“ความเหงา” ยิ่งมากยิ่งใจพัง! เพิ่มความเสี่ยงเป็น “โรคซึมเศร้า” ถึง 26%
ไม่แปลกที่ในช่วงหนึ่งของชีวิตเราที่จะต้องพบกับ “ความโดดเดี่ยว” หรือ “ความเหงา” แต่หากปล่อยให้ตัวเองเหงานานเกินไป ความเหงาก็ทำร้ายเราได้เช่นกัน ทั้งด้านสุขภาพจิตและในแง่ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
โดยทั่วไปแล้วคนเรามักจะต้องมีบางช่วงชีวิตที่ต้องเผชิญกับ “ความโดดเดี่ยว” หันหน้าเหลียวหลังไปก็ไม่เจอใคร แต่ส่วนใหญ่ก็มักเป็นแค่เพียงช่วงหนึ่งของชีวิตเท่านั้น เมื่อผ่านมาได้ก็จะทำให้มีความเข้มแข็งในชีวิตมากขึ้น สามารถเอาตัวรอดและแก้ปัญหาด้วยตนเองได้เป็นส่วนใหญ่ แต่ยังมีคนบางกลุ่มที่ไม่ว่าจะทำอย่างไร ก็ไม่สามารถมูฟออนจากความโดดเดี่ยวได้เสียที จนสุดท้ายกลายเป็นภัยร้ายทำให้เสียสุขภาพกาย สุขภาพจิต และมีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง หรือบางคนอาจยังรู้สึกโดดเดี่ยวแม้ไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวก็ตาม
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ความโดดเดี่ยว (Loneliness) สามารถเกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกคนในบางช่วงเวลาของชีวิตจนเป็นเรื่องปกติ ส่วนใหญ่แล้วความโดดเดี่ยวมักมาพร้อมกับ “ความเหงา” ที่ทำให้เรารู้สึกโดดเดี่ยวลำพัง ว้าเหว่ อ้างว้าง ไร้คนใกล้ชิด ขาดคนปลอบโยนเข้าใจ
ที่ผ่านมามีคนจำนวนมากในสังคมที่ยังจมอยู่กับความโดดเดี่ยว จากงานวิจัยพบว่าความโดดเดี่ยวมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงของปัญหาสุขภาพจิตที่เพิ่มขึ้น เช่น โรคซึมเศร้าและวิตกกังวล นอกจากนี้คนที่รู้สึกโดดเดี่ยวมีความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 และมีความเสี่ยงเป็นโรควิตกกังวลเพิ่มขึ้นร้อยละ 32 ทั้งยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายอีกด้วย
- รู้หรือไม่? ความโดดเดี่ยวแบ่งย่อยได้ 2 ประเภท
สำหรับความโดดเดี่ยวหรือ “ความเหงา” นั้น บางคนอาจเข้าใจว่าเป็นเรื่องทั่วไปที่ไม่น่ากังวลอะไร แต่ความจริงแล้วความเหงามีความซับซ้อนมากกว่านั้น โดยแบ่งประเภทได้ดังนี้
1. สภาวะโดดเดี่ยวเชิงสังคมแบบอัตวิสัย (Subjective Social Isolation)
เป็นความโดดเดี่ยวที่คนคนหนึ่งเริ่มรู้สึกว่ามีความห่างเหินกับคนในครอบครัว เพื่อน หรือสังคมรอบตัว แต่เป็นเพียงความคิดของคนคนนั้นเท่านั้น ในความเป็นจริงคนรอบข้างอาจปฏิบัติตัวตามปกติ แต่อาจมีอะไรบางอย่างมากระตุ้นให้รู้สึกโดดเดี่ยว เช่น นาย ก. พยายามพูดคุยกับคนอื่นตามปกติ แต่กลับรู้สึกว่าไม่ได้รับการตอบรับเท่าที่ควร ทำให้เริ่มคิดว่าตนเองอยู่คนเดียว แม้ความจริงแล้วคนอื่นๆ จะพูดคุยกับ นาย ก. ตามปกติก็ตาม สำหรับความโดดเดี่ยวประเภทนี้อาจเรียกอีกอย่างหนึ่งได้ว่า “ความเหงา”
2. สภาวะโดดเดี่ยวเชิงสังคมแบบภววิสัย (Objective Social Isolation)
เป็นความโดดเดี่ยวที่มากจากการสูญเสียปริมาณและคุณภาพทางความสัมพันธ์ในสังคมไป อาจเกิดขึ้นกับคนที่จำเป็นต้องไปเรียนหรือไปทำงานไกลบ้าน เช่น ต้องย้ายไปอยู่ต่างจังหวัดหรือต่างประเทศ และยังปรับตัวไม่ได้ ด้วยความที่ต้องห่างจากสังคมเดิมที่เคยอยู่ จึงทำให้เกิดสภาวะโดดเดี่ยวเชิงสังคมแบบภววิสัย และขณะเดียวกันก็อาจพบกับความโดดเดี่ยวแบบอัตวิสัยที่จะเกิดขึ้นสลับกันไปด้วย แต่ทั้งนี้ ก็ ความโดดเดี่ยวจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับตัวบุคคลนั้นๆ ว่าจะมีการรับรู้สภาพแวดล้อมและปรับตัวอย่างไร
- เมื่อความโดดเดี่ยวเป็นหนึ่งในตัวแปรทำให้สุขภาพแย่ลง
ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิตระบุว่า ความโดดเดี่ยวนั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้หลากหลายทาง ทั้งทางกายและทางใจ ดังนี้
- ส่งผลต่อความสมดุลของระบบต่างๆ ในร่างกาย และการทำงานของอวัยวะภายใน ซึ่งทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทานน้อยลง ส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอ
- ส่งผลต่อความดันโลหิต จากการศึกษาพบว่าความรู้สึกเศร้าที่เกิดจากความเหงาและความโดดเดี่ยวที่สะสมมา 3-4 ปี ขึ้นไป จะส่งผลให้ความดันโลหิตในร่างกายของเราจะสูงมากขึ้น
- ไม่อยากออกกำลังกาย เพราะความเหงาและโดดเดี่ยวทำให้ไม่อยากจะทำกิจกรรมอะไรเลย รวมทั้งไม่อยากขยับเขยื้อนร่างกายด้วย
- เสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์ ข้อนี้สำคัญมากเพราะความโดดเดี่ยวนั้นส่งผลต่อสมอง ทำให้อารมณ์ซึมเซา ขาดความกระตือรือร้นในการใช้ชีวิต ทำให้ส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพของสมองในเรื่องของความจำ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เป็นโรคอัลไซเมอร์
- มีปัญหาด้านการนอน เนื่องจากมีความเครียดทำให้รู้สึกหดหู่ สิ้นหวัง เลิกสนใจกิจกรรมที่เคยทำ ทำให้พลังงานลดลง ส่งผลให้นอนไม่หลับ หรือนอนหลับไม่สนิท
- น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น โดยเป็นผลข้างเคียงมาจากเมื่อรู้สึกเหงาหรือโดดเดี่ยว คนเรามักจะกินมากขึ้น จึงทำให้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้เป็นโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ
- หันไปพึ่งสิ่งเสพติดและแอลกอฮอล์ กลุ่มคนที่มีความโดดเดี่ยวบางส่วนมีแนวโน้มชอบดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และใช้สารเสพติดสิ่งต่างๆ เพื่อช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายหายเหงา ส่งผลเสียอย่างมากต่อสุขภาพร่างกาย การงาน และความสัมพันธ์กับผู้อื่น
- เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียว เมื่อรู้สึกโดดเดี่ยวก็บอกคนข้างๆ ได้
แม้ว่าความเหงา หรือ ความโดดเดี่ยว จะเป็นเรื่องปกติที่หลายคนต้องพบเจอ แต่ถ้ารู้สึกว่ามันทำร้ายเราทั้งร่างกายและจิตใจมากเกินไป ก็จำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง โดยมีคำแนะนำดังนี้
- ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นๆ เมื่อรู้สึกว่าความโดดเดี่ยวมันรุนแรงเกินไป การพาตัวเองกลับไปอยู่ท่ามกลางครอบครัว หรือออกไปพบปะเพื่อนฝูงเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน รวมถึงหากิจกรรมใหม่ๆ ทำร่วมกันก็เป็นหนึ่งในวิธีที่จะพาตัวเองออกจากความโดดเดี่ยวได้
- มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ส่งเสริมความสัมพันธ์ทางสังคมและผู้อื่น เช่น การเป็นอาสาสมัคร การเข้าร่วมชมรม หรือการเข้าชั้นเรียนพิเศษในเรื่องที่ตัวเองสนใจ ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลดความโดดเดี่ยวลงได้ สำหรับใครที่ต้องจากบ้านไปไกลวิธีนี้ก็สามารถช่วยได้ หรืออาจลองร่วมกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์ก่อนก็ได้เช่นกัน
- การให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองมากขึ้น ก็สามารถช่วยลดความโดดเดี่ยวได้ เนื่องจากความเป็นอยู่ที่ดีและความรู้สึกมีคุณค่าในตัวเอง เช่น ออกไปทำกิจกรรมต่างๆ นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ รวมไปถึงการหาเวลาส่วนตัวเพื่อผ่อนคลายหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ทำให้ห่างไกลความโดดเดี่ยวได้มากขึ้น
- ขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ สุดท้ายนี้ถ้าลองทำหลายวิธีแล้วแต่ยังรู้สึกว่าความโดดเดี่ยวยังไม่หายไปไหน แต่กลับสร้างความรำคาญใจหรือไม่สบายใจมากขึ้น การขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้เราได้รู้ถึงสาเหตุที่แท้จริงของความโดดเดี่ยว และสามารถรับมือได้ถูกวิธี
อย่างไรก็ตาม “ความโดดเดี่ยว” ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่ยากเกินแก้ แต่เป็นสิ่งที่คนเราสามารถหาทางออกและใช้วิธีแก้ไขที่แตกต่างกันออกไปตามความถนัดของแต่ละคน และทางที่ดีที่สุดคือ เราไม่ควรปล่อยให้ตนเองจมอยู่กับภาวะความโดดเดี่ยวนานเกินไปจนทำลายสุขภาพได้ในอนาคต
อ้างอิงข้อมูล : iStrong, The 101 และ กรมสุขภาพจิต