อย่าประมาท ‘ความเหงา’ เสี่ยงสมองเสื่อม เป็นโรคหัวใจ-หลอดเลือด
งานวิจัยเผย “ความเหงาแบบเรื้อรัง” (Chronic Loneliness) เป็นอันตรายต่อสุขภาพเทียบเท่าสูบบุหรี่วันละ 15 มวน ทำลายสมอง เพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
“ความเหงาแบบเรื้อรัง” (Chronic Loneliness) ที่เริ่มแพร่หลายตั้งแต่ช่วงกักตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้คนต่างรู้สึกโดดเดี่ยว และเป็นวาระระดับชาติถึงขั้นในบางประเทศตั้ง “กระทรวงความเหงา” เพื่อมาจัดการปัญหาเลยทีเดียว
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของสหราชอาณาจักรพบว่า มีประชากรราว 3.83 ล้านคนได้รับผลกระทบจากภาวะความเหงาแบบเรื้อรัง โดยผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปีเป็นกลุ่มอายุที่เหงาที่สุด ขณะที่ผู้ที่มีอายุ 16-29 ปีมีแนวโน้มที่จะเหงาเรื้อรังเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับผู้สูงวัยที่มีอายุมากกว่า 70 ปี
“ความเหงาเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญซึ่งยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในตอนนี้หลายคนอาจจะกลับไปใช้ชีวิตแบบปรกติแล้ว แต่หลายคนยังคงจมอยู่กับความเหงา” โรบิน ฮิววิงส์ ผู้อำนวยการโครงการของกลุ่มชุมชนรณรงค์เพื่อยุติความเหงากล่าว
- ความเหงาทำลายสมอง
ความเหงาแบบเรื้อรัง เป็นความรู้สึกโดดเดี่ยวในระยะยาวที่สามารถบั่นทอนสุขภาพจิตได้ ซึ่งแตกต่างจากความเหงาแบบชั่วคราวที่เกิดขึ้นชั่วครู่ เพียงไม่นานก็จางหายไป และกลับเข้าสู่ภาวะปรกติ
อันที่จริงเป็นที่ทราบกันมานานแล้วว่าความเหงาอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ และนักวิทยาศาสตร์ต่างหาสาเหตุของความเชื่อมโยงระหว่างความเหงาและสุขภาพ ในงานวิจัยฉบับใหม่จากมหาวิทยาลัยคิวชู ของญี่ปุ่น ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Neurology เมื่อเดือนก.ค. ที่ผ่านมา ที่ทำการศึกษาชาวญี่ปุ่นทั้งชายและหญิงเกือบ 9,000 คน ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป พบว่า การอยู่คนเดียวอาจทำให้สมองของเราหดตัว เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อม โดยผู้ที่มีการติดต่อทางสังคมน้อยที่สุดจะมีปริมาตรสมองน้อยที่สุด โดยเฉพาะสมองส่วนฮิปโปแคมปัส เป็นส่วนสร้างความทรงจำ และอะมิกดะลา ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์ ซึ่งเป็นส่วนที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะสมองเสื่อม
ทั้งนี้ นักวิจัยตั้งสมมติฐานว่า การขาดการติดต่อทางสังคมจะเร่งการหดตัวของสมองทีละน้อย ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น สอดคล้องกับการศึกษาก่อนหน้าที่ระบุว่าการเข้าสังคมพูดคุยพบปะกับผู้อื่น จะช่วยกระตุ้นเส้นประสาทที่เชื่อมต่างระหว่างเซลล์สมอง ซึ่งสามารถช่วยรักษาปริมาณสมองได้
ขณะที่เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ศัลยแพทย์ใหญ่สหรัฐออกโรงเตือน ความเหงาอันตรายต่อสุขภาพเท่ากับการสูบบุหรี่มากถึง 15 มวนต่อวัน โดยสามารถลดอายุขัยของผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ลงถึง 5 ปี เมื่อเทียบกับคนที่เข้าสังคมอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ เช่น มะเร็ง โรคหัวใจ และโรคสมองเสื่อม
- ความเหงาทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
ปรกติแล้วร่างกายของมนุษย์ปล่อยฮอร์โมนคอร์ติซอล ทำหน้าที่ช่วยเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและความดันโลหิต เมื่อกำลังตกอยู่ในอันตราย เพื่ออยู่ในสถานะพร้อมต่อสู้หรือหนีภัยคุกคามที่ใกล้เข้ามา แต่ความเหงาแบบเรื้อรังนี้จะส่งผลให้ร่างกายเกิดความเครียดอย่างต่อเนื่อง ทำให้ร่างกายต้องผลิตคอร์ติซอลตลอดเวลา
หากคอร์ติซอลเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด คอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ ไขมันอันตรายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังทำให้ระบบประสาทซิมพาเทติกทำงานไม่สมดุล นำไปสู่การระแวดระวังมากเกินไป ผู้คนจะมองว่าสภาพแวดล้อมของพวกเขาไม่ปลอดภัย และมีความเครียดเพิ่มมากยิ่งขึ้น
เมื่อเวลาผ่านไป การหลั่งฮอร์โมนเหล่านี้จะทำลายหลอดเลือด หัวใจ สมอง เลือดและตับ รวมถึงระบบเมตาบอลิซึมและกล้ามเนื้อและกระดูกของเรา เหมือนกับเครื่องยนต์ที่มีรอบสูงอย่างต่อเนื่อง ระบบต่าง ๆ ในร่างกายเริ่มเสื่อมและสร้างความรู้สึกเจ็บปวดเพิ่มเป็นทวีคูณ
การศึกษาในปี 2559 ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Heart โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิล พบว่าความเหงาทำให้ความเสี่ยงของการเป็นโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นถึง 30%
ศ.คริส เกล ที่ปรึกษาด้านโรคหัวใจแห่งมหาวิทยาลัยแพทย์ลีดส์ กล่าวกับ เว็บไซต์ Good Health ว่าความเหงาสามารถส่งผลให้ระดับความเครียดสูงพอที่จะทำลายระบบหัวใจและหลอดเลือดได้
“เมื่อคุณเครียดร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนฮอร์โมน เช่น อะดรีนาลิน คอร์ติซอลออกมา ทำให้หัวใจเต้นแรงและความดันโลหิตเพิ่มขึ้น”
ความเหงาไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเมื่ออยู่ตามลำพังเท่านั้น แต่หลายครั้งเรากลับรู้สึกเหงาแม้จะอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมาย นั่นเป็นเพราะบางครั้งเราไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้าง
งานวิจัยโดย นักจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยสเตอร์ลิง พบว่า รูปแบบการปฏิสัมพันธ์มีผลต่อความเหงา โดยการสัมผัสทางร่างกายกับเพื่อหรือคนรัก เช่น จับมือ โอบกอด เป็นวิธีที่ลดความเหงาได้ดีที่สุด
ที่มา: Daily Mail, Independent, The Conversation