ชาวออฟฟิศต้องลอง! ตรวจวัดอารมณ์ด้วย “Mood Meter” วันนี้คุณอยู่โหมดไหน?

ชาวออฟฟิศต้องลอง! ตรวจวัดอารมณ์ด้วย “Mood Meter” วันนี้คุณอยู่โหมดไหน?

ไม่ว่าวันนี้คุณจะหงุดหงิด อารมณ์ดี หัวร้อน หรือว่าเบื่อจนไม่อยากจะทำอะไรเลย ทุกอารมณ์สามารถวัดได้ด้วย “Mood Meter” หรือแบบทดสอบสภาวะทางอารมณ์ที่มาพร้อมคำแนะนำและวิธีรับมืออารมณ์รูปแบบต่างๆ

เกรี้ยวกราด เศร้า เสียใจ ตื่นเต้น มีความสุข หรือ เงียบสงบ ล้วนเป็นอารมณ์ของมนุษย์ที่มีความหลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละวัน แต่ถ้าหากรู้สึกหัวร้อนนานหลายวัน หรือหดหู่มากจนเกินไป อาจต้องลองเช็กอารมณ์ตัวเองเพื่อหาทางแก้ด้วย “เครื่องวัดอารมณ์” หรือ Mood Meter

สำหรับ เครื่องวัดอารมณ์นั้นถูกคิดค้นโดยสถาบัน Yale Center for Emotional Intelligence มันถูกนำมาใช้งานด้านการสังเกตอารมณ์ของตัวเองในแต่ละวัน เพื่อให้ทุกคนได้ทำความเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของตัวเอง (Self-awareness) รวมถึงสังเกตผลสะท้อนจากอารมณ์ของตัวเอง (Self-Reflection) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ปัจจุบันเครื่องวัดอารมณ์เป็นที่นิยมในกลุ่มครูและผู้ปกครอง ที่มักจะนำมาให้เด็กๆ หรือบุตรหลานของตนทำแบบทดสอบเพื่อเช็กอารมณ์ของเด็กในแต่ละวันว่าเป็นอย่างไร มีจุดไหนจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วนหรือไม่

ไม่ใช่แค่เด็กที่ต้องมีการตรวจวัดอารมณ์อยู่เสมอ แต่ผู้ใหญ่วัยทำงานอย่างเราๆ ก็ควรหมั่นตรวจสอบภาวะทางอารมณ์​เช่นกัน เพื่อที่จะสามารถวัดได้ว่าอารมณ์ที่เรากำลังเผชิญอยู่นั้นส่งผลต่องานหรือชีวิตประจำวันในด้านใดบ้างทั้งเชิงลบและบวก

สำหรับ แบบทดสอบการวัดอารมณ์ด้วย “Mood Meter” นั้น แบ่งออกเป็น 2 แกน คือ แกนพลังงาน (แนวตั้ง) และ แกนความพอใจ (แนวนอน)

เมื่อสองแกนตัดกันเป็นเครื่องหมายบวก ก็จะทำให้แบ่งกลุ่มของอารมณ์ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

- สีแดง อยู่ด้านบนฝั่งซ้าย ประกอบด้วย ความโกรธ ขุ่นเคือง ทุกข์ใจ วิตกกังวล และ เกรี้ยวกราด เป็นต้น

- สีเหลือง อยู่ด้านบนฝั่งขวา ประกอบด้วย ความสุข ตื่นเต้น ร่าเริง และ คิดบวก เป็นต้น

- สีน้ำเงิน อยู่ด้านล่างฝั่งซ้าย ประกอบด้วย ความเศร้า เสียใจ สิ้นหวัง และ หดหู่ เป็นต้น

- สีเขียว อยู่ด้านล่างฝั่งขวา ประกอบด้วย ความสงบสุข โล่งใจ ผ่อนคลาย และ พอใจ เป็นต้น

ชาวออฟฟิศต้องลอง! ตรวจวัดอารมณ์ด้วย “Mood Meter” วันนี้คุณอยู่โหมดไหน?

ภาพตัวอย่าง Mood Meter จาก parenting with logic

ในส่วนของการวัดอารมณ์นั้นให้เลือกจากความรู้สึกแรกที่เรานึกออกว่ามีอะไรบ้างเรียงลำดับจากมากไปน้อย แล้วทำมาเปรียบเทียบคะแนนจากตาราง 4 สี ที่กล่าวไปข้างต้น จากการสังเกตตัวเองด้วยสองข้อหลัก คือ 1.วันนี้เรามีความรู้สึกเชิงบวกกี่คะแนน เทียบจากเลข 1-10 ถ้าสบายใจมากให้คะแนนเยอะ สบายใจน้อยให้คะแนนน้อย 2.วันนี้เรามีพลังงานกี่คะแนน เทียบจากเลข 1-10 ถ้ามีพลังมากให้คะแนนเยอะ ค่อนข้างหมดพลังให้คะแนนน้อยตามลำดับ หลังจากนั้นสามารถประมวลผลออกมาได้ดังนี้

- กลุ่มสีแดง ประเมินว่า มีพลังงานสูง เเต่มีความร่าเริงต่ำ อาจอยู่ในระหว่างโกรธ หวาดกลัว หรือเป็นช่วงหัวร้อน แต่ก็มีความกระตือรือร้น สามารถทำงานได้ดี สำหรับคนวัยทำงานที่อยู่ในกลุ่มนี้ อาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นในช่วงปั่นงานใกล้เดตไลน์ หากยังทำพฤติกรรมเดิมซ้ำๆ อาจส่งผลให้เกิดภาวะหมดไฟในการทำงานได้เร็วขึ้น

- กลุ่มสีน้ำเงิน ประเมินว่า มีพลังงานและความร่าเริงต่ำ เรียกได้ว่าอยู่ในช่วง เบื่อ เศร้า เสียใจ และผิดหวัง หากปล่อยไว้นานๆ อาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ทำงานออกมาได้ไม่ดีตามที่คาดหวังไว้ อาจแก้ไขด้วยการเปลี่ยนสภาพแวดล้อมการทำงาน ออกไปเที่ยวพักผ่อนเปลี่ยนบรรยากาศ หรือเริ่มต้นจากจัดห้องนอนหรือโต๊ะทำงานให้มีความสวยงาม

- กลุ่มสีเหลือง ประเมินว่า มีพลังงานและความร่าเริงสูง อยู่ในช่วงกำลังตื่นเต้น สนุก และ อิ่มเอมใจ มีพลังงานในการทำงานและมีความสุขกับงานอย่างเต็มที่ ชาวออฟฟิศที่อยู่ในกลุ่มนี้มักทำงานออกมาได้ดีตามที่ตั้งใจไว้ โดยที่ไม่กดดันตัวเองจนเกินไป รู้สึกว่ามีเป้าหมายให้พุ่งชน(ในเรื่องดีๆ)อยู่เสมอ

- กลุ่มสีเขียว ประเมินว่า มีพลังงานต่ำ เเต่มีความร่าเริงสูง เป็นช่วงที่รู้สึกสงบ สบายๆ พึงพอใจกับสิ่งที่เป็นอยู่ เป็นกลุ่มที่ทำงานไปเรื่อยๆ ไม่ได้ตั้งเป้าหมายอะไรชัดเจนนัก รวมถึงอาจมีช่วงพักผ่อนในแต่ละวัน เช่น งีบหลับในตอนบ่าย คนกลุ่มนี้แม้ว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องความเครียด ความกดดัน หรือหัวร้อน แต่ก็มีผลเสียคือ ไม่กระฉับกระเฉงและไม่มีเป้าหมายในการทำงาน ทำให้หน้าที่การงานก้าวหน้าได้ช้า

สำหรับ “Mood Meter” หรือเครื่องวัดอารมณ์นั้น สามารถใช้ได้ตั้งแต่เด็กอายุ 3 ขวบเป็นต้นไป เพื่อให้พ่อแม่ทำความเข้าใจกับอารมณ์ลูกในแต่ละวันเพื่อหาทางรับมือ และใช้ได้กับ “วัยทำงาน” เพื่อเช็กว่าในแต่ละวันเรามีความพร้อมในการทำงานมากน้อยแค่ไหน โดยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Mood Meter มาใช้สำรวจอารมณ์ตัวเองในแต่ละวันได้อย่างสะดวก เพราะนอกจากทำให้มนุษย์เงินเดือนเข้าใจสภาวะอารมณ์ของตัวเองแล้วยังช่วยให้ปรับปรุงการทำงานให้เหมาะสมกับอารมณ์ในแต่ละวันอีกด้วย

 

อ้างอิงข้อมูล : Mindcenter TH, inskru และ Heartmind online