สุราเสรี Soft Power ใหม่
พลันเมื่อสภาผู้แทนราษฎรรับลูกร่างสุราเสรี เสียงเฮก็สนั่นลั่นประเทศ โดยเฉพาะในกลุ่มนักดื่ม เพราะในที่สุดกฎหมายและกลไกรัฐที่เคยผูกขาดสุราและเบียร์จะถูกปลดล็อก
นอกจากประเทศไทยของเราจะได้รับประโยชน์อย่างมหาศาลในเชิงเศรษฐกิจดังที่ผมเคยเล่าเปรียบเทียบให้ฟังในสัปดาห์ก่อน ยกกรณีศึกษาของต่างประเทศอย่างสกอตแลนด์ ญี่ปุ่น เบลเยียม ฝรั่งเศส และเยอรมนีที่ต่างกอบโกยรายได้มหาศาลในแต่ละปี หรือจะเป็นกรณีของเกาหลีใต้ที่เพิ่งมีการปลดล็อกจนขนาดตลาดเบียร์คราฟต์นั้นเติบโตแบบก้าวกระโดด
ทั้งหมดทั้งมวลนี้คงต้องให้เครดิต ส.ส.เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ที่เรียกได้ว่าเป็นแชมเปี้ยนของร่างกฎหมายนี้ หากเรามองด้วยสายตาที่เป็นธรรมไร้อคติแล้ว ส.ส.เท่าพิภพ สมควรได้รับเสียงปรบมือ ไม่ใช่แค่เพียงเพราะความสำเร็จ แต่ส.ส.เท่าพิภพคือตัวอย่างของคนรุ่นใหม่ ที่มีความรู้ มีความรักความตั้งใจในเบียร์และการเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่ถือได้ว่าก้าวหน้าและท้าทายการผูกขาดตลาดแต่เดิม
อีกสิ่งหนึ่งที่สมควรยกย่องคือ การต่อสู้กับความอยุติธรรม กับความไม่ถูกต้องชอบมาพากลของระบบ เมื่อคนหนุ่มคนหนึ่งเชื่อว่าตนประกอบสัมมาอาชีพ แต่ดันไปผิดกฎหมายบ้านเมืองจนกระทั่งโดนจับ แต่ก็ไม่ได้ย่อท้อกลับกระโดดเข้ามาเล่นการเมืองกลับเข้ามาแก้ระบบที่เล่นงานตัวเองจนเกิดเป็นความสำเร็จ สิ่งนี้คือสิ่งที่น่ายกย่องอย่างยิ่ง การเล่นตามกติกาแต่เมื่อพบว่ากติกานั้นไม่เป็นธรรม ก็ขันอาสาเข้ามาแก้ไขกติกานั้นเพื่อเพื่อนร่วมอาชีพ
ผมเชื่อว่า ทุกคนทราบว่าตลาดสุราและเบียร์ในไทยนั้นถูกผูกขาดโดยบริษัทยักษ์ใหญ่เพียง 2 เจ้า ซึ่งก็รวมกันกินส่วนแบ่งตลาดไปแล้ว 93% ในกรณีของเบียร์ หรือหากเป็นตลาดสุรานั้นก็ยิ่งแล้วใหญ่เพราะถูกผูกขาดในมือของยักษ์ใหญ่เจ้าเดียวถึง 80%
สุราเสรี นั้นจะปลดล็อกข้อกำหนดต่างๆที่รัฐใช้กีดกันผู้ประกอบการรายย่อย กำแพงในเรื่องของปริมาณการผลิตจะถูกทำลายไป ซึ่งก็จะเอื้อให้ประชาชนรายย่อยโดยเฉพาะในท้องถิ่นต่างๆนั้นสามารถใช้การปลดล็อกนี้พัฒนาสินค้าและทดลองเข้าตลาด ประเทศไทยจะมีความหลายหลายในด้านของเครื่องดื่มมากขึ้นซึ่งกลไกตลาดก็จะเป็นตัวบอกผู้ผลิตเหล่านั้นเองว่าสินค้าต้องมีคุณภาพ รสชาติที่ดี บรรจุภัณฑ์ที่น่าดึงดูด เพื่อให้ขายได้
ผู้ผลิตสุราเสรีที่ทำผลิตภัณฑ์ออกมาได้ดีนั้นสามารถช่วยรัฐผลักดันให้เกิดความนิยมเบียร์/เหล้าจากไทย เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่ง Soft power เช่นเดียวกับอาหารไทยที่รัฐพยายามผลักดันอย่างมาก ซึ่งในอดีตเมื่อรัฐมีความตั้งใจผลักดัน Soft power ด้านอาหารไทยนั้นผลงานก็เป็นที่ประจักษ์จากจำนวนร้านอาหารไทยในต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว จาก 5,000 เป็น 15,000 ร้านทั่วโลกในช่วงก่อนที่จะมีการรัฐประหารครั้งแรก
Soft power เครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้นสามารถนำรายได้อย่างมหาศาลทั้งในฐานะสินค้าที่กินที่ใช้กันในประเทศหรือจะเป็นสินค้าส่งออกก็เช่นกัน กรณีศึกษาที่ชัดเจนที่สุดคงหนีไม่พ้นกรณีของเยอรมนีที่มีกฎหมายเอื้อให้ผู้ประกอบการมีอิสระและเก็บภาษีในระดับที่ต่ำมาก เกิดผลเป็นผู้ผลิตเบียร์จำนวนมากกว่า 900 ราย โดยมีโรงงานเบียร์รวมกันถึง 1,500 แห่ง ภายใต้แบรนด์กว่า 5,500 แบรนด์ที่ส่งขายทั่วโลก
เพราะอากาศของเยอรมนีไม่ค่อยเป็นมิตรกับองุ่นซึ่งเป็นต้นน้ำวัถตุดิบนำมาผลิตไวน์ ดังนั้น เยอรมนีจึงเน้นการผลิตเบียร์ ผู้ผลิตเยอรมันรู้จุดแข็งจุดอ่อนของตนเองดังนั้นจึงไม่แข่งขันในการผลิตไวน์กับฝรั่งเศส สเปน และอิตาลีซึ่งมีภูมิประเทศและภูมิอากาศที่เหมาะกับการทำไวน์มากกว่า สมควรเป็นกรณีศึกษาแก่ท้องถิ่นในไทยที่ควรใช้จุดแข็งที่ท้องถิ่นมีเข้ามาผสานออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความเป็นเอกลักษณ์
รัฐเองก็ได้รับประโยชน์อย่างมหาศาลจาก Soft power นี้ อย่างกรณีศึกษาของเยอรมนีนั้นพบว่า เม็ดเงินหมุนเวียนในห่วงโซ่อุปทานทั้งหมดในอุตสาหกรรมนี้สูงถึง 6,500 ล้านยูโร (ราว 236,500 ล้านบาท) เกิดการจ้างงานจำนวนมากถึง 480,000 อัตรา
ดังนั้น Soft power สุราเบียร์ จึงหมายถึง เม็ดเงินมหาศาลหากรัฐและเอกชนร่วมมือผลักดันจนสำเร็จ