีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ควรยกระดับสู่การรายงานผลกับกลไกและหน่วยงานระดับจังหวัด รวมถึงการเป็นต้นแบบของการเรียนจากชุมชนอื่นๆ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา ทั้ง 6 ชุมชนได้มีการแลกเปลี่ยนและมีแนวทางขับเคลื่อนชวนคนเลิกเหล้าและลดปัจจัยเสี่ยง โดยเฉพาะช่วงเข้าพรรษาที่จะถึงนี้