'สารกันบูด'อาจรับมากเกินกำหนดแบบไม่รู้ตัว เสี่ยง 'เม็ดเลือดแดงแตก'
'ขนมปังพันชั้น' ที่กำลังฮิตอย่างมากในโลกโซเชียล ถูกตั้งสงสัยว่าเก็บได้กี่วัน ใส่สารกันบูดหรือไม่? ซึ่ง 'สารกันบูด'หากใส่ในปริมาณเกินกำหนด บางประเภทมีผลต่อตับ ไต อาจทำให้ 'เม็ดเลือดแดงแตก'
Keypoints :
- จากข้อสงสัยเกี่ยวกับขนมปังพันชั้นที่กำลังดัง นำมาสู่ข้อควรรู้เกี่ยวกับสารกันบูดว่าคืออะไร มีกี่กลุ่ม และใส่ในอาหารประเภทไหน
- แม้สารกันบูดในปริมาณไม่มาก ร่างกายสามารถกำจัดออกได้ แต่หากใส่ในปริมาณที่มากเกินกำหนด อาจทำให้เกิดพิษเฉียบพลัน และภาวะเม็ดเลือดแดงแตก
- ข้อแนะนำสำหรับผู้บริโภค เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากสารกันบูด และการเลือกรับประทานอาหารแปรรูป ซึ่งเป็นอาหารชนิดหนึ่งที่มีการใส่สารกันบูด
ข้อสงสัยขนมปังพันชั้น
เฟซบุ๊กเพจ หน้าแปลก แดรกสนั่น ได้มีการเผยแพร่ภาพแชท ซึ่งเป็นลักษณะของการส่งข้อความและรูปภาพขนมปังพันชั้นยี่ห้อหนึ่งไปสอบถามว่า สามารถเก็บได้กี่วัน ก่อนได้รับคำตอบว่า 90 วันชิลๆและเคยเก็บได้ถึง 100 วันยังอร่อยเหมือนเพิ่งออกจากเตา
หลังจากนั้นมีเจ้าของแอคเคาท์X (ทวิเตอร์เดิม) ชื่อ @iamaimaimami นำไปไพสต์ลงในX โดยระบุข้อความว่า “ใส่สารกันบูดกี่ตัน” และมีผู้เข้าไปดูกว่า 1 ล้านคน มียอดรีโพสต์ไปกว่า 30,000 ครั้ง
ทั้งนี้ จะใส่สารกันบูดในปริมาณเกินกว่าที่กำหนดอนุญาตตามกฎหมายหรือไม่ ก็คงต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบ
แต่ในฐานะผู้บริโภค เรื่อง สารกันบูด ที่ใส่ในอาหารไม่ควรละเลยที่จะรู้ เพราะบางประเภทแม้กฎหมายอนุญาตให้ใส่ได้นั้น หากใส่ในปริมาณที่มากเกินกำหนด อาจส่งผลอันตรายต่อร่างกาย
ชนิดสารกันบูดที่นิยมใช้
สารกันบูด หรือวัตถุกันเสีย กระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้ใช้เป็นวัตถุเจือปนอาหารได้ในปริมาณที่กำหนดไว้ ซึ่งจะไม่ก่อให้เกิดอันตราย แต่ควรระมัดระวังในกลุ่มเด็กเล็กและผู้มีความไวต่อสารกลุ่มนี้ เช่น ผู้ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD และไม่ควรรับประทานในปริมาณมาก ๆ หรือต่อเนื่องกันเป็นประจำ
สารกันบูด เป็นสารเคมีที่ใช้เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาอาหาร โดยป้องกันการเสื่อมเสียของอาหารที่เกิดจากจุลินทรีย์ จะช่วยป้องกันหรือช่วยทำลายเชื้อจุลินทรีย์ไม่ให้เจริญเติบโต หรือไม่ให้แพร่กระจายออกไป จึงไม่เกิดการสร้างของเสีย ทำให้อาหารอยู่ได้นาน
ชนิดของสารกันบูด ที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปอาจแบ่งเป็นกลุ่มได้ดังนี้
1. กลุ่มของกรดเบนโซอิกและเกลือเบนโซเนต ชื่อที่เรียก กรดเบนโซอิก อาหารที่ใช้ เช่น แยม เยลลี่ ผักผลไม้กวน ผลไม้ที่ใช้ทำไส้ขนม ไอศกรีม ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม และเส้นก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น
2. กลุ่มกรดซอร์บิกและเกลือซอร์เบต อาหารที่ใช้ เช่น เครื่องดื่ม แยม เยลลี่ ผลไม้ดอง ผลไม้แห้ง เนยเทียม เวย์ชีส และขนมปัง เป็นต้น
3.กลุ่มของไนเตรตและไนไตรต์ อนุญาตให้ใช้เฉพาะผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์หมัก เช่น แฮม ไส้กรอก หมูยอ กุนเชียง เนื้อเค็ม และเบคอน เป็นต้น
4. กลุ่มของซัลไฟต์และซัลเฟอร์ไดออกไซด์ อนุญาตให้ใช้ในพืชผักผลไม้แห้งและแช่อิ่ม
ปริมาณสารกันบูดที่อนุญาต
ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2563 ออกตามความในพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 เรื่อง กำหนดเหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการใช้ และอัตราส่วนของวัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 2) กำหนดปริมาณสารกันบูดแต่ละชนิดในอาหารแต่ละประเภทที่แตกต่างกัน ตัวอย่าง
- กลุ่มของกรดเบนโซอิกและเกลือเบนโซเนต อนุญาตให้ใช้ได้ตั้งแต่ 200-3,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับประเภทอาหาร เช่น ผัก สาหร่ายทะเล นัทและเมล็ดที่บดและเพื่อใช้ประกอบอาการ ปริมาณสูงสุดที่อนุญาต คือ 3,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ส่วนน้ำผลไม้ ชา ชาสมุนไพรชนิดชงดื่ม กาแฟ เครื่องดื่มแทนกาแฟ ปริมาณสูงสุดที่อนุญาต คือ 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
- กลุ่มกรดซอร์บิกและเกลือซอร์เบต อนุญาตให้ใช้ได้ตั้งแต่ 200-10,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ขึ้นอยู่กับประเภทอาหาร เช่น ผลไม้ ชา ชาสมุนไพรชนิดชงดื่ม กาแฟ เครื่องดื่มแทนกาแฟ ปริมาณสูงสุดที่อนุญาต คือ 200 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และไส้สำหรับรรจุไส้กรอก ปริมาณสูงสุดที่อนุญาต คือ 10,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
- กลุ่มของไนเตรตและไนไตรต์ ปริมาณสูงสุดที่อนุญาตให้ใช้ได้ คือ 80 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
ทั้งนี้ น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมใน 1 วัน ไม่ควรได้รับ กรดเบนโซอิก เกิน 5 มิลลิกรัม ไนไตรต์ เกิน0.07 มิลลิกรัม ไนเตรตเกิน 3.7 มิลลิกรัมและกรดซอร์บิก เกิน 25 มิลลิกรัม
อันตรายจากสารกันบูด
การบริโภคอาหารที่มีสารกันบูดเป็นประจำอาจส่งผลให้ร่างกายขับออกไม่ทัน กลายเป็นสารพิษตกค้างสะสม ตับและไตทำงานหนักและนำมาซึ่งผลกระทบต่อร่างกาย เช่น
- การได้รับกรดเบนโซอิก ถือว่ามีความเป็นพิษต่ำ แต่ก็มีข้อควรระวัง เช่น เกลือเบนโซเอต พบว่าทำให้เกิดอาการแพ้ได้ โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินอาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย วิงเวียน และปวดศีรษะได้
- สารกันบูดในกลุ่มซัลไฟต์ หากได้รับในปริมาณมากเกินไป จะไปลดการใช้โปรตีนและไขมันในร่างกาย ทำลายไธอามีนหรือวิตามินบี 1 ในอาหาร
- สารกันบูดในกลุ่มไนเตรตและไนไตรต์ หากใช้เกินกว่าที่กำหนดมักเกิดจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน จะทำให้ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ อาจทำให้เกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกหรือภาวะเมธฮีโมโกลบิน ทำให้ไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ เกิดอาการคลื่นไส้ หายใจไม่ออก ตัวเขียว เป็นลม และหมดสติได้ในที่สุด
ข้อแนะนำเลี่ยงสารกันบูด
สำหรับผู้บริโภค เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายจากสารกันบูด มีดังนี้
- ก่อนซื้ออาหารสำเร็จรูป ควรอ่านฉลากอาหารและเลือกอาหารที่ระบุว่าไม่ใส่สารกันบูดหรือวัตถุกันเสีย
- หากฉลากนั้นไม่ได้ระบุชัดเจนว่าใช้สารกันบูดหรือไม่ ก็ควรหลีกเลี่ยง หรือบริโภคให้น้อยที่สุด
- หลีกเลี่ยงการซื้ออาหารที่ขายไม่หมดวันต่อวัน
- หลีกเลี่ยงอาหารที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะใส่สารกันบูด เช่น แหนม หมูยอ กุนเชียง เนื้อเค็ม และน้ำพริกชนิดต่างๆ เป็นต้น
- มีการศึกษาพบว่า การลวกหมูยอในน้ำเดือดก่อนนำมารับประทาน จะช่วยลดปริมาณสารกันบูดลงได้ ซึ่งน่าจะได้ผลเช่นเดียวกันในผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์อื่นๆ
คำแนะนำการเลือกรับประทานอาหารแปรรูป
- หมั่นสังเกตสีของอาหาร เลือกอาหารแปรรูปที่สีไม่สดเกินความเป็นจริง สีของอาหารต้องเป็นไปตามแนวทางเดียวกับอาหารก่อนนำมาแปรรูป
- อ่านฉลาก วัน เดือน ปี ที่ผลิต วันหมดอายุ และข้อมูลของส่วนผสม โดยละเอียดก่อนเลือกซื้อเสมอ
อ้างอิง :